คำ ผกา | มุขฝืด

คำ ผกา

“อีกประเด็นหนึ่ง เพื่อไทยหรือพลังประชารัฐ ทั้งสองพรรคนี้ ด้านหนึ่งไม่เหมือนกัน แต่ด้านหนึ่งเหมือนกัน ก็คือเป็นความคิดของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมแบบ “รัฐทำให้” เพื่อไทยก็คือรัฐทำให้ พลังประชารัฐก็คือรัฐทำให้ ภายในอุดมการณ์ชุดใหญ่อันนี้ก็คือ ผู้ปกครองเป็นคนดูแลเรา มันจะแตกต่างตรงที่ว่า “ใคร” เท่านั้น สองอันนี้ไม่แตกต่างกัน ที่แตกต่างคืออนาคตใหม่ ที่กำลังจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมใหม่

ผมไม่คิดว่าเพื่อไทยกับพลังประชารัฐแตกต่างกันเชิงอุดมการณ์ ไม่ อุดมการณ์เดียวกันเลย รัฐเป็นบิดาของคนทั้งหลาย ทักษิณกะตู่พอกัน แต่อนาคตใหม่นี่เปลี่ยน ดังนั้น สิ่งที่เราต้องคิดต่อคือ อนาคตใหม่จะเดินได้ไหม เพราะว่าการพรวดขึ้นมา 80 เสียงในวันนี้ มันก็เป็นเรื่องทั้งดีทั้งเลว เป็นดาบสองคม ถ้าคุณไม่ระวังให้ดีคุณก็อาจจะพังในเร็ววัน”

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: เสียงบนบัตรเลือกตั้ง ใครเลือกอนาคตใหม่ ใครเลือกพลังประชารัฐ

บทสัมภาษณ์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากเว็บไซต์ของ Waymagazine อ้างว่าเป็นบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ ใครเลือกอนาคตใหม่ ใครเลือกพลังประชารัฐ

มีหลายอย่างในบทความนี้ที่ฉันอยากจะเถียง เช่น “ทักษิณกะตู่พอกัน”

ซึ่งฉันเห็นว่าเป็นคำตัดสินที่ชุ่ยเกินกว่าจะรับได้

แต่ก่อนที่จะเถียงหรือด่า ขอสรุปบทสัมภาษณ์เผื่อใครยังไม่ได้อ่าน และเผื่อใครอยากไปอ่านตัวเต็มๆ และหากฉันสรุปผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ของผู้ให้สัมภาษณ์ก็ถือว่าผู้ให้สัมภาษณ์พูดไม่ชัดเจน

หรืออีกที คนถอดเทปสัมภาษณ์เขียนบทความมาไม่รัดกุมและย่อมไม่ใช่ความผิดของฉันแน่ๆ ฮา

อรรถจักร์บอกว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ (โดยทิ้งเรื่องความไม่ชอบมาพากลนานัปการอันเกิดจากการจัดการของ กกต.) มีเซอร์ไพรส์หลายอย่าง เช่น คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตสูงลิ่วของพลังประชารัฐ อนาคตใหม่ได้มา 80 ที่นั่ง และความล้มเหลวได้ที่นั่งต่ำกว่าเกณฑ์ของประชาธิปัตย์ ซึ่งอรรถจักร์มองว่า ต้องพิเคราะห์สามปัจจัยคือ ชนชั้น, รุ่น หรือเจเนอเรชั่น และเขตความเป็นเมือง

อย่างไรก็ตาม ตลอดบทสัมภาษณ์นี้ ฉันไม่อาจเกาะติดความเสมอต้นเสมอปลายของการใช้สามปัจจัยนี้ไปวิเคราะห์ผลเลือกตั้งอันแสนเซอร์ไพรส์นั้น

แล้วนี่คือในเงื่อนไขที่อยากจะถามมากๆ ว่า จะไม่เอาความเขย่งเก็งกอยของการจัดการเลือกตั้งของ กกต. จะไม่เอาสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันพิสดาร จะไม่เอาประโยคที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อเรา” และจะไม่เอาเงื่อนไขของการอยู่ในอำนาจของรัฐบาล คสช.มาพัวพันกับศักยภาพของพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการทำความเข้าใจความ “สะพ้ายยย” ของผลการเลือกตั้งครั้งนี้บ้างเลยหรือ

มิพักต้องบอกว่า ไหนๆ ก็อุตส่าห์พูดเรื่องฮ่องกงเอฟเฟ็กต์มาเป็นวรรคเป็นเวร จะไม่พูดเสียหน่อย ถึงบทบาทขององค์กรอิสระต่อการยุบพรรคการเมืองเลยหรือ?

และไม่แม้แต่ยอมรับเลยหรือว่า “สะพ้ายยยย” ของที่นั่งพรรคอนาคตใหม่เกิดจากส้มหล่นเมื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ถูกยุบ

ค่ะ “ซะพ้าย” มากเลย

นอกจากนี้ อรรถจักร์มองว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมของไทยที่เคยเป็นฐานเสียงให้ประชาธิปัตย์หันมาลงคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐแทน เหตุเพราะ “ฮ่องกงเอฟเฟ็กต์” ที่เริ่มจากแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติ จึงมองว่า ถ้าอยากสู้กับทักษิณให้ชนะต้องเลือกพลังประชารัฐไปสู้

นอกจากนี้ อรรถจักร์มองว่า ในเขตภาคเหนือกับอีสานที่เป็นเขตเก่าของเพื่อไทย โหวตเตอร์จำนวนไม่น้อยก็หันไปโหวตให้พลังประชารัฐ

และอรรถจักร์เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “แดงอิสระ”

แดงอิสระนี้เลือก ส.ส.จากผลประโยชน์มากกว่าเรื่องอุดมการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูว่า นโยบายของพลังประชารัฐก็ไม่ได้ต่างจากเพื่อไทย อันเป็นที่มาของคำว่า ของก๊อบเสินเจิ้น

อย่างไรก็ตาม อรรถจักร์มองว่า ทั้งพลังประชารัฐกับเพื่อไทยนั้น “เหมือนกัน” คือ มองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนเป็นเรื่องของ “รัฐทำให้” คือ ประชาชนเป็นเหมือนลูกๆ รัฐบาลเหมือนพ่อแม่ ลูกอยากได้อะไร อยากกินอะไร พ่อแม่หามาให้

พูดให้หรูคือเป็นคอนเซ็ปต์ รัฐเข้มแข็ง ประชาชนอ่อนแอ รัฐแบบนี้ต้องการให้ประชาชนต้องคอยพึ่งพารัฐ ชีวิตฉันขาดเธอก็เหมือนขาดใจ อะไรทำนองนั้น

ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือเสนอความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในรูปแบบใหม่ คือไม่ใช่รัฐประชานิยมเอะอะหาของฟรีมาป้อนให้ถึงปากประชาชน แต่รัฐทำหน้าที่ช่วยให้ประชาชนเข้มแข็ง เกื้อหนุนให้สังคมเข้มแข็ง

ว้าววว ใหม่มากเลย ตื่นเต้นมากเลย

ก่อนที่อรรถจักร์จะสรุปต่อไปว่า ไอ้เรื่องรัฐเกื้อหนุนให้ประชาชนเข้มแข็ง เลิกทำตัวเป็นบิดาของประชาชนนี่แหละที่มันโดนใจคนรุ่นใหม่ และคนในเขตเมือง

และนี่จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “ทักษิณกะตู่พอกัน”

อรรถจักร์มีส่วนถูกอยู่บ้างในเรื่องดังต่อไปนี้

1. พรรคพลังประชารัฐมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งกว่าในเรื่องการกำจัดระบอบทักษิณ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกกระป๋อง – หมายเหตุว่า ไม่ได้เกี่ยวกับฮ่องกงเอฟเฟ็กต์อะไรนั่นร้อกกก อรรถจักร์ไปโดนสลิ่มที่ไหนหลอกมาเหรอ? ที่ ปชป.ตกกระป๋อง เพราะดันไปประกาศว่า จะไม่เอาสืบทอดอำนาจนั่นแหละ 555 เพราะการประกาศเช่นนี้ ฝ่าย ปชต.ก็ไม่เชื่อน้ำหน้า ฝ่ายที่ Fetish กับทหารก็ต้องหันไปกาพลังประชารัฐสิ จะรออะไร

2. เอิ่ม นึกไม่ออก

ทีนี้มาถึงประโยคเด็ดที่ว่า ทักษิณกับตู่พอกัน

พูดแบบนี้ฉันถือว่าชุ่ย

อรรถจักร์ก็เหมือนนักวิชาการอีกหลายคนที่จงเกลียดจงชัง “ประชานิยม” และมองว่า นี่เป็นการใช้นโยบาย “ซื้อเสียง” พรรคไทยรักไทย และทักษิณหวังใช้ประชานิยม หว่านเงินลงๆ ไปเพื่อให้รากหญ้าเสพติดแล้วทักษิณจะได้อยู่ในอำนาจไปชั่วกัลปาวสาน

ณ จุดนี้ใครมาว่าฉันเป็นขี้ข้าแม้ว ฉันก็คงต้องยอมละมั้ง?

แต่ขอถามอย่างเรียบง่ายว่า

– สามสิบบาทรักษาทุกโรคเป็นประชานิยมหรือเป็นนโยบายที่ทำให้คนไทยพ้นจากภาวะความยากจนอย่างยั่งยืน?

– นโยบายกองทุนหมู่บ้าน ที่ให้ชาวบ้านเข้าสู่ระบบไมโครเครดิต บริหารเงิน บริหารโครงการ ทำระบบไฟแนนซ์ในระดับหมู่บ้าน บริหารความเสี่ยงด้วยตนเอง สิ่งนี้เป็นประชานิยม หรือเป็นการทำให้ประชาชนเข้มแข็ง?

– นโยบายปฏิรูประบบราชการ ที่ทำให้ขั้นตอนต่างๆ ของราชการกระชับ รวดเร็ว หน่วยงานราชการมีความคล่องตัว การเริ่มต้น digitalized ข้อมูลของระบบราชการ การเริ่ม one stop service ฯลฯ เรากล้ายอมรับไหมว่า ในยุคทักษิณ ระบบราชการเล็กลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งผลให้ ประชาชน “เข้มแข็ง” เริ่มตระหนักว่า ตนเองคือเจ้าของเงินภาษี และข้าราชการมิใช่นายของเรา แต่คือพนักงานของรัฐที่ทำงานบริการ อำนวยความสะดวกให้ประชาชน

ขอยกตัวอย่างไว้เพียงเท่านี้ และเพื่อจะคุยต่อไปว่า ใครก็ได้ช่วยบอกฉันหน่อยว่า นโยบายอะไรในสมัยทักษิณที่เป็น “ประชานิยม”?

บอกว่าทักษิณเป็น Neo Liberalist เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ อันมีแนวโน้มที่ในระยะยาวอาจสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างนึกไม่ถึง จะฟังขึ้นกว่าการบอกว่าทักษิณเป็นประชานิยม

การตั้งกองทุน กยศ. ให้คนกู้เงินเรียนนั้น ไม่ประชานิยมเลย เพราะคิดบนฐานของเศรษฐกิจระบบตลาดล้วนๆ คือ การศึกษาเป็นการลงทุน อยากเรียนก็ลงทุนเอง โดยรัฐปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เรียนจบหางานทำไม่ได้ ไม่มีปัญญาใช้หนี้ ก็จงแบกรับภาระดอกเบี้ยไป ตัวใครตัวมัน

โครงการโอท็อป การส่งเสริมธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก การตั้งธนาคาร SME เหล่านี้ล้วนสะท้อนอุดมคติของรัฐบาลทักษิณที่สมาทานระบบตลาดเสรี บนความเชื่อที่คิดว่าเราควรปล่อยมนุษย์ทุกคนถ้าได้เข้าถึงโอกาส เข้าถึงทรัพยากร จากนั้นก็เข้ามาแข่งขันกันในตลาดเสรี ใครอ่อนแอก็แพ้ไป ใครชนะก็อาจพลิกผันเป็นเศรษฐี เป็นเถ้าแก่ได้

สิ่งที่ใกล้เคียงกับประชานิยมในสมัยรัฐบาลทักษิณคือการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ผ่านโครงการอุดหนุนเกษตรกรในหลายรูปแบบ รวมทั้งการจำนำข้าว และการทำให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรสูง เพื่อให้เกิดการบริโภค ให้คนรากหญ้ามีเงินในกระเป๋า และเพื่อพวกเขาจะเป็นกำลังซื้อมหาศาลมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ ต่อไปอีก

ซึ่งเราจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นี่ยังไม่ได้พูดถึงการกระจายอำนาจ และการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เราเคยมีก่อนการรัฐประหาร 2549 – ขนาดว่าตอนนั้นเราด่าทักษิณแทบตายว่ากระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นไม่มากพอ แต่อย่างน้อย เลือกตั้ง อบต. เทศบาล อบจ. มีมาตลอดต่อเนื่อง งานพัฒนาท้องถิ่นสะพรึงสะพรั่ง ดีบ้าง ระยำหมาบ้าง แต่อย่างน้อยอำนาจการเลือกตั้งก็อยู่ในมือประชาชน

และต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าทักษิณขี้ก็หอม ดีไปหมด ความวายป่วงของหลายนโยบายในสมัยทักษิณก็มีเยอะ ไม่ว่าจะป็นเรื่องสงครามยาเสพติด การละเมิดสิทธิมนุษยชน การแก้ปัญหาภาคใต้ ความลำพองใจในความนิยมและอาการดูเบาฝ่ายอนุรักษนิยมในสังคมไทย หรือในมิติที่ทักษิณและพรรคการเมืองของเขาก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปกว่าฝ่ายอนุรักษนิยมสักเท่าไหร่นักในมิติของการเมืองเชิงวัฒนธรรม

แต่การบอกว่าทักษิณกับตู่พอกันนั้นผิด!

อันดับแรก ทักษิณลงทุนตั้งพรรคการเมือง ลงสู่สนามการเลือกตั้ง ไม่ได้ไปวิ่งราวอำนาจ ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อสถาปนาอำนาจรัฐ

คำว่า ทักษิณกับตู่ก็พอกันในแง่ของการสร้างนโยบายเพื่อให้รัฐเข้มแข็งและประชาชนอ่อนแอจึงไม่จริง

ประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ การเลือกตั้ง และเสรีภาพของประชาชนรวมถึงเสรีภาพของสื่อ ถ้าสามสิ่งนี้มีอยู่อย่างครบถ้วน มันเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนจะตกเป็นเบี้ยล่าง หรือเด็กน้อยผู้อ่อนแอคอยแต่จะร้องหารัฐให้เข้ามาป้อนนมให้หรือง่อยเปลี้ยเสียขาเป็นเด็กไม่รู้จักโต

ถ้านึกไม่ออก ฉันจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ว่าอ้างอิงจากข้อมูลของ Freedom House ที่จัดลำดับว่าประเทศใดในโลกมีคะแนนความมีเสรีภาพ มีประชาธิปไตยเท่าใด โดยแบ่งออกเป็นสามระดับถึง มีเสรีภาพคือ, มีบ้าง, ไม่มีเลย ซึ่งเขาใช้คำว่า -Free, Partly Free, Not Free

ประเทศไทยตั้งแต่ปี 1999-2005 เป็นประเทศที่ Free

2006 ตกลงมาเป็น Partly Free ในสมัยที่รัฐบาลทักษิณใช้นโยบายฆ่าตัดตอน

2007-2013 เรากลับมาในสถานะที่ Free อีกครั้ง

จนกระทั่งปี 2014-2018 เราเข้าสู่ความเป็นประเทศ Not Free มายาวๆ

ตัดภาพมาที่รัฐบาล คสช. หรือที่อรรถจักร์เรียกว่า “ตู่”

ในขณะที่ by product ของรัฐบาลทักษิณคือการทำให้คนไทยอย่างน้อยกลุ่มที่เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยตระหนักว่า เขาคือสมการทางการเมืองที่มีความหมาย หนึ่งคนหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง มีค่าเหนื่อสิ่งอื่นใดเพราะมันหมายถึงการถูก “นับ” เป็นส่วนหนึ่งของ “การเมือง” ไม่ใช่ประชาชนผู้ทุกข์ยากวอนรัฐเมตตา

คลื่นมวลชนที่ถะถั่งลงมาบนท้องถนนในกรุงเทพฯ จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมของประชาธิปไตยและประชาชนในปี 2553 พิสูจน์แล้วว่า ประชาชนไม่ใช่เด็กเล็กที่ถูกรัฐโอ๋ๆ อุ้มๆ ภายใต้สิ่งที่อรรถจักร์บอกว่า เป็นความสัมพันธ์แบบ “รัฐทำ” คนเหล่านี้ยอมตาย ยอมติดคุก เพื่อไม่ให้สิทธิและเจตจำนงทางการเมืองของเขาถูกกระทืบซ้ำทำลาย แล้วใครหน้าไหนกล้ามาพูดว่า คนพวกนี้เป็นแค่สิ่งมีชีวิตที่เสพติดประชานิยมของรัฐ

ใดๆ ที่เกิดขึ้นหลังปี 2557 คือการทำลาย by product หรือที่บางคนเรียกว่า legacy ของรัฐบาลเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นคือ “จิตสำนึกว่าด้วยความเป็นพลเมือง” จงมลายหายสูญ

พวกเขารื้อฟื้นอำนาจของระบบราชการ

พวกเขาทำลายกลไกการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น

พวกเขาทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นพิธีกรรม

พวกเขาทำให้องค์กรอิสระกลายเป็นกลไกการรักษาอำนาจรัฐ

พวกเขาอ้างว่าสร้างเศรษฐกิจฐานรากด้วยการแจกบัตรคนจนที่ฉีกทึ้งศักดิ์ศรีของประชาชนพลเมืองให้กลายเป็นคนแบมือรับ “ทาน” จากรัฐ

ถ้าเรื่องแค่นี้มองไม่ออก ก็อย่าไปพยายามจะเข้าใจชนชั้น เจเนอเรชั่น หรือความเป็นเขตเมือง เออบ้งเออบั้นอะไรนั่นเลย

ฝืด!