หลังเลนส์ในดงลึก /ปริญญากร วรวรรณ / ‘ชาลีและหัวใจ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกกก - แม้จะพ้นฤดูเลี้ยงลูกมาแล้ว แต่พ่อแม่นกก็จะมาสำรวจโพรงรังอยู่เสมอ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ชาลีและหัวใจ’

ชาลีมาจากเมืองมินนิโซตา

ผมได้พบกับเขาเพราะเขาตามพ่อมาที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

พ่อของเขาคือ ดร.เดวิด สมิธ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือโคร่ง ที่เข้ามาช่วยและเป็นที่ปรึกษา รวมทั้งหาทุนทำงานให้กับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง ซึ่งดำเนินการโดยนักวิจัยในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

ผมมีโอกาสพบกับ ดร.เดวิดตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่เขาเข้ามาทำเรื่องเสือ

ผมเรียกเขาว่า เดฟ เฉยๆ ส่วนคนอื่นๆ มักเรียกเขาว่า ปู่เดฟ

หลายปีในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ระหว่างเรา อาจเรียกได้ว่าสนิทสนมกัน เรามัก “สุมหัว” คุยกันเสมอๆ คุยกันทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่เรื่องราวในโลกไปจนกระทั่งในจักรวาล

เดฟมีประสบการณ์กับเสือโคร่งมาก เขาเดินทางไปทั่วทุกประเทศที่มีเสืออาศัยอยู่

ครั้งแรกที่มาเมืองไทย เขามาในฐานะผู้บาดเจ็บสาหัส มารักษาตัวเพราะโดนแรดนอเดียววิ่งเข้าชาร์จในป่าเนปาล

“หมอโรงพยาบาลเมืองไทยนี่แหละช่วยชีวิตผมไว้” เขาบอกบ่อยๆ

 

เดฟมีลูกชายสองคน เป็นผู้ชายทั้งคู่ คนโตชื่ออดัมส์ จบปริญญาโทแล้ว และกำลังทำวิจัยเรื่องเสือโคร่ง อยู่ในป่าซุนดาบัน บังกลาเทศ

“ซุนดาบัน ที่มีเสือโคร่งอยู่ในป่าชายเลน และเสือกับคนที่นั่นไม่ถูกกันนัก เวลาเข้าป่า คนจะใส่หน้ากากเอาด้านหน้าไว้ข้างหลัง นั่นใช่ไหมครับ” ผมเคยถามเดฟ

“ใช่ ที่นั่นมีความขัดแย้งระหว่างเสือกับคนเยอะ เพราะคนเข้าไปทำกิจกรรมในที่เสืออยู่มาก ส่วนหน้ากากนั้น เดี๋ยวนี้คนไม่ใส่แบบนั้นกันแล้ว”

เดฟเล่า

 

ลูกชายคนสุดท้องของเดฟ คือ ชาลี อายุราวๆ 20 ปี

“เขายังไม่อยากเรียนต่อ อยากมาใช้ชีวิตในป่า ผมให้เขาตามบ้าง” ในฐานะอาจารย์ เดฟค่อนข้างหนักใจ อยากให้ลูกเรียนมากกว่า

“แต่หวังว่าวันหนึ่งเขาจะกลับไปเรียน”

ชาลีร่วมกับทีมตามเสือ เราทำงานด้วยกันบ่อยๆ

เขากระตือรือร้น รับภาระแบกเสบียงหนักๆ และใส่ใจกับร่องรอยสัตว์ป่า สอบถามอ่อนสา ผู้ช่วยนักวิจัย และถาวร ตลอด

“คิดจะกลับไปเรียนไหมครับ” ค่ำหนึ่ง ขณะนั่งข้างกองไฟ ผมถามชาลี

“คิดครับ ผมไม่อยากทำให้พ่อผิดหวังหรอก แต่ตอนนี้ขอทำตามนี้ก่อน” เขาพูด และใช้นิ้วชี้แตะหน้าอกด้านซ้าย ตำแหน่งที่อยู่ของหัวใจ

 

ชาลี ชายหนุ่มอีกคนที่ผมรู้จัก อายุราว 20 ปีเช่นกัน

คนนี้เป็นชายหนุ่มสัญชาติไทย เชื้อชาติกะเหรี่ยง เกิดและเติบโตในหมู่บ้านคลิตี้

ตอนที่พบกัน เขาเพิ่งเข้าทำงานในป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตกได้ไม่ถึงปี และถูกส่งไปอยู่หน่วยพิทักษ์ป่า ริมแม่น้ำแม่กลอง

“เรือก็มาเป็นที่นี่แหละครับ ก่อนมานี่ ไม่รู้เรื่องน้ำเลย” ชาลีบอก

ความคล่องแคล่ว แข็งแรงของเขา ทำให้ผมรู้สึกถึงความ “อาวุโส” อย่างแท้จริง

เขาเดินขึ้นเนินชันๆ ถึงจุดหมาย ในเวลาครึ่งชั่วโมง

ขณะผมใช้เวลาสองชั่วโมง

ชาลีคุ้นเคยกับผม เพราะได้รับมอบหมายให้มาช่วยดูแลผมครั้งหนึ่ง ช่วยแบกสัมภาระและเสบียงมาส่ง

บางครั้งเขามาคนเดียว

“จำทางแม่นมาก ด่านเยอะ น่าหลงทางมาก” ผมเย้าขำๆ

“ทางถ้าได้เดินครั้งเดียวก็จำได้แล้วครับ” ชาลีบอก

“พ่อสอนมาดีครับ” เขาพูดขำๆ

พ่อเขาเป็นพนักงานราชการ ตำแหน่งพิทักษ์ป่า อยู่ในป่าทุ่งใหญ่มากว่า 20 ปี

 

พบกันล่าสุด ชาลีมาในทรงผมสกินเฮด เพิ่งเสร็จจากการฝึกอบรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หลักสูตรหนัก ครูฝึกเข้มงวด

“สนุกดีครับ ไม่เหนื่อยหรอก” เขาตอบ เมื่อผมถามว่าการฝึกเป็นอย่างไรบ้าง

แบกของหนักๆ เดินเกือบทั้งวัน ถึงหน่วย ชาลีเล่นตะกร้อเสร็จ ก็กระโดดน้ำเล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน

กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เจ้าหน้าที่ในป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตก เป็นเช่นเดียวกับชาลี

เป็นคนไทยเชื้อชาติกะเหรี่ยง

และมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ คือชายหนุ่มอายุ 19-20 ต้นๆ

ทุกคนมีมอเตอร์ไซค์, สมาร์ตโฟน หลายคนท่าทาง “เกรียนๆ”

พวกเขาเลือกมาทำงานในป่า

 

“อยู่ในป่าแบบนี้ไม่เบื่อเหรอครับ ทำไมไม่ไปทำงานในเมือง เรียนจบมอสามแล้วนี่” ผมเคยถามชาลี

คำตอบของชาลี ชายหนุ่มจากบ้านคลิตี้

ทำให้ผมนึกถึงชาลี ชายหนุ่มจากมินนิโซตา

เขาตอบว่า “ทำตามหัวใจครับ”

 

ผมเข้าใจคำตอบของชาลี

“หัวใจ” ที่หมายถึง ไม่ได้เป็นเพียงอวัยวะซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดเลือดเท่านั้น

และหัวใจนี้ไม่แตกต่างกัน

ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด…