โลกหมุนเร็ว เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/ พลเมืองแข็งแรง

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

พลเมืองแข็งแรง

 

การรณรงค์ให้คนรักชาติมากๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะความมั่นคงของชาติควรต้องมาจากความมั่นคงของชีวิตของคนในชาติ

 

ทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญที่สุดสำหรับความเข้มแข็งของสังคมหรือของชาติใดก็ตาม ถ้าพูดถึงชาติที่เป็นพี่เบิ้มใหญ่ของโลกในเวลานี้คืออเมริกาและจีน ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพของประชากรคือสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ ที่เกื้อกูลให้ทั้งสองประเทศมีความเข้มแข็งเหนือชาติอื่นๆ

ทั้งสองชาติขยันขันแข็ง ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่คิดว่าอะไรทำไม่ได้ เป็นพวกบ้างาน มุ่งแสวงหาความสำเร็จ และไขว่คว้าหาสิ่งที่ดีกว่า อุปนิสัยแบบนี้ฝังอยู่ในสายเลือด ส่งผ่านรุ่นต่อรุ่นกลายเป็นนิสัยประจำชาติ ที่ช่วยกันก่อร่างสร้างชาติขึ้นมา

คนอเมริกันมีความเป็นอิสระในทางความคิด มุ่งหาความเป็นเลิศที่สุดในทางวิชาการ สร้างวิทยาการที่ล้ำหน้า มีความเป็นไท ไม่คิดว่าตัวเองต่ำกว่าใคร นับถือคนอื่นจากคุณสมบัติของคนคนนั้น ไม่ใช่เพราะอายุ ระดับ และฐานะในสังคม เปิดเผย ตรงไปตรงมา และซื่อสัตย์ นักเรียนไทยไปเรียนอเมริกาตั้งแต่เด็กก็ได้ซึมซับข้อดีต่างๆ ของความเป็นอเมริกันมา

ในชั่วทศวรรษ เราเห็นหนุ่ม-สาวจีนยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นพ่อ-แม่ เป็นเด็กหนุ่ม-สาวจีนที่ปรับตัวเข้ากับยุคแห่งเทคโนโลยีและสังคมโลกได้อย่างน่าชื่นชม ความมั่งมีเปิดโอกาสให้ได้ท่องโลกกว้าง มีทัศนคติที่กว้างไกล

แล้วชาติของเราเล่า มีแบบพิมพ์เขียวของเด็กหนุ่ม-สาวรุ่นใหม่กันอย่างไร

 

สังคมเริ่มจากครอบครัว ครอบครัวเข้มแข็ง สมาชิกของครอบครัวก็เข้มแข็ง เข้มแข็งทั้งในการมีชีวิตรอด พึ่งพาตนเอง และเข้มแข็งในด้านจริยธรรม ในยุคนี้นอกจากครอบครัวแล้วสังคมภายนอกยังมีบทบาทในการบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรยุคใหม่ที่ทำการเพาะปลูกแบบออแกนิกส์ จัดตั้งกลุ่มกัน เผยแพร่ความรู้ให้แก่กัน กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ล้วนเป็นคนหนุ่ม-สาวที่ไม่ได้เรียนรู้จากพ่อ-แม่

โลกยุคใหม่อาจต้องยอมรับว่าพ่อ-แม่มีบทบาทน้อยลง

ลูกจะตั้งคำถามมากขึ้นว่าให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้เพื่ออะไร และได้ประโยชน์อย่างไร พ่อบอกลูกว่าอยากให้ลูกบวชเป็นสามเณร ลูกย้อนถามว่าแล้วได้ประโยชน์อะไร พ่อต้องรวบรวมสติตอบให้ดี

พ่อ-แม่สมัยนี้ไม่ใช่ว่าให้กำเนิดลูกมาแล้วจะสอบผ่านการเป็นพ่อ-แม่ที่มีคุณภาพได้ทุกคน คนที่สอบผ่านคือคนที่ทำให้ลูกเติบโตเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม การมีพ่อ-แม่ที่ไม่มีคุณภาพอาจสู้ไม่ได้กับการให้ลูกอยู่กับใครก็ตามที่สร้างเด็กคนนั้นขึ้นมาให้เป็นคนที่มีคุณภาพ

เราได้ยินเรื่องพ่อ-แม่ทิ้งลูก ทารุณลูก ใช้แรงงานลูก บังคับลูกไปในทิศทางที่ตัวเองพอใจแต่ลูกไม่ต้องการ พ่อ-แม่พวกนี้ไม่เพียงทำลายเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเองแต่ทำลายความเข้มแข็งของสังคมด้วย

ขณะเดียวกันเราได้ยินเรื่องพ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยวกันหนาหู คำว่าพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวไม่ได้หมายถึงเลี้ยงแบบโดดเดี่ยว แต่ยังมีปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอาอีกด้วย เด็กก็ได้รับความอบอุ่นจากครอบครัวเต็มที่ เรื่องนี้เราได้เห็นมากขึ้น และพบว่าเด็กที่มาจากพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมีสุขภาพจิตที่ดี มีความสำเร็จในชีวิตที่ดี

เราอาจลืมนึกไปว่าผู้หญิงโสดยังมีอีกมากที่มีศักยภาพจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวได้ เพราะเธอมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีความรู้ และเธอพร้อมที่จะสร้างพลเมืองที่เข้มแข็ง ถ้าหากภาครัฐยอมรับในบทบาทนี้และสนับสนุนด้วยการลดหย่อนภาษีเหมือนที่นำเอาค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดามาลดหย่อนได้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

 

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีหน้าที่โดยตรงในการสร้างพลเมืองที่เข้มแข็ง

งานของกระทรวงนี้ควรจะสำคัญกว่ากระทรวงกลาโหม

แต่จะต้องมีงบประมาณมากมายมหาศาลหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะคุณภาพบางทีก็ไม่เกี่ยวกับงบประมาณ อยู่ที่ว่าทำถูกจุดหรือเปล่า

เท่าที่เป็นอยู่กระทรวงนี้ก็แบกภาระไว้มากมาย ส่วนมากเป็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้ประชาชนในมิติต่างๆ

เช่น เงินสนับสนุนแม่ที่คลอดลูก ค่าเลี้ยงดูลูก การสร้างบ้านมั่นคงให้ผู้มีรายได้น้อย น่าเสียดายที่ไม่นานมานี้เกิดด่างพร้อยโกงงบประมาณช่วยเหลือคนจน เป็นจุดด่างที่คนจะจำไปอีกนาน

งานพัฒนามนุษย์เป็นงานที่ละเอียดอ่อน เพราะเป็นงานสร้างฐานของสังคมที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ เป็นงานสร้างชาติโดยตรง การรณรงค์ให้คนรักชาติมากๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะความมั่นคงของชาติควรต้องมาจากความมั่นคงของชีวิตของคนในชาติ

เวลาที่ฟังการอภิปรายในรัฐสภา เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังที่ไม่มีผู้ใดอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์กันเลย มีแต่เรื่องโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่เป็นเรื่องสาธารณูปโภค อาจเป็นเพราะหาตัวเลขมายืนยันยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้

คนอภิปรายก็อาจจะใช้ตัวเลขทำนองนี้

  1. แม่ผู้เยาว์ท้องแล้วทิ้ง
  2. อัตราเด็กอ่านออกเขียนได้จริงหลังจบ ประถม 4 อัตราอาชญากรรมเด็ก พฤติกรรมการทิ้งขยะในโรงเรียน ส่วนสูงและน้ำหนักเด็กทั่วประเทศตามอายุ มารยาทในที่สาธารณะ โอกาสในการได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมในระดับประถมและมัธยม

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรมีตัวเลขชี้วัดต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ ในอดีตเป็นไปได้ยากที่จะติดตามประชากรทั้ง 70 ล้านคน แต่ในยุคดิจิตอลก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ผลสำเร็จจากการจัดให้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐบอกเราว่ากระทรวงสามารถหารายละเอียดของประชากรที่เข้าเกณฑ์รับบัตรสวัสดิการได้

ในทำนองเดียวกันบัตรเกี่ยวกับ “พัฒนาการของเด็ก” หรือบัตรประจำตัวเด็กก็ควรมีได้ เพื่อติดตามพัฒนาการของเด็กอย่างเป็นองค์รวม ข้อสำคัญถ้ารัฐ “รู้จัก” เด็กของชาติทุกคนจะเป็นเรื่องที่ดี

 

เมื่อพูดเรื่องนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยเป็นคนเชื่อฟังและชอบรับคำสั่ง (ไม่นับคนรุ่นใหม่ในเขตเมือง) การมีบัตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตร 30 บาท บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฯลฯ ทำให้คนไทยอยู่กับร่องกับรอยมากขึ้น ชีวิตมีระเบียบขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

อ่านข่าวเมื่อไม่นานมานี้รัฐได้เพิ่มโรงเรียนฝึกอาชีพ ถ้าเป็นไปได้ติดตามผลหลังจากที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วว่าได้นำไปประกอบอาชีพหรือไม่

รัฐควรระดมนักคิดวางแผนแบบสร้างสรรค์เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตัวอย่างนักคิดสร้างสรรค์ก็เช่น คุณมีชัย วีระไวทยะ แต่ไม่ใช่ว่านักคิดเก่งๆ จะมีเท่านี้ เพียงแต่ว่าคิดด้วยปฏิบัติด้วยอย่างคุณมีชัยนั้นหายากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร

เมื่อไม่มีคนใหม่มาทดแทน ในใจก็จึงนึกถึงคุณมีชัยที่เป็นยอดนักพัฒนาพลเมืองที่แข็งแรงอยู่ทุกครั้งไป