ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (2)

ในตอนที่แล้วเราได้เสนอความคิดของนักประวัติศาสตร์ที่เห็นว่าปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นคลื่นปฏิวัติระลอกเดียวกันกับปฏิวัติที่อื่นๆ ในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18

ในตอนนี้เราจะบรรยายถึงข้อโต้แย้งของนักประวัติศาสตร์อีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่าปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นเอกเทศ โดดเด่นแยกออกจากปฏิวัติในที่อื่นๆ

การปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน แต่ทั้งสองเหตุการณ์นี้ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ปฏิวัติอเมริกา คือ การลุกขึ้นสู้ของคนในดินแดนอเมริกันเพื่อทำสงครามปลดแอกจากอาณานิคมของอังกฤษ

ผู้ก่อการต้องการให้รัฐบาลอังกฤษรับรองสิทธิและเสรีภาพแก่คนในดินแดนอเมริกาเหมือนกับที่คนในอังกฤษได้รับ

ระบบรัฐสภาและกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญซึ่งเริ่มก่อรูปขึ้นหลังจากปฏิวัติอังกฤษนั้น ก็ควรต้องนำมาใช้กับดินแดนอเมริกาด้วย

ดังนั้น “หลักไม่มีภาษี ถ้าไม่มีผู้แทน” ที่เรียกร้องว่าการเก็บภาษีต้องให้ผู้แทนประชาชนเห็นชอบก่อนนั้น ต้องใช้ในดินแดนอเมริกันเช่นเดียวกัน

เมื่อไม่มีผู้แทนของคนอเมริกันในสภา รัฐบาลอังกฤษจึงไม่อาจเรียกเก็บภาษีจากคนในดินแดนอเมริกาได้

 

ในขณะที่การปฏิวัติฝรั่งเศส เกิดขึ้นในบริบทเฉพาะของตนเอง กล่าวคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศสไม่ปรับตัว กษัตริย์มีอำนาจสูงสุดและแบ่งสันปันส่วนอำนาจให้แก่พวกพระและขุนนางบ้าง

กษัตริย์ไม่ยินยอมให้สามัญชนหรือฐานันดรที่ 3 เข้ามามีส่วนร่วมในการตรากฎหมายหรือปกครองประเทศ กษัตริย์ปฏิเสธไม่ยอมรับรองสิทธิต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมสิทธิ์ ให้แก่ชนชั้นกระฎุมพี

ความแข็งตัวของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศสนี้เองเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส เริ่มต้นจากก่อตั้งระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญในปี 1789-1791 และเร่งเร้าให้กลายเป็นสาธารณรัฐในปี 1792 ต่อด้วยการประหารชีวิตหลุยส์ที่ 16 ในปี 1793

อาจกล่าวได้ว่า ปฏิวัติอเมริกาไม่ได้เริ่มต้นจากการต่อต้านระบอบกษัตริย์ของอังกฤษ แต่เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคมปฏิบัติต่อดินแดนอเมริกาในมาตรฐานเดียวกันตามกฎเกณฑ์ที่ใช้ในอังกฤษ

ในเวลานั้น อังกฤษเริ่มก่อรูประบบรัฐสภาและกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญขึ้นแล้ว และสามัญชนเข้ามามีบทบาททางการเมืองผ่านรัฐสภา เพียงแต่ว่าระบบเหล่านี้ไม่ถูกนำมาใช้กับดินแดนอเมริกาอย่างเท่าเทียมกัน

ส่วนปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น เป็นปฏิกิริยาตอบโต้กับระบอบกษัตริย์ของฝรั่งเศสในเวลานั้นโดยตรงที่ไม่แบ่งสันปันส่วนอำนาจให้แก่สามัญชนหรือฐานันดรที่ 3

 

นอกจากสาเหตุและจุดกำเนิดของปฏิวัติฝรั่งเศสแตกต่างจากปฏิวัติอเมริกาแล้ว การปฏิวัติทั้งสองยังมีความแตกต่างในทางปรัชญาและกฎหมายด้วย

ผู้ก่อการปฏิวัติอเมริกาที่นำโดย Georges Washington และพวกนั้น มีความคิดแบบเสรีนิยม โดยรับอิทธิพลมาจากปรัชญาเมธีอย่าง John Locke และ Montesquieu พวกเขาสนับสนุนการรับรองสิทธิของปัจเจกบุคคลและการจำกัดอำนาจรัฐ

ส่วนผู้ก่อการปฏิวัติฝรั่งเศสรับอิทธิพลความคิดมาจาก Jean-Jacques Rousseau และปรัชญาเมธีในยุคแสงสว่าง พวกเขาเชื่อมั่นในเสรีภาพและความเสมอภาคโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัญญาประชาคม (Contrat social)

ด้วยความคิดแบบเสรีนิยมและจำกัดอำนาจรัฐนี้เอง ทำให้บรรดาบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดรูปแบบโครงสร้างของสหรัฐอเมริกาให้เป็นแบบสหพันธรัฐ โดยให้สหพันธ์มีอำนาจน้อย และมลรัฐมีอำนาจมาก สหพันธ์ไม่อาจแทรกแซงมลรัฐได้อย่างเสรี แต่ต้องปล่อยให้มลรัฐดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่

ตรงกันข้ามกับการปฏิวัติฝรั่งเศส นักปฏิวัติปีก Jacobin สนับสนุนรัฐเดี่ยวอันเป็นเอกภาพ รัฐฝรั่งเศสต้องมีอำนาจรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ไม่กระจายอำนาจการปกครองออกไปให้ท้องถิ่น

พวกเขาเล็งเห็นว่า ด้วยรัฐที่เข้มแข็งและมีอำนาจรวมศูนย์เช่นนี้ จะช่วยทำให้ความคิดปฏิวัติที่ยึดกุมรัฐอยู่นั้นสามารถแพร่กระจายและเกิดผลในทางปฏิบัติเหมือนกันทั่วทั้งอาณาเขต และแนวนโยบายของการปฏิวัติฝรั่งเศสถูกนำไปใช้บังคับอย่างมีประสิทธิภาพ

ปฏิวัติฝรั่งเศสไม่เคยทำลายโครงสร้างรัฐเดี่ยวอันเป็นเอกภาพและมีอำนาจมาก

รัฐในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยระบอบเก่าเป็นอย่างไร รัฐในยุคปฏิวัติฝรั่งเศสก็ยังคงเป็นอย่างนั้น และสืบทอดต่อเนื่องไปจนถึงสมัยจักรวรรดิของนโปเลียนด้วย

การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้ลดอำนาจรัฐ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเจ้าของหรือผู้ทรงอำนาจรัฐเท่านั้น

 

การปฏิวัติอเมริกาเชื่อมั่นในเรื่องสิทธิและเสรีภาพเป็นสำคัญ ด้วยประสบการณ์อันเลวร้ายจากการถูกปกครองโดยอังกฤษ ทำให้พวกเขารังเกียจอำนาจรัฐ

ดังนั้น รัฐจึงไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับปัจเจกบุคคล ปล่อยให้ปัจเจกบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิตของตนเอง

ในขณะที่ปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่เพียงแต่เสรีภาพเท่านั้น แต่ต้องมีความเสมอภาคด้วย โดยเฉพาะหลังการขึ้นสู่อำนาจของกลุ่ม Jacobin และเริ่มต้นสาธารณรัฐที่ 1 ในปี 1792 แนวทางของการปฏิวัติฝรั่งเศสมุ่งเน้นไปที่ความเสมอภาคมากขึ้น รัฐต้องสร้างให้เกิดความเสมอภาคระหว่างปัจเจกบุคคล

ดังนั้น รัฐจึงเข้าแทรกแซงเสรีภาพของบุคคลได้ เพื่อทำให้เกิดความเสมอภาค

ดังจะเห็นได้จากบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรัฐมีอำนาจออกมาตรการต่างๆ ที่จำกัดเสรีภาพของบุคคล เพื่อประกันให้เกิดความเสมอภาคขึ้น

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา 1787 ถูกยกร่างโดยมีความคิดชี้นำไปในทิศทางที่ไม่ไว้วางใจประชาชน บิดาผู้ก่อตั้งและผู้ร่างรัฐธรรมนูญกังวลใจว่าหากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตทางการเมืองมากจนเกินไป ก็อาจสร้างความโกลาหลสับสนอลหม่านได้

ข้อพิสูจน์ประการหนึ่งที่ยังคงเห็นได้ในปัจจุบัน คือ ระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาที่ไม่ใช้ระบบการเลือกตั้งโดยตรง แต่กำหนดให้ประชาชนต้องเลือกคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) เพื่อให้คณะผู้เลือกตั้งไปเลือกประธานาธิบดีหรือสมาชิกสภาผู้แทนต่อ

 

ในขณะที่รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสทั้งฉบับ 1791 1793 และ 1795 ต่างก็ให้ความสำคัญแก่ความคิดเรื่อง “ประชาชน” โดยเรียกรวมกันในชื่อของ “ชาติ” หรือ “Nation” บ้าง หรือเรียกรวมกันในชื่อของ “ประชาชน” บ้าง

การปฏิวัติฝรั่งเศสได้สร้าง “ประชาชน” หรือ “ชาติ” เพื่อเข้าแทนที่ “กษัตริย์” โดยให้เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด และเป็นฐานที่มาอันชอบธรรมของอำนาจทั้งหลายทั้งปวง

“ประชาชน” หรือ “ชาติ” คือ องค์ภาวะใหม่ทางการเมืองที่เป็นหัวใจสำคัญในการโค่นล้มระบอบเก่า และก่อตั้งระบอบใหม่

หลักการอำนาจอธิปไตยของชาติ (La souverainet? nationale) หรืออำนาจอธิปไตยของประชาชน (La souverainet? populaire) นี้ได้ยึดกุมการปฏิวัติฝรั่งเศสไว้ และยังแพร่หลายออกไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 อีกด้วย

ผู้ก่อการปฏิวัติฝรั่งเศสรับอิทธิพลความคิดมาจากปรัชญาเมธีในยุคแสงสว่าง จึงนิยม “ความเป็นสากล” (Universalit?) เชื่อมั่นว่าคุณค่าบางอย่างบางประการมีลักษณะสากล นำไปใช้ได้กับมนุษย์ทั้งปวง

ไม่ได้ขึ้นกับเพศ สีผิว เผ่าพันธุ์ ศาสนา หรือที่ตั้งอาณาเขต ดังปรากฏให้เห็นจากเอกสารรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่คณะผู้ก่อการปฏิวัติฝรั่งเศสจงใจให้ชื่อมันว่า “คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง” เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงมนุษย์และพลเมืองทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะคนฝรั่งเศสเท่านั้น

เมื่อพิจารณาที่เนื้อหาของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง พบว่า สิทธิต่างๆ ถูกรับรองไล่เรียงไปทีละข้อ โดยเขียนไว้แบบค่อนไปทางนามธรรม ทั้งนี้ก็เพื่อให้มันสามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นสากลที่ใช้ได้กับทุกคนและทุกที่

ความเชื่อในความเป็นสากลของการปฏิวัติฝรั่งเศสนี้เอง ส่งผลสืบเนื่องให้ผู้เชื่อมั่นศรัทธาความคิดแบบปฏิวัติฝรั่งเศสพยายาม “ส่งออก” ความคิดเหล่านี้ออกไปยังประเทศอื่นๆ

 

ในขณะที่คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา 1776 นั้น ผู้ก่อการปฏิวัติอเมริกาไม่ได้เขียนรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานในลักษณะนามธรรมแบบของฝรั่งเศส แต่ได้กล่าวเฉพาะเจาะจงกรณีดินแดนอเมริกาที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ความเลวร้ายของรัฐบาลและกษัตริย์อังกฤษ มูลเหตุของการประกาศอิสรภาพ

เหตุเหล่านี้เองได้ทำให้อาณานิคมทั้ง 13 ในอเมริกามีสิทธิในการปฏิวัติ ล้มล้างการปกครองของรัฐบาลอังกฤษ และประกาศอิสรภาพแยกตัวจากอังกฤษได้ ผู้ก่อการปฏิวัติอเมริกาให้ความสำคัญกับระบบและกลไกที่ทำให้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลบังเกิดผลได้จริง มากกว่าการรับรองสิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นอย่างเป็นนามธรรม

แม้รัฐธรรมนูญ 1787 ไม่ได้บัญญัติกลไกการตรวจสอบควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายเอาไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีความคิดที่จะสร้างกลไกดังกล่าวเช่นกัน เช่น James Madison ได้เสนอให้ศาลมีอำนาจในการยับยั้งกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญได้ แต่ข้อเสนอของเขาถูกปฏิเสธไป

ใน The Federalist Papers ก็ปรากฏความคิดการให้ศาลเป็นกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสภา

เช่น Alexander Hamilton เห็นว่ารัฐสภาอาจกระทำผิดได้

ดังปรากฏให้เห็นมาแล้วจากกรณีรัฐสภาของสหราชอาณาจักรที่ตรากฎหมายกดขี่ดินแดนอเมริกา และเสียงข้างมากในสภาก็อาจใช้อำนาจไปในทางไม่ถูกต้องได้

เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับรัฐสภาสหรัฐอเมริกา จึงต้องกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจจำกัด

การตรากฎหมายใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญย่อมไม่สมบูรณ์ และในบรรดาสามอำนาจ อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่จำกัดที่สุด และอันตรายน้อยที่สุด (The least dangerous branch)

จึงควรมอบอำนาจในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายให้แก่ศาล

แนวคิดเรื่องการให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายซึ่งปรากฏขึ้นผ่านงานเขียนของเหล่าบิดาผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา (Founding Fathers) มาปรากฏขึ้นจริงในปี 1803 ในคดี Marbury v. Madison ที่ยืนยันว่า ศาลมีอำนาจในการตรวจสอบว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นขัดรัฐธรรมนูญ

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาก็เข้ามามีบทบาททางการเมืองและรัฐธรรมนูญผ่านการตัดสินคดี

ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับฝรั่งเศส การปฏิวัติฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับ “ประชาชน” และ “กฎหมาย” เมื่อกฎหมายตราขึ้นโดยผู้แทนของประชาชน มันจึงเป็น “เจตจำนงทั่วไป” (volont? g?n?rale) ที่ไม่มีองค์กรใดมาลบล้างแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ นอกเสียจากผู้แทนของประชาชนเท่านั้น

ดังนั้น ความคิดที่ให้องค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใดมีอำนาจในการวินิจฉัยว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นขัดกับรัฐธรรมนูญและต้องสิ้นผลไปนั้น จึงไม่เป็นที่ยอมรับในฝรั่งเศส