อภิญญา ตะวันออก : ซัวสะได “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ”

อภิญญา ตะวันออก

สําหรับฉัน นี่คือการรื้อฟื้นความหลังอันน่าประหลาดของวงการภาพยนตร์อาเซียน ยุคที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเอเชียกำลังถึงกาลเฟื่องฟูอย่างขีดสุดนั้น กลับเริ่มต้นที่การพบต้นฉบับฟิล์มภาพยนตร์ “จำปาทอง” ของไทยที่เคยลงโรงหนังคาเธ่ย์เมื่อปี 2514 ก่อนที่มันจะสูญหาย

กระทั่ง 48 ปีผ่านไป ในความบังเอิญอย่างเหลือเกินที่มีผู้ไปพบต้นฉบับเรื่องนี้ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ นอนนิ่งอยู่ในกระเป๋าฟิล์มที่เขียนว่า “งูเก็งกอง ภาค 2” ภาพยนตร์ของเขมร

นั่นเองที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำกลับมาใส่เสียงและฉายใหม่อีกครั้ง สร้างความตื่นเต้นยินดีต่อแวดวงคนรักหนังที่อยากเห็นคุณค่าของยุคทองภาพยนตร์ไทยถูกเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

อย่างไรก็ตาม การที่ไปพบฟิล์มหนังจำปาทอง 3 ม้วนในกล่องฟิล์มงูเก็งกองทางตอนเหนือของไทย ก็ทำให้ทราบว่า เส้นทางวงการหนังยุคทองของไทยเวลานั้น มีบางอย่างที่คาบเกี่ยวกันกับทางฝั่งกัมพูชา

ความหมายคือ ระหว่างปี พ.ศ.2513-2518 เชื่อว่าประเทศไทยได้นำเข้าภาพยนตร์จากกัมพูชา ก่อนจะออกเร่ฉายตามสายหนังในทั่วประเทศ

มิฉะนั้น ฉันคงอดดู “งูเก็งกอง” หนังเขมรเรื่องแรก

 

ต่อ “รอยทาง” ยุคทองหนังไทย-เขมร ที่ต่างบัดบ่ง/สูญหายไปร่วม 4 ทศวรรษมาแล้ว การนำ “จำปาทอง” ฉบับไทยกลับมาคืนชีพอีกครั้งที่โรงภาพยนตร์ศาลายานี้ นำพาให้ฉันแลเห็นเงาซ้อนของหนังเขมรที่ทับซ้อนอยู่ในหนังไทย และทำให้ทราบว่า อย่างน้อยอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย-เขมรนั้นได้ผ่านความรุ่งเรืองแห่งยุคทองของช่วงเวลาอันใกล้เคียงกัน

ขณะที่ชาวเขมรนั้น เชื่อมั่นว่าสำหรับยุค “70 แล้ว พวกตนมีความก้าวหน้ากว่าทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมทั้งประเทศไทย

หลักฐานคือ ระหว่างปี 2513-2520 นั้น พบว่ามีการฉายภาพยนตร์เขมรในเมืองไทยมากกว่า 30 เรื่อง อาทิ พิณทองคะนองศึก, กากี, ธิดาช้างเผือก (2513) และงูเก็งกอง (2514) ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่หอภาพยนตร์แห่งชาติ (กรมเปรียะโสริยา : https://youtu.be/X-NFrENEkZ0)

ไม่เพียงเท่านั้น ในยุค “70 กัมพูชายังส่งออกหนังไปยังเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน สิงคโปร์และฮ่องกง-ตลาดภาพยนตร์ การส่งประกวดภาพยนตร์เวทีนานาชาติ ได้ทั้งกล่องและทุนสร้างจากต่างประเทศ

ไม่เท่านั้น กัมพูชายังร่วมทุนผลิตภาพยนตร์กับโปรดักชั่นไทย โดยอาศัยนักแสดงพระ-นางจาก 2 ประเทศร่วมกันทำตลาดและดึงเม็ดเงินจากสายหนัง ในยุคเฟื่องฟูนั้น กัมพูชายังผลิตหนังแนวภารตะ เพื่อเอาใจแฟนหนังเชื้อสายอินโด-มาเลย์อีกด้วย

ในประเทศพนมเปญเองก็เป็นศูนย์กลางของโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของเอเชีย บางโรงถึงกับสงวนไว้ฉายเฉพาะหนังต่างประเทศ เช่นเดียวกับโรงหนังในต่างจังหวัด เช่น พระตะบองที่มีถึง 7 โรงเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ โรงหนังเหล่านี้มีโปรแกรมฉายยืนโรงเป็นเดือน บ่งถึงรสนิยมคนคลั่งหนังในเขมร ที่ไม่น้อยหน้าใครในย่านอาเซียน

สมกับเป็นยุคทองของภาพยนตร์เขมรที่เริ่มจากราวกลางยุค “60 ถึงปี 2518

จนยากจะจินตนาการว่า ช่วงเวลาอันมืดมนของสงครามกลางเมืองนั้น โปรดิวเซอร์/ผลิตกรแขฺมร์และนักแสดงเขมร ไม่เคยหยุดกองถ่ายทำภาพยนตร์ แม้แต่ในห้วงเวลาร้อยกว่าวันของปี 2518 ที่สุดแสนจะเหลือทน

 

ตลอดห้วงเวลาแสนสั้น เพียง 4 ปี 4 เดือน (2513-เมษายน 2518) ในสงครามกลางเมืองที่มีพนมเปญ-ศูนย์กลางแห่งการก่อวินาศกรรมรายวัน ทว่าธุรกิจและบุคลากรวงการภาพยนตร์เขมร กลับทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ เพื่อสร้างผลงาน โดยไม่สนใจว่าโลกจะจารึกหรือไม่?

เหลือเชื่อกว่านั้น ภายใต้วิกฤตหฤโหดของระเบิดรายเดือนถล่มโรงหนังกรุงพนมเปญ แต่ไม่เคยมีเลยที่กองถ่ายหนังเขมรจะยกกองหยุดการถ่ายทำ

หลักฐานอันชัดเจนนี้มาจากโสมวัน โสดานี นางเอกเบอร์หนึ่งของกัมพูชา ที่เพิ่งกลับจากกองถ่ายหนัง ในวันเดียวกับเขมรแดงมีคำสั่งให้ประชาชนออกจากกรุงพนมเปญ (17 เมษายน 2518)

โสมวัน โสดานี-ครอบครัว และชาวเขมรอีกเรือนแสน จำใจออกจากบ้านไปตามเส้นทางจโรยจังวา และเป็นเบาะแสสุดท้ายที่ถูกบันทึก ก่อนที่ดาราดาวค้างฟ้าคนนี้จะสูญหายและไม่มีใครทราบชะตากรรม

เช่นเดียวกับพระเอกคู่ขวัญ-กง สำเอือน (2484-2518) ผู้โด่งดังขีดสุดในยุค 2513-2518 นักแสดงเขมรที่ได้ชื่อว่าโกอินเตอร์ มีภาพยนตร์ฉายในต่างประเทศและประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งของยุคนั้น

ราวต้นปี พ.ศ.2518 นั่นเอง กง สมเอือน เพิ่งเซ็นสัญญาแสดงนำภาพยนตร์ 3 เรื่องกับชอว์บราเดอร์ส และอีก 2 ประเทศซึ่งรวมไทยด้วย

แต่ด้วยเหตุที่ต้องใช้เวลาถ่ายทำต่างแดนนานร่วมปี ทำให้พระเอกคนดังตัดสินใจเลื่อนการเดินทางเพื่อใช้เวลากับครอบครัวช่วงเทศกาลปีใหม่

กง สำเอือน ถูกบังคับให้เดินทางออกจากกรุงพนมเปญ ที่น้องของเขาเล่าว่า แม้จะพยายามหลีกเลี่ยงจากการถูกจดจำ แต่ในที่สุด กง สำเอือน ก็ถูกเขมรแดงสังหาร สร้างความเสียใจต่อพี่น้องตระกูลแห่งวงการบันเทิงตระกูล “กง” ที่ตกอยู่ในฝันร้ายและยังโทษตัวเองอยู่เสมอที่ไม่ผลักดันให้พี่ชายออกนอกประเทศก่อนวันเขมรแตก

นบ แนม พระเอกแถวหน้าอีกคนหนึ่งที่เขมรกำจัดทิ้ง โดยเหตุที่รัฐบาลลอน นอล ใช้เขาเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ให้ จึงมีครั้งหนึ่งที่นบ แนม ถูกลักพาตัวจากกองถ่าย และถูกตั้งค่าหัวเรียกค่าไถ่ ทว่า ด้วยไหวพริบปฏิภาณ ทำให้นบ แนม รอดชีวิตครั้งนั้นอย่างหวุดหวิด

ทว่าเขากลับดื้อรั้น ไม่เชื่อกึม นูวา นางเอกคู่ชีวิตที่ต้องการอพยพไปฝรั่งเศส แต่นบ แนมก็ยังอยู่ทำงานกองถ่าย กระทั่งวิลล่าบ้านพักถูกยิงถล่มและกึม นูวา บาดเจ็บ

สองพระนางถูกเขมรแดงสังหาร และลูกสาวที่ไม่ทราบชะตากรรม

 

ย้อนดูยุคทองที่มืดมนอนธการของหนังเขมรยุค “70 ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกอย่างแรงกล้า ต่อบุคคลของวงการภาพยนตร์ประเทศนี้ ที่ควรค่าแก่การยกย่อง

แม้ว่าวันนี้ วันที่ฟิล์มหนังในยุคก่อนจะกลายเป็นนวัตกรรมเก่าที่ตกสมัย แต่ยังมีชาวเขมรจำนวนมากที่ไม่เคยลืม ในจำนวนนั้น มีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “กรมเปรียะโสริยา” (กลุ่มพระสุริยา) ซึ่งรวบรวมและเก็บเบาะแสหลักฐานเกี่ยวกับภาพยนตร์เขมร ทั้งในกัมพูชาและต่างแดนตลอดหลายปีที่ผ่านมา (https://youtu.be/7DexvRAujOw)

ดูเหมือนพวกเขารอคอยที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง หลังจากพบว่ากว่า 3 ทศวรรษมาแล้ว จากปัญหาเชิงเทคนิค การถ่ายผ่านเทคโนโลยี การขาดแคลนบุคลากรและทุนสร้าง ที่ทำให้ภาพยนตร์กัมพูชาไม่สามารถทำหนังแข่งขันกับตัวเองและตลาดในต่างแดนได้เหมือนอดีต

และทั้งหมดคืออุปสรรคกีดขวางต่อศาสตร์และการทำหนังแบบกัมพูชา ที่รอการฟื้นคืนอย่างเชื่องช้า

ราวกับจะชดเชยอดีตแห่งความสูญเสีย ที่ผ่านมาคนทำหนังบันเทิงและสารคดี ทั้งในกลุ่มสมัครเล่นและอาชีพของกัมพูชา มักจะกวาดรางวัลหลากหลายสาขา ทั้งในเทศกาลภาพยนตร์ทั้งยุโรปและฝั่งอเมริกา

ทว่าประสบการณ์การร่วมงานกับโปรดักชั่นฮอลลีวู้ด เบลเยียม ฝรั่งเศส ไทย ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนวิสัยทัศน์การลงทุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในท้องถิ่นที่เริ่มเป็นสากล และแรงอัดจากทุนนอก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อวงการภาพยนตร์กัมพูชา

และตลาดโพ้นทะเลที่โอบอุ้มกัมพูชาอย่างไม่เอิกเกริก แต่ก็สร้างสายป่านยาวไกลต่อการแข่งขันสังเวียนภูมิภาคที่กัมพูชาพร้อมจะท้าทาย

บนรอยทางแห่งความมืดมนของช่วงยุคทองในอดีต ได้กลับมาหลอกหลอนวงการภาพยนตร์กัมพูชาอย่างครั้งแล้วครั้งเล่า

และทางออกเดียวของการเยียวยา คือ การกลับมาทวงคืนบัลลังก์