ฉัตรสุมาลย์ : อาจารย์พรหมวังโสได้รับรางวัล

กําลังเขียนเรื่องที่ไปเนปาล แต่ข่าวนี้มาตัดหน้าค่ะ

เรามาแสดงความดีใจกับข่าวล่าสุดจากเมืองเพิร์ธ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของออสเตรเลีย

ท่านอาจารย์พรหมวังโส ท่านได้รับรางวัลเนื่องในวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่สองของจักรภพอังกฤษค่ะ

เล่าต่ออีกนิดนะคะ ออสเตรเลียเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ จึงยังมีการเฉลิมฉลองตามแบบอังกฤษด้วย

รางวัลนี้เท่ากับเป็นการให้เครื่องราชฯ ของออสเตรเลีย member of the Order of Australia

ถือว่าผู้เขียนเล่าอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่เพิ่งผ่านมานี้ ท่านอาจารย์จันทะได้มีโอกาสสัมภาษณ์ท่านอาจารย์พรหมวังโสถึงเรื่องนี้ แล้วมีการถอดเทปส่งต่อๆ กันในหมู่ชาวพุทธที่สนใจข่าวล่าสุด

เราก็เลยรู้เรื่องกันชัดเจนขึ้น

 

สําหรับผู้เขียนเองได้รับข่าวจากเพื่อนชาวพุทธในประเทศสวิตเซอร์แลนด์โน่น ทบทวนกันอีกที ท่านอาจารย์พรหมวังโสเป็นชาวอังกฤษ อุปสมบทและฝึกฝนอยู่กับหลวงปู่ชาเป็นเวลากว่า สิบปีจึงไปสร้างวัดที่ออสเตรเลีย

ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณพระวิสุทธิสังวรมหาเถระ แต่ส่วนใหญ่คนจะเรียกท่านว่า ท่านอาจารย์พรหม บางทีเสียงเพี้ยนไปตามฝรั่งว่า อาจารย์บราหม

ท่านเป็นนักเทศน์ที่มีความสามารถเฉพาะตัว หาตัวจับยาก ท่านเล่าเรื่องอะไรเมื่อเราฟังแล้วก็จะจำติดหูติดตา ทั้งยังมีหนังสือที่ถอดเทปมาจากคำสอนของท่านเป็นภาษาไทยก็หลายเล่มอยู่

แต่เรื่องที่ดังมากเป็นเรื่องที่ท่านจัดการอุปสมบทภิกษุณีที่เป็นศิษย์ของท่าน แล้วเริ่มต้นภิกษุณีอารามที่นั่น

 

พระภิกษุสายวัดป่าของหลวงปู่ชาประชุมกันแล้วก็ขับท่านออกจากการเป็นสมาชิกสายวัดป่านั้น

ที่น่าขำคือ เหมือนกับท่านจะทำเล่นๆ คือหลังจากประชุมเสร็จ ขณะเดินออกมา พระภิกษุบางรูปก็มาจับมือท่าน ประมาณว่า เรายังเป็นเพื่อนกันอยู่นะ

ท่านก็ตอบรับอย่างเป็นความจริงว่า เมื่อขับท่านออกไปแล้ว ก็สามารถทำได้ครั้งเดียว เมื่อพบกับท่านธัมมนันทาที่ออสเตรเลีย ท่านธัมมนันทาถามเย้าท่านว่า เมื่อไรจะจัดการอุปสมบทภิกษุณีอีก ท่านว่า ทันทีที่มีวัตถุดิบ ในความหมายว่าเมื่อมีผู้สมัครบวช

ชาวพุทธออสเตรเลียรู้สึกเสียใจกับท่าทีของสายวัดป่ามาก และบางคนไม่เข้าใจนึกว่าถูกขับออกจากการเป็นพระภิกษุไปโน่น

ในความเป็นจริงท่านก็ยังคงสมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินถวาย และความเป็นภิกษุของท่านก็ยังสมบูรณ์ยิ่ง

 

ในการได้รับรางวัลครั้งนี้ ก็น่าสนใจเป็นพิเศษอีกที่เป็นการรับรองการทำงานของท่านในการส่งเสริมพุทธศาสนาโดยเน้นประเด็นเฉพาะในการที่ท่านทำงานเพื่อความเสมอภาคทางเพศ

ในการเป็นภิกษุนั้น ไม่ใช่ออกบวชเพื่อแสวงหารางวัลการยกย่องจากสังคมแต่อย่างใด แต่ครั้งนี้ท่านเห็นว่าเป็นการยอมรับความชอบธรรมในงานของท่านที่พยายามกรุยทางให้น้องสาวคือภิกษุณีสงฆ์ได้มีที่ยืนตามสถานะที่พระพุทธองค์ทรงมอบหมายไว้

ท่านคิดว่า ในการเปิดประเด็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศในพุทธศาสนานั้น ในประเทศออสเตรเลียก็ได้ก้าวหน้าไปมากแล้ว

แต่พุทธศาสนาในประเทศอื่นๆ ยังไม่ไปถึงไหน ท่านระลึกถึงคราวหนึ่งที่พระผู้ใหญ่ในประเทศไทยพูดกับท่านว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีภิกษุณีสงฆ์

ท่านตอบว่า ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประเทศไทยเลย ตอนนี้ชาวพุทธในอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ ไม่พร้อมที่จะปล่อยให้มีการละเมิดในประเด็นทางเพศอีกต่อไป พวกเขาพอกันแล้ว

ในการที่ท่านประกาศจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนให้สตรีชาวพุทธได้อุปสมบทนั้น ท่านก็สูญเสียเพื่อนไปหลายคน และถูกทำให้โดดเดี่ยว

แต่ก็ยังมีประชาชนชาวพุทธในเมืองเพิร์ธที่เข้าใจปัญหา และให้การสนับสนุนท่านอย่างดี

การเสียสละตนของท่านนั้น ทำให้มีงานที่เพิ่มมากขึ้น

 

ท่านต้องช่วยสร้างวัดภิกษุณีทั้งในออสเตรเลียและอังกฤษ วัดภิกษุณีที่อังกฤษชื่อวัดอนุกัมปะ สำหรับคนที่เห็นความสำคัญในงานของท่าน ท่านก็อยากให้ช่วยกันสนับสนุน เพื่อให้ท่านมีเวลาทุ่มเทกับงานสอน และให้มีสุขภาพที่ดีเพื่อท่านจะได้ทำงานต่อไปได้อีกหลายปี

เช่นเดียวกับที่ญาติโยมสนับสนุนการสร้างวัดให้พระภิกษุ ขอให้พิจารณาสนับสนุนให้มีการสร้างวัดสำหรับภิกษุณีด้วย ท่านยังมีความรับผิดชอบที่ต้องฝึกอบรมภิกษุณีไปอีกหลายปี

งานของท่านไม่ได้จบเพียงพิธีกรรม คือการให้การอุปสมบทแก่ภิกษุณีสงฆ์เท่านั้น แต่จะต้องดูแลในเรื่องปัจจัยสี่ อาหารการขบฉัน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

ตอนนี้ท่านเน้นในการสร้างเสนาสนะให้พอเพียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ที่เมืองเพิร์ธในประเทศออสเตรเลีย ท่านสร้างธรรมสาระภิกษุณีอารามเสร็จไปแล้ว

ตอนนี้ท่านกำลังเป็นกำลังสำคัญในการสร้างอนุกัมปะภิกษุณีอารามในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นเมืองมารดรของท่าน

 

ในการสร้างภิกษุณีอารามในประเทศอังกฤษนั้น ก็มีนัยยะสำคัญ เนื่องจากวัดในสายของท่านอาจารย์สุเมโธที่อยู่มาก่อนหน้านั้น ทั้งที่อมราวดี และชิตเฮิร์สต์ ไม่รับให้การอุปสมบทภิกษุณี

จริงๆ แล้วท่านอาจารย์สุเมโธเป็นกำลังสำคัญในการบุกเบิกสายวัดป่าที่อังกฤษ มีลูกศิษย์ที่เป็นสตรีออกบวชกันมากกว่าภิกษุด้วยซ้ำ

แต่หลังจากเหตุการณ์ขับพระอาจารย์พรหมวังโสออกจากการเป็นสมาชิกสายวัดป่า ท่านอาจารย์สุเมโธก็เลยจำเป็นต้องประกาศไม่สนับสนุนการอุปสมบทให้สตรีด้วย

เพราะวัดของท่านก็เป็นสมาชิกในสายวัดป่าของหลวงปู่ชาที่ว่านี้

อนาคาริกาที่บวชที่นั่นหลายรูป มีความตั้งใจที่จะสืบพระศาสนา มีทั้งสัญชาติอังกฤษ อเมริกัน และเยอรมัน จึงพากันย้ายไปสร้างวัดใหม่ที่อเมริกา ทำให้วัดอมราวดี และชิตเฮิร์สต์เงียบเหงาไปถนัดตา

การสร้างภิกษุณีอารามในอังกฤษจึงยิ่งมีความสำคัญต่อท่านอาจารย์พรหมวังโสอย่างยิ่ง

 

ท่านอาจารย์คิดว่าตัวท่านเองเป็นพระสายอนุรักษนิยมมากกว่าพระไทยหลายรูป ท่านไม่นิยมอ่านอรรถกถาแต่กลับไปอ่านภาษาบาลีจากพระไตรปิฎกเองทีเดียว เมื่อได้ศึกษาพระวินัยอย่างรอบคอบแล้ว ท่านเห็นว่า การอุปสมบทภิกษุณีเป็นสิ่งที่ทำได้ ท่านยืนยันให้กลับไปอ่านพระไตรปิฎก และไม่อ้างจากฉบับแปลเพียงเล่มสองเล่ม

ท่านคิดว่า ที่พระภิกษุปฏิเสธนั้นเป็นเพราะ “เราไม่ต้องการ เราจะเสียหน้า มันไม่สอดคล้องกับประเพณีที่ถือปฏิบัติกันในปัจจุบัน คือพุทธแบบไทย” ในพุทธโบราณ ประเพณีการอุปสมบทภิกษุณีมีอยู่ และการรื้อฟื้นก็สอดคล้องกับพระวินัย ไม่ยากเย็นอะไรเลย

ในฐานะที่ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านสอนพระผู้บวชใหม่ ศีลเป็นเครื่องสนับสนุนสมาธิ ศีลของภิกษุและภิกษุณีนั้น มีพลังและเป็นประโยชน์ยิ่งนัก

บางคนจะบ่นว่า ทำสมาธิไม่ได้ดี ปัญหาคือการรักษาศีลยังไม่มั่นคง ยังไม่มีพลัง ท่านอาจารย์ยืนยันว่าท่านไม่ได้พูดเอง แต่เป็นพระพุทธวจนะ ดังนั้น การเป็นภิกษุหรือภิกษุณี การรักษาศีลจึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าศีลของญาติโยมมาก เมื่อศีลมีพลัง ก็จะส่งผลให้การปฏิบัติสมาธิภาวนาเจริญได้รวดเร็ว

ท่านอาจารย์อยากจะสนับสนุนและให้โอกาสแก่ภิกษุณี ภิกษุณีจะปฏิบัติได้ดี ท่านเห็นว่า ภิกษุณีทำงานอุทิศตนได้มากกว่าภิกษุสงฆ์ด้วยซ้ำ

การเจริญศีล สมาธิ ปัญญาเกิดแก่ผู้ปฏิบัติได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะสำหรับภิกษุณีสงฆ์หากได้รับโอกาสและการสนับสนุน ดังที่ท่านอาจารย์พรหมวังโสเองกระทำให้เป็นจริงดังในปัจจุบัน จนเป็นที่ยอมรับและได้รับรางวัลในครั้งนี้