จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 12-18 กรกฎาคม 2562

จดหมาย

0 จากเหนือ (1)

 

เรียนบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

หดหู่

เศร้าสร้อย

วังเวง

สงสาร

สะเทือนใจ

จนน้ำตาปริ่ม

กับภาพเด็กน้อย 3 พี่น้อง กับรถเข็นขยะ บนถนนที่อ้างว้าง

ใน “ขอแสดงความนับถือ” วันที่ 28 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2562

ภาพ 2 ภาพ แทนคำบรรยายได้เป็นพันเป็นหมื่นคำ

ขอบคุณ “ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน) และมติชนสุดสัปดาห์

ที่มีเรื่องมีภาพที่ลึกซึ้งกินใจ

มานำเสนอเป็นระยะๆ พร้อมความสนุกสนาน

นายก้านยาว

สารภี เชียงใหม่

 

ด้วยลายมือหวัด

ชื่อเจ้าของไปรษณียบัตรไม่ชัด

ไม่รู้ที่ถูกต้อง จะเป็นนายก้านยาว นายก้านขาว หรือนายบ้านขาว

ขออภัยหากผิดพลาด

ความรู้สึกร่วม

ระหว่าง นายก้านยาว สารภี เชียงใหม่

กับ “ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน) นั้น

คงมิใช่แค่เป็นคนเหนือ และเป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงเท่านั้น

หากแต่ด้วยข้างหลังภาพ 3 พี่น้องกับรถเข็นขยะนั้น

อาจแลเห็นภาพของพี่ ของน้อง ของเพื่อน อีกบ้านหนึ่ง

ที่วนเวียนสืบเนื่อง-สืบทอดอำนาจจนสำเร็จในนามแห่ง “ปฏิรูป”

ปฏิรูปแบบไหนก็ไม่รู้

เรากลับได้ “คนหิวโหย” มาร่วม “ทึ้ง” อำนาจ-ผลประโยชน์

จนบัดนี้ เรายังไม่มีรัฐบาลใหม่!

ทำให้มองภาพ 3 พี่น้องกับรถเข็นขยะขาดการดูแลยิ่งขึ้น

ดูแล้ว จึงยิ่งเศร้า ยิ่งวังเวง

 

0 จากเหนือ (2)

 

ขออนุญาตกล่าวถึงความพยายาม (มานานกว่า 6 ปี)

ในการขอเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนไทย-ลาว ณ บ้านน้ำปี้ หมู่ที่ 5 ตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

มาบอกกล่าวครับ…

ด้วยบริเวณหมู่บ้านน้ำปี้นั้นเป็นชายแดน

อยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเวียงสาซึ่งเชื่อม-ติดต่อกับบ้านแค่น-เมืองทุ่งมีไช (ในแขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)

เป็นเส้นทางเดินป่า

ที่พี่น้องไทย-ลาวเดินทางรอนแรมไปมาหาสู่กันในยุคสมัยเก่าก่อน (ซึ่งเป็นเขตปกครองของไทย)

แบบค่ำไหนนอนนั่น

โดยเฉพาะผู้คนละแวกบ้านขึ่ง-บ้านน้ำมวบที่เดินเท้าหาบคอนข้าวของเครื่องใช้ปัจจัยสี่บุกป่าฝ่าดงสิงสาราสัตว์ไปทำมาค้าขายยังบ้านแค่น บ้านใหญ่-ทุ่งมีไช

ได้พึ่งพาอาศัยน้ำอกน้ำใจกัน

จนสนิทชิดเชื้อมีความคุ้นเคย

และได้เดินทางเหย้า-เยือนเยี่ยมยามกันอยู่เรื่อยมา…

กระทั่งปี พ.ศ.2518 ทาง สปป.ลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

เส้นทางสายธรรมมชาติ “ช่องยางแบ่ง” บ้านน้ำปี้-บ้านแค่นก็เลยพลอยฟ้าพลอยฝน

ไม่สามารถผ่อนปรนให้ผู้คนสัญจรไปมาค้าขายผ่านชายแดนเข้าออกคบหาสมาคมกันมาจวบจนบัดนี้ (กว่า 44 ปี)

…ปัจจุบันหากต้องเดินทางติดต่อสัมพันธ์กันจากอำเภอเวียงสาไปเมืองทุ่งมีชัย

ก็จำต้องวิ่งรถอ้อมไปช่องมหาราช ตลาดนัดบ้านบ่อเบี้ยหรือช่องภูดู่ อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์

ซึ่งระยะทางยาวไกล (กว่า 140 กิโลเมตร)

ใช้เวลายาวนานขนาดนั้นย่อมเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงสำหรับชาวบ้าน-ร้านธรรมดา

ที่จำกัดจำเขี่ยค่าใช้จ่ายและต้องใช้เวลาทำมาหากิน

แต่หากว่า “จังหวัดน่าน-รัฐบาลไทย” เห็นชอบ (อนุมัติให้เปิดจุดผ่อนปรนฯ บ้านน้ำปี้)

มีความจริงใจที่จะยกระดับปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความเจริญรุ่งเรืองโดยถ้วนทั่วกัน

ก็เป็นเรื่องง่ายและสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติบ้านเมืองเป็นกอบเป็นกำในแบบฉบับ “น้ำซึมบ่อทราย”

…ด้วยเส้นสายรายทางสัญจร-คมนาคมจากเวียงสา (53 ก.ม.ถึงชายแดน – 70 ก.ม.ถึงทุ่งมีไช และ 117 ก.ม.ถึงปากลาย) นั้นเร้าใจให้ศึกษา ท่องเที่ยวเกี่ยวโยงการทำมาค้าขายทะลุชายแดน “ช่องยางแบ่ง” (น้ำปี้-บ้านแค่น) ผ่านทุ่งมีไชไปเมืองปากลาย (แม่น้ำโขง) สู่ใจเมืองไชยะบุรี

(จะท่องเข้าน่านเหนือก็ง่ายดายโดยผ่านเมืองหงสา-เมืองเงินเข้าด่านห้วยโก๋นอำเภอเฉลิมพระเกียรติ หรือจะเพลิดไปหลวงพระบาง เวียดนามและคุนหมิง-ประเทศจีนก็ไปได้ต่อเนื่องอย่างย่น-ประหยัดเวลา ระยะทาง (จากเวียงสาถึงหลวงพระบางราว 380 กิโลเมตร)

จึงเป็นเรื่องอันน่าเสียดายที่เรื่องง่ายๆ มาสูญเสียเวลาเปล่าเปลืองด้วยเรื่องมโนสาเร่ในกลไกราชการ (มาเนิ่นนานกว่า 6 ปี)

…ซึ่งก็จำต้องต่อสู้กันต่อไป

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

ภาวะใกล้ตา ไกลตีน

น่าจะหมดไปนานแล้ว

ตั้งแต่มีการชูธงอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว

หวังว่า “ข้อจำกัด”

จะถูกกำจัดไป–ไม่ใช่มุ่งแต่ขจัดตี๋น้อยให้พ้นไปท่าเดียว

อย่างนายสมัยสงครามว่า