จัตวา กลิ่นสุนทร : ศิลปากร-รวมใจถวายพ่อหลวง (จบ) อันสืบเนื่องมาจากความศรัทธา เทิดทูน อาลัยรัก

ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ต่างพากันบ่นว่าปี 2559 ที่เพิ่งผ่านเลย “เศรษฐกิจ” ไม่ดีเอาเสียเลย ก็เลยตั้งความหวังต่อไปในปีใหม่ 2560 อาจจะมี “ปาฏิหาริย์” เกิดการพลิกผันกลับดีขึ้นบ้าง ธุรกิจซึ่งกำลังร่วงโรยอาจเปลี่ยนแปลงมาลืมตาอ้าปากกันสักที

ฟังดูเหมือนมีความหวังกับปี 2560 ซึ่งหากคิดกันถึงเหตุผลรอบด้านแห่งความเป็นจริงแล้ว เรื่องใหญ่โตอย่าง “เศรษฐกิจ” ประเทศจะเปลี่ยนแปลงพลิกผัน ดั่งพลิกฝ่ามือกระนั้นหรือ?

แต่คนไทยเราก็เท่านี้ สิ้นปีก็มีความหวังใหม่ที

รัฐบาลนั้นรู้อยู่เต็มอกเรื่องเศรษฐกิจว่าไม่ดี ไม่อย่างนั้นทีมงานเศรษฐกิจจะพยายามคิดหาทางแก้ปัญหาในทุกรูปแบบอยู่อย่างเช่นทุกวันนี้หรือ?

การแจกเงินคนจนนั้นก็ใช่ พยายามล่อใจคนที่มีกำลังซื้อให้ออกไปจับจ่ายใช้สอยแล้วเก็บเอาใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีก็ใช่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลสักแค่ไหน?

ไม่มีความคิดอะไรมาบอกกล่าวชี้แนะรัฐบาลเนื่องด้วยปัญญาน้อยนิด แต่ยังยืนยันความคิดเดิมที่เคยแอบเสนอแนะไปบ้างว่า ความดุดัน ความมั่นคง ความเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมืออาจแก้ปัญหา “การเมือง เศรษฐกิจ” ไม่ได้ เนื่องจากมันเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันสืบเนื่องกันเป็นโยงใยทั่วทั้งโลก

จะให้ดีที่สุดก็คือต้องให้ “เจ้าของประเทศ” เขาแก้ปัญหากันเอง

รัฐบาลควรต้องเร่งทุกสิ่งอย่างให้สถานการณ์มันเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย จัดให้มีการ “เลือกตั้ง” แบบบริสุทธิ์ยุติธรรมขึ้น อาจจะเป็นทางออกและการแก้ปัญหา “เศรษฐกิจ” ในทิศทางอันถูกต้อง

 

เขียนเรื่องราวของชาวคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ติดต่อกันมายาวหลายตอน เสนอข่าวความเคลื่อนไหวกับการทำงานจิตรกรรม ประติมากรรม เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตามความถนัดจัดเจนของคนทำงานศิลปะเป็นอาชีพ และคนที่มีอาชีพเป็น “ศิลปิน” ตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา

ผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในงานมหกรรมครั้งใหญ่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นมานั้น ไม่มีใครปฏิเสธ คณบดีคณะจิตรกรรมฯ และ สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งดำเนินการจนเกิดการรวมตัวกันเป็นจำนวนมากกว่าครั้งไหนๆ ของคนเขียนรูป ปั้นรูป เพื่อมาทำงาน “ถวายพ่อหลวง” อันสืบเนื่องมาจากความศรัทธา เทิดทูน และอาลัยรัก ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ในหลวงของประชาชน”

ต้องยอมรับความจริงว่าความคิดอันฉับไวนี้เริ่มต้นจากนักศึกษาปัจจุบันของคณะจิตรกรรมฯ ที่ลงมือรัวพู่กันวาดภาพถวายความอาลัยต่อ “พ่อหลวง พ่อของแผ่นดิน” หลังวัน “สวรรคต” (13 ตุลาคม 2559) เพียงวันเดียว

ก่อนคณะจิตรกรรมฯ+สมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรมฯ จะมาขยายความคิดเพื่อต่อยอดจนเกิดการสร้างงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ขึ้นจำนวน 89 ภาพ และงานปั้นอีกกว่า 10 ชิ้น

เหมือนดั่งเช่นสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศไทย ที่มีการเรียนการสอนวิชาศิลปะ ต่างก็ลงมือสร้างงานจิตรกรรมถวายพ่อหลวงด้วยกันแทบทั้งสิ้น ศิลปินภาคต่างๆ ของประเทศซึ่งไม่สามารถเดินทางมายังสถาบันเก่าได้ ก็ไปรวมตัวกันสร้างงานจิตรกรรม ประติมากรรมขึ้นตามสถานที่ซึ่งเหมาะสมในหลายแห่งทั่วประเทศ

เป็นมหกรรมแห่งความศรัทธา แรงบันดาลใจจากความจงรักภักดีของเหล่านักศึกษาศิลปะ ศิลปินนักวาดรูป ปั้นรูปทั้งหลาย

บรรดาศิษย์เก่าขยายข่าวกระจายแวดวงบอกต่อๆ กันออกไปด้วยสื่อออนไลน์ทุกรูปแบบก่อนที่จะเกิดการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในสื่อทุกประเภท

จนกระทั่งมีการระดมยอดฝีมือซึ่งเป็นศิษย์เก่ารุ่นต่างๆ นับได้เกินจำนวน 100 ขึ้นไปมาช่วยกันสร้างงานใน 3 สัปดาห์ติดต่อ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2559 กระทั่งถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2559 ตามที่ปรากฏ

แต่เท่าที่ได้สัมผัส “ศิลปินอิสระ” ที่มากด้วยฝีมือเป็นที่ยอมรับในสังคมประเทศ “ศิลปินแห่งชาติ+ศิลปินใหญ่” ทั้งหลายกลับไม่ปรากฏร่างเงาเข้าไปร่วมสร้างงาน

 

ประชาชนที่เดินทางไปกราบพระบรมศพ ณ พระบรมมหาราชวัง ซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งอยู่ตรงข้ามด้านทิศเหนือ ได้แวะเวียนเข้าไปชมปรากฏการณ์การวาด+ปั้นภาพครั้งนี้เป็นจำนวนมากในทุกๆ สัปดาห์

ได้เคยกล่าวไปไม่น้อยครั้งแล้วว่าการมารวมตัวของศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ จำนวนมากๆ นั้นเป็นเรื่องยากยิ่งอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกระทั่งอาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีคณะจิตรกรรมฯ ท่านปัจจุบันปรารภว่าไม่น่าเชื่อจริงๆ กับการรวมตัวกันได้มากมายสำหรับครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดสำหรับการไปรวมกันเพื่อทำงานถวายความอาลัยแด่ศูนย์รวมใจของพสกนิกรทั้งประเทศ คือ องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

เคยกล่าวไว้อีกนั่นแหละว่าการรวมตัวกันมากมายอย่างนี้ การสร้างงานจำนวนมากมหาศาลขนาดนี้ย่อมต้องใช้วัสดุอุปกรณ์จำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านพ้นด้วย “บารมี” เหมือนดังที่สปอนเซอร์ “รายใหญ่” ได้กล่าวในวันงานเลี้ยงสังสรรค์เพื่อมอบเงินสนับสนุนอย่างเป็นทางการ ก่อนจะเปรยออกมาว่ามี “เอเยนซี่” อย่างน้อย 3 รายเสนอตัวมาดำเนินงานเมื่อเขาได้เปรยว่า

“อาจจะ–มีการจัดนิทรรศการกับผลงาน ในวาระสำคัญในอนาคต”

 

เริ่มต้นก็ต่างคนต่างช่วยสนับสนุนกันตามกำลังความสามารถ ตามสภาพฐานะ ใครมีเงินโอนเงินเข้ามาร่วม ใครมีอย่างอื่นก็ช่วยกัน ตั้งแต่ทำอาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์การวาดภาพ ฯลฯ ใครมีกำลังมาช่วยกันยกแบบหาม คณะวิชาอื่นๆ เอาของมาแจก เอาอาหารมาแจก ยกวงดนตรีมาบรรเลง ท่านทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีความสำคัญทั้งสิ้นเพราะเป็นผู้มีจิตใจอันบริสุทธิ์มิได้หวังสิ่งตอบแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งๆ ที่มันไม่พอเพียงแน่นอนกับ “การสร้างงานขนาดใหญ่” ตามที่ปรากฏ

บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) จึงได้เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ สนับสนุนเงินจำนวน 2,000,000 บาท (สองล้านบาทถ้วน) โดยทางสมาคม+คณะจิตรกรรมฯ จะมอบผลงานขนาด 2.40×2.40 เมตรจำนวน 6 ชิ้นให้เป็นกรรมสิทธิ์ รายละเอียดอื่นๆ มิอาจทราบได้

แต่เท่าที่เห็นผลงานไปปรากฏตามปกหนังสือซึ่งพิมพ์ออกมาแจกจ่ายได้เขียนบอกว่า “ลิขสิทธิ์ของบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)” ยังงงๆ มึนๆ อยู่พอสมควรกับ “ลิขสิทธิ์” ว่ามีการตกลง มีการเซ็นสัญญากันยังไง? เรื่องลิขสิทธิ์มันจะไม่เกี่ยวข้องผูกพันกับ “ผู้เขียน” บ้างละหรือ?

มิได้เป็นเรื่องแปลก หรือน่ารังเกียจแต่อย่างใดในการเอาอกเอาใจสปอนเซอร์ เนื่องจากเขาเป็นคนเสียสละจ่ายเงินให้ทำงานกันจนสำเร็จ แต่ควรตั้งอยู่บนความพอดีเหมาะสม มีมารยาทพอสมควร อย่าออกนอกหน้าจนเกินงาม จนเกิดความรู้สึกไม่ค่อยดี สร้างความอับอายหงุดหงิดแก่ผู้ร่วมงานอื่น

ได้ให้การสนับสนุน คณะจิตรกรรมฯ+สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ และการสร้างผลงานครั้งนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจอย่างไม่มีอะไรแอบแฝง หรือมีผลประโยชน์ร่วมแต่อย่างใด นอกจากต้องการเห็นความรักความสามัคคี และการพบปะช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในแวดวงนี้ต่อไปในอนาคต

ด้วยส่วนตัวก็ได้ผ่านจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ เช่นเดียวกับท่านทั้งหลาย

ระหว่างยังศึกษาอยู่ในคณะยังได้รับเลือกเป็น “หัวหน้าคณะจิตรกรรม”

ต่อมาก็ได้รับเลือกตั้งอีกเช่นเดียวกันเป็น “นายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร”

หลังเดินจากออกมาได้เข้าไปประกอบอาชีพสื่อกระทั่งได้รับตำแหน่งสูงสุดเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน ระดับคุณภาพ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภา และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จังหวัดระยอง (สสร.ระยอง)

เคยดำรงตำแหน่ง “กรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากรผู้ทรงคุณวุฒิเมื่อปี พ.ศ.2535”

 

ไปร่วมงานวันเลี้ยงสังสรรค์รับรองและรับมอบเงิน เนื่องจากได้รับเชิญจากนายกสมาคม กรรมการสมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรมฯ ซึ่งหลายคนบอกว่าได้เรียนเชิญให้เป็นที่ปรึกษา

สำหรับงานคืนวันนั้นน่าจะเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุดหลังจากเหลียวดูศิษย์เก่าท่านอื่นๆ แล้วคุณวุฒิวัยวุฒิยังห่างไกลกันมากแทบไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลย

แต่ดันถูกชี้ไล่ให้ไปนั่งที่อื่นเพื่อหลีกทางให้รุ่นน้องซึ่งห่างไกลต่อเชื่อมกันไม่ติดด้วยซ้ำ แต่บังเอิญแจ้งเกิดเป็นดาราตลกโปกฮา เพื่อเป็นการเอาใจเจ้าของเงิน เพราะเขาต้องการนั่งใกล้ชิดติดกัน

กลับมาคิดอยู่หลายวัน (กู) มีความจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสมาคมนี้ และไปงานนี้ไหม (วะ) เนี่ย