วิเคราะห์ : “คลื่นความร้อน” ฝันร้ายชาวยุโรปเมื่อนรกมาเยือน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

คลื่นความร้อนได้สร้างความปั่นป่วนให้กับชาวยุโรปเป็นอย่างมาก อุณหภูมิในบางจุดทางภาคใต้ของฝรั่งเศสทำสถิติสูงถึง 45.9 องศาเซลเซียส ( ํc) พื้นที่ป่าบางแห่งในสเปนร้อนจนเกิดไฟไหม้ป่า บางประเทศมีผู้เสียชีวิตเพราะร้อนจัด ร่างกายปรับตัวไม่ทัน

ขณะที่บางจุดนั้นเกิดไฟฟ้าดับเนื่องจากปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าป้อนให้กับเครื่องปรับอากาศมาก

โรงเรียนกว่า 4,000 แห่งในฝรั่งเศสประกาศหยุดเรียนเพราะเกรงว่าเด็กๆ จะได้รับอันตรายจากคลื่นความร้อน

รัฐบาลฝรั่งเศสออกมาตรการฉุกเฉินรับมือคลื่นความร้อน ตั้งจุดบริการแจกน้ำดื่มฟรี ติดตั้งเครื่องพ่นไอน้ำลดอุณหภูมิ

ขยายเวลาเปิดสวนสาธารณะ สระว่ายน้ำ และหอประชุมเมืองก็เปิดแอร์เย็นฉ่ำให้คนเข้าไปพักผ่อนหลบร้อน

รัฐบาลฝรั่งเศสกลัวซ้ำรอยเหตุการณ์คลื่นความร้อนเมื่อปี 2546 ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 15,000 คน จึงต้องเตรียมการรับมือล่วงหน้า

 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกบอกว่า ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว เป็นหนึ่งในช่วงของปีที่ร้อนที่สุดในโลก

ช่วงระหว่างปี 2553-2562 ก็เป็นคาบ 5 ปีที่ร้อนที่สุดอีกด้วย

คลื่นความร้อนที่แผ่ซ่านปกคลุมยุโรปคราวนี้ มาเร็วกว่าเดิม

ปีก่อนๆ คลื่นความร้อนมาราวเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม

แต่ปีนี้เดือนมิถุนายนก็มาแล้ว อากาศร้อนยาวนานขึ้นและครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วยุโรป ตั้งแต่ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกถึงคาบสมุทรบอลข่าน

 

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่านี่เป็นผลของปรากฏการณ์โลกร้อนสืบเนื่องจากการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศจนเข้มข้น ทำให้ชั้นบรรยากาศโลกแปรปรวน

คลื่นความร้อนในยุโรปเกิดขึ้นเพราะความผิดปกติของระบบความกดอากาศ

ทำให้ความกดอากาศสูงจากทิศใต้แผ่ปกคลุมชั้นบรรยากาศเหนือยุโรป ดึงเอาความร้อนจากทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกาขึ้นมาด้วย

แต่ระบบความกดอากาศที่ผิดปกติทำให้คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมกินเวลานาน

เปรียบเหมือนเอากระทะร้อนๆ มาครอบยุโรปเอาไว้

ดูในภาพจำลองคลื่นความร้อน จะเห็นได้ว่าระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายนที่ผ่านมา ทวีปยุโรปเป็นแถบสีแดง หมายถึงอุณหภูมิร้อนจัด

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสเปนเอาภาพจำลองนี้มาเผยแพร่พร้อมกับออกคำเตือนว่า “El infierno”

แปลเป็นไทยๆ ได้ว่า “นรกกำลังมา”

 

ก่อนหน้านี้มีหน่วยงานวิจัยเรื่องของสภาพภูมิอากาศโลกที่มีชื่อว่า world weather attribution ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักวิจัยจากสถาบันชั้นนำของโลก เช่น สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแห่งอังกฤษ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา สำนักงานอุตุนิยมของประเทศต่างๆ ในยุโรป ร่วมกันศึกษาข้อมูลหลังเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในยุโรปเมื่อเดือนมิถุนายน 2560

ในครั้งนั้น คลื่นความร้อนทำให้อุณหภูมิของยุโรปสูงขึ้น 3 ํc เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยปกติระหว่างปี 2524-2553

นักวิจัยคณะดังกล่าวย้อนไปเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติสภาพภูมิอากาศของเมืองต่างๆ ทั่วยุโรปมาวิเคราะห์อย่างละเอียดยิบ อย่างเช่น การนำข้อมูลในพื้นที่สภาพอากาศของเมืองชายแดนในโปรตุเกสระหว่างปี 2444-2558 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี

ในสวิตเซอร์แลนด์มีการบันทึกสถิติสภาพภูมิอากาศทั่วทั้งประเทศมาตั้งแต่ปี 2397 เช่นเดียวกับในอังกฤษ มีการบันทึกข้อมูลเหล่านี้มากว่า 100 ปี ทำให้ได้ข้อมูลแม่นยำมาก

ผลการวิเคราะห์พบว่าคลื่นความร้อนในยุโรปเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่นานๆ ทีจะเกิดขึ้น

บางประเทศเกิดคลื่นความร้อนทุก 10 ปีครั้ง

บางแห่งเกิด 30 ปีครั้งหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศของประเทศนั้น

แต่ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในเดือนมิถุนายน 2560 ทำให้นักวิจัยได้ข้อสรุปว่า สภาพภูมิอากาศของยุโรปเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

คลื่นความร้อนเกิดขึ้นในประเทศเบลเยียมมากเป็น 2 เท่าตัว

ในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์ เกิดมากขึ้น 4 เท่าตัว

ส่วนบริเวณภาคกลางของอังกฤษ โปรตุเกส และสเปน เกิดถี่ขึ้น 10 เท่าตัว

ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนไม่ใช่เกิดแค่ในยุโรปแห่งเดียว แต่เกิดถี่ขึ้นทั่วโลก ทั้งในทวีปเอเชีย อเมริกา 

 

นายเอดัวร์ ฟิลิปป์ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์ระหว่างเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า

“เมื่อก่อนนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเป็นเหมือนเรื่องไกลตัว แต่วันนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวไปแล้ว ความผิดปกติกลายเป็นความปกติ”

นายฟิลิปป์เรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศสช่วยกันปกป้องสิ่งเลวร้ายที่คืบคลานเข้ามา

ขณะที่นายแองเนียส บีซอง รัฐมนตรีสาธารณสุขฝรั่งเศส บอกว่าอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างนี้ เป็นปัญหาที่ชาวโลกจะต้องคิดวิธีปรับตัว

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาฝรั่งเศสชี้ว่า คลื่นความร้อนคุกคามชาวยุโรปถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น

ความรุนแรงอาจเบิลเป็น 2 เท่า เมื่อถึงปี 2593

 

เวลานี้คลื่นความร้อนสร้างผลกระทบให้กับชาวโลกเป็นอย่างมาก กลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ก็พากันปั่นป่วนเพราะต้องเตรียมหาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือป้องกันไม่ให้สัตว์เครียดเนื่องจากอากาศร้อนจัด

หลายพื้นที่ประสบปัญหาในการเดินทาง เนื่องจากความร้อนทำให้ผิวถนนลาดยางมะตอยละลาย รางรถไฟบิดงอ

ผู้คนทนร้อนไม่ไหวอาจถึงขั้นคลุ้มคลั่ง อย่างหนุ่มชาวเยอรมัน ขี่สกู๊ตเตอร์เปลือยกาย ใส่แค่หมวกกันน็อก ตำรวจดักจับก็บอกตรงๆ ว่าทนร้อนไม่ไหว แต่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายนี่นา หมวกกันน็อกก็ใส่

ในประเทศด้อยพัฒนา คลื่นความร้อนกลายเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากทำให้เกิดภาวะภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เกษตรกรเพาะปลูกพืชไร่ เลี้ยงสัตว์ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

หากในอนาคตข้างหน้าคลื่นความร้อนทำให้อากาศร้อนสุดๆ ในช่วงฤดูร้อน และกินเวลานานกว่าที่เห็นในปัจจุบัน นั่นหมายถึง ชาวโลกในวันนั้นอาจอยู่ในนรกเหมือนกับที่สำนักงานอุตุฯ สเปนทวีตประโยคนี้