รู้ลึก! “ทีมโซเชียล” อนาคตใหม่ การเมืองในโลกเสมือนจริง รู้ทัน “มือไซเบอร์”

การเลือกตั้ง 24 มีนาคมที่ผ่านมา สื่อโซเชียลถือเป็นสื่อใหม่ที่แต่ละพรรคให้ความสำคัญ

หากเทียบกับการเลือกตั้งใหญ่ปี 2554 หรือราว 8 ปีก่อน การเติบโตของสื่อออนไลน์เปลี่ยนแปลงไปมาก

การเลือกตั้งที่ผ่านมาหลายพรรคได้บุกตลาดโซเชียลจนได้เก้าอี้ในสภา

แม้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงพื้นที่จริงและเวทีปราศรัยยังคงมีความสำคัญ

แต่สิ่งเหล่านี้ก็ถูกนำมาขยายผลต่อในโซเชียลจนเกิดกระแสนิยมให้แก่พรรค

โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ถูกปรามาสตั้งแต่แรกจะไปรอดหรือไม่ ถูกสบประมาทว่าจะเป็นพรรคต่ำสิบคือได้เก้าอี้แค่หลักหน่วย

แต่สุดท้ายได้เก้าอี้ ส.ส.ถึง 80 ที่นั่ง เป็นพรรคน้องใหม่ไฟแรง

แม้จะถูกตั้งคำถามว่าเป็นเพียงแรงสะวิงจากปรากฏการณ์พรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ รวมทั้งกระแสโซเชียลที่ปลุกได้แค่ชั่วคราว

ที่ผ่านมาพรรคอนาคตใหม่ถูกจับตาถึงกระบวนการใช้สื่อโซเชียล มีการปล่อยข่าวและแชร์ภาพโดยอ้างว่าเป็นการจ้างปั่นไลก์หรือปั่นความนิยม

รวมทั้งมีการตั้งเครือข่ายเป็นขบวนการในการเพิ่มยอดต่างๆ ในโซเชียลโดยใช้คนจำนวนมาก

และมีการทุ่มเงินจำนวนมากด้วย

หนึ่งในมือโซเชียลหรือไซเบอร์ของพรรคอนาคตใหม่เปิดเผยว่า สิ่งที่ถูกกล่างอ้างข้างต้นไม่เป็นความจริง แอดมินที่ดูแลเพจทางการของพรรคมีเพียง 3 คนเท่านั้น โดยเพจหลักของพรรคมีเพียง 3 เพจ ได้แก่ เพจพรรคอนาคตใหม่, เพจธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และเพจปิยบุตร แสงกนกกุล

ส่วนเพจอื่นๆ ที่มีลักษณะเชื่อมโยงกับพรรคนั้น มือโซเชียลระบุว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ

นอกจากทีมไซเบอร์แล้วยังมีทีมผลิตสื่อรวมแล้วประมาณ 10 คน โดยแบ่งหน้าที่เป็น ฝ่ายตัดต่อ กราฟิก เขียนข่าวส่งให้สื่อ เป็นต้น

โดยในส่วนของมือไซเบอร์ที่มีกัน 3 คน ก็ไม่ได้ทำงาน 24 ชั่วโมง ไม่มีการแบ่งเวลาชัดเจน แต่เป็นลักษณะใครว่างก็มาทำหน้าที่กัน

สำหรับยุทธศาสตร์การทำไซเบอร์ของพรรคจะไม่เกาะกระแสสังคม แต่จะทำหน้าที่เป็น “พลเมืองดิจิตอล” ที่มีเซนส์ในการมองปรากฏการณ์การเมือง เพื่อนำมาสู่การกำหนดเป้าหมายแล้วเปลี่ยนเป็นโจทย์ที่ทีมต้องทำ จึงนำมาสู่วิธีการและเนื้อหาสาระ

เช่น การเลือกใช้คำ เหตุผลประกอบในแต่ละประเด็น ทำให้พรรคมีประเด็นที่ต้องการจะสื่อสารชัดเจนและตรงเป้าหมายที่ต้องสื่อสารไปถึง ซึ่งพรรคมีการประชุมทุกวันในเรื่องเหล่านี้

โดยทีมที่ร่วมประชุมไม่ได้มีเพียงคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่มีหลายช่วงวัยตั้งแต่คนรุ่นใหม่อายุ 25-30 ปี ช่วง 35-40 ปี และอายุ 60 ปี ซึ่งคนแต่ละช่วงวัยก็จะแชร์ข้อมูลออกมา แม้คนรุ่นใหม่จะทันเทคโนโลยีไซเบอร์ แต่ไม่เข้าใจแพลตฟอร์มการสื่อสารแบบเดิม

ที่ยังมีความสำคัญอยู่เช่นกัน

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มที่พรรคถูกจับตามากที่สุดคือทวิตเตอร์ โดยมือไซเบอร์ของพรรคยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่

แต่มาเป็นกระแสหลังปรากฏการณ์ “ฟ้ารักพ่อ” ช่วงงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ช่วงต้นปี 2562 หากย้อนกลับไปคำนี้ถูกใช้ครั้งแรกๆ ผ่านเพจแฟนคลับนางงามที่แชร์ภาพนายธนาธรพร้อมข้อความชมรูปลักษณ์ต่างๆ

แต่สิ่งที่เป็นแรงขับสำคัญคือตัวตนของนายธนาธร ที่เป็นที่นิยมของผู้ใช้ทวิตเตอร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งการแสดงออกของผู้ใช้ทวิตเตอร์มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจน ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับพรรค จึงทำให้กระแสต่างๆ ตามมาโดยอัตโนมัติ

หรือกล่าวได้ว่านายธนาธรนั้น “มีของอยู่แล้ว” หากเทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงให้มีปรากฏการณ์ฟ้ารักพ่อไปเกิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะไม่เป็นกระแสเท่านายธนาธร โดยพื้นที่ทวิตเตอร์ผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมมีน้อยกว่าเสรีนิยม

ทั้งนี้ มือไซเบอร์พรรคระบุว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์มีทั้งที่มองนายธนาธรเป็นบุคคลทางการเมืองที่ชื่นชอบแนวคิดเพราะมีแนวคิดที่ตรงกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็มีการมองนายธนาธรเป็นคล้ายๆ กับดารา-นักแสดงเช่นกัน

จึงเป็นที่มาของการจับคู่ให้นายธนาธรและนายปิยบุตรเป็นคู่จิ้นกันในชื่อ “ธนาบุตร” ด้วย พร้อมแชร์ภาพทั้งคู่เวลาอยู่ด้วยกัน เป็นต้น กล่าวโดยสรุปคือ พรรคอนาคตใหม่กับทวิตเตอร์มี “บุคลิกเดียวกัน” นั่นเอง

แต่มือไซเบอร์พรรคก็ยอมรับว่า “หากมองว่าโชคช่วยก็ไม่ผิด”

นอกจากนี้ มือไซเบอร์ยังเปิดเผยถึง “จุดแข็ง” ในการใช้โซเชียลของพรรคว่า โจทย์ของพรรคมีความชัดเจน ซึ่งทีมไซเบอร์ 3 คนรู้ประเด็นการเมือง รู้เทคโนโลยี รู้โลกออนไลน์ ซึ่งเชื่อว่าพรรคอื่นยังไม่มีจุดนี้เท่าพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งความกระตือรือร้นของทีมที่ทำงานกันแค่ 3 คน

รวมทั้งผู้นำพรรคมีวัฒนธรรมเปิดรับฟังความเห็น เสียงของคนอายุน้อยในพรรคได้รับการใส่ใจ ให้ลองผิดและลองถูกได้

ซึ่งพรรคอื่นๆ การใช้โซเชียลจะต้องผ่านการตัดสินใจของผู้ใหญ่ในพรรคก่อน

แม้พื้นฐานนายธนาธรและนายปิยบุตรไม่ได้เข้าใจโลกโซเชียลทั้งหมด

แต่ทั้งคู่มีจุดแข็งสำคัญคือการ “ปักธงประเด็น” ชัดเจน เรียกได้ว่า “มีชัยไปกว่าครึ่ง” เมื่อมารวมกับกระบวนการสื่อสาร จึงทำให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งทีมไซเบอร์ก็จะดูเรื่องภาพรวมต่างๆ ก่อนเผยแพร่ด้วย

แต่พรรคอนาคตใหม่ก็มี “จุดอ่อน” ในเรื่องนี้เช่นกัน ที่พรรคมีทรัพยากรน้อย ซึ่งมือไซเบอร์ของพรรคยอมรับว่าเหนื่อยมาก อีกทั้งมีขบวนการไอโอที่ใส่ร้ายพรรคจำนวนมากด้วย ที่พรรคไม่มีเวลาพอที่จะไปชี้แจงหรือแจ้งความ

อีกทั้งการใช้โซเชียลก็เป็นดาบสองคมที่กลับมา โดยเฉพาะประเด็นดราม่าหรือผิดใจกันเรื่องต่างๆ ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ทำเพื่อแก้ปัญหาคือ การอบรม ส.ส.ของพรรค บุคคลและเจ้าหน้าที่พรรคถึงการใช้โซเชียล โดยให้เข้าใจธรรมชาติของโซเชียล แล้วให้ไปตัดสินใจเองว่าจะบริหารจัดการอย่างไร

ซึ่งพรรคไม่ได้เชียร์หรือห้ามการใช้โซเชียล

สิ่งที่ทีมไซเบอร์พรรคตั้งใจที่จะทำต่อไปคือ การทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ ของพรรคเป็นมากกว่าเรื่องการเมือง แต่เป็นพื้นที่ให้ความรู้กับผู้ติดตาม เพื่อให้ความรู้กับประชาชนที่สนใจการเมืองมากขึ้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีการทำตลาดวิชาขึ้นมา และจะพัฒนาไปสู่การจัดทำหนังสือ

พร้อมกันนี้ทีมไซเบอร์พรรคระบุว่า การทำงานของทีมไม่ได้มีโมเดลมาจากที่ใด ซึ่งเรื่องการใช้โซเชียลต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ของคนทั้งโลก ในบางเรื่องพรรคก็ทำล้ำหน้ากว่าที่อื่นๆ ไปแล้ว ซึ่งทีมก็ต้องคิดโมเดลอื่นๆ ขึ้นมาแทน เพื่อไม่ย่ำอยู่กับที่ ที่ผ่านมาก็มีบุคคลจากต่างประเทศสนใจแนวทางของทีมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ฐานแฟนคลับที่เป็นคนรุ่นใหม่ของพรรค ก็มีการตั้งกรุ๊ปไลน์ “น้องฟ้า” ที่ล้อมาจาก “ฟ้ารักพ่อ” ขึ้นมากันเองโดยไม่เกี่ยวกับพรรค พร้อมเรียกแทนนายธนาธรว่า “อาเอก” ซึ่งจะคอยแจ้งข่าวสารต่างๆ ของพรรคให้สมาชิกทราบ ตามติดทุกฝีก้าวเลยทีเดียว โดยกรุ๊ปต่างๆ มีความเหนียวแน่นมาก ผู้นำในกรุ๊ปเปรียบได้กับ “แม่ยก”

แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีดราม่าเรื่อง “น้องฟ้า” ที่มีความขัดแย้งแบ่งเกรดทางความคิดกัน ซึ่งพรรคก็ทราบถึงปัญหานี้ดีจึงได้เข้าไปสร้างค่านิยมให้กับพวกเขา ให้มีความเห็นที่ไม่เป็นโทษแก่กัน

อีกทั้งอย่ามองคนเห็นต่างเป็นศัตรูด้วย โดยให้ไปชักจูงคนเห็นต่างด้วยความสุภาพเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิด เป็นต้น

สุดท้ายทีมไซเบอร์ของพรรคระบุว่า ช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการเข้ามาป่วนเพจหลักของพรรคอย่างมีนัยยะสำคัญ

เช่น การนำเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวกับโพสต์มาคอมเมนต์ การใช้คำหยาบคาย ซึ่งมีทั้งร่างอวตารและจริง ที่ผ่านมานโยบายของพรรคจะไม่มีการลบคอมเมนต์ที่เห็นต่าง ยกเว้นคอมเมนต์ที่ผิดกฎหมาย

เช่น การขู่ฆ่า ขู่ก่อวินาศกรรม หรือเข้าข่ายผิด ม.112 และ ม.116 ในประมวลกฎหมายอาญา และมีความพยายามที่จะแฮ็กเพจของพรรคบ่อยครั้งด้วย

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความสำคัญของ “มือไซเบอร์-ทีมโซเชียล” ของพรรคอนาคตใหม่ ที่แต่ละพรรคจะต้องนำไปเป็นโจทย์สำคัญทำพรรค

รวมทั้งเป็นบทพิสูจน์ว่าพรรคอนาคตใหม่จะ “เปรี้ยงหรือดับ” ในโลกโซเชียลในอนาคตด้วย