13 ปี 4 จว.ใต้ระอุ ปิดค่ายปล้นปืน สู่ คาร์บอมบ์ งบ 3 แสนล้าน สวนทางผลลัพธ์

เวลาผ่านไปไว นับแต่เหตุปิดค่ายปล้นปืน ที่ค่ายปิเหล็ง หรือกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนวันนี้ 13 ปีเต็ม

ตลอด 13 ปี หากเปรียบวันปล้นปืน คือภูเขาไฟที่ระเบิดจากความร้อนของลาวาที่สะสม คุกรุ่นมานาน มากกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เกิดอาฟเตอร์ช็อก ปะทุครั้งแล้วครั้งเล่า เป็น 13 ปีที่เหตุก่อการร้ายไม่สร่างซา

ความโศกเศร้าสูญเสียปกคลุมเต็มพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.นาทวี จะนะ เทพา และสะบ้าย้อย จ.สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่หลายปีให้หลัง ดูคล้ายว่าเหตุก่อการร้ายจะขยายวง ขยายพื้นที่

กลุ่มผู้ก่อการที่มีภูมิลำเนา เคลื่อนไหวก่อเหตุมีสังกัดกลุ่มขบวนการอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ไปก่อการถูกออกหมายจับ จับกุม จากการก่อเหตุร้ายแรง ลอบวางระเบิด วางระเบิดเพลิง หรือแม้แต่คาร์บอมบ์ ในพื้นที่ใจกลางประเทศ

แม้ “ผู้ใหญ่” ด้านความมั่นคงจะประสานเสียงกันว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องในเชิงอุดมการณ์ หรือเจตนารมณ์หลัก

แต่เหตุคาร์บอมบ์ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เหตุระเบิดย่านรามคำแหง กรุงเทพฯ และเหตุอื่นอีกประปรายในกรุงเทพฯ ต่อเนื่องเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่เกิดเหตุวินาศกรรมต่อเนื่อง วางระเบิด วางเพลิงมากกว่า 10 จุดในพื้นที่ 7 จังหวัดตอนใต้ ตั้งแต่ หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขาหลัก จ.พังงา อ่าวนาง จ.กระบี่ ป่าตอง จ.ภูเก็ต เมืองตรัง เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองสุราษฎร์ธานี จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ที่การสืบสวนสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรมบ่งชี้ด้วยการออกหมายจับกุม กลุ่มขบวนการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่หลายคนยังคงเคลื่อนไหวก่อการร้ายแรงในพื้นที่ปลายสุดด้ามขวาน มีนัยยะสัมพันธ์เชื่อมโยง

ทำให้ผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคงปฏิเสธได้ไม่เต็มปาก แต่การเดินหน้าของกระบวนการยุติธรรมเป็นคำตอบ

 

ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดผ่านข่าวสารการรับรู้ทั่วไป ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น ทวีความหนักหน่วง มีรูปแบบการก่อการที่เหี้ยมโหดเกินกว่าเจ้าหน้าที่จะคาดถึง และสกัดกั้น จากมอเตอร์ไซค์บอมบ์ เป็นคาร์บอมบ์ ความรุนแรงขนาดของระเบิดทำลายล้างสูงขึ้น จากเหยื่อที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ ครู พระสงฆ์ ขยายเป็นเด็ก สตรี คนชรา และผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่

ภายใต้ชื่อเรียกการเรียกร้องสันติวิธี วิถีสู่สันติภาพปาตานี แต่วิธีการเข่นฆ่า ทำลายชีวิต ทรัพย์สิน สั่นคลอนขวัญ บั่นทอนความสงบสุขเดินหน้าอย่างจริงจัง ภายใต้การเรียกร้องขอความเป็นธรรม ขอที่ยืนให้กลุ่มหนึ่ง กลับใช้วิธียัดเยียดความไม่เป็นธรรม ขจัดที่ยืนที่อยู่ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ท่ามกลางเหตุการณ์ไม่สงบรายวัน คนบางกลุ่มอู้ฟู่ เติบโต ขยับขยายพอกพูนทางเศรษฐกิจ เงินสดสะพัดในพื้นที่ แต่คนอีกกลุ่มช่องทางทางเศรษฐกิจริบหรี่ พังพ่ายไปกับการก่อการร้ายที่ประชิดถึงตัว ฆ่า เผา ระเบิด คนกลุ่มหนึ่งมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรรัฐมากขึ้น การศึกษา การงานราชการที่มั่นคง แต่ทว่ามีคำถามเรื่องคุณภาพการศึกษา คุณภาพศักยภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ เหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คล้ายกับว่าถูกปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ แต่เหตุใดจึงทำเป็นมองเห็นฝ่ามือใหญ่โต

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยแพร่สถิติเหตุการณ์ชายแดนใต้ในรอบปี 2559 พบว่า ปี 2559 เกิดเหตุการณ์ 807 เหตุ มีผู้เสียชีวิต 307 ราย ได้รับบาดเจ็บ 628 ราย รูปแบบการก่อเหตุ พบว่า เป็นเหตุยิง มากที่สุด 370 เหตุ สอดคล้องกับสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กอ.รมน.ภาค 4 ที่เคยระบุว่า นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา อาวุธปืนรัฐหายในพื้นที่แห่งนี้มากกว่า 2,000 กระบอก ลำดับรองจากเหตุยิง คือเหตุระเบิดที่มีมากว่า 197 เหตุการณ์

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จำแนกเหยื่อ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ เสียชีวิต 77 ราย จาก 307 ราย เป็นตำรวจ 16 นาย ทหารอาสาสมัครทหารพราน 27 ราย อาสาสมัครรักษาดินแดน 10 ราย ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. อส. ต่างๆ 7 ราย กำนันผู้ใหญ่บ้าน 17 ราย

ขณะที่เป้าหมายเปราะบาง ประชาชน พนักงานรัฐ พระสงฆ์ อิหม่าม เสียชีวิตในปี 2559 รวม 230 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บถึง 50 ราย

ข้อมูลพบว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2559 จับกุมผู้ก่อเหตุได้ 64 ราย วิสามัญฆาตกรรม 16 ราย เชิญตัวมามอบตัว 15 ราย เป็นความสูญเสียชีวิต ที่ยังไม่นับรวมมูลค่าทรัพย์สินในปี 2559 ซึ่งต่อเนื่องอย่างรักษาระดับความรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2547

 

ในมิติของเม็ดเงินในการแก้ปัญหา ภายใต้ชื่อ “แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ งบฯ ดับไฟใต้ ตลอด 13 ปี งบประมาณจำแนกคร่าวๆ ดังนี้ ปี 2547 ประมาณ 13,500 ล้านบาท ปี 2548 ประมาณ 13,600 ล้านบาท ปี 2549 ประมาณ 14,000 ล้านบาท ปี 2550 ประมาณ 17,500 ล้านบาท ปี 2551 ประมาณ 23,000 ล้านบาท ปี 2552 ประมาณ 27,500 ล้านบาท ปี 2553 ประมาณ 16,500 ล้านบาท ปี 2554 ประมาณ 19,100 ล้านบาท ปี 2555 ประมาณ 16,200 ล้านบาท ปี 2556 ประมาณ 21,100 ล้านบาท ปี 2557 ประมาณ 25,900 ล้านบาท ปี 2558 ประมาณ 25,700 ล้านบาท และปี 2559 พุ่งถึงประมาณ 30,886 ล้านบาท

มาถึงปีงบประมาณ 2560 งบฯ ดับไฟใต้ ในชื่อ “แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” หั่นเหลือ 12,692 ล้านบาท แต่แทรกอยู่ในงบฯ ชื่ออื่นๆ ในจำนวนไม่ต่างกับปีก่อนๆ นัก

รวม 13 ปี รัฐบาลไทยทุ่มทุนมหาศาล เพื่อ “แก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ดับไฟร้อนที่ลุกโชน เฉียด 300,000 ล้านบาท!!

 

พิจารณาด้วยตรรกะปุถุชน ด้วยงบประมาณมหาศาลเช่นนี้ เหตุร้ายควรลดลงอย่างมีนัยยะชัดเจน ไม่ใช่ตัวเลขปรับลดหลักสิบ แต่ตีปี๊บว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่ควรเป็นความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ สถิติการย้ายหนีถิ่นฐานลดลง ตัวเลขเม็ดเงินการลงทุนภาคเอกชนอย่างแท้จริง ความมั่นใจของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช้ตัวเลขเชิงนโยบาย ความสงบสุขที่จับต้องได้

เม็ดเงินนับแสนล้านเพื่อป้องกัน ลดเหตุร้าย ตัดโอกาสคนร้าย ตัดโอกาสรถหายนำไปบรรทุกระเบิด ไปก่อเหตุในเขตเศรษฐกิจทั้งนอกและในพื้นที่ชายแดนใต้

วันนี้ชายแดนใต้ควรต้องมีระบบ การตรวจ จับ ดัก ป้องกันที่มีมาตรฐาน ระดับสากล เงินมหาศาลเช่นนี้ มากพอที่จะจัดซื้อเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อลดความสูญเสียชีวิตประชาชน และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติยศเล็กๆ ไม่ต้องยืนตั้งด่านล่อเป้า

แต่ทุกวันนี้ลองเข้าไปในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ด่านตรวจมั่นคง เกาะหม้อแกง ควนมีด รอยต่อ จ.สงขลา เข้าพื้นที่ จ.ปัตตานี ชายแดนใต้ ด่านถาวร ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2547-2548 ทุกวันนี้ บังเกอร์สังกะสีอย่างไรก็อย่างนั้น

10 กว่าปีผ่านไป เพียงเปลี่ยนสังกะสีแผ่นใหม่แทนของเดิมที่ชำรุดจากระเบิด ยกกระสอบทรายเดิมออกเอากระสอบอันใหม่มาทำบังเกอร์ จุดคัดกรองรถยนต์ในด่านถาวร เป็นเสาเหล็ก 6 ต้น โครงหลังคาอะลูมิเนียม ตั้งในจุดข้างทางที่รถต้องสงสัยต้องมีวินัยเลี้ยวเข้าจอดให้ตรวจเอง รอบด่านตรวจอาจพัฒนามีการตั้งกล้องวงจรปิดละเอียดสูงขึ้น จำนวนมากขึ้น เจ้าหน้าที่รุ่นหนุ่มสาว ยืนถือปืนคัดกรอง เฝ้าระวัง เอาชีวิตเข้าเสี่ยงไม่รู้จะเป็นเหยื่อเมื่อใด

นี่คือตัวอย่างสภาพความเป็นจริงของระบบการป้องกัน ปราบปราม ดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ งบประมาณมหาศาลถมไป แต่คล้ายไม่เต็ม

ตำน้ำพริกมากมาย ลอยหายไปตรงไหน หากมองเห็นสภาพพื้นที่ด้วยตาเห็นธรรม เพ่งพิจารณาตัวเลขการสูญเสีย สัมผัสให้ถึงไอของระเบิดที่คุ ปะทุตลอดเวลา รู้สึกให้ได้กับความเศร้าของครอบครัวผู้สูญเสีย

มองสถานการณ์ในปลายด้ามขวานด้วยใจเป็นธรรม ย่อมเกิดคำถามว่า การแก้ปัญหา พัฒนาชายแดนใต้ที่ผ่านมามากกว่าทศวรรษ ถูกต้อง เหมาะควร ถูกที่ ถูกทาง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา จริงหรือ!?