อภินิหาริปไตย : จากอภินิหาร’คดีหุ้นชินคอร์ป’ ถึง ‘แรมโบ้อีสาน’ และมาตรฐานกรณี ส.ส.ถือหุ้นสื่อ

เมื่อกล่าวถึง “อภินิหาริปไตย” แล้ว

หลายคนใจประหวัดไปถึงคำว่า “อภินิหารของกฎหมาย”

ที่เนรมิตขึ้นมาโดยมือกฎหมายของรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม

หลังจากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือแจ้งเตือนกรมสรรพากร

ให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปของนายทักษิณ ชินวัตร หุ้นที่นายพานทองแท้ และนางพินทองทา ชินวัตร ถือแทนอยู่ ให้เรียบร้อย

ก่อนคดีจะขาดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2560

7มีนาคม 2561 กรมสรรพากรได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหมด

ส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรของกระทรวงการคลัง ที่มีนายประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานพิจารณา

ภายหลังที่ประชุมแล้วทุกฝ่ายเห็นตรงกัน

“ไม่น่าจะทำได้”

แต่กระนั้น เมื่อวันที่ 14 มีนาคม

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า

“กรณีติดตามทวงภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปจากนายทักษิณ

นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้นายวิษณุเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารืออีกครั้งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม โดยให้หลักเกณฑ์ว่า

  1. ต้องไม่ใช้มาตรา 44 ให้ใช้กฎหมายปกติ
  2. ไม่ขยายอายุความ
  3. ยืนอยู่บนหลักนิติธรรม

และ 4. ดูเจตนาการขายหุ้นดังกล่าวว่าสุจริตหรือไม่ ถ้าสุจริต ทุกอย่างจบ

โดยขอให้สังคมสบายใจได้ว่า รัฐบาลไม่ได้ไปไล่บี้ทางการเมือง

ไม่ทำอะไรแบบเทาๆ

จะทำให้เป็นสีขาว

มันเป็นรายละเอียดที่มีกฎหมายเล็กซ่อนอยู่ในกฎหมายใหญ่

โดยนายวิษณุใช้คำว่าทำได้ด้วย

อภินิหารของกฎหมาย…”

นั่นคือที่มาของคำว่า “อภินิหารทางกฎหมาย”

ที่แม้รัฐบาลจะย้ำว่า ไม่ใช่อะไรสีเทาๆ แต่เป็นสีขาว

แต่ดูเหมือนว่า ทุกคราวที่กล่าวถึงอภินิหารทางกฎหมาย

เงาเทาๆ ปกคลุมปริมณฑลการเมืองไปเสียทุกที

โดยเฉพาะกับสิ่งที่จะเกิดกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและ คสช.

ล่าสุดเกิดกรณีอภินิหารทางกฎหมายขึ้นอีก

โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ศาลจังหวัดพัทยา นัดหมายจำเลยคือ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายอดิศร เพียงเกษ และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้ อีสาน รับคำฟ้องในคดีหมายเลขดำ อ.968/2561 ฐานมีส่วนร่วมกับการชุมนุมทางการเมืองที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เมื่อปี 2552

จำเลยทุกคนไปแสดงตนต่อศาล

ยกเว้นนายสุภรณ์ ซึ่งปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่เดินทางมา โดยอัยการอ้างว่า ตำรวจไม่สามารถนำตัวมาส่งฟ้อง

เป็นเหตุให้นายสุภรณ์รอดคดีอย่างอภินิหาร

เพราะคดีหมดอายุความ

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว นายณัฐวุฒิโพสต์เฟซบุ๊กระบุ วันนี้อัยการบอกว่านำตัวบุคคลดังกล่าวมาฟ้องไม่ทัน คดีจึงขาดอายุความ

คำอธิบายว่าขาดอายุความช่วงกลางเมษายน 2562 เพราะนำตัวมาฟ้องไม่ได้ในคดีนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก

ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน เป็นผู้สมัคร ส.ส.ต่างพรรค ยกเว้นนายจตุพรซึ่งถูกตัดสิทธิ์ แต่ก็เคลื่อนไหวในสนามเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง

ผม นายวีระกานต์ นพ.เหวง เป็นผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ นายอดิศร พรรคเพื่อไทย นายจตุพรเป็นกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ ส่วนนายสุภรณ์ ย้ายจากเพื่อไทยไปลงสมัคร พปชร.

เคยมีกระแสข่าวว่าคนบางกลุ่มใช้ประเด็นช่วยเหลือเรื่องคดีความ ชักชวน ส.ส.ให้ย้ายไปอยู่พรรคตั้งใหม่

ไม่ทราบว่าคดีที่ผมพูดถึงอยู่มีตื้นลึกหนาบางเกี่ยวข้องอย่างไร

ยิ่งเห็นกรณีนายอุตตม สาวนายน หัวหน้า พปชร. ที่เกี่ยวข้องกับคดีเงินกู้ธนาคารกรุงไทย

แต่ไม่ถูกฟ้องดำเนินคดีเหมือนกรรมการคนอื่นๆ ก็ยิ่งไปกันใหญ่

สังคมใดที่กระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ ได้ จะพูดถึงประชาธิปไตยและสันติสุขของประชาชนในมิติไหน

“ย้ำอีกทีว่า นายสุภรณ์พ้นคดี ผมไม่อิจฉา ไม่คาใจ เพียงแต่สังเวชใจกับคำว่าอภินิหารทางกฎหมาย และปาฏิหาริย์แห่งหลักนิติธรรมที่เกิดขึ้นเท่านั้น” นายณัฐวุฒิระบุ

มีคำตอบโต้จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ว่าเรื่องนี้ตอบแทนกันไม่ได้อยู่แล้ว

ถ้าตอบแทนคนบางคน แล้วผมจะอยู่ได้อย่างไร

“ผมไม่ใช่ศาล และคดีเหล่านี้ก็ไม่เกี่ยวกับมาตรา 44 ด้วย ยืนยันว่าไม่ได้ใช้อำนาจเหล่านี้เลย เรื่องนี้อัยการสามารถชี้แจงได้อยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์พยายามชี้แจง

ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด มาอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อนายสุภรณ์ไม่มาตามนัด

อัยการได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึง ผกก.สภ.เมืองพัทยา และ ผบช.ภ.2 ให้ดำเนินการจับกุมตัวนายสุภรณ์มาส่งอัยการฟ้องต่อศาลให้ได้ภายในวันที่ 5 เมษายน 2562

แต่ทางตำรวจแจ้งว่ายังไม่สามารถนำตัวมาได้

จึงดำเนินการขอศาลจังหวัดพัทยาออกหมายจับนายสุภรณ์วันที่ 4 เมษายน 2562

โดยหลังออกหมายจับ ทางอัยการยังมีหนังสือด่วนที่สุดออกมาอีก ส่งถึง ผกก.สภ.พัทยา, ผบช.ภ.2, ผบก.ชลบุรี, นายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ให้เร่งดำเนินการจับกุมตัวนายสุภรณ์มาให้อัยการฟ้องต่อศาลให้ได้

เนื่องจากคดีของนายสุภรณ์จะหมดอายุความในวันที่ 11 เมษายน

โดยในหนังสือที่ส่งถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เน้นย้ำเป็นอักษรดำเข้ม

“ผมขอเรียนว่าเรื่องนี้ทางอัยการไม่ได้มีการปล่อยปละละเลย ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวย้ำ

ดูเหมือนทั้งนายกฯ ยันอัยการ ต่างยืนยันทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่แล้ว

แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ นายสุภรณ์ลอยตัวจากคดี สบายๆ

และอย่างสบายๆ นี้

นายสุภรณ์บอกว่า ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่มีอภิสิทธิ์ชน ไม่มีใครช่วยใครได้

จริงหรือไม่ เป็นสิ่งที่สังคมกำลังจับตาว่าอภินิหารทางกฎหมาย จะเกิดขึ้นกับเรื่องไหนอีกไหม!

 

ที่สังคมกำลังให้ความสนใจอย่างสูง และจับตาเขม็งตอนนี้ก็คือ กรณีการถือหุ้นสื่อมวลชนของนักการเมือง

ตอนแรกประเด็นนี้ถูกวางเป็น “หมากเด็ด” ที่จะปลิดชีพการเมืองของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ซึ่งก็ชวนระทึกใจอยู่ไม่น้อยเพราะศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้วินิจฉัยแล้ว และมีคำสั่งห้ามนายธนาธรปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.อีกด้วย

จึงมีการคาดหมายถึงอนาคตทางการเมืองของนายธนาธร อาจจะไม่สดใสเสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม การจะงอมืองอเท้าถูกกระทำอยู่ข้างเดียว ดูจะเป็นการสมยอมเกินไป

ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่จึงยื่นเรื่องผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า 41 ส.ส.ที่ถือครองหุ้นสื่อ เข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่

โดยใน 41 ส.ส. เป็น ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐถึง 27 คน

นอกจากนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยังได้ยื่นสอบคุณสมบัติ 21 ส.ว.ว่าถือหุ้นสื่อด้วยหรือไม่เช่นกัน

ทำให้เรื่อง “บานปลาย” ไปกันใหญ่

คือแทนที่นายธนาธรจะตายเดี่ยว แต่กลายเป็นการตายหมู่ โดยเฉพาะฟากรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ทางพรรคพลังประชารัฐอยู่เฉยไม่ได้เช่นกัน

ต้องยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าพรรคอนาคตใหม่ทำผิดขั้นตอนในการตรวจสอบ ขอให้เพิกถอนคำร้อง

และยังได้ยื่นให้ตรวจสอบ 55 ส.ส.พรรคฝ่ายค้านด้วยข้อเดียวกัน

ทำให้รัฐสภาร้อนระอุ เพราะมีผู้อยู่ในข่ายตรวจสอบที่เป็น ส.ส. และ ส.ว.ถึง 117 คน

ในภาวะแห่งความร้อนระอุดังกล่าว

เมื่อนายวิษณุออกมาให้ความเห็นต่อเรื่องนี้

ทุกฝ่ายต่างจับตามองเป็นพิเศษเพราะอาจจะชี้ช่อง “อภินิหารกฎหมาย” อะไรบางอย่าง

โดยนายวิษณุชี้ว่า กรณีสอบคุณสมบัติ ส.ส.ที่ยื่นกันไปมานั้นเป็นดุลพินิจของศาล โดยดูจากความเสียหายที่จะได้รับ

หากให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่เสียหายศาลอาจให้หยุด

แต่ถ้าหยุดแล้วทีหลังมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ศาลก็สั่งไม่ให้หยุด

เช่นกรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่มีคำวินิจฉัยว่าไม่ให้หยุด ถ้าหยุดจะมีผลกระทบเพราะเป็นตำแหน่งหนึ่งเดียว

ส่วนคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง กรณีคุณสมบัติ ส.ส.ก่อนหน้านี้นั้น มีผลเฉพาะตัว ไม่เป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีอื่น

ไม่เหมือนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกมัดทั่วไป

 

พิจารณาตามคำให้สัมภาษณ์ข้างต้น ดูเหมือนนายวิษณุจะพยายามแยกเรื่องคดีหุ้นสื่อ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ใช่บรรทัดฐานเดียวกัน

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ดูจะเป็นผลดีต่อฟากรัฐบาล

เพราะสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลกังวลก็คือ กลัวจะถูกพักงานชั่วคราว ซึ่งจะกระทบต่อเสียงในสภาที่ขณะนี้ปริ่มน้ำอยู่แล้ว อาจจะกลายเป็นเสียงข้างน้อย จนทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้

จึงหวังว่า จะมี “อภินิหารทางกฎหมาย” บางอย่างมาช่วย

ทำให้นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ออกโรงเรียกร้องให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับที่นายธนาธรเจอ

คือเมื่อนายธนาธร 1 คน ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าจะเสียหาย ถ้าหากให้ทำหน้าที่ต่อ

แล้ว ส.ส.รัฐบาล 41 คน ถ้าปล่อยให้ทำหน้าที่ต่อไปจะเสียหายหรือไม่

ซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเคาะออกมาอย่างไร

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องหุ้นสื่อ 9 ส.ส. รับคำร้องไว้ 32 คน แต่ไม่พักการทำหน้าที่

9 ส.ส.ที่หลุด เพราะหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ที่จะเป็นลักษณะเข้าข่ายอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของทั้ง 9 คนต้องสิ้นสุดลง

ส่วนที่ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ 32 ส.ส.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

เนื่องจากไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยเพราะประธานสภาไม่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง มีเพียงเอกสารประกอบคำร้องเป็นหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทระบุรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์ กับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น

ซึ่งศาลต้องดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงให้ยุติต่อไป เมื่อยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ส.ส.ทั้ง 32 คนมีกรณีตามที่ถูกร้องจึงยังไม่เข้าเงื่อนไข จึงไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

แตกต่างจากกรณีนายธนาธรที่ผ่านการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของ กกต.ก่อนยื่นคำร้องที่มีเหตุอันควรสงสัยว่านายธนาธรมีกรณีตามที่ถูกร้อง ศาลจึงสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

กรณีนี้จึงต้องติดตามกันต่อไป ว่าผลจะเป็นอย่างไร

ส่วนจะปลอดจากอภินิหารทางกฎหมายหรือไม่

    ย่อมเป็นประเด็นที่ถก “นอกศาล” กันต่อไป