จับมือระเบิด ท่ามกลางการเยือนรอฮีม นูร์ เพื่อสานต่อสันติภาพที่ชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

ในห้วงเวลา 11-14 มิถุนายน 2562 ตันสรี อับดุลรอฮีม บิน มุฮัมหมัด นูร์ (Tansri Abdurrahim Bin Muhammad Nur) หัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ชาวมาเลเซีย ได้เยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยได้พบปะพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อสานต่อกระบวนการพูดคุยกับรัฐบาลใหม่ไทย

แต่ก่อนหน้านี้ วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตำรวจปัตตานีจับ 3 มือบึ้มตลาดนัดบ่อทองได้โดยมีกล้องวงจรปิดสามารถจับภาพคนร้ายได้

จากการแถลงข่าวของรัฐนั้นได้แถลงว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งพยานวัตถุและพยานบุคคล โดยเฉพาะภาพจากกล้องวงจรปิด พบข้อมูลเบาะแส ซึ่งหลักฐานมีความชัดเจนและเชื่อมโยงตรงกับข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ของผู้ที่ร่วมก่อเหตุ มีทั้งหมด 4 คน

ขณะนี้เจ้าหน้าที่สนธิกำลังจับตัวได้แล้ว 3 คน คือ นายอาซิ มีนา อายุ 25 ปี ทำหน้าที่มารับคนขี่รถจักรยานยนต์ประกอบระเบิดในที่เกิดเหตุ

รายที่ 2 คือ นายอับดุลรอเซะ สลาวะ อายุ 23 ปี ทำหน้าที่เป็นคนกดระเบิด

ส่วนนายมะรอกิ ดอเลาะหนิ อายุ 27 ปี เจ้าหน้าที่ใช้กฎอัยการศึกควบคุมตัว เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับรถจักรยานยนต์ที่ประกอบระเบิด

ผู้ต้องสงสัยอีก 1 คน คือ นายอับดุลกอเดร์ สะตาปอ อายุ 23 ปี เป็นคนขี่รถจักรยานยนต์ประกอบระเบิดมาจอดทิ้งไว้ที่ตลาดนัด ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหลบหนี

จากการสอบสวนนายอาซิและนายอับดุลรอเซะ ให้การรับสารภาพ เนื่องจากจำนนด้วยหลักฐาน ส่วนนายมะรอกิ ยังให้การปฏิเสธ

แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันมีข้อมูลหลักฐานชัดเจน สามารถดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุทั้งหมดได้อย่างแน่นอน ส่วนผู้ที่ยังหลบหนีและเกี่ยวข้องก็จะเร่งจับตัวต่อไป (โปรดดู https://www.youtube.com/watch?v=aJzdLfuqeE4)

อย่างไรก็ตาม ในกระแสสังคมอยากทราบผู้บงการซึ่งรัฐต้องใช้โอกาสนี้พิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยกระบวนการยุติธรรมที่มีมาตรฐานตามมาตรฐานสากลและตรวจสอบได้

หากสามารถทำได้ก็จะถือว่าคดีนี้จะเป็นโมเดลการแก้ปัญหาระยะยาวเรื่องความไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่อันเป็นปัจจัยหลักของความรุนแรง

เพราะกระบวนการยุติธรรมดังกล่าวเท่านั้นจะเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมและความสงบเรียบร้อยของสังคมสู่สันติภาพที่จะตามมา

สําหรับการสานต่อกระบวนการพุดคุยนั้นในห้วงเวลา 11-14 มิถุนายน 2562 ตันสรี อับดุลรอฮีม บิน มุฮัมหมัด นูร์ (Tansri Abdurrahim Bin Muhammad Nur) หัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ชาวมาเลเซีย ได้เยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไม่เป็นทางการ โดยได้พบปะพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทุกภาคส่วน ไม่ว่ารัฐ ผู้นำศาสนา และประชาสังคมชายแดนใต้ทั้งพุทธ-มุสลิม

การเดินทางครั้งนี้แม้หน่วยความมั่นคงจะจัดให้มีกำหนดการชัดเจนว่าจะพบใครอย่างไร และพยายามไม่ให้สื่อได้รู้มากนักยกเว้นบางสื่อเท่านั้นที่ทำข่าวได้

แต่เป็นข้อสังเกตว่าหัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ชาวมาเลเซียคนนี้ทำงานอย่างมืออาชีพและแตกต่างจากคนเดิม

เพราะมีการลงพื้นที่พบและรับฟังความคิดเห็นผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมชายแดนใต้ที่สำคัญภาคประชาสังคมชายแดนใต้ได้นำเอกสารข้อเสนอจากเครือข่าย 13 องค์กรที่ผ่านการสังเคราะห์โดยฝ่ายวิชาการจากเวทีรับฟังความคิดเห็น วิจัยและลงพื้นที่จนเป็นเอกสารข้อเสนอแนะต่อกระบวนการสันติภาพในครั้งนี้

นายมุฮัมมัดอายุป ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้เปิดเผยว่า ทางสภาร่วมกับเครือข่ายได้นำข้อเสนอ 13 กลุ่มเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ 1.สภาประชาสังคมชายแดนใต้ 2.เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ (B4P) 3.กลุ่มถักทอสันติภาพ (กทส.) 4.คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW) 5.เครือข่ายปกป้องสิทธิเด็กจังหวัดชายแดนใต้ (CPN) 6.Local Engagement to Advocate for Peace Project (LEAP) 7.โครงการรวบรวมข้อเสนอแนะจากผู้นำศาสนาอิสลาม 8.โครงการสานเสวนานักการเมือง 9.สมาคมตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 10.สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ 11.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 12.สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) 13.สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

โดยนำเสนอ 8 ประเด็น เพื่อสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน ทุกด้าน

กล่าวคือ ความปลอดภัย กระบวนการสันติภาพ/พูดคุย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สื่อสารกับสังคม การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การปกครอง-การพัฒนาและกระบวนการยุติธรรม

สำหรับเรื่องความปลอดภัยนั้น เน้นส่งเสริมความปลอดภัยของพื้นที่สาธารณะ ส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กของอนาคต คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทุกฝ่ายยุติการก่อเหตุความรุนแรง ปฏิบัติการทางการทหารในพื้นที่สาธารณะ ผู้หญิงมีส่วนร่วมและช่วยพัฒนามาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ

คุ้มครองความปลอดภัยผู้หญิงนักกิจกรรมภาคประชาสังคมที่ถูกจับตาและถูกมองอย่างมีอคติ

สร้างความตระหนักรู้และขจัดความรุนแรงอันมีฐานมาจากเพศสภาพ เด็กอยู่รอดปลอดภัยของเด็กท่ามกลางความขัดแย้งโดยเด็กจะต้องได้รับการปกป้อง รู้รอดปลอดภัย รวมทั้งปลอดจากภัยคุกคามทางเพศ

นักกิจกรรมและคนทำงานเพื่อสังคมได้รับการปกป้องและคุ้มครอง ให้ชุมชนมีบทบาทหลักในการวางแผนรักษาความปลอดภัยในชุมชนโดยตำรวจและทหารเป็นฝ่ายหนุนเสริม มีมาตรการคุ้มครองพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างเต็มที่ เพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างชุมชนและฟื้นฟูการอยู่ร่วมกัน

กำหนดพื้นที่ปลอดภัยในเชิงพื้นที่สาธารณะ มีมาตรการที่ส่งเสริมให้ทุกกลุ่มทางสังคม ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งในและนอกพื้นที่สามารถเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย

ในประเด็นกระบวนการพูดคุย/เจรจาสันติภาพ-สันติสุขนั้น ขอให้ผู้อำนวยความสะดวกเสนอต่อทุกพรรคการเมืองของไทยและรัฐบาลไทยให้ถือว่า กระบวนการพุดคุยสันติสุขกับผู้เห็นต่างเป็นวาระแห่งชาติ

และไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่มมีส่วนร่วม โดยเน้นการพูดคุยในเรื่องความปลอดภัย การส่งเสริมอาชีพ ตลอดจนการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง

ปรับปรุงคณะพูดคุย ให้มีพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะ

เปิดการเจรจาสันติภาพกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างจริงจังโดยมีตัวแทนภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระในการทำงานรวมทั้งชาวพุทธ และมุสลิมกลุ่มต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ จัดให้มีกลไก-กระบวนการส่งเสริมสันติภาพ เช่น คณะกรรมการในนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเด็กเยาวชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

สนับสนุนการเรียนรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพโดยอาจจะเปิดห้องเรียนสันติภาพ จากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารและการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมบทบาทประชาสังคม CSOs ในการส่งเสริมความเข้าใจกระบวนการสันติภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ เปิดให้มีช่องทางการสื่อสารความต้องการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ แสวงหาทางออกความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการเมือง

กำหนดให้พื้นที่สาธารณะปลอดภัยเป็นวาระการพูดคุย

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือที่ต้องทำคู่ขนานคือปฺฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

สำหรับปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องเคารพยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม ยกเลิกกฎอัยการศึกและสถานการณ์ฉุกเฉิน การตรวจสอบค้นหาความจริง จากคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระ เช่น นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และภาคประชาสังคมที่การเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ

ซึ่งมิใช่เพียงการชดใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่รวมถึงการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจ การทำให้กลับสู่สถานะเดิมเท่าที่จะทำได้

หลังจากพบประชาสังคม ท่านตันสรี อับดุลรอฮีม บิน มุฮัมหมัด นูร์ ให้เกียรติอย่างมากได้ไปพบผู้นำศาสนาอย่างอ่อนน้อมเพราะท่านทราบดีว่าผู้นำศาสนามีอิทธิพลต่อคนพื้นที่ เหล่านี้ท่านคงกลับไปสรุปกับคณะทำงานและนำเสนอต่อท่าน ดร.ตุนมหาฎีร ผู้นำสูงสุดมาเลเซียเพื่อจะต่อยอดในการประชุมครั้งหน้าอีกสองอาทิตย์ที่รัฐปีนังประเทศมาเลเซีย

นับเป็นข้อท้าทายในการทำหน้าที่ Facilitator ต่อไปหลังจากอุสตาซชุกรี ฮารี ได้ประกาศลาออกจากหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายเห็นต่างมาราปาตานี