จดหมาย มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 มกราคม 2560

ปณท ชี้แจง

ตามหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2559

ได้เสนอข่าวร้องเรียน ถึงการให้บริการของไปรษณีย์ไทย

กรณีผู้ใช้บริการฝากส่งจดหมายจากต้นทางประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งมาถึงปลายทาง ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี

และพบว่า ผู้รับปลายทางไม่เคยได้รับจดหมาย

ทำให้ผู้ร้องเรียนไม่พอใจในบริการของไปรษณีย์ไทยเป็นอย่างมากนั้น

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) หลังจากทราบข่าวการร้องเรียนดังกล่าว ได้ดำเนินตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการเร่งด่วน

จึงขอเรียนชี้แจงว่าไปรษณียภัณฑ์ที่ผู้ร้องเรียนอ้างถึงนั้น เป็นสิ่งของที่ฝากส่งประเภทไปรษณีย์ธรรมดา ส่งถึงผู้รับจำนวน 4 คน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรี

จากการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นำจ่ายในพื้นที่ และสอบถามผู้รับปลายทางตามที่อยู่จ่าหน้าที่ผู้ร้องเรียนอ้างถึงนั้น

พบว่าได้รับจดหมายเรียบร้อยแล้ว

แต่ผู้รับปลายทางมิได้แจ้งให้ผู้ร้องเรียนทราบ จึงเกิดกรณีเข้าใจผิดว่าจดหมายไม่ถึงปลายทาง

รวมไปถึงการนำจ่ายของเจ้าหน้าที่ ก็เป็นไปตามปกติ ไม่มีสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ตกค้าง/ล่าช้าหรือนำจ่ายไม่หมดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี จากข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น ปณท รับทราบถึงปัญหาและตระหนักดีถึงการรักษามาตรฐานการนำจ่าย ให้ถึงมือผู้รับปลายทางอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว

จึงได้กำชับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นำจ่ายให้ปฏิบัติตามระเบียบ ของ ปณท อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ

ปณท ขอขอบคุณผู้ร้องเรียน ที่ช่วยให้ข้อมูลการใช้บริการไปรษณีย์

เพื่อ ปณท จะได้นำมาพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานและการให้บริกหารให้ได้มาตรฐาน มีความรัดกุม ป้องกันความผิดพลาด ที่เกิดขึ้นต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและขอขอบคุณ ที่กรุณาเป็นสื่อกลางในการแจ้งร้องเรียนของผู้ใช้บริการมา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถือ

นางวราภรณ์ ใช้เทียมวงศ์

ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร

นอกจากจดหมายชี้แจงฉบับนี้แล้ว

ยังได้พบทีมงาน ปณท ที่แวะมาสวัสดีปีใหม่ ที่ “มติชนสุดสัปดาห์” ด้วย

ทีมงาน ปณท บอกว่าหลังจากได้รับการร้องเรียนก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ

จนทราบว่า ปลายทางได้รับจดหมายทั้งหมดแล้ว

“คุณประชาชนคนไทย ที่รักประเทศยิ่งชีวิต” ซึ่งร้องเรียนมาในทุกช่องทาง

รวมกระทั่งศูนย์ดำรงธรรมด้วย คงได้รับคำตอบแล้วกระมัง

ส่วนจะพอใจหรือมีอะไรที่ยังอยากเสนอ

เชิญชี้แนะ และควรจะใช้บริการ ปณท ต่อไป

เพื่อพิสูจน์คุณภาพ


โพล

เห็น มติชนสุดสัปดาห์ ชอบอ้างผลโพลในบทความต่างๆ อยู่บ่อยๆ เลยนึกถึง จึงส่งสารนี้มาให้

คงไม่ปฏิเสธว่าหลายๆ ครั้งเมื่อเราได้เห็นผลโพล ก็อาจรู้สึกคล้อยตามไปกับผลที่ปรากฏ (ถ้าถูกใจ)

แต่บางครั้งก็รู้สึก “ขัดๆ” เพราะไม่ตรงกับความเห็น หรือสิ่งที่ประสบอยู่ในชีวิตจริง

จนสงสัยว่าเป็น “ของจริง” หรือ “ชเลียร์” กันแน่

จึงขอฝากข้อคิดในการแปลผลโพลฉบับชาวบ้านไว้เพื่อเผยแพร่และพิจารณาดังนี้

1) ขอให้วาดภาพการทำโพลเหมือนเราพยายามเปิดโถลูกอมต่างรส มีทั้งรสส้ม มะนาว สับปะรด ฯลฯ

ถ้าเราอยากรู้ว่ามีสัดส่วนของลูกอมแต่ละรสเท่าใดโดยไม่ต้องเทโถออกมานับทั้งหมด

ก็ทำได้โดยการคลุกให้ทั่วแล้วสุ่มเลือกโดยไม่ลำเอียง

เช่น อาจล้วงหยิบออกมาสัก 20 ลูก

แล้วนับว่ามีรสใดอย่างละเท่าใด ก็จะประมาณการได้ว่าลูกอมทั้งโถมีสัดส่วนของแต่ละรสเท่าใด

การทำโพลก็คล้ายกัน

ประชากรไทยก็คล้ายลูกอมทั้งโถ ความเห็นต่างๆ ก็คล้ายลูกอมแต่ละรส

ปัญหาที่น่าห่วง ก็คือ ถ้าความลำเอียงเกิดขึ้น เช่น เรามีกรอบเลือกเฉพาะรสองุ่นเป็นส่วนใหญ่ (เช่น โพลมาจากสมาชิกที่มีแนวคิดเหมือนกัน กลุ่มการศึกษาสูง ฯลฯ)

ไม่ว่าจะใช้ลูกอมปริมาณมากเท่าใด

ผลที่ได้ก็มักเป็นผลจากกลุ่มลูกอมรสองุ่น ไม่ใช่จากลูกอมทั้งโถ

ในสหรัฐแม้ประชากรส่วนใหญ่จะมีโทรศัพท์ใช้และทำให้มีความนิยมทำโพลโดยโทรศัพท์ก็ตาม

แต่สัดส่วนของโทรศัพท์พื้นฐาน(ตามบ้านที่ลดลงมาก และโทรศัพท์มือถือที่มากขึ้นและยังมีการพบว่าผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อย หรือคนที่รายได้น้อยมักมีโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว)

เขาก็ต้องเอาปัจจัยเหล่านี้มาคำนึงในการกำหนดกรอบ ที่จะเลือกขนาดตัวอย่างด้วยเช่นกัน

ส่วนของไทยเราไม่ทราบแน่ชัดว่ามีการคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้หรือไม่

2) จำนวนที่เลือก (ขนาดตัวอย่าง) ก็มีความสำคัญ ควรปราศจากความลำเอียงเสียก่อน เพราะถ้าเลือกลูกอมแค่ 4 ลูกแล้วบอกว่ามีองุ่น 2 ลูกคิดเป็น 50% ความน่าเชื่อถือย่อมต่างจากการเลือกลูกอม 20 ลูกแล้วมีรสองุ่นอยู่ 10 ลูก (50%)

3) คำถามที่ใช้เป็นแบบปลายปิด (เลือกข้อ ก. ข. ค. แบบปรนัย) หรือปลายเปิด (แบบอัตนัย) ถ้าเป็นแบบหลังโอกาสเกิดความลำเอียงจากผู้ทำโพล จะมีมากกว่า จากการตีความของผู้ทำโพล

4) พูดง่ายๆ แบบชาวบ้าน โพลที่ “แฟร์” อย่างน้อยที่สุด ควรบอกสัดส่วน (%) เพศ กลุ่มอายุ การศึกษา (ต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี/สูงกว่าปริญญาตรี) อาชีพ เช่น ไม่ประกอบอาชีพ ลูกจ้าง ข้าราชการ ฯลฯ) แบบสอบถามที่ใช้ปลายปิด ปลายเปิด ฯลฯ จำนวนขนาดตัวอย่างของข้อมูล

เหล่านี้จะช่วยประชาชนพอจะมองออกคร่าวๆ ได้ว่ามีโอกาสได้ผลจากตะกร้าที่ลำเอียงหรือไม่

คงไม่เปลืองเนื้อที่ในการนำเสนอในสื่อต่างๆ มากขึ้นนัก

แล้วให้ผู้อ่านตัดสินว่า กรอบนั้นน่าจะลำเอียงหรือไม่

อย่างน้อยประชาชนก็ฉลาดและสามารถพอที่จะพิจารณาว่า “ของจริง” หรือ “ชเลียร์” ไหม

5) ผลโพลการเลือกตั้งสหรัฐอาจผิดคาดและช็อกโลก แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าความคลาดเคลื่อนมีพร้อมๆ กันอยู่ทั้ง 2 ฝ่ายจึงทำให้คะแนน electoral และ popular vote สูสีกัน

ขอแสดงความนับถือ

ศ.เกษียณ

 

อ่านแล้ว รู้สึกดีกับโพล ขึ้นบ้างหรือไม่

ลองถามใจตัวเองดู

แต่พักหลัง หลายคน คล้อยไปในทาง ถ้าผลออกมาตรงใจ ก็เอนเอียงจะเชื่อ

ไม่ตรงใจ ก็บอกว่าไม่น่าเชื่อถือ

กลายเป็นเรื่อง “อารมณ์ความรู้สึก” มากกว่า “ข้อเท็จจริง”