หนุ่มเมืองจันท์ | แตกต่างแต่เป็นหนึ่ง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ผมไปประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ “วิ่งเพื่อสวนป๋วย” (RUN FOR PUEY) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

หลุดเข้าไปสู่วงโคจรนี้เพราะ “สุพจน์” เพื่อนผมที่เป็นเจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงดึงเข้าไป

ความสนุกส่วนหนึ่งของงานนี้คือ ได้เจอพี่-เพื่อน-น้อง นักกิจกรรมเก่า

มีทั้ง “พี่เพ้ง-พี่จอบ-เหลียง”

เหมือนได้ย้อนอดีตกลับไปสู่วันเก่าๆ

ผมได้ยินชื่อ “สวนป๋วย” หรือ “อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี” มาพักหนึ่งแล้ว

เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องการนำพื้นที่ด้านหน้าติดถนนพหลโยธินมาทำเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ให้ประชาชนแถบนั้นมาออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่างๆ

ทำให้ “ธรรมศาสตร์” ใกล้ชิดกับ “ประชาชน” เหมือนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เรานั่งคุยมาแล้วหลายครั้งก่อนจะมาประชุมใหญ่ครั้งนี้

“บาส” เทพวรรณ ZAPP Party ออแกไนซ์มือดีของเมืองไทยที่เป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์เป็นคนจัดงาน

เขาเสนอให้หาทุนจากกิจกรรมวิ่ง

มีทั้งการวิ่งแบบ Virtual Run และ Event Run

Virtual Run มี 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 1-30 สิงหาคม (21 ก.ม.) และวันที่ 1-30 กันยายน (42 ก.ม)

ส่วน Event Run จัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต วันที่ 10 พฤศจิกายน

จบงานวิ่งมีคอนเสิร์ตวง Cocktail ปิดท้าย

ฟังแล้วน่าสนุก

ประชุมครั้งนี้ ช่วงหนึ่งมีการคุยเรื่องเสื้อและดีไซน์ต่างๆ ของงาน

น้องเสนอว่าจะใช้รูป “สวนป๋วย” เป็นจุดเริ่มต้นไอเดีย

แต่พวกผมรู้สึกว่าน่าใช้ “อาจารย์ป๋วย” เป็นจุดเริ่มต้น

คิดถึงลายเซ็น วรรคทองในหนังสือ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

“อาจารย์ป๋วย” น่าจะมีพลังมากกว่า

แต่น้องคนหนึ่งยกมือเสนอความเห็นแย้ง

เขาบอกว่า “ธรรมศาสตร์” มีคน 3 รุ่น

รุ่นแรก คือ รุ่นที่เรียนธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

รุ่นที่สอง คือ เรียนทั้งที่ท่าพระจันทร์และรังสิต

รุ่นที่สาม คือ รุ่นนี้ที่เรียนที่รังสิต

“พวกพี่อาจจะอินกับอาจารย์ป๋วย แต่รุ่นผมไม่ค่อยอิน”

ประเด็นนี้น่าสนใจครับ

เพราะฉุกคิดขึ้นมาว่าผมก็ไม่ค่อยอินกับธรรมศาสตร์ รังสิต เหมือนกัน

เข้ามาแล้วงงๆ ไม่รู้สึกว่ามา “บ้านเก่า” ที่เราคุ้นเคย

มาประชุมครั้งนี้ก็ยังหลงเลย

นึกถึงตอนที่เรียนอยู่ที่ท่าพระจันทร์ มีรุ่นพี่ที่อาวุโสมากๆ จะเล่าถึงวีรกรรมการเดินทวงคืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากทหาร

เล่าเท่าไร ผมก็ไม่อิน

รู้แค่ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของธรรมศาสตร์ที่น่าจดจำ

แต่ผมจะอินกับเหตุการณ์ 14 ตุลา-6 ตุลา มากกว่า

เพราะใกล้กับช่วงเวลาที่ผมเรียนอยู่

คนต่างยุค ต่างสมัยก็มี “ภาพจำ” คนละภาพ

เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก

ยิ่งมหาวิทยาลัยมีประวัติศาสตร์ยาวนาน

“ภาพจำ” ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน

ผมนึกถึง “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ เคยเล่าเรื่องจุดตัด “คนเหล็ก” ให้ฟัง

ธนาคารไทยพาณิชย์จัดกิจกรรมอบรมพนักงานซึ่งมีทั้งผู้ใหญ่และคนหนุ่มสาว

มีการเล่นเกมทายคำ

น้องได้คำว่า “คนเหล็ก”

เขาต้องใบ้คำนี้ให้เพื่อนทาย

น้องก้มอ่านคำว่า “คนเหล็ก” แล้วทำท่างงๆ

รุ่นพี่พยายามช่วยคิดคำใบ้

“อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ไง”

“อาร์โนลด์” เป็นดารานักเพาะกายชื่อดังที่เล่นหนังเรื่อง The Terminator หรือ “คนเหล็ก”

ใครๆ ก็รู้จัก

คนที่คิดคำคงคิดอย่างนั้น

แต่น้องคนนั้นหันมาแล้วส่ายหน้า

“อาร์โนลด์ ใครคะ หนูไม่รู้จักค่ะ”

ครับ เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักหนัง “คนเหล็ก”

ไม่รู้จัก “อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์”

“โจ้” บอกว่านี่คือ “ความแตกต่าง” ระหว่างวัยที่ชัดเจนมาก

เหมือน “กร” ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ของ “เวิร์คพอยท์” ตั้งข้อสังเกตว่าตอนนี้ทุกแพลตฟอร์มจะให้ “จุดตัด” ระหว่างวัยอยู่ที่ 35

พฤติกรรมและวิธีคิดของคน 2 กลุ่มนี้จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เช่น คนดูทีวี คือ คนอายุ 35 ขึ้นไป

โลกการเมืองก็เช่นกัน

การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่เป็น “ตัวอย่าง” ที่ดีที่สุด

การเมืองไทยยุคก่อน มี 2 นคราประชาธิปไตย

คือ แบ่งเป็น “คนกรุง” กับ “คนต่างจังหวัด”

วิธีคิดทางการเมืองคน 2 กลุ่มนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

จนเกิดคำว่า “คนต่างจังหวัด” เลือกรัฐบาล

แต่ “คนกรุง” ล้มรัฐบาล

วันนี้ “2 นครา” นั้นก็ยังคงอยู่

แต่เปลี่ยนเป็น “2 นครา” ระหว่าง “วัย”

คนหนุ่มสาวกับผู้ใหญ่ มีวิธีคิดเรื่อง “การเมือง” แตกต่างกันมาก

พ่อแม่กับลูก เลือกกันคนละพรรค

ปมบางเรื่องที่เคยเป็น “เรื่องใหญ่” ของ “ผู้ใหญ่” กลายเป็นเรื่องที่ “เด็ก” ไม่สนใจ

ปรากฏการณ์นี้เห็นชัดเจนจากผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

“ความแตกต่าง” เป็นเรื่องที่งดงาม

ภาพที่ทาด้วย “สีขาว” สีเดียวก็คงเหมือนกระดาษเปล่า

พอแต้มสีสันที่ “แตกต่าง” เข้าไป

ภาพนั้นจึงเริ่มงดงามขึ้น

คนต่างวัยคิดแตกต่างกันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่คนที่คิดจะให้คนอื่นคิดเหมือนกับเรา

นั่นแหละ…แปลก

ดังนั้น คน 250 คน คิดแตกต่างกันไม่แปลก

แต่ถ้าคน 250 คนคิดเหมือนกัน

โหวตเหมือนกันเป๊ะ

นั่นแหละ…แปลก