จัตวา กลิ่นสุนทร : ศิลปากร-รวมใจถวายพ่อหลวง (4) รักสวยรักงามซาบซึ้งในรสชาติของศิลปวัฒนธรรม

นิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้จัดทำเสร็จออกวางตามร้านหนังสือ แผงหนังสือ สู่สายตาท่านผู้อ่านก็คงเหลืออีกเพียงวันเดียวจะถึงวันลาจากปีเก่า

ก้าวขึ้นสู่ปีใหม่ พ.ศ.2560 เพื่อสู้กับชีวิตกันต่อ

ชีวิตมันต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าบ้านเมืองของเราจะเป็นอย่างไร? ปกครองกันด้วยระบบไหน?

อยากอำนวยอวยพรให้ท่านผู้อ่านทั้งหลาย มิตรรักนักอ่านซึ่งเหนียวแน่นผูกพันอยู่กับสื่อกระดาษอย่างไม่เสื่อมคลาย ขอให้มีความสุขความเจริญ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายทั้งปวงมาเบียดเบียน

ที่เป็นหนี้เป็นสินก็ขอให้สามารถปลดลดหนี้ลงได้โดยเร็ว

 

ผู้คนในสังคมโลกใบนี้ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วที่เกิดขึ้นนอกจากต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา เพื่อปรับตัวให้อยู่กับสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้นให้ได้ ดังที่เรียนว่าสื่อกระดาษกำลังถดถอยเพราะนักอ่านรุ่นใหม่ไม่เกิด ผู้คนจำนวนมากถนัดที่จะอ่าน สื่อสารกันด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเตอร์เน็ต ระบบทุกอย่างเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตั้งแต่รายวันยันรายเดือน หนังสือเล่มเริ่มนับถอยหลัง

นักเขียนบางท่านถึงกับเขียนระบายแบบตัดพ้อว่าที่มีอันต้องตกงานนั้นเป็นเรื่องของการยึดอำนาจ และเข้าบริหารประเทศครั้งล่าสุดจนทำให้เศรษฐกิจประเทศเสียหาย บริษัทห้างร้านต่างๆ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ด้วยส่วนหนึ่งด้วยการลงโฆษณามีอันต้องยกเลิก

แต่เขาไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในทุกวันนี้ ซึ่งแท้จริงแล้วมันน่าจะประกอบกันทั้งสองส่วนสำหรับโลกปัจจุบันจนทำให้สื่อกระดาษเริ่มร่วงโรยขาดความนิยมลงไปตามกาลเวลา

นักเขียนอีกเช่นเดียวกันออกมาโพสต์ถึงผู้นำรัฐบาลปัจจุบันแบบตัดพ้อว่า “การจากลาของนิตยสารเล่มหนึ่งในเชิงธุรกิจอาจหมายถึงการหยุดเลือดไม่ให้ไหลเพื่อรักษาชีวิตเจ้าของธุรกิจเอาไว้ แต่ในเชิงวัฒนธรรม นี่คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขนาดใหญ่ของโลกการอ่านการเขียน ซึ่งรัฐบาลจะทำตัวเป็นไม่รู้ไม่เห็นแบบนี้ไม่ได้”

เน้นต่อไปว่าคนทำงานหนังสือ ผู้สร้างสรรค์ศิลปะ ซึ่งประกอบกันหลายส่วนต้องได้รับผลกระทบในชีวิตความเป็นอยู่ถ้วนหน้า “นักเขียนนับสิบนับร้อยชีวิตต้องหมดพื้นที่ทำมาหากิน สิ่งนี้คือโศกนาฏกรรมที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยังปิดตาข้างหนึ่งทำเป็นมองไม่เห็น”

เขายกนโยบายเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลมากล่าวถึง ว่ารัฐบาลหนุนให้ชาวบ้าน Shopping ซื้อของกันเยอะแยะ ส่งเสริมให้คนออกไปเที่ยวใช้จ่ายตามโรงแรม รีสอร์ต เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว แล้วเอาใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ บอกว่านี่คือการช่วยประเทศชาติ แต่รัฐบาลไม่เคยสนใจการอ่านเลย ชาตินี้จะได้ยินไหมว่าถ้าใครเอาใบเสร็จซื้อหนังสือรวมกันเยอะๆ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ หรือจะได้ยินไหมว่า รัฐบาลอุดหนุนผู้สร้างสรรค์ศิลปะ วรรณกรรมด้วยงบประมาณก้อนใหญ่ให้เป็นกองทุนนักเขียน และคนทำงานศิลปะ ซึ่งส่วนใหญ่กำลังจะอดตาย

“จะฝันมากเกินไปไหมสำหรับยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ที่เราเฝ้ารอว่ากำลังจะมาถึงนั้น กระทรงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรมจะใส่ใจเรื่องส่งเสริมการเขียน การอ่าน และการเรียนรู้ในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์มากกว่าการจัดอีเว้นท์แบบโง่เขลาใช้เงินเป็นล้านๆ บาทมาละลายทิ้งข้างถนน”

 

เขาต้องการจะให้รัฐบาลหันมาสนใจการเขียน การอ่าน และสนับสนุนคนทำงานศิลปะแบบสร้างสรรค์ ให้มากกว่าเท่าที่เป็นอยู่ เรียกว่าเพื่อให้อยู่รอดเหมือนที่ทำกันอยู่ในหลายๆ ประเทศมิใช่ปล่อยให้อนาคตทางด้านศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ มีอนาคตมืดมน และรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล

อันที่จริงรัฐบาลกำลังหน้านิ่วคิ้วขมวดในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจกันอยู่ ตั้งแต่การใช้วิธีเดิมๆ แจกจ่ายเงินคนจนมีรายได้น้อย เหมือนอย่างรัฐบาลก่อนๆ บางรัฐบาลที่ใช้วิธีแจกเงินให้เอาไปใช้จ่าย ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ข้างถนนมองว่าไม่ค่อยจะเห็นผลเหมือนหยดน้ำลงไปในแม่น้ำลำคลองจนถึงทะเล เช่นเดียวกับการล่อใจให้คนรวยสามารลดหย่อนภาษีได้ด้วยการออกไปช็อปช่วยชาติ

รัฐบาลประเทศของเราแทบจะทุกชุดมักอ่อนด้อยเรื่องความนุมนวลละเอียดอ่อน ความงดงาม ศิลปวัฒนธรรม เรียกว่าไม่ให้ความสำคัญ มักมองข้ามไปเสียหมด ซึ่งอันที่จริงคำว่าศิลปะนั้นมันมาจากความรู้สึกภายในของจิตใจที่ลึกซึ้งเกินจำกัดขอบเขตอันกว้างขวางมากมายมิใช่หมายถึงเพียงแค่งานจิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ดนตรี ฯลฯ เท่านั้น

สิ่งที่กล่าวนี้ถ้าหากมีอยู่ในตัวผู้บริหาร รับรองได้ว่าจะได้เปรียบคนที่มีแต่ความแข็งกระด้าง เน้นแต่การเอากำลังเข้าหักหาญต้องเด็ดขาดในทุกเรื่อง อันที่จริงคนที่มีจินตนาการ รักสวยรักงามซาบซึ้งในรสชาติของศิลปวัฒนธรรมน่าจะมีความสามารถด้านบริหาร จนพาประเทศชาติก้าวหน้า พบความสำเร็จเรื่อง “การเมือง-เศรษฐกิจ”

 

มีผู้รู้เขียนไว้ที่ไหนสักแห่งว่า ถ้ายังคงมองเห็นแต่ความมั่นคงเป็น “ธงหลัก” ในทุกๆ เรื่องพวกเขาจะไม่มีวันเห็นฝั่ง จะไม่มีวันแก้ปัญหาอะไรได้สำเร็จสักเรื่อง

“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟใต้ ปัญหาธรรมกาย ปัญหาอาชญากรรม การเมือง เศรษฐกิจ ถ้าเอาความมั่นคงขึ้นนำ เอากำลังเข้าหักหาญ เอากฎหมายเข้าบังคับ เอาอำนาจพิเศษเข้าข่มขู่ ก็จะได้แต่ผู้ต่อต้านเพิ่มมากขึ้นในแผ่นดินเท่านั้น”

การบริหารประเทศ การแก้ปัญหา “การเมือง-เศรษฐกิจ” นั้นลึกซึ้งเกินกว่าจะใช้แต่เพียงความมั่นคงเด็ดขาดเป็นตัวนำ

เพราะมันมิได้เพียงจำกัดขอบเขตแค่ในประเทศของเรา มันพันกันไปทั้งโลก ซึ่งต้องแก้กันทั้งระบบ

ตั้งแต่ระบบการปกครองประเทศ ความเป็นธรรม ซึ่งก็หนีไม่พ้นให้ประชาชนได้ปกครองตัวเอง ให้เจ้าของประเทศเขาตัดสินใจเลือกอนาคตของเขาเอง

ซึ่งมันก็คงหนีไม่พ้นจะต้องแก้ปัญหาด้วยการปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย”

 

ต้องขอบพระคุณเป็นอย่างสูงกับผู้สนับสนุนดังที่เขียนทิ้งท้ายไว้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ที่ร่วมกันสมทบทุนให้สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ+คณะจิตรกรรมฯ+นักศึกษา+อาจารย์ ศิษย์เก่าหลากหลายรุ่น ในการสร้างงานศิลปะถวาย “พ่อหลวง-พ่อของแผ่นดิน” ในหัวข้อ “ในหลวงของประชาชน” จนเสร็จเป็นงานจิตรกรรม จำนวน 89 ชิ้น และงานประติมากรรมอีกจำนวนหนึ่งดังที่เน้นย้ำหลายครั้งว่า ต่อไปในอนาคตจะต้องเป็นผลงาน “ประวัติศาสตร์” ได้รับการจารึก กล่าวขานต่อไปอย่างแน่นอน

มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมฯ โบราณคดี คณะอื่น เริ่มรวบรวมหยิบยื่นปัจจัยเข้าร่วมสมทบทุน ศิลปิน+ศิษย์เก่า คณะจิตรกรรมฯ เกือบ 100 ชีวิต ชุดแรกก็เริ่มรวมใจสะบัดฝีแปรงเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2559 จากนั้นการสมทบทุนก็หลั่งไหลมาในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อุปกรณ์ในการเขียนภาพ สี อาหาร น้ำดื่ม และ ฯลฯ จากบริษัทจำหน่ายสี ร้านขายเครื่องเขียนซึ่งคุ้นเคย

จนถึงสปอนเซอร์รายใหญ่ ซึ่งเรียกว่า “ผู้สนับสนุนหลัก” ได้เทงบฯ ใส่มาจนเกินเพียงพอกับการจัดงานสร้างงานอีก 2 ครั้งต่อมากระทั่งบรรลุวัตถุประสงค์ของงานยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ถึงแม้จะมิได้เอ่ยนามท่านทั้งหลายเหล่านั้น บริษัทต่างๆ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก

แต่เชื่อว่า คณะจิตรกรรมฯ+สมาคมนักศึกษาเก่าคณะจิตรกรรมฯ จะต้องทำหนังสือขอบคุณบริษัท ห้างร้าน เอกชน ท่านทั้งหลายอย่างเป็นทางการในอีกระยะเวลาหนึ่ง

 

ย้อนเวลากลับไปยังบรรยากาศภายในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ใน 3 สัปดาห์ของ 2 เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นการรวมตัวของชาว “หน้าพระลาน-ศิลปากร” โดยเฉพาะชาว “จิตรกรรม ประติมากรรม” เป็นจำนวนมากกว่าทุกครั้งที่เคยมีมา ศิลปิน+ศิษย์เก่าที่มารวมกันสะบัดฝีแปรง และทำงานปั้นนับจำนวนได้เกินกว่า 100 ชีวิต

การทำงานเป็นไปอย่างเปิดเผย กลางแจ้งแบบที่เรียกว่าโอเพ่น ไม่ปิดกั้นประชาชน ยิ่งกว่านั้นยังเชื้อเชิญให้เข้าไปชื่นชมการทำงานศิลปะ ฟังดนตรี การวาดภาพประกอบดนตรีแบบสดๆ แถมบริการแจกพระบรมฉายาลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งก็มีประชาชนเข้าไปเยี่ยมชมกันเป็นจำนวนมาก

ทุกวันนี้ดังที่ทราบว่าทุกคนล้วนมีกล้องถ่ายรูปติดตัว ไม่ว่าจะถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายคลิปเคลื่อนไหวเป็นไปได้อย่างง่ายดาย

จึงไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกที่การทำงานวาดภาพถวายพ่อหลวงด้วยความอาลัยจะถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการเก็บบันทึกและแชร์ต่อแบบไม่ได้เป็นการหาประโยชน์ ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องตรงกับวัตถุประสงค์

แต่ขณะเดียวกันกลับมีบางฝ่าย บางพวกที่พยายามจะหาประโยชน์จากการทำกิจกรรม “ถวายความอาลัยพ่อหลวง” ของเหล่าศิลปินจากศิลปากรครั้งนี้ ตามที่ได้เขียนในเชิงตำหนิติเตียนไปพร้อมถามหา “มารยาท” ไปบ้างแล้ว

คงต้องปล่อยให้ขึ้นอยู่กับความสำนึกในความรับผิดชอบของคนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสม และกรุณานึกถึงที่มาที่ไปเสียบ้าง