เปิด “กฎเหล็ก” รอง สว.-ผบ.หมู่ ฟันเฟืองขับเคลื่อนงาน ตร. หลังเจอโรคเลื่อน 1 เดือน

เป็นวาระแห่งการค้างเติ่งมาอย่างยาวนานข้ามปี สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายหรือจัดสรรตำแหน่งสีกากีระดับรองสารวัตร-ผู้บังคับหมู่ ประจำปี 2561

หลายคนมองไม่เห็นว่ามีสลักสำคัญอันใดที่จะต้องเร่งรีบให้เสร็จ

แต่อย่าลืมว่าตำรวจชั้นผู้น้อยก็เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจุดแตกหักแรกที่สัมผัสกับความรู้สึกของประชาชนโดยตรง

หลายฝ่ายจึงควรมองวาระการแต่งตั้งนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งกระบวนการให้เสร็จสิ้น เพื่อที่จะยกระดับขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ที่จะมาทำงานรับใช้ประชาชน

กระทั่งล่าสุดวาระการแต่งตั้งนี้ที่กำลังมาถึงช่วงปลายกระบวนการที่กำลังจะสิ้นสุดลง ก็ดันมาถูกเลื่อนออกไปอีก 1 เดือนอย่างน่าผิดหวัง

โดยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 5/2562 มีมติขอขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. โฆษก ตร. ให้เหตุผลว่า จากที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีการออกหนังสือกระจายอำนาจการแต่งตั้งระดับรองสารวัตร-ผบ.หมู่ ให้กับกองบัญชาการตำรวจหน่วยปฏิบัติการต่างๆ นั้น ทำให้ทางกองบัญชาการหน่วยแต่ละหน่วยต้องมีการเตรียมข้อมูล และตรวจสอบคุณภาพให้ครบถ้วน เพื่อใช้เวลาในการจัดทำเอกสารออกหนังสือข้อตกลงระหว่างกองบัญชาการให้มีความถูกต้องชัดเจนในเรื่องของการโยกย้ายตำแหน่งข้ามสังกัด

ซึ่งมีความมุ่งหมายให้เสร็จทันตามกรอบที่ตั้งไว้

จากกรณีดังกล่าวมีรายงานข่าวจากสำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาควบคุมดูแลในเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในทุกระดับโดยให้รวมศูนย์อำนาจมายัง ผบ.ตร. ก่อนจะมีการประกาศคืนและกระจายอำนาจกลับไปยังกองบัญชาการหน่วย ให้ตรวจสอบคุณสมบัติและบริหารการคัดสรรตำรวจเข้าสังกัดตำแหน่งด้วยตัวเองนั้นดั่งเดิม ทำให้หลักเกณฑ์ต่างๆ เกิดความล่าช้า เป็นเหตุผลว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ขยายเวลาดังกล่าวออกไป

ทั้งนี้ มีการเปิดเผยอีกว่า การแต่งตั้งในระดับรองสารวัตร-ผบ.หมู่นั้น จะให้อำนาจทั้งหมดไปยังระดับผู้บัญชาการและคณะกรรมการของแต่ละหน่วยตกลงกันเอง

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะให้อิสระ และไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องของการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ โดยการขอย้ายตำรวจ “ระดับรองสารวัตร-ผบ.หมู่” นั้นจะเป็นการทำข้อตกลงระหว่างกันเองเพื่อความสะดวกและรวดเร็วตามความประสงค์ของลูกน้องแต่ละคน หากตกลงกันได้ก็สามารถย้ายได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ได้มีการเรียกผู้บัญชาการหน่วยต่างๆ เข้าทราบกรอบและหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งซึ่งยังคง “กฎเดิม”

กล่าวคือ นอกจากหลักเกณฑ์การโยกย้ายของแต่ละหน่วยแล้ว หากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บรรจุไม่ครบ 2 ปีซึ่งไม่สามารถย้ายได้ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีการโยกย้ายแต่งตั้งครั้งสุดท้ายไม่ครบ 2 ปีมีความจำเป็นต้องย้ายจริงๆ จะให้หัวหน้าหน่วยของเจ้าหน้าที่รายนั้นเป็นผู้ชี้แจงกับคณะกรรมการหน่วยบัญชาการ รวมไปถึงการติดเงื่อนไขท้ายคำสั่งบรรจุหรือแต่งตั้งเพื่อความจำเป็นในการขอย้าย

โดยรายละเอียดและกฎเกณฑ์มีการระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นนายร้อยอบรมรุ่น 53 ที่ได้รับการแต่งตั้งชั้นสัญญาบัตรแล้ว จะต้องบรรจุอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวให้ครบ 2 ปีก่อนจึงจะสามารถย้ายได้ และสำหรับสายงานอำนวยการที่จะออกเป็นสายปฏิบัติการครั้งแรกก็ต้องจบนิติศาสตรบัณฑิตเท่านั้น

ส่วนหน่วยงานภารกิจพิเศษกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (อคฝ.) เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำรงตำแหน่ง 4 ปีขึ้นไปถึงจะทำเรื่องขอย้ายออกได้ และจะสามารถย้ายได้แค่ในกองบัญชาการตำรวจนครบาลเท่านั้น ซึ่งจากนั้นจะย้ายออกนอกขอบเขตของกองบัญชาการตำรวจนครบาลก็สามารถทำได้

ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับการแต่งตั้งก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2556 หรือ 5 ปีไปแล้วเท่านั้นที่จะสามารถย้ายออกได้

 

ด้านกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ยศ ร.ต.อ. ขึ้นไป และชั้นประทวนยศ จ.ส.ต. ขึ้นไป ทางกองบัญชาการจะสามารถอนุมัติให้มีการย้ายออกได้เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์จาก 100 เท่านั้น

หมายถึง หากมีเจ้าหน้าที่ในหน่วยแต่ละหน่วยในกองบัญชาการ 100 คน สามารถอนุมัติให้ย้ายออกได้เพียงคนเดียวเท่านั้น

สำหรับกลุ่มสายงานสอบสวน นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) ชาย รุ่น 67 และก่อนรุ่น 67 เท่านั้นที่จะสามารถย้ายออกนอกสายงานสอบสวนได้

ส่วนฝ่ายนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) หญิงรุ่น 66 และก่อนรุ่น 66 เท่านั้นที่สามารถย้ายออกนอกสายงานสอบสวนได้

สุดท้ายคือนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 68-69-70 นั้นสามารถย้ายหมุนเวียนในสายงานสอบสวนได้เท่านั้น

และในวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังได้ออกหนังสือเวียนโดยมีใจความระบุว่า กองบัญชาการหน่วยจะต้องส่งบัญชีรายชื่อให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 21 มิถุนายน และส่งให้ทางกำลังพลตรวจสอบก่อนจะเผยแพร่ในวันที่ 30 มิถุนายน และมีผลในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้

อย่างไรตาม แม้จะโดนโรคเลื่อนไป 1 เดือนอย่างช่วยไม่ได้ แต่ในทางกลับกันได้เห็นวี่แววของวาระดังกล่าว ที่ดูใกล้จะแล้วเสร็จกำหนดคลอดออกสู่สายตาประชาชน

คราวนี้คงเป็นข่าวดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนที่อยากปฏิบัติและทำหน้าที่รักษากฎหมายในสายงานที่ตัวเองต้องการ หรือในพื้นที่ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอน ซึ่งความต้องการเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่การเลือกงานของตำรวจชั้นผู้น้อยที่ไม่ได้สำคัญ

แต่คือกำลังใจที่เบื้องบนควรเร่งรีบมอบให้กับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เหล่านี้