สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ปาฐกถาแห่งปี การศึกษาไม่ใช่เน้นแต่เศรษฐกิจ (2)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การประชุมวิชาการ หัวข้อ นวัตกรรมการจัดการโรงเรียนคุณภาพต่อเนื่อง สู่การประกันคุณภาพเพื่อโรงเรียน เปิดขึ้นอย่างสวยงาม

พิธีกรสร้างบรรยากาศว่า อ่านสคริปต์รายการแล้วไม่รู้เรื่อง แต่พอมาเห็น ได้ยิน ได้ฟัง เสียงและภาพบนจอ ทำให้เกิดความเข้าใจ เห็นภาพชัดมาก

“ปฏิรูปการศึกษา ทุกคน ทุกฝ่ายต้องปรับตัว ครูต้องเปิดใจมาเป็นนักเรียนกันอีกครั้ง”

ก่อนเชิญองค์ปาฐก ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร ก้าวขึ้นสู่เวทีแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง คุณภาพโรงเรียนกับการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

ครูเล่าประสบการณ์จากการติดตามสองโครงการ ที่มาของการเปิดเวทีวันนี้ ก่อนฉายภาพ เก้าอี้สามขา ขึ้นหน้าจอ

 

“การมีชีวิตอยู่ในสังคมต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น ทำให้เกิดผลผลิต ผลิตภาพทางสังคม-เศรษฐกิจของมนุษย์ ประกอบด้วย ขาที่ 1 การศึกษา ขาที่ 2 สุขภาพ ขาที่ 3 การพัฒนาตลอดชีวิต พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง”

“การศึกษาต้องมีความสามารถในการเตรียมคน ในภาพกว้างการศึกษาไม่ได้หมายถึงไปโรงเรียนเท่านั้น โรงเรียนที่มีคุณภาพต้องให้มากกว่าความรู้ ไม่ใช่ให้คนเข้าถึงอย่างเดียวแต่ต้องประสบความสำเร็จด้วย ที่ผ่านมาเราทำให้เกิดการเข้าถึงการศึกษา แต่สำเร็จไม่เท่าเทียม”

“สังคมปัจจุบันเข้าสู่ยุคคนสูงวัยอายุเกิน 60 ปี ถึง16% ผู้เรียนเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่คนวัยเรียนอายุ 6 ถึง 22 ปีเท่านั้น แต่รวมถึงคนวัยทำงาน คนสูงวัยด้วย การศึกษาต้องจัดตามบริบทใหม่ สถานศึกษาต้องเปลี่ยนเพื่อรองรับคนอายุตั้งแต่ 6-80 ปี

“การสอนคนให้แก้ปัญหาเฉพาะปัจจุบันไม่เพียงพอแล้ว ปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด ต้องเตรียมคนให้เหมาะสมกับงานที่จะเกิดขึ้น อดีตการนับเลขใช้ลูกคิดในการบวก ลบ ถัดมาใช้สไลด์ลูล ต่อมามีการพัฒนาเครื่องคิดเลข ปัจจุบันมีสมาร์ตโฟนและคอมพิวเตอร์ คือการเรียนรู้ตลอด คนเราไม่เปลี่ยนคงอยู่ไม่ได้”

“คนตกรุ่นเพราะกลัวคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ตกรุ่นทิ้งไปได้ แต่คนตกรุ่นกลุ่มนี้เงินเดือนสูงทิ้งลำบาก ทุกวันนี้การเข้าถึงข้อมูลผ่านสมาร์ตโฟน การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป กินด่วน กินเร็ว กินมาก กินเหลือ คนหนุ่มสาวเข้าร้านกาแฟ จากโลกจริงสู่โลกเสมือนจริง โจทย์เรื่องสังคมสูงวัยเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยเจอ เราจะต้องเรียนรู้ ต่างจากประเทศอย่างญี่ปุ่นที่มีเทคโนโลยีรองรับ แต่ประเทศไทยยังไม่มีแนวทางรองรับสิ่งเหล่านี้”

“ผู้หญิงตายช้ากว่าผู้ชาย คนวัยเรียนจะลดลงตามลำดับ การจัดให้เฉพาะคนวัยเรียนอย่างเดียวจะเป็นการสูญเสีย รูปแบบการศึกษาจะต้องเปลี่ยนแปลง การลงทุนต้องมีการปรับตัว ต้องมุ่งเรื่องงาน อาชีพ”

“ญี่ปุ่น ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกา ประเทศเหล่านี้มีโอกาสกว่า คนมีการศึกษา พัฒนาตลอด จนฐานะร่ำรวยก่อนแก่ ส่วนสังคมไทยแก่ก่อนรวยและการศึกษาน้อย คนส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำกว่า 12 ปี แย่กว่าฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ระบบเขาสามารถเรียนได้ต่อเนื่อง”

เราลงทุนปีละ 5 แสนล้าน แต่ปล่อยให้คนประมาณ 70% เรียนไม่จบและไม่มีงานทำ การศึกษาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ทั้งคนและรัฐจะล้มละลาย ดังนั้น การศึกษาต้องเปรียบเทียบกับประเทศที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าและต่ำกว่า เทียบกับประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจดีจะมีวิธี มีกองทุนรองรับเมื่อเกิดปัญหาสังคมสูงวัย

 

“การศึกษาต้องปรับ มุ่งให้คนมีความเอื้ออาทร ความเป็นญาติพี่น้อง เป็นชุมชน ให้คนคิดถึงกันและกัน ไม่ใช่เน้นแต่เศรษฐกิจ ต้องเน้นสังคม ความเอื้อเฟื้อระหว่างมนุษย์”

“การศึกษาพื้นฐานเน้นแต่วิชาการโดยไม่สร้างมูลค่าเพิ่มไม่ได้แล้ว การศึกษาที่ควรจะเป็น 12 ปี เน้นให้เรียนอาชีพ หลักสูตรทวิศึกษา มัธยมคู่กับอาชีวศึกษา ม.6 บวก ปวช. วุฒิ ปวช.ทำให้มีโอกาสได้รายได้เพิ่ม ต้องมีกลไกเพื่อพัฒนา”

“ตัวอย่างคนเรียนรู้ตลอดเวลากรณีไต้หวัน ผลิตภาพขึ้นกับสุขภาพ การศึกษา และการฝึกอบรม คนไทยอายุยืนแต่สุขภาพสั้น อัตราการเสียชีวิตมักเสียในช่วงที่ไม่น่าจะเกิด ต้องใช้การศึกษาเข้ามาจัดการ ต้องมีความสามารถในการทำงานมากขึ้น ต้องสอนให้เข้าใจเพื่อนบ้าน ขณะที่การศึกษาไทยสอนให้ดูถูกเพื่อนบ้าน”

“คนรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่สนใจปริญญาเหมือนแต่ก่อน การสอนในปัจจุบันกับเด็กที่เปลี่ยนเจเนอเรชั่น ครูต้องปรับเพื่อให้สามารถสร้างความเข้าใจต่อเด็ก การศึกษาในปัจจุบันของเราไม่เคยสอนเรื่อง Network content ต้องสอนเพื่อให้เด็กนำไปใช้ เป็นการศึกษาเพื่อใช้ แต่การศึกษาไทยเผื่อใช้ ต้องเปลี่ยนจากเผื่อมาเป็นเพื่อ”

“ในอเมริกาหากเรียนให้จบแล้วค่อยทำงาน จบใหม่ๆ จะเป็นหนี้ เขาจึงออกแบบการศึกษา ออกมาทำงานก่อนแล้วค่อยกลับไปเรียนต่อ แต่การศึกษาไทยเน้นต้องเรียนให้จบ ผู้แบกรับก็คือ 1.พ่อแม่ 2.รัฐ แต่ปรากฏว่าจบแล้วไม่มีงานทำ การเรียนของไทยส่วนใหญ่อยู่ในห้อง ระบบการศึกษาที่ดีต้องออกแบบเวลาอีก 50% นอกห้องเรียน ขาดการออกแบบการเรียนนอกห้อง ต้องออกแบหลักสูตรร่วมกับผู้ประกอบการ”

“การศึกษาที่มีความหมายต่อชีวิต การทำงานจะไม่ถูกจำกัดด้วยการกำหนดของรัฐให้แต่กระดาษ แต่ถูกกำหนดจากผู้เรียนและตลาด การศึกษาแบบไฮบริดครูยังสำคัญแต่บทบาทเปลี่ยนไปเป็นผู้อำนวยให้เกิดการเรียนรู้ เป็นที่ปรึกษา ใช้เทคโนโลยี เป็นผู้มีส่วนร่วม”

“แนวโน้มในอนาคตจะเป็นแบบ Blockchain มีคนหลายวัยอยู่ในระบบบการศึกษา มีระบบคิด การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเซียลมีเดีย 65%”

“การจัดการศึกษาไม่เน้นสู่อาชีพ สอนเป็นวิชาโดยครูซึ่งไม่ใช่ผู้ปฏิบัติจริงของอาชีพ เป็นจุดที่เราต้องทบทวน แต่ก่อนมีประถมวิสามัญ มัธยมวิสามัญ ออกแบบมาให้สัมพันธ์กับวิชาชีพ ตัวอย่างจากแผนการศึกษาชาติ 2475 ออกแบบไว้ดี ใช้คำว่าศึกษาพฤกษ์ เรามาเน้นวิชาการหลังสงครามโลกครั้งที่ 2”

 

ครับ ผมฟังตั้งแต่ต้น เก็บความมาเล่าเท่าที่บันทึกทัน

ยังมีสาระ ข้อมูล ข่าวสารและแง่คิดคิดอีกมาก โดยเฉพาะะการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา และทิศทางที่จะเดินต่อไป จะเป็นอย่างไร

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ควรทำอะไร ต้องติดตาม