อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (9) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

เราอาจกล่าวได้ว่าในช่วงเริ่มต้นแห่งการก่อร่างสร้างโลกใหม่ในดินแดนละตินอเมริกา ในดินแดนสแปนิช-อเมริกา ในดินแดนฮิสปานิก ดินแดนที่ปรากฏการเรียกขานในสารพัดนามนั้น มีสองสิ่งที่ผู้มาใหม่ผิวขาวต้องการแสวงหาจากดินแดนที่ว่า

สองสิ่งนั้นได้แก่ ทองคำ ในฐานะของวัตถุรูปธรรม และได้แก่ จิตใจที่เปี่ยมศรัทธา ในฐานะสิ่งนามธรรม

ทหารรับจ้าง (Conquistadors) และมิชชันนารี (Missionnaries) คือบุคคลสองประเภทที่เป็นทัพหน้าในการลงแรงแข็งขันสร้างดินแดนใหม่นั้น

ในขณะที่ยุโรป คริสตจักร หรือ Christendom กำลังสูญเสียฐานที่มั่นให้กับการปฏิรูปศาสนาที่มีต้นคิดจาก มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) และมิตรสหายของเขา

ดินแดนในโลกใหม่กลับได้ประชากรพื้นเมืองมาเป็นกำลังหลักแห่งคริสตจักรแทน

เงินตราจำนวนมากที่ได้จากการรุกราน การปล้นชิง การค้า การเพาะปลูกและจากกิจการแลกเปลี่ยนนานาถูกแปรเป็นโบสถ์ อาราม และสิ่งก่อสร้างสำคัญทางศาสนาจำนวนมาก

ชีวิตของผู้คนในโลกใหม่นั้นแยกขาดจากการขยายตัวของศาสนจักรไม่ได้เลย

ประมาณการกันว่าในช่วงศตวรรษที่สิบเจ็ด หนึ่งในสี่ของหญิงสาวในเมืองลิม่า เปรู (อันเป็นที่ตั้งเดิมของอาณาจักรอินคาอันยิ่งใหญ่) ล้วนพำนักอยู่ในอารามทางศาสนา

การเผยแผ่ศาสนาเป็นไปอย่างในทางลึกและทางกว้าง

ในทางกว้างมีการบุกเบิกพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เหล่ามิชชันนารีและบาทหลวงเดินเท้าเข้าไปในดินแดนไม่รู้จักและปักไม้กางเขนประกาศตนที่นั่น

ในทางลึกมีการพิสูจน์ศาสนาในศาสนสาวกคนแล้วคนเล่า

นวัตกรรมการพิมพ์ที่ถูกคิดค้นโดย โยฮัน กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg) ในศตวรรษก่อนได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในกิจการนี้

มีการจัดตั้งโรงพิมพ์สำหรับการพระศาสนาขึ้นที่เม็กซิโกในปี 1535 (สิบสี่ปีหลังการที่คอร์เตสประกาศชัยเหนืออาณาจักรแอซเต็ก) และที่เปรูในปี 1582 (ห้าสิบปีหลังจากปิซซาร์โร่มีชัยเหนืออาณาจักรอินคา)

หนังสือที่ถูกจัดพิมพ์ในช่วงนั้นมีตั้งแต่ พระคัมภีร์ บทสวดประจำวัน บทภาวนาสำหรับการเข้าเงียบ กระทั่งเรื่องราวของเหล่านักบุญในอดีต

เอกสารและหนังสือเหล่านี้จะถูกขนย้ายและแจกจ่ายไปตามดินแดนห่างไกลต่างๆ เพื่อสร้างเอกภาพทางความเชื่อให้เกิดขึ้นในโลกใหม่

 

การวางรากฐานที่ว่าดูจะส่งผลสำเร็จในอีกหนึ่งศตวรรษต่อมา เมื่อดินแดนโลกใหม่ที่เคยรกร้างว่างเปล่าและดูไร้อารยธรรมสามารถให้กำเนิดนักบุญเป็นของตนเอง

ในวันที่ 29 เมษายน 1671 เสียงระฆังถูกตีดังไปทั่วนครลิม่า เพื่อแจ้งเตือนการมาถึงของพระวรสารจากองค์สันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 10 (Clement X) ที่ประกาศถึงการแต่งตั้งนักบุญคนแรกในโลกใหม่ นาม โรซ่า เดอ มาเรีย (Rosa de Maria) หญิงสาวผู้ถือกำเนิดในดินแดนแห่งนี้หลังการค้นพบของโคลัมบัสเพียงเหนึ่งร้อยปี

มีบันทึกเล่าถึงงานเฉลิมฉลองครั้งนี้ว่า บรรดาโบสถ์ต่างพากันตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้หลากสี

ส่วนศาสนิกชนก็พากันตกแต่งแท่นบูชาในบ้านเรือนอย่างงดงาม

ชาวเมืองลิม่าไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างพากันออกมาเต้นรำ โห่ร้อง แสดงความยินดี ไม่นับบรรดาผู้สำเร็จราชการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับสูงที่พากันเข้าร่วมพิธีมิสซาและได้รับภาพวาดของนักบุญโรซ่าเป็นของกำนัล

บันทึกถึงกับกล่าวด้วยว่าเมื่อพระวรสารประกาศแต่งตั้งนักบุญถูกอ่านเสร็จสิ้นลง บรรดาชาวเมืองถึงกับร่ำไห้ด้วยความดีใจที่ลิม่าได้รับเกียรติสูงสุดเช่นนี้จากพระผู้เป็นเจ้า

นักบุญ โรซ่า เดอ มาเรีย นั้นมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1586-1617 เธอมีอายุเพียงสามสิบเอ็ดปีเท่านั้นเอง เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตอันมหัศจรรย์ของเธอกลายเป็นตำนานแห่งเปรูมาจนถึงทุกวันนี้

อาราม ซานโต โดมิงโก้ ที่เก็บรักษาร่างของเธอยังมีผู้คนไปเยือนไม่ขาดสาย

ในช่วงที่เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญใหม่ๆ ผู้คนพากันไปฉีกเศษเสื้อผ้าที่คลุมศพของเธอไปเป็นเครื่องรางประจำตน

เรื่องราวของเธอแพร่กระจายไปแม้ในดินแดนยุโรปภายใต้บันทึกอัตชีวประวัติส่วนตนที่เรียกว่า วิดาส-Vidas

Vidas นั้นแม้จะเป็นเพียงบันทึก แต่มันมีความสำคัญมากในหลายกรณีโดยเฉพาะในกรณีทางศรัทธาและความเชื่อทางศาสนา

หากคำสอนถูกเผยแผ่จนสำเร็จ ความสำเร็จที่ว่านี้จะถูกรายงานกลับไปยังดินแดนแม่

ในช่วงเวลาที่ศาสนจักรคาทอลิกกำลังระส่ำระสายอย่างหนักจากความเข้มแข็งของพวกโปรแตสแตนต์ การพบว่าในโลกใหม่ ความเชื่อและความศรัทธาต่อพระเจ้า พระคัมภีร์และเหล่านักบุญมีความเข้มแข็งขึ้นย่อมเป็นดังน้ำทิพย์ชโลมใจ

เรื่องราวบันทึกของจากลายมือของเหล่านักบุญหรือวิดาสกลายเป็นหนังสือที่ถูกอ่านอย่างแพร่หลายในยุโรป

โดยเฉพาะในตอนที่ข้องเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางด้านจิตวิญญาณ

นอกจากเรื่องราวของ โรซ่า เดอ มาเรีย แล้ว เรื่องราวของนักบุญหญิงชาวเม็กซิกันอีกคนหนึ่งที่มีนามว่า มาเรีย เดอ ซานโฮเซ่ (Maria de San Jose) ที่เล่าถึงชีวิตในวัยเยาว์ของเธอก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

มาเรียเล่าถึงช่วงเวลาที่ครอบครัวพร้อมหน้ากัน หลังจากนั้นพ่อและพี่ชายของเธอจะลงมืออ่านเรื่องราวของนักบุญ ของมรณะสักขี ของผู้มีศรัทธากล้าให้ทุกคนฟัง

ความประทับใจในเรื่องราวที่ว่าทำให้มาเรียตัดสินใจสร้างกระท่อมเล็กๆ ขึ้นที่สวนหลังบ้านและเธอจะใช้เวลาตลอดวันที่นั่นภาวนา เข้าเงียบและสวดมนต์ถึงพระเจ้า

ในขณะที่น้องสาวของเธอจะเลือกเลียนแบบองค์พระเยซูด้วยการสวมใส่มงกุฎหนามและแบกไม้กางเขนเดินไปมา

แม้ว่าทั้งคู่จะเติบโตมาในดินแดนที่ศาสนาคริสต์เพิ่งตั้งต้นได้ไม่นานนัก อีกทั้งยังแวดล้อมด้วยผู้คนที่ยังคงมีความเชื่อดั้งเดิม

พวกเธอก็ถือเอาการปฏิบัติเช่นนั้นอย่างเคร่งครัด

เรื่องราวของ มาเรีย เดอ ซานโฮเซ่ ได้กระตุ้นและเป็นดังเขื่อนกั้นอาการไหลบ่าของผู้เปลี่ยนใจไปสู่นิกายโปรแตสแตนต์ที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่เรื่องราวของผู้คนในโลกใหม่ในตอนนั้น มีทั้งเรื่องราวที่ตื่นเต้นและเรื่องราวที่กินใจ

ในส่วนเรื่องราวที่ตื่นเต้นนั้นย่อมไม่มีใดเกินชีวิตอันมหัศจรรย์ของ แคทเธอริน่า เดอ เอราสโซ่-Caterina de Erauso

เช่นกันในส่วนของเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นมนุษย์นั้นไม่มีใดเกินชีวิตของ ซอร์ จูน่า ยิเนส เดอ ลา ครูซ-Sor Juana Ines de la Cruz

และในส่วนที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่มีใดเกินชีวิตของ โรซ่า เดอ มาเรีย-Rosa de Maria ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญในที่สุด

วิดาส หรือ Vidas อันเป็นดังอัตชีวประวัติเชิงสารภาพของ แคทเธอริน่า เดอ เอราสโซ่ นั้นมีความน่าสนใจสองประการ

ประการแรกคือ แม้ผู้เขียนจะเป็นหญิงแต่เธอกลับใช้ตัวแทนและไวยากรณ์ของเพศชายในการเขียน

ดังที่เราทราบว่าภาษาสเปนนั้นเป็นภาษาที่แบ่งเพศ (เช่นเดียวกับภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียนและกลุ่มภาษาละตินอื่นๆ)

ประการที่สองคือ เรื่องราวของแคทเธอริน่ามีลำดับของความตื่นเต้นราวกับภาพยนตร์ มีความเชื่อว่าเธอเขียนเรื่องราวที่ว่านี้ที่ท่าเรือเมืองเซวิลล์

ในขณะที่รอคำอนุญาตให้เธอได้เดินทางกลับไปยังโลกใหม่ แคทเธอริน่านั้นถูกพิพากษาว่ามีความผิด แต่เธอได้รับโอกาสให้เลือกว่าจะยอมรับโทษในฐานะผู้ล่วงเกินศาสนาและถูกเผาทั้งเป็น

หรือยอมเขียนคำสารภาพแต่ต้องกลับสู่อาราม กลับสู่การเป็นนักบวช อันเป็นตำแหน่งที่เธอจากมา

 

แคทเธอริน่า เดอ เอเราโซ่ เขียนบันทึกของเธอไว้ 26 บท บทที่หนึ่งนั้นเริ่มต้นว่า

…ฉันมีชื่อว่า ดอนญ่า แคทเธอริน่า เดอ เอเรสโซ่ ฉันเกิดที่เมืองซานซีบาสเตียน ในแขวงกุยปุซกัว ในปี 1585

บิดาของฉันมีนามว่า กัปตัน ดอน มิกูเอล เดอ เอราสโซ่ มารดาของฉันคือ ดอนญ่า มาเรีย เปเรซ เดอ การ์ราราการ์ เอ อาร์เช่

ทั้งคู่เกิดในเมืองซานซีบาสเตียน พวกเขาเลี้ยงดูฉันมาพร้อมกับน้องชายและน้องสาวอีกหลายคนจนฉันอายุได้สี่ขวบ พวกเขาได้ตัดสินใจส่งฉันไปยังอารามคอนแวนต์ของนิกายโดมินิกันในเมือง ที่มีชื่ออารามว่า ซานซีบาสเตียน เดอะ เอลเดอร์ พร้อมกับป้าของฉันคือ เออร์ซูล่า อุนซ่า อี ซาราสติ ผู้เป็นพี่สาวของแม่ และเป็นผู้ดูแลอารามด้วย

ฉันพำนักอยู่ที่นั่นจนอายุได้สิบห้าปี ด้วยการฝึกฝนทั้งวันและคืนทำให้ฉันเรียกตนเองได้ว่าเป็นนางชีโดยสมบูรณ์แบบ

ในช่วงเวลาของการฝึกฝนจนถึงช่วงเวลาที่ฉันต้องปฏิญาณตนนั้น ฉันได้มีเหตุวิวาทกับซิสเตอร์ท่านหนึ่ง คือ ดอนญ่า คาทาลิน่า เดอ อลิรี่ ผู้ที่เข้ามาบวชในอารามหลังการสูญเสียสามี

เธอเป็นหญิงร่างใหญ่ บึกบึน ส่วนฉันเป็นสาวน้อยร่างเล็กที่ถูกเธอทุบตีเป็นประจำ

และแล้วในวันนั้น วันนักบุญเซนต์โยเซฟ คือวันที่สิบแปดมีนาคม ปี 1600 เมื่อคนทั้งอารามลุกขึ้นกลางดึกเพื่อทำพิธีสวดยามเที่ยงคืน ฉันตรงไปที่ทำพิธีกรรมและพบว่าป้าของฉันกำลังนั่งคุกเข่าแล้ว

เธอเรียกฉันพร้อมกับมอบกุญแจให้ไปยังห้องพักของเธอและช่วยนำเอาหนังสือสวดมนต์มาให้หน่อย

ฉันทำตามนั้น ไปที่ห้องของเธอ เปิดประตูห้องและหยิบหนังสือสวดมนต์ออกมา

ที่นั่นฉันแลเห็นกุญแจเปิดประตูอารามแขวนอยู่บนผนัง ฉันออกจากห้องโดยไม่ปิดประตู ก่อนจะนำกุญแจห้องและหนังสือสวดมนต์มาคืนป้าของฉัน

ในขณะที่เหล่าแม่ชีกำลังท่องบทสวดอยู่นั้น ฉันได้แจ้งแก่ป้าของฉันว่าฉันมีอาการป่วย ป้าสัมผัสมือของฉัน หน้าผาก และกล่าวว่า “เจ้าจงกลับไปพักเถิด”

ฉันออกจากโถงพิธี เอาตะเกียงและกลับไปที่ห้องของป้า ฉันเอากรรไกร เข็ม และด้ายติดตัวไปด้วย รวมถึงกุญแจที่ไขประตูอาราม และแล้วฉันก็ออกจากอาราม

ฉันเปิดประตูอารามและปิดมันทีละบาน

และเมื่อถึงประตูบานสุดท้าย ฉันก็เอาผ้าคลุมศีรษะออกเสีย และเดินเท้าไปสู่ท้องถนน