คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สยาม-ภารต (5) : เวทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาส

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในการถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีช่วงหนึ่งที่มีการดูดเสียงขณะที่พระมหาราชครูฯ กำลังสวด “เวทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาส” เบื้องหน้าพระที่นั่งภัทรบิฐ

เนื่องด้วยคงต้องการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในคติพราหมณ์สยามว่าบทสวดนี้เป็นการอัญเชิญพระเป็นเจ้าเข้ามาสถิตในองค์พระมหากษัตริย์ จึงไม่ต้องการให้ใครเลียนแบบนำไปสวดเอง

บทนี้แม้จะนิยมเรียกว่า “เวท” ก็มิได้หมายถึง “พระเวท” (veda) ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดูอินเดีย

บทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาส นอกจากจะใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่ออัญเชิญพระอีศวรหรือพระศิวะเสด็จเข้าประทับในองค์พระมหากษัตริย์ตามคติเทวราชในอุษาคเนย์แล้ว ยังใช้ในพระราชพิธีตรีปวาย ตรียัมปวาย โดยเชื่อว่า เป็นบทที่สวดอัญเชิญพระเป็นเจ้าเสด็จลงมายังเทวสถานอีกด้วย

พราหมณ์สยามจึงนับถือว่าบทนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

 

ที่จริงบทนี้มีความหมายว่าอย่างไรนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดฯ ให้พราหมณ์กุปปุสวามีอารยะตรวจชำระไว้ แต่ท่านผู้นี้เข้าใจว่าเป็นบทสวดภาษาสันสกฤตทั้งหมด จึงได้ชำระไปตามที่ตนเข้าใจ

ต่อมาพราหมณ์สุพรามัณยะ ศาสตรี หรือ ป.ส.ศาสตรี ซึ่งเป็นชาวอินเดียใต้ได้เข้ามารับราชการในช่วงปลายรัชสมัยนั้น ได้ทำการตรวจชำระตำราของพราหมณ์สยาม ปรากฏเป็น “รายงานการสำรวจตำราพระราชพิธีพราหมณ์สยาม” ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2474

เมื่อตรวจสอบแล้วเห็นว่าบทนี้เป็น “ภาษาทมิฬ” มิใช่สันสกฤตตามที่พราหมณ์กุปปุสวามีชำระไว้ และรายงานว่า

” ปิดประตูศิวาลัย แยกได้เป็นสามบทชื่อว่า “เปิดประตูศิวาลัย” ๑ “เปิดประตูศิวาลัยตำหนักแก้วไกรลาส” ๑ และ “เปิดประตูไกรลาส” ๑ คัมภีร์เทวารมฺ ซึ่งเป็นต้นเดิมสำหรับบททั้งสามนี้ มีคำสดุดีถึง ๗๙๗ บท เป็นฝีปากอาจารย์สามคน … คือเรื่องหมายเลข ๔ นี้(หมายถึงบทเปิดประตูศิวาลัย) มีแต่บทแรกเริ่มของตอนหนึ่งๆ ที่เลือกเฉพาะบทแรกมาเรียงไว้เช่นนี้ น่าจะเป็นวิธีสวด เทวารมฺอย่างสังเขป”

 

ในขณะที่สิงขรเวรู (S. Singaravelu) เขียนในบทความชื่อ Some Aspects of South Indian Cultural Contacts with Thailand : Historical Background อ้างถึงงานศึกษาของนักวิชาการชื่อธานี นายะกัม (Xavier S. Thani Nayagam) ซึ่งได้มาศึกษาบทสวดเหล่านี้ในสยามในปี 1955 ว่า บทสวดเปิดประตูศิวาลัยไกรลาสที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีตรีปวาย ตรียัมปวายนั้นมาจากบทสวดชื่อ “ติรุเวมปาไว” ประพันธ์โดยนักบุญชื่อ มาณิกาวาจกร

เมื่อพิจารณาจากทั้งการสวดและตัวบทแล้ว ตัวสิงขรเวรูเองเห็นว่า บทเปิดประตูศิวาลัยนั้น น่าจะมาจากสิบเอ็ดบทแรกจาก “ติรุมุไร” ในส่วนที่เรียกว่า เทวารัม ของนักบุญติรุชญานสัมพันธร์ (Jnanasambandhar) และอีกสิบบทนักบุญสุนทรมูรติร์ (Sundaramurti) ส่วนบทปิดประตูศิวาลัยนั้น มาจากเทวารัมของติรุนาวุกการาจาร (Tirunavukkaracar) “เจ้าแห่งถ้อยคำ” (ซึ่งมักถูกเรียกอีกนามว่า “อัปปาร์” (Appar) แปลว่าพ่อ เพราะนามนี้ นักบุญ (เด็ก) ติรุชญานสัมพันธร์ เป็นผู้เรียก)

มีนากษีสุนทรัม (T.P. Meenakshisundaram) นักวิชาการวรรณกรรมทมิฬเห็นว่าบทสวดเปิดประตูศิวาลัยไกรลาสนั้น มาจากบทประพันธ์ชื่อ เทวารัมของอัปปาร์ โดยไม่ได้ระบุถึงท่านอื่น

ดังนั้น นอกจากธานี นายะกัม แล้ว นักปราชญ์ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกับพราหมณ์ ป.ส.ศาสตรีว่า บทเปิดประตูศิวาลัยไกรลาสของพราหมณ์สยามมาจากบทประพันธ์ภาษาทมิฬที่ชื่อ “เทวารัม”

ผมไม่มีความรู้ทางภาษาทมิฬ จึงไม่แน่ใจว่าควรเขียนอย่างไรจึงจะตรงกับชื่อเดิมในภาษาทมิฬ เพราะชาวทมิฬใช้ภาษาอังกฤษแบบเดาได้ยาก มีทั้งเขียนว่า Devaram Tevaram Thevaram ยุ่งไปหมด

ดังนั้น จึงขอใช้ชื่อตามท่าน ป.ส.ศาสตรีไปก่อนว่า เทวารมฺ หรือเทวารัม

 

บทประพันธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของบทประพันธ์ภาษาทมิฬขนาดยาวที่เรียกว่า ติรุมุไร (Tirumurai) เป็นบทกวีสรรเสริญพระศิวะ แบ่งออกเป็นสิบสองเล่มใหญ่ มีความยาวทั้งสิ้นถึง 18,316 บท รวบรวมจากกลุ่มนักบุญในไศวะนิกายที่เรียกว่า นยันนาร์ (Nayanar) หลายสิบคน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 7-11 เป็นขบวนการเผยแพร่การนับถือไศวะนิกายให้แพร่ไปทั่วภาคใต้ของอินเดีย จนเกิดนิกายไศวสิทธานตะ ขึ้น

เฉพาะส่วนที่เรียกว่า “เทวารัม” ตามที่ท่าน ป.ส.ศาสตรี กล่าวถึง “ฝีปากอาจารย์สามคน” เป็นบทประพันธ์ของนักบุญที่โดดเด่นในกลุ่มนี้สามท่าน ได้แก่ ติรุชญานสัมพันธ์ ติรุสุนทรมูรติ และ ติรุนาวุกการาจารหรืออัปปาร์ ดังที่ได้รับการสันนิษฐานข้างต้น

ผมพยายามลองเทียบเนื้อหา “เปิดประตูศิวาลัย” จากหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่แล้วฉบับที่ตีพิมพ์โดยคุรุสภา กับบทเทวารัมที่ถอดเป็นอักษรโรมัน ก็พบว่าเทียบได้อย่างยากเย็นมาก ด้วยเหตุเพราะคำทมิฬที่ถอดเข้าในอักษรไทยนั้นกลายสำเนียงเป็นไทยไปแล้ว

กระนั้น จากที่สิงขรเวรุค้นคว้ามา ก็พบว่ายังมีบางบทที่เห็นเค้ารางว่าเป็นบทเดียวกัน โดยเฉพาะในท่อนที่สาม ที่ขึ้นต้นด้วย “พิตาพิไรชูทิพิริมาน…” ซึ่งเป็นร่องรอยสำคัญ

 

พราหมณ์สยามท่านหนึ่ง คือพราหมณ์ภีษมะ รังสิพราหมณกุล บรรยายให้คณะของอาจารย์เชษฐ์ ติงสัญชลี ฟังว่า การปรับเปลี่ยนบทสวด ได้เปลี่ยนไปตามสำเนียงแบบไทย รวมทั้งการแบ่งวรรคตอนเพื่อจะสวดในทำนองแบบไทยได้ และในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เป็นการสวดย่อจากเปิดประตูศิวาลัยฉบับเต็มอีกทอดหนึ่ง

ดังนั้น งานค้นหาความหมายและศึกษาตัวบทจึงยังไม่จบสิ้นครับ แต่อย่างน้อยๆ เราพอรู้ที่มาที่ไปจากการศึกษาของปราชญ์รุ่นใหญ่แล้ว

ที่เป็นปริศนาและน่าสนใจ คือเหตุใดบทสวดนี้จึงถูกเรียกว่า “เปิดประตูศิวาลัยไกรลาส” เพราะเนื้อหาโดยรวมนั้น เน้นการสรรเสริญพระศิวะมากกว่ามีความหมายถึงการเปิดประตูหรือพูดถึงไกรลาส

 

ท่าน ป.ส.ศาสตรี ตีความไว้ว่า “ผู้แต่งบท “เปิดประตูศิวาลัย” ทั้งสามนั้น มุ่งหมายจะสรรเสริญพระกรุณาธิคุณพระอีศวรเป็นเจ้า ไม่มีการกล่าวถึงการเปิดประตู แต่ที่ใช้ชื่อว่า “เปิดประตูฯ” นั้น สันนิษฐานว่า คงเนื่องด้วยการสวดเมื่อเริ่มพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย ในโบสถ์พระอีศวร”

ส่วนมีนากษีสุนทรัม เห็นว่า อัปปาร์ซึ่งก่อนจะนับถือพระศิวะ ได้ทนทุกข์จากโรคฝีในท้อง ครั้นเมื่อนับถือพระศิวะก็หายจากโรค และเมื่อเดินทางไปแสวงบุญยังเทวสถานไอยารัปปาร์ ก็ได้มีนิมิตถึงพระศิวะและภูเขาไกรลาสซึ่งปรากฏขึ้นที่นั่นโดยอัศจรรย์ เทวสถานแห่งนั้นจึงได้นามว่า ทักษิณไกรลาส หรือไกรลาสในทักษิณทิศ ท่านจึงได้แต่งบทนี้ขึ้นและเกี่ยวกับไกรลาสด้วยประการฉะนี้

นอกจากนี้ บทประพันธ์ดังกล่าวคงได้เป็นที่ประทับใจแก่ชาวทมิฬที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ยังต่างบ้านเมือง โดยเฉพาะในเวลาที่มีความทุกข์ยากและได้ช่วยให้ระลึกถึงเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับแสนสุขของพระเป็นเจ้า

จึงใช้บทประพันธ์นี้ในการเริ่มต้นทำพิธีกรรมในต่างแดน

 

ผมค้นเจอว่านอกจากการกล่าวถึงไกรลาสแล้ว ที่จริง อัปปาร์มีบทประพันธ์ที่พูดถึงการ “เปิดประตู” โดยเฉพาะอีกบทหนึ่งด้วยครับ

ตำนานเล่าว่า เมื่อนักบุญอัปปาร์และนักบุญชญานสัมพันธร์เดินทางไปแสวงบุญยังเทวสถานติรุมาไลกฑุ แต่พบว่าประตูหลักของเทวสถานปิดอยู่ พราหมณ์ได้เล่าว่า องค์พระเวททั้งสี่ได้แปลงกายลงมานมัสการพระศิวะด้วยตนเอง นับตั้งแต่นั้นประตูหลักของเทวสถานก็ปิดลง ชญานสัมพันธร์จึงขอให้อัปปาร์แต่งบทประพันธ์เพื่อขอให้ประตูแห่งพระศิวาลัยนั้นเปิด อัปปาร์ประพันธ์ไว้ว่า

“โอ พระผู้เป็นบดีของพระอุมา ดุจวาจาเป็นสหายของคีตะ, โอ พระเป็นเจ้าแห่งติรุมาไลกฑุ ผู้ได้รับการประทักษิณแล้วโดยมวลหมู่ผู้อาศัยในปฐพี, โปรดเถิด โปรดเปิดประตูนี้ เพื่อที่ข้าได้ยลท่านด้วยตาตนเอง”

ประตูแห่งนั้นจึงเปิดออก และเมื่อได้กระทำสักการะแล้ว อัปปาร์จึงขอให้สัมพันธร์แต่งบทประพันธ์ “ปิดประตู” เมื่อขับบทจบแล้วประตูเทวาลัยได้ปิดลงเอง และหลังจากนั้น ประตูจึงใช้การได้ตามปกติ

 

ที่น่าสนใจคือตำนานนี้แม้จะตรงกันข้ามกับข้อสันนิษฐานของสิขรเวรู ที่เห็นว่า บทประพันธ์ของชญานสัมพันธร์เกี่ยวกับส่วน “เปิดประตูศิวาลัยไกรลาส” แต่อัปปาร์ อยู่ในส่วน “บทปิดประตูศิวาลัยไกรลาส” สลับกับตำนานข้างต้น (ทั้งนี้ ป.ส.ศาสตรีเห็นว่า บทปิดประตูศิวาลัยมาจากบทประพันธ์อีกบทชื่อ ทิวฺยปฺรพนฺธมฺ)

การสวดขับบทประพันธ์เทวารัมในเทวสถานคงได้มีธรรมเนียมในอินเดียใต้มาแต่โบราณ ซึ่งมีบันทึกเพียงเล็กน้อย และนับเป็นการสวดขับสรรเสริญพระเจ้าในลักษณะบทเพลงมากกว่าเป็น “บทสวด” ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมอย่างของพราหมณ์สยาม

ส่วนธรรมเนียมการใช้บทนี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีความมุ่งหมายเฉพาะนั้น ผมยังไม่พบธรรมเนียมนี้ในอินเดีย

จึงน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้วัฒนธรรมของเราเอง