วิกฤติประชาธิปไตยในศูนย์อำนาจโลก

วิกฤติประชาธิปไตย (57)

วิกฤติประชาธิปไตยในศูนย์อำนาจโลก

วิกฤติประชาธิปไตยครั้งนี้ ที่สำคัญเกิดขึ้นในศูนย์อำนาจ คือประเทศตะวันตก ที่ถือว่าเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยโลก มีสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น

ในขณะเดียวกันพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ จำนวนไม่น้อยพยายามยกมาตรฐานการครองชีพและเปิดให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารปกครองในรูป แบบหนึ่งและระดับหนึ่ง

แต่การรวมศูนย์อำนาจด้วยความรุนแรง เช่น การรัฐประหาร การประกาศกฎอัยการศึกและภาวะฉุกเฉิน การควบคุมสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก การไม่ยึดหลักนิติธรรมการปกครองของกฎหมาย แต่ใช้กฎหมายพิเศษหรือการตีความแบบสองมาตรฐาน การสืบทอดอำนาจผู้นำยาวนาน เหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ในหลายประเทศกำลังพัฒนา

วิกฤติประชาธิปไตยครั้งนี้ กล่าวถึงที่สุดเป็นวิกฤติเสรีประชาธิปไตย การเมืองโลกถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบสองร้อยปี

วิกฤติประชาธิปไตยที่ศูนย์อำนาจโลกมีลักษณะเด่น คือ

1)การรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นสู่ฝ่ายบริหาร คล้ายกับ ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ในกรณีสหรัฐและอังกฤษเห็นชัดจากการทำสงครามต่อต้านลัทธิก่อการร้ายและรุกรานอิรัก โดยการปรุงแต่งเรื่องอิรักมีอาวุธทำลายล้างสูง

มีผลให้ผู้นำทั้งสองประเทศเหมือนได้รับ “เช็คเปล่า” ในการทำสงคราม ที่สหรัฐ สภาคองเกรสและวุฒิสภาลงมติมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีบุชใช้กำลังทหารบังคับให้อิรักล้มเลิกความพยายามในการพัฒนาอาวุธชีวะเคมีและอาวุธนิวเคลียร์ โดยเพียงแต่แถลงให้สภาคองเกรสทราบก่อนหน้า หรือหลังจากปฏิบัติการทางทหารแล้วภายใน 48 ชั่วโมง (ดูข่าว Bush signs Iraq war resolution ใน cnn.com 17.10.2002)

ที่อังกฤษ กอร์ดอน บราวน์ รมต.กระทรวงการคลังขณะนั้นแถลงว่าจะมอบ “เช็คเปล่า” ให้โทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรี ในการทำสงครามรุกรานอิรัก

ให้เหตุผลว่า “ประชาคมระหว่างประเทศจะไม่ยืนเฉย ขณะที่ระบอบ (อิรัก) ครอบครองอาวุธทำลายล้างสูง เป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศที่ได้ทำมานานกว่าทศวรรษ” (ดูบทรายงานของ Nicholas Watt ชื่อ Brown signs blank cheque for conflict ใน theguardian.com 05.03.2003)

การรวมศูนย์อำนาจเพื่อการก่อสงครามดังกล่าว แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จต้องติดหล่มสงคราม เกิดมีเสียงติติงจากฝ่ายตุลาการและรัฐสภาสหรัฐว่าไม่ได้เขียนเช็คเปล่าให้ทำสงคราม แต่อำนาจในการก่อสงครามของประธานาธิบดีก็สืบทอดมาจนถึงประธานาธิบดีโอบามาและทรัมป์

ในสมัยทรัมป์มีการบริหารประเทศด้วยการออกคำสั่งฝ่ายบริหารและทวีตข้อความในโซเชียลมีเดีย โดยไม่คำนึงถึงอำนาจของศาลและรัฐสภาอะไรนัก

จนหวั่นเกรงกันว่าจะเกิดลัทธินาซีใหม่ขึ้นในสหรัฐ

การรวมศูนย์อำนาจดังกล่าวขัดกับหลักการของเสรีประชาธิปไตยที่ต้องการแบ่งอำนาจอธิปไตยเป็นสามส่วน นอกจากนี้ ยังขัดต่อค่านิยมสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ห้ามการกีดกันด้วยข้ออ้างทางเชื้อชาติ ศาสนา เป็นต้น

ทั้งปรากฏว่าพรรคชาตินิยมและประชานิยมเอียงขวา มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพทั่วยุโรป ทั้งในยุโรปเหนือ เช่น สวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์ ไปจนถึงยุโรปใต้ อย่างเช่น สเปนและอิตาลี ไปจนถึงมหาอำนาจยุโรป ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ได้รับความนิยมมากขึ้น

หลายประเทศได้อำนาจปกครอง ลัทธิเสรีประชาธิปไตย ประชาธิปไตยสังคมนิยม

ประชาธิปไตยคริสเตียน (ในเยอรมนี) ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจไว้

2)การเกิด “รัฐตำรวจ” ในประเทศพัฒนาแล้ว

แสดงออกที่การแปรเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นเชิงทหาร ในการติดอาวุธ การฝึกซ้อม การปราบการจลาจล เป็นต้น

เกิดแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองในหลายรูปแบบ ไปจนถึงการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยในสหรัฐเกิดประชากรคุกกว่า 2 ล้านคน

จำนวนไม่น้อยคือกว่าร้อยละ 20 ถูกคุมขังก่อนการตัดสินหรือระหว่างรอการพิจารณาคดี

ความรุนแรงที่พลเมืองจะถูกกดขี่ปราบปรามจากตำรวจและอำนาจรัฐมีเพิ่มขึ้น

เห็นได้จากกรณีต่อสู้ของขบวน “คนเสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศส ที่ถูกทางการปราบปรามด้วยความรุนแรง

(ดูบทความของ Leonid Bershidsky ชื่อ Macron”s Yellow Vest Response Makes Putin Look Soft ใน Bloomberg LP 09.01.2019)

3)การเกิดรัฐบาลเงาหรือรัฐเร้นลึก

เป็นผู้ปกครองประเทศที่แท้จริงอยู่เบื้องหลังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ผู้ปกครองเหล่านี้ในสหรัฐได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม-การทหาร-กลุ่มหน่วยงานความมั่นคง-คณะกรรมาธิการรัฐสภา-กลุ่มทุนวอลสตรีต

ทำให้การเลือกตั้งมีความหมายไม่มากอย่างที่โฆษณากัน

เพราะเกิดขึ้นในระบบการเมืองแบบเงินตราหรือธนกิจการเมือง

และในระยะหลังมี “การเมืองเชิงอัตลักษณ์” แบ่งแยกพลเมืองออกเป็นส่วนๆ ตามถิ่นที่ เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ความเชื่อ

เป็นต้น

4)การสอดส่องพลเมือง

ซึ่งในประเทศพัฒนาแล้วก็ไปในทาง “ทุนนิยมสอดส่อง” (Surveillance Capitalism) มีนักวิชาการที่สนใจศึกษาเรื่องนี้มาหลายสิบปี คือ ชูชานา ซูบอฟ (หนังสือเล่มล่าสุดของเธอชื่อ The Age of Surveillance Capitalism-The Fight for a Human Future at the New Frontier of Power เผยแพร่ครั้งแรกเดือนมกราคม 2019)

เธอให้สัมภาษณ์ว่า ระบบทุนนิยมได้ขึ้นเป็นนายเหนือเทคโนโลยี และได้ทำให้ความจริง หรือข้อมูลส่วนบุคคลกลายเป็นสินค้า “ทุนนิยมสอดส่อง” เกิดขึ้นราวปี 2001 เพื่อแก้ปัญหาฟองสบู่ดอตคอม โดยการถือเอาฝ่ายเดียวว่า ประสบการณ์ของมนุษย์เป็นวัตถุดิบที่ได้เปล่าในการแปรให้เป็นข้อมูลเชิงพฤติกรรม

ซึ่งข้อมูลนี้ส่วนหนึ่งใช้เพื่อปรับปรุงการให้บริการ

ส่วนใหญ่ถือเป็นทรัพย์สินทาง “พฤติกรรมส่วนเกิน” ที่นำไปป้อนในเครื่องจักรฉลาด เพื่อทำนายผลผลิตในอนาคตที่จะต้องผลิตขึ้นทันทีหรือรอต่อไป

ผลผลิตในอนาคตนี้มีการซื้อขายในตลาด เป็น “ตลาดซื้อขายพฤติกรรมล่วงหน้า”

ทุนนิยมสอดส่องมีพัฒนาการขยายจากปัจเจกบุคคลสู่เมืองทั้งเมือง และสังคมทั้งสังคม เพื่อทำนายและควบคุมพื้นที่ในเมืองและสังคมได้

ทุนนิยมสอดส่องรุดหน้า เปลี่ยนตลาดให้เป็นตลาดแบบใหม่ มีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตยและต่อต้านความเสมอภาค ทำให้ผู้คนเสพติด มึนชา ขยับตัวไม่ได้

ผู้คนถูกทำให้เป็นเหมือนเครื่องจักรอัตโนมัติ การต่อสู้คือการรู้เท่าทัน

(ดูบทสัมภาษณ์ซูบอฟ โดยจอห์น นอตัน ชื่อ The goal is to automate us : welcome to the age of surveillance capitalism ใน theguardian.com 20.01.2019)

5)การล้มละลายของชนชั้นกลาง

ไม่สามารถรักษามาตรฐานการครองชีพแบบชนชั้นกลางไว้ได้ เนื่องจากมีรายได้คงตัวกระทั่งลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายหลายรายการที่จำเป็นสำหรับการเป็นชนชั้นกลาง ได้แก่ การศึกษา การประกันสุขภาพ ค่าเช่าหรือเช่าซื้อบ้านสูงขึ้นมาก ขาดเงินออมและเป็นหนี้

สิ่งนี้เห็นชัดในสหรัฐ จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นในรัฐฝั่งตะวันตก

ชนชั้นกลางนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่ช่วยธำรงระบอบประชาธิปไตยไว้ เมื่อจำนวนลดลง และอ่อนแอ เกิดสังคมแตกขั้ว แยกเป็นฝักฝ่าย ไม่สามารถที่จะสร้างนโยบายให้เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในชาติ โดยไม่มีการต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง

ถึงขั้นกล่าวกันว่าอาจเกิดสงครามกลางเมืองในสหรัฐอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้

วิกฤติประชาธิปไตยที่ศูนย์กลาง กล่าวถึงแก่นคือชนชั้นนำในตะวันตกไม่สามารถใช้ทั้งอำนาจแข็งและอำนาจอ่อนในการควบคุมจัดระเบียบโลกอีกต่อไป สมมุติว่าถ้าสหรัฐสามารถใช้แสนยานุภาพ เปลี่ยนมหาตะวันออกกลางให้กลายเป็นดินแดนแห่งเสรีประชาธิปไตยภายใต้การควบคุมกำกับของสหรัฐ ระเบียบโลกก็จะคล้ายกับที่เป็นมาเดิมตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

แต่ว่าบุชกลับติดหล่มสงคราม และกลุ่มชาติอาหรับก็ไม่ยอมรับประชาธิปไตยของเขา

เมื่อสหรัฐเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 โลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เหตุปัจจัยให้เกิดวิกฤติประชาธิปไตยที่ศูนย์อำนาจโลก

เหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิกฤติประชาธิปไตยที่ศูนย์กลางมาจากความเห็นผิด 4 ประการ

คือ

1) การเน้นปัจเจกชนมากไป ละเลยความสำคัญของสังคม

นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผู้นำลัทธิเสรีนิยมใหม่คนหนึ่ง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคม มีแต่ปัจเจกบุคคลชายและหญิง และมีครอบครัว” (1987) เพื่อต่อต้านแนวคิดรัฐสวัสดิการ

ทัศนะแบบนี้มีด้านที่ถูกต้อง นั่นคือปัจเจกบุคคลชายและหญิง และครอบครัว เป็นสิ่งเป็นจริง มองข้ามไม่ได้

แต่การกล่าวว่าสังคมนั้นไม่เป็นจริงเป็นสิ่งเกินเลยไปเพราะมนุษย์ แต่ไหนแต่ไรมาก็อยู่ในสังคมหรือชุมชน สร้างวัฒนธรรมและภาษาของตน

ถ้าจะกล่าวให้ใกล้เคียงความจริงขึ้น ควรเป็นว่า “มีสังคมชุมชนมนุษย์ ที่ประกอบด้วย ปัจเจกชนชายและหญิง และครอบครัว ดำรงอยู่ในธรรมชาติแวดล้อมหรือระบบนิเวศ”

คำกล่าวว่า “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคม” สิ่งแรกที่มองข้ามคือความสำคัญของสังคม ก่อมลพิษทางความคิดหลายประการ เช่น การอยู่เพื่อประโยชน์ตนเท่านั้น แสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เฉพาะตน เกิดความเห็นแก่ตัว และความโลภ รุนแรงจนทำให้เกิดสงครามและวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นได้

ที่เบาลงคือเกิดความห่างเหิน ไม่เหนียวแน่นในสังคม เกิดการแตกแยกในสังคม ในระดับบุคคล เกิดความเหงาเปล่าเปลี่ยวในผู้คนประเทศพัฒนาแล้วทั่วไป ในสหรัฐขณะนี้ถึงขั้นกล่าวว่าเป็นโรคระบาด

นั่นคือประชากรผู้ใหญ่เกือบครึ่งรู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยว

ในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่รับเอาแนวคิดเสรีนิยมมาปฏิบัติ ก็เกิดปรากฏการณ์นี้ เช่นในเกาหลี ในประเทศจีนก็มีการกล่าวถึง “การกินข้าวคนเดียว” สิ่งที่มองข้ามต่อมาได้แก่ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เกิดมลพิษ และความเสื่อมโทรมในระดับโลก ยากที่จะแก้ไข

ดังนั้น การเน้นปัจเจกบุคคลเกินไป ภายในเวลาไม่นานนัก แม้แต่บุคคลและครอบครัวนั้นก็ไม่อาจธำรงอยู่ได้

2) เน้นความสำคัญของตลาดหรือลัทธิตลาดเป็นใหญ่มากเกิน

ตลาดมีบทบาทในด้านการผลิตการแลกเปลี่ยน และการสนับสนุนนวัตกรรม ช่วยให้ผู้คนมีฐานะความเป็นอยู่สูงขึ้น สะดวกสบายขึ้น

แต่การเชิดชูตลาดว่ามีความเสรี และมีกลไกควบคุมการผลิตและการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพนั้น เป็นการกล่าวเกินจริง

“ตลาด” ใหญ่ทั้งหลายถูก กำกับควบคุมโดยอำนาจรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนเข้าข้างผู้ประกอบการหรืออุตสาหกรรมบางแขนงในช่วงเวลา ต่างๆ ตลาดในระบบทุนนิยม มีพลังขับเคลื่อนสำคัญเพื่อการสร้างกำไรและการครอบงำตลาด โดยทั่วไปไม่ได้คิดค่า ใช้จ่ายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมารวมเป็นต้นทุน มีแนวโน้มไปสู่การผูกขาดโดยบรรษัทใหญ่จำนวนไม่มาก ขยายช่องว่างทางสังคม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เสรีประชาธิปไตยถูกแปรเป็นประชาธิปไตยของเศรษฐีโจ่งแจ้งขึ้น

เช่น ในวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 มีการแปลงหนี้เอกชนให้กลายเป็นหนี้ของรัฐบาล และใช้มาตรการรัดเข็มขัดกับพลเมืองทั่วไป

3) การเน้นเทคโนโลยีมากเกิน โฆษณาว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ความจริงเทคโนโลยี แก้ปัญหาบางอย่างได้อย่างมีเงื่อนไข เช่น ประสิทธิภาพการผลิต การจัดการและการตลาด ไปจนถึงการศึกษาและสาธารณสุข แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหา เช่น ความยากจนและช่องว่างทางสังคม ความเสื่อมทางสิ่งแวดล้อมและศีลธรรม ในบางด้านเทคโนโลยียังก่อให้เกิด “ทุนนิยมสอดส่อง” ดังกล่าวแล้ว

4) การเน้นแนวคิดตะวันตกเป็นศูนย์กลางเกิน

ขาดความสำนึกของความยิ่งใหญ่ของตะวันออกและโลกที่สาม นอกจากนี้ลัทธิตะวันตกเป็นศูนย์กลางรับใช้ลัทธิครองความเป็นใหญ่และจักรวรรดินิยม มีวาระแอบแฝง ใช้เสรีประชาธิปไตยเพื่อการแทรกแซงควบคุม เปลี่ยนระบอบการปกครองในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ ที่ได้กระทำซ้ำซากมาหลายสิบปี กระทั่งไม่เป็นที่ยอมรับของพลเมืองในประเทศต่างๆ และในตะวันตกเอง

มีการสำรวจประชามติพบว่า เยาวชนในสหรัฐยอมรับแนวคิดสังคมนิยมมากขึ้น แม้ว่าจะไม่เข้าใจดีนักว่าหมายถึงอะไร

ฉบับต่อไปเป็นตอนจบกล่าวถึงแนวโน้มและความเป็นไปได้ต่างๆ ของวิกฤติประชาธิปไตย