กรองกระแส / อุบัติแห่งขั้วที่ 3 ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ประโยชน์อยู่ที่ใด

กรองกระแส

 

อุบัติแห่งขั้วที่ 3

ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย

ประโยชน์อยู่ที่ใด

 

ภาพที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จับมือและโอบกอดกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับข้อความ

“ทำงานกันอยู่นะครับ ไม่ได้มากินกันเฉยๆ”

ปรากฏขึ้นขณะที่มีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐต้องการดึงพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมในรัฐบาล ปรากฏขึ้นขณะที่มีข่าวว่าพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ต้องการดึงพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมในรัฐบาล

บทสรุปร่วมในทางสังคมก็คือ การเกิดขึ้นของพรรคขั้วที่ 3 ในทางรูปธรรม นอกเหนือไปจากขั้วพรรคพลังประชารัฐ นอกเหนือไปจากขั้วพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่

ผลก็คือ การเมืองไทยเข้าสู่ยุคแห่ง “สามก๊ก” ในทางเป็นจริง

คำถามอยู่ที่ว่า ขั้วอันประกอบขึ้นของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย จะสามารถดึงพรรคใดเข้ามาร่วมได้อีก และในที่สุดแล้วขั้วอันประกอบขึ้นของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย จะตัดสินใจเข้าร่วมกับซีกใดในทางการเมือง

หรือว่าขั้วอันประกอบขึ้นของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย จะกลายเป็นทางเลือกอันเป็นทางออกของสังคมไทย

 

รัฐประหาร คสช.

การเล่นบท ตัวกลาง

 

มีความจำเป็นต้องมองสภาพการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันอย่างสัมพันธ์กับรัฐประหาร 2 ครั้งที่ต่อเนื่องกัน นั่นก็คือ รัฐประหาร 2549 กับรัฐประหาร 2557

อะไรคือปัจจัยและสาเหตุที่กล่าวอ้างในการรัฐประหาร

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของ กปปส. เหตุผลสำคัญคือความเลวร้ายของการเมือง ความเลวร้ายของพรรคการเมือง นักการเมืองโดยมีพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยสำคัญ

เมื่อพรรคฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถเอาชนะพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยได้ก็ร่วมกับกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคมก่อการเคลื่อนไหวและขุดคุ้ยโจมตีอย่างต่อเนื่องและรุนแรง กลายเป็นความขัดแย้งที่ตั้งประจันหน้าอยู่

ในที่สุดสถานการณ์และความรุนแรงก็นำไปสู่การรัฐประหารโดยมีเป้าหมายเพื่อหยุดการเติบใหญ่ของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย และจัดภูมิทัศน์การเมืองขึ้นใหม่ผ่านกระบวนการของการเลือกตั้ง

ความเป็นจริงของการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารไม่ว่าเดือนธันวาคม 2550 ไม่ว่าเดือนกรกฎาคม 2554 ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ จึงต้องเคลื่อนไหวและก่อรัฐประหารอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2557 โดย คสช.แสดงตนเข้ามาเป็นกรรมการ จัดวางระบบ เครือข่าย โครงสร้างผ่านรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2562

การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้เองได้นำไปสู่โครงสร้างและมิติใหม่ในทางการเมืองที่มิอาจมองข้าม

 

พรรคเพื่อไทย ยังชนะ

แต่ คสช. ก็ยังมีอำนาจ

 

ความเป็นจริงจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยก็ยังได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 1 สามารถเอาชนะพรรคพลังประชารัฐอันเป็นพรรคของ คสช.ได้

ยิ่งกว่านั้น พรรคอนาคตใหม่ยังแจ้งเกิดด้วยคะแนนนิยมมากกว่า 6.2 ล้านคะแนน

เมื่อพรรคอนาคตใหม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนชาวไทย ก่อเป็นพันธมิตรต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.อันแข็งแกร่งด้วยจำนวน ส.ส.245 คน

นี่ย่อมเป็นจำนวนที่มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย พรรคประชาชนปฏิรูป

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์อันเคยเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย แทนที่จะผนึกรวมกับพรรคพลังประชารัฐอันเป็นแขนขาของ คสช. กลับแยกตัวออกมาและจับมือกับพรรคภูมิใจไทย รวมกันแล้วเป็น 103 ส.ส.

การเกิดขึ้นของขั้วที่ 3 จึงเป็นการอาศัยความขัดแย้งของ 2 ฝ่ายทางการเมืองมาอำนวยประโยชน์ให้กับตน

 

พรรคขั้วที่ 3

เป้าหมาย การเมือง

 

การเกิดขึ้นของพรรคขั้วที่ 3 อย่างที่เห็นผ่านพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย คือภาพสะท้อนของการเมืองอันเนื่องจากปัญหาและความขัดแย้งที่ต่อเนื่องมากว่า 1 ทศวรรษ ที่เดิมเคยยืนอยู่ตรงกันข้ามกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

คล้ายกับเป็นการสร้างพลังที่ 3 ขึ้นมาไม่เพียงแต่จะต่อรองกับพรรคที่ต้องการสืบทอดอำนาจให้กับ คสช. และต่อรองกับพรรคที่ต้องการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.

คำถามอยู่ที่ว่า เป็นการต่อรองเพื่อเป้าหมายอะไรในทางการเมือง

เป็นการต่อรองเพื่อนำไปสู่พัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตย เป็นการต่อรองเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับพลังอันอยู่ตรงกันข้ามกับพัฒนาการแห่งระบอบประชาธิปไตย ผลของการต่อรองในแต่ละจังหวะก้าวจะค่อยสำแดงออกมา

ความสำเร็จของการต่อรองอันเป็นผลประโยชน์ของพรรค ของตนเองจะสัมพันธ์กับผลประโยชน์ของประเทศ ผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ ไม่นานก็จะได้คำตอบ