ต่างประเทศ : แคนดิเดต “แม่หม้าย” กับการเมืองฟิลิปปินส์ที่เล่นกันถึงตาย

แกร์ทรุเดส บาโตคาเบ ไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องเข้ามาเล่นการเมืองฟิลิปปินส์ที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดถึงตาย

แต่หลังจากที่สามีของเธอถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งคาดว่าจะเป็นฝีมือของคู่แข่งทางการเมืองที่ลงชิงชัยในการเลือกตั้งกลางเทอมของฟิลิปปินส์ที่มีขึ้นในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

บาโตคาเบก็จำเป็นที่จะต้องลงชิงชัยแทนที่สามีของตนอย่างไม่มีทางเลือก

“มันไม่ใช่เรื่องที่ภรรยาจะต้องลงแข่งแทนสามีโดยอัตโนมัติ แต่ในกรณีนี้ฉันไม่สามารถนั่งมองฝ่ายตรงข้ามนั่งเงียบอยู่ได้” บาโตคาเบระบุกับสำนักข่าวเอเอฟพี ด้วยอาการน้ำตาคลอ

และว่า “ฉันมีหลายอย่างต้องทำเพื่อโรเดล และเพื่อชาวเมืองดารากา” นักการเมืองแม่หม้ายระบุโดยเอ่ยถึงชื่อสามี และเมืองซึ่งเธอลงชิงชัยในตำแหน่งนายกเทศมนตรี

ในการลงชิงชัยการเลือกตั้งแทนที่สามีนั้น บาโตคาเบนับเป็นหนึ่งในแม่หม้ายอย่างน้อย 6 รายที่ต้องตัดสินใจลงรับเลือกตั้งแทนที่สามีซึ่งถูกสังหารในปีนี้

นับเป็นธรรมเนียมในการเมืองฟิลิปปินส์ที่ยึดถือตัวบุคคล และมีความดุเดือดนองเลือดถึงขั้นเอาชีวิตเพื่อชัยชนะ

 

ในการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ทุกๆ ครั้งมีผู้ถูกสังหารจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมไปถึงตัวผู้สมัครเอง รวมถึงหัวคะแนนและผู้สนับสนุน เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองฟิลิปปินส์นั้นเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นเส้นทางหนึ่งที่นำไปสู่ “ความร่ำรวย” ในประเทศที่อัตราความยากจนอยู่ในระดับสูง

การเลือกตั้งฟิลิปปินส์ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีการชิงชัยในตำแหน่งทางการเมืองมากถึง 18,000 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นตำแหน่งการเมืองระดับท้องถิ่นตั้งแต่สมาชิกสภาท้องถิ่นเรื่อยไปจนถึงเก้าอี้วุฒิสมาชิกของรัฐบาลส่วนกลาง ขณะที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากถึง 61 ล้านคน

อีกหนึ่งแม่หม้ายที่สูญเสียสามีไปกับการเมืองอันโหดร้ายอย่าง “เกมมา ลูบิกัน” ก็เลือกใช้การหาเสียงเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับสามี ผู้ที่ถูกฆาตกรรมเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา หลังประกาศแผนที่จะลงชิงชัยในตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเตรเซมาร์ตีเรส เมืองตอนใต้ของกรุงมะนิลา

“ฉันชื่อเกมมา ลูบิกัน ฉันจะยืนหยัดแทนรองนายกเทศมนตรีอเล็กซ์ ลูบิกัน” เกมมาระบุในการหาเสียงเมื่อไม่นานที่ผ่านมานี้

 

ด้านคู่แข่งทางการเมืองอย่างนายกเทศมนตรีเมืองเตรเซมาร์ตีเรสคนปัจจุบัน เคยถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังเหตุฆาตกรรมดังกล่าว ทว่าก็รอดไปได้หลังจากอัยการตัดสินใจไม่ส่งฟ้อง

เรื่องราวเกี่ยวกับแม่หม้ายที่ลงสนามการเมืองแทนสามีที่ต้องเอาชีวิตไปทิ้งนั้น หากนับกรณีโด่งดังมากที่สุดในฟิลิปปินส์คงต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี 1986 ที่ “คอราซอน อากีโน” อีกหนึ่งแม่หม้ายทำหน้าที่แทนสามี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์หลังการปฏิวัติที่ไร้การนองเลือด โค่นล้มเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำเผด็จการฟิลิปปินส์ลงได้สำเร็จ

การลุกฮือขึ้นโค่นล้มผู้นำเผด็จการฟิลิปปินส์ครั้งนั้นเกิดจากชนวนเหตุการลอบสังหาร “เบนิกโน อากีโน” สามีของคอราซอน ที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านฟิลิปปินส์ในเวลานั้น จากฝีมือของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ภักดีกับ “มาร์กอส” เหตุการณ์ซึ่งผลักดันให้ “คอราซอน อากีโน” ต้องลงสนามการเมืองและขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีได้ในที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองฟิลิปปินส์ระบุว่า การเป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะแม่หม้ายนั้นจะได้รับความนิยมในฐานะตัวแทนของ “ความทุกข์ทรมาน” และ “ความมานะอุตสาหะ” โดยเฉพาะกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็น “คาทอลิก”

“มันได้ผลโดยเฉพาะในบริบทของฟิลิปปินส์ เพราะในฐานะแม่หม้ายนั้นมีองค์ประกอบที่เป็นสัญลักษณ์ซึ่งได้รับการให้คุณค่าในการเมืองฟิลิปปินส์” ฮวน ฟรังโก ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ระบุ

ขณะที่ระบบพรรคการเมืองในประเทศฟิลิปปินส์เองก็ไม่ได้แข็งแกร่ง ทำให้ “ครอบครัว” มีอิทธิพลอย่างมาก และ “ภรรยา” มักจะก้าวเข้ามาแทนที่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนสามีที่ถูกสังหารเสมอ

 

ไม่เฉพาะฟิลิปปินส์เท่านั้นที่มีปรากฏการณ์คล้ายคลึงกัน ในอินเดีย “โซเนีย คานธี” ถูกผลักดันให้ต้องเข้าสู่สนามการเมืองหลังจาก “ราจิฟ คานธี” นายกรัฐมนตรีอินเดียถูกลอบสังหาร

ในปากีสถาน “เบนาซี บุตโต” ก็ต้องทำหน้าที่ประธานาธิบดีปากีสถานหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ 10 ปีหลังผู้เป็นพ่อ ซัลฟิการ์ อาลี บุตโต ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีถูกทำรัฐประหารก่อนจะถูกประหารชีวิต

ฟรังโกระบุว่า การขึ้นมามีชื่อเสียงของแม่หม้ายในเวทีการเมืองของฟิลิปปินส์นั้นนับเป็นเส้นทางสู่การเมืองซึ่งมีผู้ชายเป็นใหญ่ด้วยเช่นกัน

สําหรับแม่หม้ายอย่าง “บาโตคาเบ” นั้น เธอเคยวางแผนเอาไว้ว่าจะดูแลและสนับสนุนให้ลูกชายผู้ที่เพิ่งได้ทำงานเป็นทนายความได้ไม่นาน ให้ก้าวตามรอยเท้าสู่เวทีการเมืองเช่นเดียวกับ “โรเดล” ผู้เป็นพ่อ แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อหัวหน้าครอบครัว ผู้ที่เป็นพันธมิตรกับ “โรดริโก ดูแตร์เต” ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ถูกลอบยิงเสียชีวิตขณะกำลังมอบของขวัญให้กับผู้พิการและผู้สูงอายุในเมืองดารากา ก่อนหน้าวันคริสต์มาสเพียง 1 วัน

ด้านนายกเทศมนตรีเมืองดารากา ถูกตั้งข้อหาจ้างวานฆ่า ขณะที่บาโตคาเบก็รู้อยู่เต็มอกว่าการลงชิงชัยเก้าอี้นายกเทศมนตรี ครั้งนี้เสี่ยงมากแค่ไหน

ชะตากรรมของครอบครัวการเมือง อันก่อเกิดเป็นวัฒนธรรม “แคนดิเดตแม่หม้าย” ในสนามการเมืองฟิลิปปินส์ครั้งนี้นั้นจึงทำให้เราพอเห็นภาพการเมืองอันดุเดือดของประเทศฟิลิปปินส์ไม่มากก็น้อย