โลกออนไลน์สะท้าน ชาวเน็ตฮือค้าน “พ.ร.บ.คอมพ์” ผวาอีกฉบับ “กม.มั่นคงไซเบอร์”

ข่าวใหญ่ในแวดวงของสื่อ วงการธุรกิจ และผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ก็คือการที่ สนช. ผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่

ก่อนหน้านี้ รัฐไทย มีท่าทีไม่ค่อยพอใจกับช่องทางข่าวสารออนไลน์ มีการกล่าวถึงนโยบาย ซิงเกิลเกตเวย์ หรือจำกัดช่องทางเข้าออกขอข้อมูลออนไลน์ เพื่อสะดวกในการตรวจสอบ

ทำให้ผู้สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพในโลกออนไลน์ จับตาดูการออกกฎหมายของรัฐบาลมาตลอด

วันที่ 16 ธันวาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 2 และ 3 ด้วยมติเอกฉันท์ 168-0

บทบัญญัติสำคัญๆ อาทิ มาตรา 14(1) นางสุรางคณา วายุภาพ กรรมาธิการชี้แจงว่า เจตนารมณ์เดิมตั้งใจเอาผิดกับเรื่องฉ้อโกง ปลอมแปลง แต่การบัญญัติตาม พ.ร.บ.คอมพ์ พ.ศ.2550 ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปใช้ผิด ครั้งนี้ กมธ. จึงแก้ไขให้ตรงกับเจตนารมณ์ ทั้งนี้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวเสริมว่า มาตราดังกล่าวถือว่ามีความชัดเจน ไม่เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท

ที่ถูกจับตามากที่สุดอีกมาตราได้แก่ มาตรา 20/1 ซึ่งให้รัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ 5 คน หากเห็นว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้ร้องศาลขอให้มีคำสั่งระงับการแพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์

มีการทักท้วงให้เพิ่มเป็น 7 หรือ 9 คน และให้มีที่มาชัดเจนจะช่วยลดแรงต้านของสังคมได้ และกรรมาธิการยินยอมให้เพิ่มเป็น 9 คน

ส่วนข้อมูลอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี มีการซักถามพอสมควร ก่อนที่ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้แจงว่า อะไรที่ขัดต่อความสงบฯ นั้น ไม่เคยมีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย ซึ่งที่ประชุม กมธ. ได้หารือกันแล้ว พบว่าศาลจะมีแนวทางพิจารณาอยู่แล้วว่าเรื่องใดขัดต่อความสงบฯ บ้าง ซึ่งมาตราดังกล่าวศาลจะพิพากษาให้ระงับหรือลบข้อมูลเท่านั้น ไม่มีความผิดใดๆ แต่ถ้าไม่ทำตามที่ศาลสั่งถึงจะมีความผิด

“สำหรับตัวอย่างความผิดตามมาตราดังกล่าว เช่น สอนวิธีการฆ่าตัวตาย วิธีการปล้น หรือวิธีทำอาวุธ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อเผยแพร่แล้วถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เป็นต้น” พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าว

สุดท้ายที่ประชุมลงมติรายมาตราในวาระ 2 และลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ ด้วยคะแนน 168 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

 

ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 15 ธันวาคม ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ตและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (เอไอ) ยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 300,000 รายชื่อ ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้ สนช. ทบทวนและแก้ไขเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

รายชื่อดังกล่าวเป็นการรวบรวมผ่านเว็บไซต์ change ซึ่งเครือข่ายพลเมืองเน็ตและเอไอร่วมรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ผ่านทางโครงการ “หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล”

นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เครือข่ายพลเมืองเน็ตเสนอให้ทบทวนมีหลายประเด็น แต่มาตราที่น่ากังวลมากที่สุด ได้แก่ มาตรา 14(1) ซึ่งใกล้เคียงกับเนื้อหาใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

โดยที่ผ่านมามักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องหมิ่นประมาท และมาตรา 20(3) ซึ่งนายอาทิตย์ระบุว่า อาจส่งผลกระทบมากที่สุดต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไป เพราะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาความผิดที่เข้าข่ายการเผยแพร่ “ข้อมูลบิดเบือน” นอกเหนือไปจาก “ข้อมูลเท็จ” ที่ระบุไว้แต่เดิม ถือเป็นคำที่มีความหมายกว้าง อาจนำไปสู่การตีความที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น

นายอาทิตย์ยกตัวอย่างกรณีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่วิพากษ์วิจารณ์ สินค้า บริการ หรือธุรกิจต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์ แม้จะเป็นการติชมโดยสุจริตก็อาจจะถูกฟ้องร้องได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า หากร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับนี้ผ่านการพิจารณา อาจเปิดช่องให้เกิดการตีความและสามารถถูกนำไปบังคับใช้ในทางละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้

โดยเฉพาะสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่มุ่งเน้นคุ้มครองความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ โดยองค์กรเห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ควรถูกบรรจุในมาตรา 14, ผู้ให้บริการไม่ควรได้รับโทษเท่าผู้กระทำผิดในกรณีที่ไม่ได้ร่วมกระทำความผิด และเงื่อนไขการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่กว้างเกินไปตามมาตรา 18, 19 และ 20

 

หลังจาก สนช. ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว มีข่าวแพร่สะพัดว่าจะมีการชุมนุมต่อต้าน 2 จุดด้วยกัน คือที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และหอศิลปวัฒนธรรม กทม. ในวันที่ 18 ธันวาคม

ทำให้ในวันดังกล่าว มีกำลังตำรวจและทหารไปตรึงพื้นที่ 2 จุด แต่สุดท้ายมีกิจกรรมเกิดขึ้นจุดเดียว คือที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กทม.

มีกลุ่มนักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งมาชูป้ายค้านร่าง พ.ร.บ. และโปรยนกกระดาษ

น.ส.อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ ตัวแทนกลุ่ม Free internet society Thailand (FIST) นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1 กล่าวว่า เนื่องจากคนในโซเชียลมีเดีย 3 แสนกว่าคนลงชื่อไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. แต่กลับไม่ได้รับการใส่ใจจาก สนช. เลย ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น

ตนและเพื่อนจึงต้องการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะนอกโซเชียลมีเดียด้วย เพราะรู้สึกว่าถูกคุกคามจากรัฐด้วยข้ออ้างความมั่นคง

พร้อมกับเรียกร้องให้ สนช. ทบทวนยกเลิกร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ส่วนการเคลื่อนไหวครั้งต่อไป จะยังมีขึ้นอีกแน่นอน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไหร่และอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่ามีประชาชนให้ความสนใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพมากน้อยเพียงใด ประชาชนที่ใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันควรทราบว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวน่ากังวลในการตีความทางกฎหมาย

กระแสต้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังกระจายอยู่ในโลกออนไลน์ ขณะที่มีข่าวว่าเว็บไซต์หน่วยงานรัฐหลายแห่งถูกโจมตีหรือแฮ็ก

และมีการเรียกร้องให้จับตาร่างกฎหมายอีกฉบับ ที่จะใช้ควบคู่กัน นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ซึ่งจะให้เกิดคณะกรรมการ ที่มีอำนาจกว้างขวาง มีอำนาจสั่งการเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลได้

เป็นอีกประเด็นร้อนที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป