นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คุกเล็กคุกใหญ่ (2)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตอน 1 

คราวนี้หันมาดูการจำลองคุกทางจิตใจบ้าง

นักวิชาการฝรั่งมักพูดถึงการดำเนินเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ว่า เพิ่มความไม่แน่นอนมั่นคงให้แก่ชีวิตมากขึ้น เช่น บริษัทอาจ “ดาว์นไซซ์” ลงเพื่อเพิ่มผลกำไร อาจนำการผลิตไปสู่แหล่งที่แรงงานถูกกว่าเมื่อไรก็ได้ เป็นต้น ผลของเสรีนิยมใหม่ก็กระทบถึงชีวิตคนไทยเหมือนกัน ผมไม่ขอพูดซ้ำในเรื่องนี้อีก

นักวิชาการฝรั่งเหล่านั้นล้วนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีนิติรัฐ-นิติธรรม อย่างน้อยกระบวนการบังคับใช้กฎหมายก็เสมอภาคและเป็นไปตามกฎหมาย คนไทยไม่ได้อยู่ในสังคมที่มีนิติรัฐ-นิติธรรม ดังนั้น คนไทยจึงต้องเผชิญความไม่แน่นอนมั่นคงในชีวิตจากรัฐและสังคมแถมเพิ่มขึ้นกว่าฝรั่งเหล่านั้นด้วย

เราไม่รู้หรอกว่าต้องพูดอะไรและไม่พูดอะไร ต้องทำอะไรและต้องไม่ทำอะไร จนเมื่อไม่นานมานี้ จะต้องแต่งตัวสีอะไรก็ไม่แน่นอนมั่นคงไปอีกแล้ว เท่าที่ผมได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับชีวิตในคุกมา โดยเฉพาะคุกในไทย ผมคิดว่า อย่างถึงที่สุดแล้ว ความไม่แน่นอนมั่นคงคือการลงทัณฑ์ที่แท้จริงของคุก

คุณต้องทำอะไรหรือไม่ทำอะไรนั้น อย่าคิดเอง ให้ทำตามคำสั่งเท่านั้น เพราะทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น เช่น เหตุใดนักโทษจึงต้องคุกเข่าลงพูดกับ “นาย” ซึ่งหมายถึงผู้คุม ก็ไม่มีคำอธิบายในที่ใด เขาสั่งให้ทำก็ทำแล้วกัน ชีวิตที่ดำเนินไปโดยอธิบายการกระทำของตัวเองไม่ได้สักอย่าง คือโทษแสนสาหัสที่มนุษย์พึงได้รับ เพราะมันขัดกับธรรมชาติความเป็นคนของคุณเอง คุกไทยจึงไม่ได้กักกันนักโทษออกจากสังคม แต่กักกันนักโทษออกจากตัวเขาเองด้วย

ร้ายยิ่งไปกว่านั้น คำสั่งก็ไม่ได้มาจาก “นาย” เพียงอย่างเดียว นักโทษในแก๊งของแดนต่างๆ ก็อาจมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ทุกคนต้องปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน คือไม่ต้องถามหาเหตุผล

 

ผมคิดว่าไม่ต่างอะไรจากในคุกใหญ่นะครับ เมื่อเป็นเด็กผมถูกบังคับให้เรียนกฎหมายบางอย่างซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “หน้าที่พลเมือง” แต่ผมไม่เคยเห็นครูท่านใดอธิบายเหตุผลของกฎหมายเหล่านั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทะเบียนราษฎร หรือใหญ่กว่านั้น เช่น เสียภาษี, หรือเกณฑ์ทหาร, หรือการศึกษาภาคบังคับ

ผมพบว่าคนไทยทั้งหมดที่ผมได้รู้จัก ก็เรียนวิชาหน้าที่พลเมืองมาในลักษณะเดียวกัน

นี่เฉพาะความไม่แน่นอนมั่นคงในชีวิตที่เกิดจากรัฐเพียงอย่างเดียว ที่เกิดจากสังคมก็มีอีกพะเรอเกวียนไม่แพ้กัน ผิดพลาดในการใช้ยานพาหนะบนท้องถนน ไปชนรถคนอื่นเข้า ก็เข้าใจด้วยเหตุผลได้ง่ายนะครับว่า ทำทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย ก็ต้องชดใช้ แต่กลับถูกซ้อมบังคับให้ไปกราบรถ ถ้าเป็นผมก็คงก้มลงกราบอย่างงงๆ เพราะยังดีกว่าถูกซ้อมต่อไป

มันต่างอย่างไรจากการพลาดไปเหยียบเท้าขาใหญ่ในคุกเล็กล่ะครับ

 

ชีวิตไม่ว่าในสังคมใด หรือสมัยใด ก็ขาดความมั่นคงโดยพื้นฐานทั้งสิ้น เพราะต่างตกอยู่ใต้พระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราก็ปลอบประโลมตัวเองด้วยสองวิธี คือสร้างความจิรังยั่งยืนขึ้นกับชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคม นับตั้งแต่สถาบันการสมรสไปจนถึงระบบปกครองและสังคม-เศรษฐกิจ กับอีกอย่างหนึ่งคือศาสนา ซึ่งล้วนสัญญาชีวิตนิรันดรในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

แต่ก็ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า สิ่งปลอบประโลมใจเหล่านี้ ตกมาถึงสมัยปัจจุบัน ก็ขาดความแน่นอนมั่นคงลงไปมาก เช่นครอบครัวอาจแตกแยกกันเมื่อไรก็ได้ ระบบเศรษฐกิจมีขึ้นมีลงและคาดการณ์ได้ยาก ผู้ปกครองหรือแม้แต่ระบบปกครองก็หาความแน่นอนมั่นคงได้ยากขึ้น แม้แต่ศาสนาเอง โลกสมัยใหม่ก็ทำให้ความเชื่อเปลี่ยนแง่มุมไปได้อยู่เสมอ จนถึงที่สุดเปลี่ยนศาสนาหรือเลิกเชื่อศาสนาบางส่วนหรือทั้งหมด ก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ

ผมคิดว่าชีวิตของคนไทยปัจจุบันเผชิญกับความรู้สึกไม่แน่นอนมั่นคงยิ่งกว่าคนไทยรุ่นใดในประวัติศาสตร์ และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เราขัดแย้งกันเองมากกว่าครั้งใดเหมือนกัน

เช่นเดียวกับชีวิตของคนในคุกนะครับ ความเครียดมีสูงมากเพราะทุกอย่างเป็นไปตามคำสั่งของอำนาจ ซึ่งไม่แน่นอนมั่นคงด้วย เพราะเปลี่ยนได้เสมอ อีกทั้งหาหลักปฏิบัติที่แน่นอนตายตัวไม่ได้ ทำให้ผู้ต้องขังแบ่งก๊กแบ่งเหล่าเป็นหลายพวก ขัดแย้งกันสูง

และในท่ามกลางความไม่แน่นอนมั่นคงของชีวิตในโลกสมัยใหม่นี้ มีสิ่งเดียวที่คนไทยจำนวนมากเห็นว่าคือความแน่นอนมั่นคง นั่นคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่คู่สังคมไทยมาหลายศตวรรษแล้ว โดยไม่เปลี่ยนแปลง สถาบันพระมหากษัตริย์จึงให้ความรู้สึกแน่นอนมั่นคงมากเสียยิ่งกว่าสถาบันของโลกสมัยใหม่ทั่วไป

จึงไม่แปลกที่คนจำนวนมากย่อมหวงแหนให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่เหมือนเดิมทุกอย่าง โดยไม่เปลี่ยนแปลงเลย และมีความอ่อนไหวกับทุกอย่างที่อาจเป็นผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่คงที่เหมือนเดิม นอกจากการแสดงความเคารพบูชาสูงสุด

ผมไม่รู้จะอธิบายเรื่องฝูงชนยกกันไปทำร้ายผู้คนที่แสดงความโศกเศร้าต่อการสวรรคตได้ไม่ถึงใจตนได้อย่างไร นอกจากว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ก็คุกคามสิ่งที่ต่างยึดมั่นว่าเป็นความแน่นอนมั่นคงในชีวิตอันสุดท้ายอย่างเต็มที่อยู่แล้ว พวกเขากำลังตระหนกว่าความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อยากพบเห็นอาจกำลังเกิดขึ้น จึงพากันโกรธที่มีคนไม่แสดงความวิตกต่อความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่สถาบัน

ในช่วงผลัดแผ่นดินขณะนี้ น่าสังเกตนะครับว่า เราทำ “พิธีกรรม” กันมาก ผมไม่ได้หมายถึงพระราชพิธีหลวงที่เราได้เห็นถ่ายทอดทางโทรทัศน์ (แม้ว่านั่นก็เป็น “พิธีกรรม” อย่างหนึ่งเหมือนกัน) ในทางวิชาการเขานิยาม “พิธีกรรม” ว่า หมายถึงการกระทำที่คนทั่วไปทำซ้ำๆ กันอยู่เสมอ โดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน การไว้ทุกข์ก็เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง, การไปถวายบังคมพระบรมศพก็เป็นพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่ง รวมไปถึงการจัดความสะดวกต่างๆ ให้แก่ผู้เข้าถวายบังคม ทั้งโดยราชการและเอกชนก็อาจถือเป็นพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่งด้วย, การแสดงพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศในที่สาธารณะ เพื่อแสดงความอาลัยก็เป็นพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่ง

แม้ว่าการกระทำทั้งหมดเหล่านี้แสดงความเคารพและอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นอย่างจริงใจ แต่ก็เป็น “พิธีกรรม” ด้วย

 

นักมานุษยวิทยารุ่นเก่า (Malinovsky และ Radcliffe-Brown) อธิบายว่า เราทำพิธีกรรมเพื่อจัดการกับความวิตกห่วงไย (anxiety) ในใจของเรา พิธีกรรมบางอย่างเราทำเพราะเราไม่แน่ใจว่า เทคโนโลยีที่เราใช้นั้น จะสามารถให้ผลอย่างที่ต้องการหรือไม่ เช่น ทำนาอย่างถูกต้องตามที่เรียนรู้จากบรรพบุรุษมาทุกอย่างแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีเพลี้ยลงหรือไม่, อุทุกภัยหรือไม่, ฉาตกภัยหรือไม่, ฯลฯ จึงต้องทำพิธีกรรมบางอย่าง เช่น แรกนาบ้าง, บูชายุ้งฉางบ้าง, บูชาแม่โพสพบ้าง ฯลฯ เพื่อทำให้คลายกังวลลง

ว่ากันว่า เมื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์เราดีขึ้น จึงอาศัยเทคโนโลยีที่มีความแน่นอนเห็นผลมากขึ้น พิธีกรรมประเภทนี้ก็ทำลดน้อยลงไป

แต่มีพิธีกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ทำเมื่อเราหมดหรือไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ในการแก้ปัญหาได้เลย เป็นความวิตกกังวลที่แก้ไม่ได้ด้วยความรู้ของเรา เช่น ตายแล้วไปไหน, จะได้ลูกหญิง หรือชายตามต้องการหรือไม่, จะไม่พรากจากสิ่งที่รักได้อย่างไร ฯลฯ เราก็ประกอบพิธีกรรมเหมือนกัน ซึ่งมักเป็นพิธีกรรมทางศาสนา (ก็แล้วแต่ว่าเราจะนิยามศาสนาว่าคืออะไรด้วยนะครับ)

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทำให้คนไทยรู้สึกว่ากระทบต่อสิ่งที่เคยยึดมั่นว่าเป็นความแน่นอนมั่นคงมากทีเดียว จึงมีความวิตกกังวลมากเป็นพิเศษ และต้องหันเข้าหา “พิธีกรรม” ในรูปต่างๆ เพื่อคลายความวิตกกังวลในใจของตนลง

วินัยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนความละม้ายกันระหว่างคุกใหญ่และคุกเล็ก

แน่นอน ชีวิตในคุกย่อมเต็มไปด้วยวินัย แต่ชีวิตไทยนอกคุกก็เต็มไปด้วยวินัยนะครับ ผมคิดว่าคนไทยจะมีวินัยหรือไม่ก็ตาม แต่มีสำนึกด้านวินัยสูงมาก เพราะผู้ปกครองไทยใช้สำนึกนี้ตอกย้ำเสมอว่า เนื่องจากเราไม่มีวินัย เราจึงไม่ควรมีเสรีภาพ

ผมได้ยินคำสอนนี้มาตั้งแต่ยังเด็ก จนถึงทุกวันนี้ก็ยังได้ยินผู้ใหญ่พูดให้ได้ยินอยู่เสมอ

ตอนผมไปอเมริกาครั้งแรกในชีวิต ผมเตรียมตัวข้ามถนนตรงทางม้าลายไว้อย่างดี แต่ปรากฏว่าแทบไม่เห็นใครข้ามถนนตรงทางม้าลายเลย นอกจากในเมืองใหญ่ซึ่งรถวิ่งต่อกันเป็นสาย และหากไม่ข้ามตรงที่มีไฟแดง ก็เป็นอันไม่ต้องข้ามกัน แต่ตามถนนสายเล็กๆ แม้ในเมืองใหญ่นั้นเอง ผู้คนก็ข้ามถนนกันตามจังหวะรถวิ่งเหมือนในเมืองไทย

ลอนดอนที่ผมได้เห็นในเวลาสั้นๆ ก็เป็นอย่างเดียวกัน

ในกรุงเทพฯ เวลานี้ การข้ามถนนนอกทางม้าลายแทบจะทำไม่ได้แล้ว ไม่ใช่เพราะผิดกฎหมายนะครับ แต่เพราะเขาสร้างรั้วหรือกำแพงกั้นไว้ตรงกลางถนน ถึงข้ามได้ก็ไม่อาจไปถึงอีกฝั่งหนึ่ง

รั้วเหล็กหรือกำแพงซีเมนต์คือผู้คุมวินัย เช่นเดียวกับพัสดีในเรือนจำนั่นแหละครับ

ผมถึงได้บอกว่า คนไทยจะทำตามวินัยหรือไม่นั้นเรื่องหนึ่ง แต่คนไทยมีสำนึกเรื่องวินัยสูงมาก

ซ้ำร้ายเป็นวินัยที่ไม่ได้ให้ความเท่าเทียมเช่นเดียวกับวินัยในคุกด้วย

เราห้ามคนข้ามถนนนอกทางม้าลาย แต่เราเอาใจใส่ให้รถจอดให้คนข้ามถนนบนทางม้าลายน้อยเกินไป ซ้ำไม่ได้สร้างสิ่งกีดขวางใดๆ ที่เทียบได้กับรั้วเหล็กหรือกำแพงซีเมนต์ ที่จะป้องกันมิให้รถยนต์วิ่งขึ้นไปทับคนบนทางม้าลายด้วย

ชาวคุกทุกคนต้องอาบน้ำด้วยน้ำจำนวนขันและเวลาจำกัด ยกเว้นบางคน บนถนนก็มีขาใหญ่ขาเล็ก ไม่ต่างจากในคุก

อาจารย์ตุ้มจึงพ้นออกมาจากทัณฑสถานกลับสู่รัฐทัณฑสถานฉะนี้แล