นิธิ เอียวศรีวงศ์ : คุกเล็ก คุกใหญ่ (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

untitled-2

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวต้อนรับอาจารย์ตุ้ม-สุดสงวน สุธีสร-ซึ่งเพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำไว้ในเฟซบุ๊กว่า ขอต้อนรับจากที่คุมขังอันเล็กมาสู่ที่คุมขังอันใหญ่ (ถ้อยคำอาจไม่ตรง แต่ความตรงตามนี้แน่)

ผมอ่านแล้วอดตบเข่าตัวเองดังผางไม่ได้ เพราะมันใช่เลยทีเดียว

รัฐบาลในโลกยุคปัจจุบัน แม้แต่รัฐที่ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของเผด็จการทหาร ก็ล้วนเป็นรัฐบาลทัณฑกรรม (punitive government) ทั้งนั้น ยิ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร อาการทัณฑกรรมก็ยิ่งปรากฏชัดโดยไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนเลย

รัฐที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลทัณฑกรรมคือรัฐทัณฑสถาน (ภาษาของฟูโกลต์คือ carceral state) คือรัฐที่จำลองเอาระเบียบของคุกมาใช้จนกลายเป็นเรื่องปรกติในการปกครองและกิจกรรมอื่นๆ ในสังคม ที่ทำอย่างนี้ได้ ไม่ใช่เพราะมีทหารกลุ่มหนึ่งใช้กำลังอาวุธมายึดอำนาจแล้วตั้งตัวเป็นรัฐบาลนะครับ หรือไม่ได้ทำได้เพราะรัฐผูกขาดการใช้ความรุนแรงไว้แต่ผู้เดียวด้วย หากทำได้ด้วยความยินยอมของประชาชนที่ถูกทำให้เชื่อว่าตนเป็นเสรีชน แต่เสรีภาพของเสรีชนนั้นตั้งอยู่บนการจำขังหรือแม้แต่สังหารคนที่มีทีท่าว่าอาจจะคุกคามรัฐทัณฑสถาน หรือรัฐบาลทัณฑกรรม

เสรีชนจึงรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยของเสรีภาพของตนได้ ก็ต่อเมื่อมีใครถูกลงทัณฑ์ให้เห็น เพราะไปคุกคามรัฐทัณฑสถาน

 

ผมคงไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างของการผดุงเสรีภาพเพื่อเสรีชนภายใต้รัฐบาลทหารในปัจจุบัน เพราะมันเห็นชัดและเห็นบ่อยจนไม่จำเป็น แต่อยากเตือนให้นึกย้อนไปก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 การเคลื่อนไหวของ กปปส. นั้นกระทำไปโดยสำนึกอย่างเต็มเปี่ยมของผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวว่า เป็นเสรีภาพ (หรือเป็นแม้แต่หน้าที่) ของตนที่จะเคลื่อนไหวเช่นนั้น

และเสรีภาพในสำนึกของมวลชน กปปส. นั้น ไม่ได้ตั้งอยู่ที่ “เส้น”เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่แบบปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมของไทยที่ผ่านมาจนเป็นประเพณีก็คือ คนที่มี “เส้น” ในระดับสูง ย่อมได้รับความปลอดภัยจากกฎหมาย ส่วนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายธำรงอยู่ได้ ก็เพราะคนไม่มี “เส้น” หรือมี “เส้น” ระดับต่ำ จะถูกจับกุมคุมขัง หรือฆ่าทิ้งได้เสมอ กฎหมายไทยจึงศักดิ์สิทธิ์พอจะปกป้อง “เสรีภาพ” ของเสรีชนได้อย่างแน่นอน เพราะมีคนถูกรัฐลงทัณฑ์อยู่เสมอ โดยกระบวนการที่เสรีชนรู้อยู่แล้วว่า จะไม่คุกคามตนหรือพวกตน

สาวกของ กปปส. จึงเคลื่อนไหวไปจนสุดโต่งแค่ไหนก็ได้ เพราะเชื่อมั่นในเสรีภาพที่ปกป้องเสรีชนของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทย

คงจำได้ว่าในช่วงนั้น มี “คนเสื้อแดง” อีกเป็นร้อยที่ถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาเผาบ้านเผาเมือง หรือก่อการร้าย หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ในช่วงนั้น เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ก็อย่างที่กล่าวแล้วนะครับว่า ไม่ว่าเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ก็ล้วนเป็นรัฐบาลทัณฑกรรมทั้งนั้น เพียงแต่เห็นได้ชัดกว่าในรัฐบาลจากการรัฐประหารเท่านั้น

 

เรื่องเสรีชนและเสรีภาพนี้น่าสนใจ เพราะรัฐทัณฑสถานไม่ได้มาจากเบื้องบนอย่างเดียว แต่มันมีแรงหนุนจากเบื้องล่างด้วย ซึ่งอาจสำคัญกว่าแรงกดดันจากเบื้องบนเสียอีก ผมจึงอยากคุยเรื่องนี้จากตัวอย่างประเทศไทยที่เราต่างคุ้นเคย

เสรีชนจำลองคุกออกมาสร้างสภาพแวดล้อมในชีวิตของตนขึ้นในสองทางด้วยกัน คือทางกายภาพ และทางจิตใจ ผมขอพูดถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพก่อน

ในชิคาโก มีย่านที่อยู่อาศัยของคนรวย ซึ่งผมเคยขับรถหลงเข้าไป จะเรียกว่าย่านอะไรผมก็ลืมไปแล้ว แต่ดูเหมือนเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย North-Western ด้วย และในขณะเดียวกันก็มีย่านที่อยู่ของคนจนซึ่งมักเป็นคนดำ ผมก็เคยขับรถหลงเข้าไปเหมือนกัน ในย่านกลางเมืองดีทรอยต์ (สมัยที่ผมรู้จัก) คือแหล่งเสื่อมโทรมที่ไม่มีใครอยู่ นอกจากคนดำที่ยากจน

ว่ากันว่าเมืองใหญ่ในสหรัฐก็ล้วนเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น ไม่เฉพาะแต่เมืองใหญ่ด้วยซ้ำ เมืองที่ผมไปเรียนหนังสือเป็นเมืองเล็ก ก็มีการแบ่งย่านระหว่างคนรวย, คนชั้นกลาง, และคนจนซึ่งไม่มีงานทำเหมือนกัน (ดำอีกนั่นแหละ)

ย่านในสหรัฐมีความหมายมากกว่าที่อยู่อาศัย แต่หมายถึงบริการของรัฐด้วย เช่น โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในย่านคนจนได้งบประมาณน้อย และไม่มีกำลังพอจะได้ครูดีๆ มาประจำได้ ฉะนั้น การศึกษาของย่านคนจนจึงห่วยแตก นอกจากไม่ผลิตแรงงานที่มีทักษะในการหากินในเศรษฐกิจสมัยใหม่แล้ว ยังผลิตอนาคตอาชญากรนานาประเภทไปพร้อมกัน (ผมไม่ทราบว่านี่เป็นภาพจริง หรือเป็นเพียงภาพเหมารวม – stereotype – ที่คนขาวสร้างให้คนดำ)

ผมได้ยินมาว่าเมืองในยุโรปก็ไม่ต่างจากกัน เฉพาะลอนดอนที่ผมรู้จักอย่างผิวเผิน ก็มีย่าน East End ที่เขาว่ากัน (สมัยที่ผมได้เห็น) เป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนจน

 

กรุงเทพฯ ก็กำลังเปลี่ยนไปสู่สภาพแบ่งย่านอย่างนั้นอย่างรวดเร็ว หรืออาจเปลี่ยนไปหลายย่านแล้วก็ได้ เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ย่อมบังคับให้คนจนไม่อาจมีที่อยู่อาศัยในบางย่านได้

บางคนอาจท้วงว่า กรุงเทพฯ หรือเมืองโบราณทั้งหลายก็ล้วนมีย่านหรือละแวกทั้งสิ้น ก็จริงครับ แต่ขอให้สังเกตว่าย่านหรือละแวกโบราณประกอบด้วยคนหลายประเภท, หลายชนชั้น, และบางกรณีหลายชาติพันธุ์ด้วย ในบ้านช่างหล่อสมัยโบราณ นอกจากเป็นถิ่นที่อยู่ของช่างหล่อแล้ว ยังมีคนจน, ขอทาน, ไพร่หนีเจ้าบ่าวหนีนาย, พระน้ำพระยา, ฯลฯ อาศัยอยู่ที่นั่นด้วย

ผมเป็นเด็กสุขุมวิท (ฝั่งเหนือคลองพระโขนง) ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นย่านคนรวย แต่ผมจำได้ว่าเมื่อเป็นเด็กนั้น มีชาวนาและท้องนาอยู่ถัดจากบ้านเราไปสัก 500 เมตร และลุงชาวนามักต้อนควายผ่านหน้าบ้านเพื่อไปหาหญ้ากินตามที่รกร้างว่างเปล่าอยู่เสมอ สุขุมวิทสมัยนั้น (ซึ่งชาวบ้านมักเรียกบางกะปิ เพราะเป็นทุ่งเดียวกัน ฝั่งตะวันออกของคลองแสนแสบ) เป็นย่านคนรวยก็จริง แต่ก็มีคนไม่รวยไปถึงจนอยู่อาศัยร่วมในย่านเดียวกันจำนวนมาก ซ้ำยังมี “ซอยกลาง” ซึ่งรู้กันทั่วไปว่าเป็นแหล่งโสเภณีของกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง

แต่ในปัจจุบัน ย่านและละแวกของกรุงเทพฯ กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หรือเปลี่ยนไปแล้วหลายย่านทีเดียว นั่นคือก็เหมือนเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก คนต่างสถานะทางเศรษฐกิจเลือก (หรือถูกบังคับให้เลือก) ที่อยู่อาศัยในย่านที่ต่างกัน แม้แต่ตึกแถวและบ้านจัดสรรที่สร้างขึ้นใหม่ ก็กำหนดมาแต่ต้นว่าต้องการสร้างไว้ป้อนคนสถานะขนาดไหน เพราะอยู่ในย่านอะไร ศูนย์การค้าแม้ชื่อเดียวกัน แต่ตั้งอยู่คนละย่าน ก็เสนอสินค้าและจัดวางสินค้าที่ต่างกันให้เหมาะกับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของลูกค้า

คนจนและคนไร้โอกาสถูกเบียดขับออกไปจากตัวเมืองชั้นในและปริมณฑล ไปอยู่ในละแวกซึ่งได้รับบริการรัฐที่ไร้คุณภาพ

การแบ่งย่านเช่นนี้กระจายไปสู่เมืองอื่นๆ ของไทย ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลานี้ด้วย

 

ย่านและละแวกของเมืองที่แบ่งตามสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นนี้ ทำให้คุณคิดถึงอะไร? ผมคิดถึง “แดน” ในคุกครับ ซึ่งแบ่งสถานภาพของนักโทษตามทัณฑ์ของคำพิพากษา, ตามเพศ, ตามพฤติกรรม ฯลฯ ผมไม่ทราบว่าคุกไทยเป็นอย่างไร แต่ในฟิลิปปินส์มีละแวกพิเศษในแต่ละแดน สำหรับคุมขังขาใหญ่ทั้งหลายที่พลาดท่าต้องติดคุกด้วย หนังสือเล่าเรื่องของผู้ต้องโทษชาวต่างชาติในคุกไทย ก็มีอะไรคล้ายๆ อย่างนี้เหมือนกัน แม้ไม่ถึงกับแบ่งเป็นละแวกชัดเจน

เรารู้ว่า หากจะซื้อของคุณภาพอย่างนี้ ควรไปห้างใน “แดน” อะไร บ้านใครอยู่ “แดน” ไหน เราก็รู้ได้ทันทีว่าสถานะของเขานั้นแค่ไหน ก็เพราะเราอยู่ในคุกจนเจนจัดกันทุกคนล่ะสิครับ

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงตึกที่ทำการของรัฐและเอกชนซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในปัจจุบัน มันใหญ่โตและปึ้กปั้กไม่ต่างจากคุก (แนวคิดสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นโบราณ คือไม่แยก “พื้นที่” ระหว่างในอาคารและนอกอาคารออกจากกัน ได้หายไปโดยสิ้นเชิงในสถาปัตยกรรมเมืองของกรุงเทพฯ)

เห็น “คุก” ผุดขึ้นเต็มเมืองแล้ว เสรีชนรู้สึกปลอดภัยครับ

 

อันนี้ผมไม่ได้พูดเล่นนะครับ พูดจริงเลยทีเดียว ต้องขอเล่าเรื่องตัวเองหน่อย เพื่อสะท้อนชีวิตของเสรีชนอีกมากในปัจจุบัน

ปัจจุบัน ผมอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งก็เหมือนหมู่บ้านจัดสรรทั่วไป คือมีรั้วรอบขอบชิดทุกด้าน แต่ก็ยังดีที่เจาะกำแพงโปร่ง หมู่บ้านจัดสรรบางแห่งสร้างกำแพงทึบและสูงเกือบไม่ต่างจากคุกเลยก็มี ทางเข้าหมู่บ้านเป็นซุ้มประตูใหญ่ มียามเฝ้าอยู่ทั้ง 24 ชั่วโมง คนนอกที่ไม่ได้เป็นผู้อยู่อาศัย ไม่อาจผ่านเข้าออกได้โดยไม่แสดงตัวด้วยบัตรประชาชน ซึ่งจะถูกสแกนเก็บไว้ บางหมู่บ้านที่ผมเคยไป เก็บบัตรประชาชนไว้เลย บางหมู่บ้านจะโทร.ไปถามเจ้าบ้านก่อนว่า จะให้แขกชื่อนั้นชื่อนี้เข้าไปพบหรือไม่ ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงกล้องวงจรปิด ที่เจ้าบ้านแต่ละหลังได้รับคำแนะนำให้ลงทุนติดตั้งไว้

ไม่ต่างอะไรใช่ไหมครับกับระเบียบของกรมราชทัณฑ์ในการขอเข้าเยี่ยมนักโทษ

หมู่บ้านจัดสรรทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกปลอดภัย และในทางตรงกันข้าม ก็รู้สึกว่าคนข้างนอกคือมหันตภัย ไม่น่าไว้วางใจ ไม่น่าติดต่อเกี่ยวข้องด้วยเกินความจำเป็น จึงยิ่งทำให้เห็นว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านมีความจำเป็นอย่างที่ขาดไม่ได้

กลายเป็นจุดขายของโครงการหมู่บ้านจัดสรร ผมเพิ่งเห็นป้ายโฆษณาหมู่บ้านแห่งหนึ่งว่า มีระบบรักษาความปลอดภัยถึง 9 ชั้น

ชีวิตที่ถูกทำให้สำนึกแต่ความไม่ปลอดภัยของผู้คนในปัจจุบัน ทำให้เราเลือกจะใช้ชีวิตในคุก เพราะถ้ามองจากอีกมุมหนึ่ง หมู่บ้านจัดสรรคือคุกที่ผู้อยู่ข้างใน (inmates) ทุกคน ถูกจ้องจับตาอยู่ตลอดเวลา จะขับรถออกไปไหนก็ได้ แต่ต้องขับรถของคุกซึ่งมีตราคุกติดหราไว้หน้ารถ (ไม่อย่างนั้นกลับเข้าบ้านไม่ได้)

หากใครถูก คสช. จับจ้อง ก็ไม่ต้องส่งทหารนอกเครื่องแบบไปเยี่ยมหรือไปเฝ้ามองให้เสียเวลา จ้างยามของหมู่บ้านจัดสรรคอยรายงานการเคลื่อนไหวของเหยื่อได้แทบจะทุกชั่วโมง จำนวนมากของยามก็มักเป็นทหารเกณฑ์ปลดประจำการอยู่แล้ว