นิ้วกลม : ความเป็นหยินที่ถูกทำให้ไม่สำคัญ

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1เกือบร้อยปีก่อน (1929) ความเรียง “A Room of One”s Own” ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ได้รับการตีพิมพ์ออกมา งานเขียนชิ้นนี้ตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับ “ความเป็นผู้หญิง” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ บทบาททางสังคม การสร้างสรรค์ผลงาน หรือกระทั่งการถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

ความเรียงชิ้นนี้มิได้น่าสนใจแค่เนื้อหา หากยังมีเสน่ห์ที่ลีลาการเล่าเรื่องซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าลีลาแบบผู้หญิงนั้นแตกต่างไปอย่างไร ความผันผวนรวนเร การใส่ใจกับความรู้สึก ให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และ “ภาษา” แบบหญิงๆ

วูล์ฟตั้งคำถามว่า ก่อนศตวรรษที่ 18 เราแทบไม่ได้ยินเสียงของผู้หญิงในงานวรรณกรรมใดๆ กระทั่งหากมีผู้หญิงสักคนเขียนหนังสือขึ้นมาก็ยังต้องปกปิดตัวเองโดยใช้นามปากกาผู้ชาย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผู้หญิงอยู่ในหน้ากระดาษวรรณกรรม ผู้หญิงถูกพูดถึงอยู่บ่อยๆ แต่เป็นการพูดถึงโดยผู้ชาย ผู้หญิงไม่มีโอกาสได้เล่าเรื่องของตัวเอง

“ถ้อยคำเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจที่สุด ความคิดที่ลึกซึ้งที่สุดในวรรณคดีหลุดออกจากปากของหล่อน แต่ในชีวิตจริงหล่อนอ่านหนังสือแทบไม่ออก สะกดตัวอักษรแทบไม่ได้ และเป็นเพียงทรัพย์สมบัติชิ้นหนึ่งของสามี”

วูล์ฟวิพากษ์ความคิดแบบชายเป็นใหญ่ไว้อย่างลึกซึ้ง “เมื่อท่านศาสตราจารย์ยืนกรานด้วยความหนักแน่นถึงความด้อยกว่าของสตรี จริงๆ แล้วท่านไม่ได้สนใจเรื่องความด้อยกว่าของหล่อนแต่อย่างใดดอก ท่านวิตกกังวลในความเหนือกว่าในสถานภาพของตัวท่านเองมากกว่า สิ่งนี้ต่างหากที่ท่านต้องปกป้องอย่างเอาเป็นเอาตายเพราะมันเปรียบเสมือนแหวนอันหาค่าไม่ได้สำหรับตัวท่านเลยทีเดียว”

“ถ้าเช่นนั้นเราจะสรรค์สร้างคุณสมบัติอันทรงคุณค่าอย่างมหาศาลนี้ได้อย่างไรภายในเวลาอันรวดเร็ว ง่ายนิดเดียว ก็โดยการกดคนอื่นให้ด้อยลงกว่าเราอย่างไรเล่า”

“เครื่องมืออันน่าสมเพชที่มนุษย์ชอบใช้เพื่อจินตนาการว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่นนั้นไม่มีวันจบสิ้นดอก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องอันสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับชายผู้เป็นใหญ่ที่จะต้องเอาชนะ ต้องปกครอง ต้องรู้สึกให้ได้ว่าผู้คนถ้าจะให้ดีก็สักครึ่งหนึ่งของจำนวนเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมดที่ด้อยกว่าเขาโดยธรรมชาติ”

ในยุคนั้นและก่อนหน้านั้น “ผู้หญิง” (ถูกทำให้) ด้อยกว่า “ผู้ชาย” อย่างเห็นได้ชัด โลกคลาคล่ำไปด้วยผู้ชาย เสียงของผู้ชาย ภาพของผู้ชาย ผลงานของผู้ชาย ความคิดของผู้ชาย และวิธีคิดของผู้ชาย

วูล์ฟพยากรณ์ไว้ว่า

“อีกร้อยปี ผู้หญิงอาจไม่เป็นเพศอ่อนแอที่ต้องมีผู้ปกป้องอีกต่อไป แน่นอนที่พวกหล่อนจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ครั้งหนึ่งพวกหล่อนอาจเคยถูกปิดกั้น…ปล่อยให้หล่อนได้เป็นทหารบก ทหารเรือ คนขับรถ หรือกรรมกรท่าเรือบ้าง…จนเราแทบจะพูดไม่ทันว่า “วันนี้ฉันเห็นผู้หญิง” เหมือนกับที่เคยกล่าวว่า “วันนี้ฉันเห็นเครื่องบิน” เลยทีเดียว”

 

2เกือบครบร้อยปี ดูเหมือนคำพยากรณ์นั้นใกล้เคียงความจริง

เราเห็น “ผู้หญิง” มากขึ้นแน่ๆ

พวกเธอมีบทบาทมากขึ้นแน่นอน ถ้าเทียบกับในปี ค.ศ.1929

แต่ “ผู้หญิง” ที่มีบทบาทมากขึ้นในสังคมหรือในโลกใบนี้มาพร้อม “ความเป็นหญิง” หรือ “ความเป็นชาย” กันแน่

หรือถึงที่สุดแล้วอาจไม่มีความเป็นหญิง-ความเป็นชายก็ได้ แต่โลกยังคงหมุนไปด้วยความคิดแบบ “ชายเป็นใหญ่” ที่เคยถูกวิพากษ์ไว้หรือเปล่า?

ต้องการเอาชนะ ใช้เหตุผลรบราโดยใส่ใจกับความรู้สึกน้อย สงคราม ฆ่าฟัน และตัวละครที่เราเห็นบนเวทีโลกก็คือคนที่มีวิธีคิดและบุคลิกลักษณะทำนองนี้ ไม่ว่าเพศใดก็ตาม

หากลองมอง “คุณค่า” ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมอบให้กับการใช้ชีวิต การประกวด การแข่งขัน การเป็นที่หนึ่ง เรียนให้เก่ง ทำผลกำไร ตัวเลข GDP เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ความสำเร็จ” เราเติบโตมากับวัฒนธรรมที่ต้องถีบตัวเองเพื่อเอาชนะคนข้างๆ เราเสพติดการแข่งขัน เราเป็นนักรบ นักล่า ไม่ว่าเราเป็นเพศใดก็ตาม

เมื่อสังคมให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ สื่อต่างๆ ส่งสารเกี่ยวกับคุณค่าเหล่านี้ โลกโซเชียลมีเดียถกเถียงกันด้วยมโนทัศน์แบบนี้ โลกจึงปกคลุมไปด้วยบรรยากาศแห่งการแข่งขันกับควบคุม ปกครอง เอาชนะ รบรา ไม่ว่าเรื่องใดๆ

เราจึงเห็นตัวละครนักรบทั้งหลายอยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลต์ ราวกับว่าโลกนี้มี “แบบอย่าง” ให้เลือกเพียงเท่านั้น

ส่วนคนที่ไม่ร่วมรบ หรือถูกเรียกว่า “ผู้แพ้” หรือให้คุณค่าแบบอื่น ก็จะไม่ถูกชูขึ้นมาให้มองเห็นกัน

คล้ายๆ กับการมองไม่เห็น “ผู้หญิง” ในศตวรรษที่ 18-19

 

3หากไม่แบ่งแยกตามเพศหญิง-ชาย แต่ลองแบ่งตามคติจีนแบบหยิน-หยาง เราคงเห็นว่าโลกหมุนไปด้วยพลังหยาง เช่น การรุกเพื่อขยายพื้นที่ ความเรียกร้องต้องการ การแข่งขัน เหตุผล การวิเคราะห์ ขณะที่พลังหยินนั้นถูกซุกซ่อนไว้ เช่น การถอยตั้งรับ การถนอมรักษา ความร่วมมือกัน อารมณ์ความรู้สึก การสังเคราะห์

“การวิเคราะห์” คือการแยกแยะสิ่งต่างๆ ให้เห็นโครงสร้างและระบบอย่างชัดเจน ถกเถียงกันด้วยเหตุผล คล้ายๆ ผ่าตัดหนึ่งสิ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ ต่างจาก “การสังเคราะห์” ซึ่งคือการนำเอาส่วนย่อยต่างๆ มาประกอบร่างสร้างเป็นสิ่งใหม่

“การแข่งขัน” กับ “การร่วมมือกัน” ก็เป็นอีกคู่ที่น่าสนใจ มีผู้คนมากมายอยากเปลี่ยนโลกให้เป็นไปตามที่ตนเองเชื่อว่าดีงาม เช่นกันกับที่มีผู้คนมากมายที่ไม่อยากให้โลกเปลี่ยนไปในทิศทางที่ตนไม่ค่อยเชื่อว่าจะดีงาม คำถามคือ คนทั้งสองกลุ่มนี้เมื่อเผชิญหน้ากัน พวกเขา (หรือพวกเรา) ต่อสู้กันด้วยทัศนคติแบบใด แข่งขันหรือร่วมมือ?

โลกย่อมมีคู่ตรงข้ามมากมายเต็มไปหมด อยู่ที่ว่าเราจะจับคู่แบบไหน ด้วยแว่นแบบใด แต่เป็นไปได้ไหมว่า หากเราไม่ได้มองคู่ตรงข้ามว่าเป็นฝั่งก้าวหน้า (ลิเบอรัล) หรือฝั่งอนุรักษนิยม (คอนเซอร์เวทีฟ) แต่มองมันด้วยแว่นอีกแว่นหนึ่ง นั่นคือมองว่าในทั้งสองฝั่งนั้นมีคนแบบ “หยิน” กับ “หยาง” อยู่

และบางครั้ง ที่เห็นเถียงกันจะเป็นจะตายก็มีความคล้ายกันในแง่นี้ คือเราเถียงกันด้วยทัศนคติแบบ “หยาง” แล้วทั้งสองฝ่ายก็ค่อยๆ กลายเป็นคนที่เหมือนกันในบุคลิกแม้แตกต่างกันในความคิด

เสียงของ “หยาง” นั้นดัง รุนแรง โฉ่งฉ่าง โดดเด่นกว่าเสียงแบบ “หยิน” โลกจึงได้ยินเสียงแบบหยางอยู่เสมอ และหมุนไปด้วยบรรยากาศแบบหยาง

คำถามระหว่างอ่าน “A Room of One”s Own” ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ก็คือ ถ้าเมื่อเกือบร้อยปีก่อน “ผู้หญิง” ถูกทำให้หายไปจากการรับรู้ และไม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคม ในวันนี้ความเป็น “หยิน” ได้ถูกทำให้หายไปจากการรับรู้ และไม่มีบทบาทในสังคมคล้ายๆ กันหรือเปล่า?

และที่เราไม่เห็นคุณค่าแบบ “หยิน” ก็อาจคล้ายกันกับตอนที่โลกไม่เห็นคุณค่าแบบ “ผู้หญิง” หรือเปล่า เราเพียงใช้ชีวิตไปตาม “ปกติ” และคิดว่านั่นคือ “โลกปกติ” ที่ควรจะเป็น โลกที่ผู้ชายครอบครองทุกอย่าง กระทั่งชีวิตผู้หญิง

เช่นกันกับวันนี้ที่ “หยาง” แผ่ซ่านไปทั่วทุกอณู

แม้ในตัว “ผู้หญิง”