หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘ต่างถิ่น’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ชะนีมือขาว - ชะนีเป็นสัตว์พื้นเมือง แต่การนิยมนำพวกมันมาเลี้ยงในกรง และวิธีการที่จะนำลูกชะนีออกจากป่าได้ คือฆ่าแม่ของมัน คือความเดือดร้อนที่พวกมันพบ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ต่างถิ่น’

 

ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

“รู้ไหมครับว่า เมื่อเช้าผมเดินไปหลังบ้านพัก เจอมด 3 ชนิดใหม่ สองชนิดเป็นชนิดที่ยังไม่มีรายงานในโลกนี้เลยครับ”

ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พูดในเย็นวันหนึ่ง ขณะเรานั่งล้อมวงอยู่รอบกระบะไฟ บนกระท่อม

แม้ว่าจะเป็นปลายเดือนมีนาคม แต่อุณหภูมิที่นี่ยังลดต่ำเหลือ 18 องศาเซลเซียส และกลางดึกเหลือราว 10 องศา

ดร.วียะวัฒน์ คือผู้เชี่ยวชาญเรื่องมด เขามาศึกษาเรื่องมดในป่าทุ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง และทำเช่นนี้ในป่าทั่วประเทศ

“ศึกษาเรื่องมดไปทำไมครับ” ผมถามด้วยความอยากรู้ มีงานวิจัยมากมายที่มีคนศึกษาต่อเนื่องยาวนาน

“ไม่ต้องพูดถึงระบบนิเวศในธรรมชาติที่ทุกชีวิตเกิดมาและมีหน้าที่นะครับ” ดร.มดพูดยิ้มๆ

“เอาที่เกี่ยวข้องกับคนในประเทศนี่แหละ” เขาพูดต่อ

“ความรู้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ชอบพูดๆ กันว่า วิจัยมาแล้วก็เก็บไว้บนหิ้ง ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร” ดร.มดส่ายหน้าช้าๆ

“ผมว่า บนหิ้งที่มีความรู้ย่อมดีกว่าหิ้งว่างๆ นะครับ”

 

มีเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ส่งน้ำดื่มล็อตใหญ่ไปประเทศอินเดีย บริษัทที่รับปลายทางตรวจสอบพบว่ามีมดอยู่ในน้ำขวดหนึ่ง

สินค้าทั้งหมดจะถูกส่งกลับ ความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ส่งออกหมดสิ้น ค่าใช้จ่ายในการนำกลับมาสูง

“เรานำมดตัวที่อยู่ในขวดน้ำมาตรวจสอบครับ” ผู้เชี่ยวชาญมดเล่า

“เมื่อตรวจอย่างละเอียดพบว่า มดตัวนั้นไม่ใช่มดสายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่เป็นสายพันธุ์อินเดีย” ผมฟังอย่างทึ่ง

“นี่ยังไงครับ เรานำความรู้ที่มีมาใช้ หลังจากนั้นมีการสืบต่อจนได้ความว่า ขวดน้ำมีร่องรอยถูกเปิดเอามดมาใส่ สุดท้ายมันก็เป็นเรื่องกลั่นแกล้งทางการค้า”

ความรู้เรื่องมดช่วยไม่ให้ประเทศเสียประโยชน์

แต่ดูเหมือนมดจะเป็นชีวิตไร้ค่า สร้างปัญหา ต้องถูกกำจัด

“เป็นเรื่องจริงครับ” ดร.วียะวัฒน์พูด

มด, ปลวก คือตัวปัญหาในบ้านเรือน

“มันเป็นเรื่องของการอยู่ไม่ถูกที่ครับ ถ้าปลวกอยูในป่ามันมีประโยชน์ มาเป็นพระเอกเลยล่ะ เพราะหน้าที่ของมันคือย่อยสลายต้นไม้ที่ตายแล้ว แต่ถ้ามันอยู่ในเมือง หน้าที่นี้มีปัญหาแน่” เขาพูดด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน

ผมชอบเสมอเวลาพูดคุยกับนักวิจัย เมื่อพวกเขาพูดถึงสิ่งที่รัก ความรักนั้นจะแสดงออกมาให้เห็นทั้งแววตาและน้ำเสียงที่พูด

ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยที่ศึกษาสัตว์ประเภทไหน สัตว์เลื้อยคลาน ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่

 

ปัญหาที่มดกำลังเผชิญก็เหมือนกับสัตว์อื่นแหละครับ” ดร.มดเล่า

“นอกจากถูกเข้าใจผิด โดนรังเกียจ ว่าพวกมันมีแต่ให้โทษแล้ว ปัญหาใหญ่ที่มดในประเทศเรากำลังเจอคือ โดนมดต่างถิ่นรุกราน”

มดต่างถิ่นตัวโต เป็นนักล่า กินมดด้วยกันเป็นอาหาร

พวกมันหลายชนิดติดมากับสินค้า หรือสัมภาระคนเดินทางข้ามโลกไป-มา

รวมทั้งมีผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลกๆ สั่งมด รวมทั้งสัตว์อื่นจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยง

สัตว์เหล่านั้นหลุดเข้าไปในธรรมชาติ ไม่ว่า เพราะเผอเรอหรือจงใจปล่อย เพราะคนสั่งมา เบื่อ และนี่คือปัญหา

ปลาพื้นเมืองหลายชนิดพบปัญหานี้ หลายแห่งบนโลกนี้กังวลกับสัตว์ต่างถิ่น และหามาตรการป้องกัน เพราะรู้ดีว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหา

ความเดือดร้อนของมดตัวเล็กๆ จะส่งผลกระทบมหาศาลในอนาคต

 

ด้วยความเจริญรุดหน้าของเทคโนโลยี คล้ายกับว่า โลกไม่ได้กว้างใหญ่ดังเช่นเมื่อก่อนแล้ว

โลกแคบเกินกว่าคำว่า “ต่างถิ่น” ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม จะมีความหมาย

มีสิ่งใดเกิดในมุมใดของโลก ก็รับรู้ไปทั่วโลกภายในไม่กี่วินาที

แต่หากไม่ทำความเข้าใจกับคำว่า “ต่างถิ่น” ให้แจ่มแจ้ง

โลกที่ไม่กว้างแล้วใบนี้ ก็จะพบชะตากรรมเดียวกัน