วิรัตน์ แสงทองคำ : พิชญ์ โพธารามิก (4)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วย การติดตามความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลสำคัญ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

เรื่องราว อดิศัย – พิชญ์ โพธารามิก เป็นภาพต่อเนื่อง สะท้อนสังคมธุรกิจไทยในยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ แตกต่างกันอย่างมาก ทั้งยุคสมัย บริบท และโอกาสทางธุรกิจ

จุดเปลี่ยนสำคัญ มักอ้างอิงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540

ว่าไปแล้วควรเป็นเช่นนั้น แม้ว่าเรื่องราว สถานการณ์ เหตุและปัจจัยต่อเนื่อง มีมากกว่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสังคมไทยเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก หรือ เรียกว่ายุค Globalization

อันเป็นช่วงเวลาขยายอิทธิพลอย่างกว้างขวาง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนของวงจรระบบทุนนิยม

ว่าด้วยอิทธิพลเก่า

กรณีธุรกิจสื่อสารยุคใหม่ ทักษิณ ชินวัตร ถูกอ้างอิงถึงอย่างนับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งวาดภาพเกินจริงไปบ้าง แต่สิ่งที่ไม่เกินจริง คือ เขาคือพวก “หน้าใหม่” ในสังคมธุรกิจไทย เพิ่งเข้ามา เมื่อช่วง 2 ทศวรรษที่แล้ว

“เขาเป็นเพียงตัวละครเล็กๆ ในภาพใหญ่ ในฐานะผู้สัมผัสเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ มองเห็นโอกาสใหม่ ผนวกเข้ากับระบบสัมปทานสื่อสารรัฐไทย ถือว่าเป็นธุรกิจใหม่มากๆ ในช่วงแรกๆ ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ถูกประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ …ต่อมาได้สร้างแรงสั่นสะเทือน สร้างกระแส ให้ทั้งรายใหม่-รายเก่า เข้าสู่โมเดลความมั่งคั่งใหม่ อย่างรีบเร่ง” ผมนำเสนอไว้ตอนก่อนๆ

แรงสั่นสะเทือนนั้นเจาะจงมายังกลุ่มธุรกิจอิทธิพล กรณีซีพี เป็นตัวอย่างแรก ควรกล่าวถึงอีกครั้ง ซีพีได้เข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ พลิกผันตนเองเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารอย่างไม่ได้วางแผนเท่าที่ควร

แต่ถือเป็นจังหวะและโอกาสที่ดีมากๆ ในการเข้าสู่ธุรกิจสื่อสาร ภายใต้ระบบสัมปทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดยุคหลังสงครามเวียดนาม (เชื่อกันว่า เทียบได้กับใบอนุญาตธนาคารในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสัมปทานโรงงานสุราในยุคต้นสงครามเวียดนาม)

นั่นคือสัมปทานโครงการขยายโทรศัพท์พื้นฐาน 2.6 ล้านเลขหมาย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (เรื่องราวรายละเอียด เพิ่งนำเสนอไป – เกี่ยวกับ ศุภชัย เจียรวนนท์)

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี คือกลุ่มธุรกิจมีรากฐานมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เติบโตอย่างมากในยุคสงครามเวียดนาม เป็นตำนานธุรกิจไทยระดับภูมิภาค ใครๆ เชื่อว่าซีพีในเวลานั้นมีพลังและอิทธิพลในสังคมไทยอย่างมาก ซึ่งก็เป็นจริง

แรงกระเพื่อมว่าด้วยอิทธิพลธุรกิจสื่อสารต่อสังคมไทย ขยายวงภาพกว้างและลึกไปอีก สู่กลุ่มธุรกิจรากฐานดั้งเดิม รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ได้เข้ามารื้อโครงสร้างสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานทั่วประเทศ โดย “ตัดตอน” ให้เครือซีพี ได้ไปเฉพาะเขตเมืองหลวงเท่านั้น

เป็นไปตามความเชื่อและแนวทางอ้างว่า เพื่อป้องกันการผูกขาดสัมปทานสำคัญของรัฐ

ผู้เข้ามาแทรก คว้าสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในเขตต่างจังหวัดไปนั้น นำโดย กลุ่มล็อกซ์เลย์ และภัทรธนกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจตระกูลล่ำซำ ตระกูลธุรกิจเก่าแก่ รากฐานจากชาวจีนโพ้นทะเล เข้ามาและเติบโตในสังคมไทย ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

เรื่องราวและโอกาสขอ งอดิศัย โพธารามิก นั้น มีข้อแตกต่างจากโมเดล ทักษิณ ชินวัตร อยู่บ้าง ในฐานะเขาสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมได้ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในเขตต่างจังหวัด ร่วมมือกับตระกูลธุรกิจล่ำซำ

ดูเหมือน (ในช่วงนั้น) โอกาสธุรกิจของเขา ดูจะเปิดกว้างและมาอย่างรวดเร็ว อย่างไม่มีใครคาดคิด

ยิ่งไปกว่านั้นแรงกระเพื่อมต่อเนื่อง มาสู่ทีวีเสรี ธุรกิจต่อเนื่องเชื่อมโยงกับระบสื่อสารโดยตรง เริ่มต้นขึ้นในยุครัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน เช่นกัน นั่นคือตำนานก่อเกิดกลุ่มสยามทีวี ซึ่งมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

สยามทีวีฯ เกิดขึ้นในปี 2537 เข้าประมูลและได้บริหารกิจการทีวีเสรีในระบบ UHF (ต่อมาเรียกว่าไอทีวี) โดยมี บริษัทสหศินิมา (สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นใหญ่) และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ถือหุ้นหลัก “อิทธิพลขข้อมูลข่าวสารและระบบสื่อสารมีพลังอย่างยิ่งในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 รวมทั้งการเติบโตอย่างน่าเกรงขามของกลุ่มธุรกิจสื่อสารใหม่ๆ ในสังคมไทย กลายเป็นอำนาจต่อรองไม่อาจมองข้ามได้ ส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มอิทธิพลธุรกิจเก่าโดยตรง” ผมเคยวิเคราะห์ที่มาและแรงบันดาลใจทางธุรกิจกรณีดังกล่าวไว้ เมื่อปี 2541

แต่แล้วจากปี 2540 เป็นต้นมา โฉมหน้าธุรกิจไทยปรับเปลี่ยนและพลิกผันไปอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์ความเสื่อมถอยอิทธิพลธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งเคยมีความหมายเกี่ยวข้องกับความมั่นคง มั่งคั่งทางธุรกิจ สืบทอดกันมา 3-4 ทศวรรษ ตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม ยิ่งธุรกิจสื่อสารด้วยแล้ว สร้างแรงสั่นสะเทือนเชิงทำลายมีพลังอย่างมากๆ

สยามทีวีและไอทีวี ผันแปรอย่างรวดเร็ว จากความยิ่งใหญ่อาจเรียกได้ว่าชั่วข้ามคืน กลับสู่ความตกต่ำอย่างรุนแรงในช่วงหลังวิกฤติการณ์ปี 2540

จนกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของธนาคารไทยพาณิชย์

กว่าจะผ่องถ่ายและเคลียร์ภาระออกไปได้ต้องใช้เวล

เชื่อว่าภาระดังกล่าวมีส่วนทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องเผชิญความเสี่ยง ถึงกับต้องขยับปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ระยะหนึ่ง

ส่วนทีทีแอนด์ที กิจการร่วมทุนธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานต่างจังหวัด ภายใต้การนำของกลุ่มธุรกิจตระกูลลำซ่ำ (และ อดิศัย โพธารามิก) เผชิญวิกฤติอย่างหนักอย่างยืดเยื้อ ในที่สุดต้องประสบภาวะล้มละลาย

ส่วนกลุ่มธุรกิจสื่อสาร ภายใต้การโอบอุ้มโดยเครือซีพี กลุ่มธุรกิจยิ่งใหญ่ แม้เอาตัวรอดมาได้ แต่ระบบสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานกลายเป็นธุรกิจเก่า เป็นภาระอันหนักอึ้ง ได้กลายแรงเฉื่อยต่อความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของกลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่นจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่จัสมินของ อดิศัย โพธารามิก ต้องใช้เวลาอยู่นาน กว่าจะส่งต่อให้กับทายาท ทั้งนี้ ต้องปรับตัว มุ่งสู่ทิศทางธุรกิจที่แตกต่างจากเดิมพอสมควร

ว่าด้วยระบบสัมปทาน

เป็นประเด็นต่อเนื่องกัน เพียงทศวรรษเดียว ไม่เพียงเผชิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ หากรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างคาดไม่ถึง

ระบบโทรศัพท์พื้นฐานเคยคาดกันว่าเป็นสัมปทานที่ยิ่งใหญ่ กลับกลายเป็นภาระอันหนักอึ้ง เช่นเดียวกับธุรกิจทีวีเสรี (ภายใต้ระบบสัมปทานให้เพียงช่องเดียว)

เชื่อว่าท่ามกลางสังคมบริโภคสมัยใหม่ที่เติบโตในเมืองใหญ่ ผู้คนต้องการข่าวสาร-ความบันเทิงมากขึ้น ควรจะเป็นธุรกิจที่ดีมากๆ พร้อมกับมีอิทธิพลมากๆ ด้วย เพียงเข้าแชร์ส่วนแบ่งมาจากทีวีดั้งเดิมซึ่งผูกขาดอยู่เพียงไม่กี่ช่องอยู่แล้ว

ทว่า เรื่องราวจบลง กลับน่าเศร้า

เช่นเดียวกับกรณี ทักษิณ ชินวัตร ใครๆ บอกว่าเขาได้ประโยชน์จากระบบสัมปทานมากที่สุด

ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น ความเป็นไป กรณีขายหุ้นธุรกิจเกี่ยวข้องกับสัมปทานโทรศัพท์มือถือกับดาวเทียม ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก แห่งสิงคโปร์ ให้ข้อมูลราคาที่น่าทึ่ง น่าตกใจ เช่นนั้น

ในเวลาเดียวกันมีบางข้อมูลซึ่งผู้คนอาจมองข้ามไป ความจริงแล้วในช่วงปี 2533-2534 ทักษิณ ชินวัตร มีสัมปทานในมือมากที่สุด ทั้งสิ้นถึง 8 โครงการ ต่อมาพบว่า กิจการสร้างรายได้ที่เป็นจริงเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ กับ วิถีชีวิตสมัยใหม่ มีเพียงสื่อสารไร้สายหรือโทรศัพท์มือถือ (สัมปทานปี 2533) กับดาวเทียม (สัมปทานปี 2534) เท่านั้น

บทสรุปที่ว่า ขบวน “ผู้มาใหม่” กับกลุ่มธุรกิจใหม่เติบโตในช่วงทศวรรษ 2530-2540 นับสิบกลุ่ม ซึ่งพวกเขาใช้เวลาอันสั้นในการสะสมความมั่งคั่ง ด้วยปัจจัยคล้ายๆ กัน

“หนึ่ง-โอกาสจากระบบสัมปทานแบบใหม่ เกี่ยวกับระบบสื่อสาร สอง-อาศัยเทคโนโลยีและกระแสระดับโลก สาม-อาศัยเงินทุนจากตลาดทุนโอกาสอันกว้างขวางของผู้คนทั่วไป” นั้น เป็นเพียงโอกาสที่ผสมผสานเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง เกิดขึ้นเฉพาะกรณีๆ ไปเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นว่าด้วยระบบสัมปทาน สรุปอย่างจริงจังหนักแน่นได้ว่า ไม่ใช่โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างอย่างมากๆ ตามความเชี่อมั่นของคนรุ่นก่อนอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวข้างต้น มีแรงเฉื่อยปรากฏให้เห็นในอีก 2 ทศวรรษต่อมาเช่นกัน

สังคมธุรกิจไทยเผชิญช่วงเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจเกี่ยวข้อง ระหว่างความเชื่อ-ประสบการณ์เดิม กับ การปรับตัวสู่โมเดลธุรกิจไหม่ จินตนาการ เริ่มต้นจากธุรกิจสื่อและมีเดีย เมื่อ 3-4 ทศวรรษ กับการยกเครื่องระบบสื่อสารเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เมื่อผนึกและหลอมรวมกับเทคโนโลยี่ใหม่ Platform ใหม่ในยุคอินเตอร์เน็ต

ทั้งนี้ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใหญ่ 2 กรณี เชื่อกันว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ จะสร้าง “แรงกระเพื่อม” สังคมธุรกิจไทยพอสมควร

—ปี 2557 การปรับตัวเข้าสู่ระบบทีวีดิจิตอล ด้วยมุมมองว่าด้วยโอกาสทางธุรกิจเชิงบวกครอบคลุมทั่วทั้งสังคมธุรกิจไทย นั่นคือขบวนพาเหรดของเจ้าของธุรกิจใหม่ กับการเกิดขึ้นทีวีใหม่มากถึง 48 ช่อง

—ปี 2558 เปิดประมูลคลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคม (หรือเรียกกันว่า 4G) ครั้ง โดยเปิดให้มีใบอนุญาติเพียง 4 ใบตามช่องความถี่ที่แตกต่างกัน แม้ว่าเป็นการประมูลโดยมีผู้เข้าร่วมอย่างจำกัด เชื่อว่าอาจมาจากบทวิเคราะห์ว่าด้วยความสำคัญระบบสัมปทานรัฐที่เปลี่ยนไปจากเดิม (จากสมมติฐานกล่าวมาแล้วข้างต้น) กับบุคลิกธุรกิจสื่อสารซึ่งมีระบบป้องกัน “รายใหม่” อยู่ด้วย กลายเป็นว่าผู้เข้าร่วมชิงชัย คือกลุ่มธุรกิจเกี่ยวข้องสื่อสารอยู่แล้ว ดูเป็นเหตุเป็นผล และเป็นปรากฏการณ์ที่แตกต่างจากทีวีดิจิตอล

ที่น่าสนใจกลับเป็นว่า การแข่งขันเพื่อช่วงชิงใบอนุญาตเป็นไปอย่างดุเดือด เสนอกันราคาอย่างสูงลิ่วอย่างไม่ใครเชื่อว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะบรรดาธนาคารผู้สนับสนุนผู้ร่วมประมูล

พิชญ์ โพธารามิก เริ่มต้นธุรกิจตนเอง ด้วยอ้างอิง “ความมั่งคั่ง” ของบิดาจากยุคสัมปทานสื่อสารยุคก่อนหน้า เมื่อมาเป็นผู้นำจัสมินฯ คนใหม่ เข้าได้ร่วมเกมสัมปทานล่าสุด ทั้งสองกรณีได้กล่าวข้างต้นด้วย ทว่า บทสรุป มีเรื่องราว และแผนการที่แตกต่างออกไป