แพทย์ พิจิตร : ขอบฟ้าความคิดนักปรัชญาเยอรมัน

การแก้ปัญหาในการศึกษาหา “ความจริง” ในทางสังคมศาสตร์—ซึ่งรวมทั้งการศึกษาความคิดทางการเมือง—-โดยการแบ่งโลกออกเป็นสอง

นั่นคือ โลกแห่งความจริงเชิงประสบการณ์ หรือ phenomena และโลกแห่งสัจธรรมความจริง หรือ noumena

ที่ Kant นักปรัชญาชาวเยอรมันในศตวรรษที่สิบแปดเป็นผู้คิดขึ้นนั้น สามารถแก้ปัญหาเรื่อง “ความจริง” ไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ก็ยังเกิดปัญหาตามมา

นั่นคือ ผู้ศึกษาไม่สามารถมองปรากฏการณ์หรือตัวบทความคิดทางการเมืองที่ตนศึกษาได้โดยปราศจากประสบการณ์ส่วนตัวของตนเอง

ดังนั้น ในการศึกษาทำความเข้าใจปรากฏการณ์หรือตัวบทความคิดทางการเมืองที่ตนศึกษานั้น จึงเป็นส่วนผสมระหว่างประสบการณ์ความคิดของตัวผู้ศึกษากับสิ่งที่ตนศึกษาอย่างยากที่จะแยกออกจากกันได้ ทำให้ผลการศึกษาจึงไม่ใช่ “ความคิดทางการเมืองนั้นๆ” เท่ากับ “ความคิดทางการเมืองนั้นบวกประสบการณ์ความคิดของผู้ศึกษา”

อย่างเช่น การศึกษาความคิดทางการเมืองในศรีธนญชัย ถ้าผู้ศึกษาคือ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ ผลของการศึกษาของสองท่านนี้ ก็จะไม่ใช่ “ความคิดทางการเมืองในศรีธนญชัย” เฉยๆ เท่ากับ “ความคิดทางการเมืองในศรีธนญชัยในความคิดทางการเมืองของ ศ.ดร.ชัยอนันต์ และ ศ.ดร.สมบัติ” หรือถ้า ศ.ดร.นิธิมาศึกษา ก็จะเป็น “ความคิดทางการเมืองในศรีธนญชัยในความคิดทางการเมืองของ ศ.ดร.นิธิ”

คราวที่แล้ว ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า มีนักวิชาการที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมานี้ได้ ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่น่าจะเป็นการทำให้เข้าใจและยอมรับปัญหามากกว่า

แต่การอธิบายของนักวิชาการผู้นี้ดูจะทำให้เห็นว่า ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการอะไรก็ตาม แต่ควรยอมรับสภาพ อีกทั้งเข้าใจด้วยว่า หากปราศจากซึ่งประสบการณ์และความคิดส่วนตัวของผู้ศึกษาแล้ว ก็จะไม่สามารถทำการศึกษาอะไรได้เลยด้วยซ้ำ

 

นักวิชาการผู้นี้คือ Hans-Georg Gadamer นักปรัชญาชาวเยอรมัน (อีกแล้ว)

ในศตวรรษที่ยี่สิบ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Truth and Method เขาชี้ว่า ประสบการณ์ความคิดส่วนตัวที่สะสมมาในตัวของผู้ศึกษานั้นแม้ว่าจะเป็นอุปสรรคหรืออคติในการศึกษาทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้ศึกษากำลังศึกษา

แต่ใครเล่าจะตัดประสบการณ์ความคิดส่วนตัวที่บ่มเพาะมาตั้งแต่เกิดนี้ได้ (ที่จริง นักวิทยาศาสตร์บางคนก็บอกด้วยซ้ำว่า มันสะสมกันมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาแล้วด้วย!)

เพราะมนุษย์ก็ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นกันทุกคน

และที่สำคัญ แต่ละคนก็สั่งสมประสบการณ์แตกต่างกันไปด้วย แม้กระทั่งเด็กฝาแฝดก็มีประสบการณ์ความคิดของตัวเอง เพราะคนมันละคนกัน ต่อให้เป็นแฝดตัวติดกันแบบอินกะจัน ก็ยังไม่เหมือนกัน เพราะมุมมองที่อินเห็นก็ย่อมต่างจากที่จันเห็น แม้ว่าจะใกล้เคียงกันก็ตาม

ดังนั้น เราควรยอมรับเงื่อนไขที่เป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ ไม่ใช่มานั่งอุดมคติคิดกันไปเองว่าจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องมุมมองประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนนี้ได้

ขณะเดียวกัน ประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนนี้ แม้ว่า Gadamer จะเรียกมันว่า อคติ ก็ตาม แต่ดูเขากลับจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หรือมองอคติในแง่ดี โดยชี้ให้เห็นว่า ถ้าปราศจากซึ่งอคติที่ว่านี้แล้ว ผู้ศึกษาจะไม่สามารถศึกษาวิเคราะห์ตีความสิ่งที่ตนกำลังศึกษาได้เลย!

…อ้าว ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ??

 

ในการทำความเข้าใจมุมมองของ Gadamer ที่มอง “อคติ” ในแง่ดี—-นั่นคือ หากไม่มีอคติที่อยู่ในตัวเรา จะไม่สามารถศึกษาอะไรได้เลย—-ไม่ใช่เรื่องยากเย็นเข็ญใจอะไร ถ้าเราจะลองเปรียบเทียบตัวคนเรากับเครื่องคอมพิวเตอร์

ถ้ายังไม่ลงโปรแกรมอะไร ยังเปล่าๆ อยู่ มันก็คงจะปฏิบัติการอะไรไม่ได้เลย แต่มันย่อมเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บริสุทธิ์!

แต่ถ้าจะให้มันทำงานหรือ “อ่าน” อะไรได้ ก็ต้องลงโปรแกรมอะไรสักอย่างลงไป เมื่อลงโปรแกรมไปในคอมพิวเตอร์ หรือเปิดบริสุทธิ์คอมพิวเตอร์เครื่องนั้น คอมพิวเตอร์ตัวนั้นก็เริ่มมี “อคติ” แล้ว คือ จะอ่านข้อมูลภายใต้โปรแกรมที่ลงไป และจะอ่านออกมาอย่างไรก็แล้วแต่โปรแกรมนั้น

ถ้าคนเราไม่มีอะไรในหัวเลย จะไปอ่านหรือตีความอะไรรอบๆ ตัวเราได้เล่า?!!

คำว่า ไม่มีอะไรในหัวที่ว่านี้ ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ ต้องรู้จักภาษาพูด ภาษาเขียนเพื่อเข้าใจความหมายที่สังคมให้กับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวตั้งแต่เกิดลืมตาดูโลกมา

และภาษานี่ก็ตัวดี ถือเป็นอคติสำคัญเลย

ภาษาที่เราใช้ในสมัยปัจจุบันก็น่าจะแตกต่างไม่น้อยกับภาษาที่ใช้ในยุคที่เขาเขียนเรื่องศรีธนญชัยหรือเรื่องอะไรก็ตามในอดีตกาล

และยิ่งถ้าต้องศึกษาตัวบทที่เป็นคนละภาษาด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะไปกันใหญ่

แต่กระนั้น ถ้าผู้ศึกษาไม่มี “ภาษา” ของตัวเองเป็นตัวตั้งต้นแล้ว ก็จะไปศึกษาอะไรได้

 

ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ตอนที่อิทธิพลฝรั่งตะวันตกเริ่มเข้ามาในไทยในตอนต้นรัตนโกสินทร์ แล้วเราก็รับเอาการสื่อสารทางโทรเลขเข้ามา ซึ่งโทรเลขนี้ ภาษาอังกฤษเขาเรียก “telegraph” เวลาคนไทยได้ยินคำว่า “telegraph” เมื่อคำคำนี้ผ่านเข้ามาในโปรแกรมภาษาในหัวคนไทย ก็กลายเป็น “ตะแล็ปแก็ป” ไป

หรือคำว่า “government” คนไทยก็เรียก “กัดฟันมัน” หรือ “George Washington” ก็เรียกว่า ยอด วัดชิงตัน

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของโปรแกรมภาษาไทยหรืออคติภาษาไทยที่อ่านคำฝรั่งนั้นออกมาเป็น “แบบไทยๆ”

แน่นอนว่า ผลของการอ่านมันเพี้ยน แต่ถ้าไม่มีอะไรหัวสมองเลย ก็คงไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ยกเว้นแต่ไปลงโปรแกรมภาษาอังกฤษเลย

แต่กระนั้น คนอังกฤษเอง แม้ว่าจะอ่านออกเสียงคำว่า “government” ได้ใกล้เคียงกันมากกว่าคนไทย แต่ความเข้าใจในความหมายของคำคำนี้ ก็ใช่ว่าจะต้องตรงกันเสียหมดทีเดียว ยิ่งนักวิชาการด้วยแล้ว มีอคติตัวเบ้อเร่อมากกว่าคนธรรมดาด้วย

ดังนั้น ผลการศึกษาอะไรที่ออกมาก็ตามย่อมเป็นการผสมผสานระหว่างอคติของผู้ศึกษากับปรากฏการณ์นั้น

และถ้ายิ่งเป็นการศึกษาตัวบทความคิดทางการเมืองของนักคิดด้วยแล้ว มันก็จะกลายเป็นการผสมผสานระหว่างอคติประสบการณ์ของผู้ศึกษากับประสบการณ์และอคติของตัวนักคิดผู้นั้น

การผสมผสานที่ว่านี้ Gadamer เรียกว่า การฟิวชั่น (fusion) โดยเขามีวลีที่สวยหรูสำหรับการผสมผสานระหว่างประสบการณ์และอคติของผู้ศึกษากับประสบการณ์และอคติของนักคิดที่เขียนตัวบทที่ถูกนำมาศึกษานี้ว่าเป็น

“การฟิวชั่นของขอบฟ้า” (fusion of horizons)

 

ฟังดูแล้วอาจจะไม่รู้เรื่องว่า มันไปเกี่ยวอะไรกับขอบฟ้าด้วย ขอบฟ้าหรือ horizons ในที่นี้หมายถึง โลกทัศน์หรือโลกของคนคนหนึ่ง หรือโลกอย่างที่คนคนหนึ่งรับรู้เข้าใจ ซึ่งมันก็คือ ขอบเขตของความคิดความเข้าใจที่คนคนหนึ่งมีหรือสั่งสมเป็นประสบการณ์มาตลอดชีวิต

แต่ละคนก็มี “ขอบฟ้าความคิด” ของตัวเอง

ซึ่งมันก็ครอบคลุมไปทุกๆ เรื่องในชีวิตของเขา แต่ก็แตกต่างจากของคนอื่น

แต่เมื่อจะไปทำการศึกษาหรือทำความเข้าใจ “ขอบฟ้าความคิด” ของคนอื่น เราจะไปทิ้งขอบฟ้าที่ติดตัวเรามานั้นได้ยังไง สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ การปะทะและผสมผสานเชื่อมโยง

หรืออีกนัยหนึ่งมี “บทสนทนา” กับอีกขอบฟ้านั้น และผลที่ได้ก็อาจจะไม่ใช่เป็นขอบฟ้าของเราหรือของเขา แต่จะเป็น “อาหารจานใหม่” เหมือนกับอาหารฟิวชั่น ที่ปัจจุบันเราคุ้นเคยกันมาพอสมควรเมื่อเทียบกับประสบการณ์เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ที่อาหารฟิวชั่นยังไม่ฮิต

โชคดีที่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็รู้จักอาหารฟิวชั่น มันเลยช่วยให้ผมอธิบายเรื่องการฟิวชั่นทางขอบฟ้าความคิด ในปรัชญาของ Gadamer ได้ง่ายกว่าที่เคยอธิบายไปเมื่อหลายสิบปีก่อน

เพราะเรื่อง Gadamer นี้ผมได้เขียนเป็นบทความสั้นๆ ไว้เมื่อปี พ.ศ.2537 ชื่อเรื่อง “Hermeneutics : ศาสตร์แห่งการตีความ” ตีพิมพ์ในวารสารอักษรศาสตร์ 26 (1 ม.ค.-มิ.ย.)

ซึ่งเมื่อกลับมาอ่านดูใหม่ เห็นว่า ที่เขียนไปตอนนั้นไม่น่าจะช่วยให้คนอ่านเข้าใจได้เหมือนเขียนตอนนี้!

แต่เท่าที่จำได้ อ.นิธิน่าจะเป็นคนแรกที่เขียนถึง Gadamer เมื่อปี พ.ศ.2509 ตอนผมอายุได้ 7 ขวบ!