วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ความทะเยอทะยานของจีนต่อลำโขง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

แรกเมื่อศึกษาจีน (ต่อ)

เวลานั้นจึงได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานว่าจะทำวิจัยเรื่องอะไรดี แล้วก็มาลงเอยที่เรื่องที่ว่าในที่สุด และเพื่อให้แต่ละคนรับผิดชอบไปคนละประเทศ โครงการนี้จึงมีนักวิจัยอยู่สี่คน โดยเรื่องจีนย่อมตกอยู่กับตัวเอง

ตลอดเวลาที่ศึกษาเรื่องนี้พร้อมกับการลงพื้นที่ในสี่ประเทศดังกล่าว ทำให้พบว่า ลำพังไทย เมียนมา และลาวนั้นไม่สู้เท่าไรนัก จะมีก็แต่จีนเท่านั้นที่กระตือรือร้นในการรุกเร้าในความร่วมมือ

และที่รุกเร้าค่อนข้างหนักคือ การทำให้แม่น้ำโขงสามารถแล่นเรือได้โดยปราศจากอุปสรรคจากเกาะแก่งต่างๆ กลางน้ำ

และวิธีการคือ การปรับปรุงร่องน้ำด้วยการระเบิดเกาะแก่งเหล่านั้น

แน่นอนว่า เกาะแก่งเหล่านี้โดยหลักแล้วอยู่ที่เมียนมา ไทย และลาว โดยลาวมีมากแห่งที่สุด

ที่สำคัญ จีนให้เหตุผลว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่านจีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม รวมหกประเทศ เมื่อเป็นแม่น้ำนานาชาติจีนจึงขอมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากการคมนาคม

ในขณะที่จีนรุกเร้าเรื่องดังกล่าว จีนก็สร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงในส่วนที่ไหลผ่านประเทศของตน การสร้างเขื่อนของจีนนี้มีอยู่นับสิบโครงการ แต่ละโครงการจะให้พลังงานไฟฟ้าที่แตกต่างกัน บางโครงการมีไทยร่วมด้วย

และทุกโครงการล้วนถูกคัดค้านจากชาวบ้านในประเทศที่อยู่ใต้แม่น้ำโขงลงมา โดยเฉพาะไทย

แต่จีนไม่ฟังเสียงคัดค้านนั้น โดยให้เหตุผลว่าจีนสร้างเขื่อนในเขตอำนาจอธิปไตยของตน และมั่นใจว่าไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จีนจึงยังคงสร้างเขื่อนของตนบนแม่น้ำโขงมาจนทุกวันนี้

จะเห็นได้ว่า เวลาที่จีนคิดจะใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางคมนาคม จีนจะใช้หลักคิดสากลนิยม (internationalism) มาอธิบายผลประโยชน์ของตน ว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ทุกชาติพึงมีส่วนร่วม ตนก็ขอมีส่วนร่วมด้วย

แต่ครั้นจีนจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง จีนจะใช้หลักคิดรัฐชาติหรือรัฐประชาชาติ (nation state) ว่าจีนสร้างเขื่อนในเขตอำนาจอธิปไตยของตนโดยไม่ได้ไปรุกล้ำใครหรือชาติใด ซึ่งย่อมเป็นสิทธิของจีนโดยที่ใครก็มิอาจมาล่วงละเมิดได้

 

เห็นได้ชัดว่า หลักคิดดังกล่าวของจีนมีความย้อนแย้งกันอยู่ในตัว แต่จีนก็ทำได้สำเร็จทั้งการคมนาคมและการสร้างเขื่อน คือได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง

โดยเฉพาะการระเบิดเกาะแก่งในลาวที่มีอยู่ถึงเก้าแห่ง ซึ่งตอนที่ลงพื้นที่ที่ลาวในโครงการวิจัยดังกล่าว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของลาวให้สัมภาษณ์ว่า ลาวไม่เห็นด้วยที่จะให้จีนระเบิดเกาะแก่งและไม่เห็นด้วยที่จีนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง

แต่ในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา จีนได้พัฒนาความสัมพันธ์กับลาวด้วยการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าบ้าง แบบดอกเบี้ยต่ำบ้าง ตลอดจนเข้าไปทำการค้าการลงทุนในลาวอย่างคึกคัก จนในที่สุดลาวก็ยอมให้มีการระเบิดเกาะแก่งในส่วนของตนในที่สุด

การวิจัยดังกล่าวมาแล้วเสร็จหลังปี ค.ศ.1997 หรือหลังวิกฤตเศรษฐกิจในไทยผ่านไปไม่กี่ปี และเมื่อรวมกับงานวิจัยในโครงการอื่นๆ ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้วจะเห็นได้ว่า ทุกเรื่องที่วิจัยล้วนเป็นเรื่องเฉพาะ

หรือถ้าจะเรียกแบบวิชาการให้ฟังดูดีก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานวิจัยในระดับจุลภาค

ยังไม่มีเรื่องใดที่ศึกษาในเชิงโครงสร้างหรือในระดับมหภาค ซึ่งถึงตอนนั้นก็เริ่มบอกตัวเองว่าควรจะมีเรื่องในระดับมหภาคด้วยจึงจะเข้าใจจีนได้ดียิ่งขึ้น และในใจก็คิดแล้วว่าจะศึกษาเรื่องใดดี

ระหว่างที่คิดอยู่นั้นไม่ได้คิดเลยว่า วันหนึ่งข้างหน้าชีวิตในโลกจีนศึกษาของตนเองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

 

นักเขียนประจำและในระหว่างนั้น

แม้การทำงานในสถาบันเอเชียศึกษาในฐานะข้าราชการประจำจะเป็นงานที่มั่นคงก็จริงอยู่ แต่กล่าวในแง่รายได้หากไม่มีภาระอันใดเข้ามาแทรกก็คงพอที่อยู่ได้โดยไม่ขัดสน ซึ่งก็ย่อมขึ้นอยู่กับชีวิตของแต่ละคน

แต่ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นั้นเองภาระที่ว่าก็ได้แทรกเข้ามาในชีวิต ซ้ำยังเป็นการแทรกในระดับที่ว่า แม้จะใช้เวลาในช่วงวันหยุดหารายได้พิเศษมาแต่เดิมก็ไม่อาจผ่อนคลายไปได้

ตอนนี้นี่เองที่คิดว่าจะทำอย่างไร โดยมีโจทย์สำคัญอยู่ตรงการหารายได้เพิ่มในครั้งนี้จะต้องไม่กระทบกับงานที่ทำอย่างเด็ดขาด และคำตอบที่ออกมาก็คือ การหาทางส่งบทความของตนไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ และเรื่องที่ส่งควรเป็นเรื่องจีนที่ตนศึกษาอยู่อย่างเป็นด้านหลัก

นั่นคือที่มาของการเขียนบทความลงในหน้าหนังสือพิมพ์ในเวลาต่อมา

ระยะแรกๆ ที่เขียนบทความส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ยังมิได้เป็นนักเขียนประจำ การส่งในลักษณะนี้ย่อมมีโอกาสที่จะไม่ได้รับการตีพิมพ์ก็ได้ ดังนั้น เมื่อส่งไปแล้วก็ได้แต่เฝ้าดูในวันต่อๆ ไปว่าบทความของตนได้ตีพิมพ์แล้วหรือยัง ถ้าได้ตีพิมพ์แล้วก็จะโล่งอก

จากนั้นก็จะลงมือเขียนเรื่องใหม่แล้วส่งไปอีก แล้วก็เฝ้ารอดูเช่นว่าอีก เป็นอย่างนี้วนเวียนกันไปเรื่อยๆ นานนับปีเลยทีเดียว แต่ผลที่ออกมาก็คือ ทุกชิ้นที่ส่งไปจะได้รับการตีพิมพ์ทุกชิ้น

ถึงกระนั้นก็ควรกล่าวด้วยว่า การเฝ้ารอเช่นนี้แม้ในด้านหนึ่งจะไม่ดีต่อสุขภาพจิตก็จริง แต่คิดไปอีกแง่มุมหนึ่งก็สนุกดีเหมือนกัน เพราะมันทำให้ชีวิตมีรสชาติ ที่ว่าสนุกก็เพราะบทความบางชิ้นต้องรอถึงสี่วันจึงได้รับการตีพิมพ์ ขณะที่บางชิ้นส่งวันนี้วันพรุ่งนี้ก็ได้รับการตีพิมพ์ทันที

เรื่องนี้จะต่างกับคนที่เป็นนักเขียนประจำ (columnist) ซึ่งผู้เขียนมีกำหนดวันส่งบทความที่แน่นอน และจะได้รับการตีพิมพ์ในกำหนดเวลาที่แน่นอนเช่นกัน

การส่งบทความเพื่อตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์โดยที่ไม่ใช่นักเขียนประจำดังกล่าว จำได้ว่าเป็นอยู่เช่นนั้นในราว ค.ศ.1992 ถึง 1995 และด้วยความที่มิได้เป็นนักเขียนประจำ แต่เรื่องที่ส่งไปได้รับการตีพิมพ์แทบทุกชิ้น

เพื่อนฝูงจึงล้อว่าเป็นนักเขียนประจำที่ไม่ประจำ

 

ตลอดเวลาที่ทำเช่นนี้ได้เกิดประสบการณ์ทางวิชาการที่มีค่ามากสำหรับตนเอง กล่าวคือ ทุกครั้งที่เขียนจะให้ความสำคัญกับข้อมูล การตรวจสอบความถูกต้อง และการตรวจทานแล้วตรวจทานอีกก่อนที่จะส่งจริง ซึ่งทำให้พบว่า หลายเรื่องที่ก่อนจะเขียนก็เชื่อว่าที่ตนรู้นั้นไม่ผิดแน่นอน

แต่พอค้นข้อมูลเข้าจริงๆ ก็พบว่า ที่ตนรู้ก่อนเขียนนั้นแม้จะไม่ผิด แต่มีรายละเอียดที่ถ้าหากไม่ใส่ใจแล้วบทความชิ้นนั้นก็อาจจะดูด้อยลงได้ หรือไม่ก็อาจทำให้คนอ่านเข้าใจผิดได้ง่ายๆ

ในประการต่อมา จากที่เขียนและค้นคว้ามานั้นทำให้ได้ความรู้เรื่องจีนเพิ่มเติมอย่างมากมาย ความรู้เหล่านี้มีหลายเรื่องที่ไม่ได้ถูกนำมาเขียน แต่ถูกนำมาใช้ในผลงานเรื่องจีนในเวลาต่อมา

ที่สำคัญ เรื่องที่รู้เพิ่มเข้ามานี้ทำให้ต้องเจียมตนยิ่งขึ้น ว่าแม้พื้นเดิมจะรู้อยู่บ้างก็จริง แต่ที่รู้นั้นยังถือว่ารู้น้อยเหลือเกิน

ส่วนบทความเกี่ยวกับเรื่องจีนที่เขียนส่งไปนั้น มีทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ฯลฯ จะมีบ้างในบางครั้งที่จะเขียนเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับจีน ซึ่งบางทีเป็นเรื่องไทยบ้าง เป็นเรื่องต่างประเทศบ้าง

ไม่เว้นแม้แต่เรื่องสัพเพเหระอย่างเช่นเรื่องภาพยนตร์ ที่ตนชื่นชอบเป็นการส่วนตัว

 

จนเวลาผ่านไปนานหลายปี ความรู้สึกที่ต้องเฝ้ารอก็ค่อยๆ หายไปในที่สุด เพราะเห็นว่าส่งไปทุกชิ้นก็ได้รับการตีพิมพ์ทุกชิ้น และจากเวลานานปีเช่นกันสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็ค่อยๆ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ด้วยตลอดเวลาที่เขียนบทความลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นั้น ไม่เคยรู้เลยว่าจะมีคนอ่านบทความที่ตนเขียนสักกี่มากน้อย แต่พอเวลาผ่านไปๆ ก็เริ่มมีคนเข้ามาทักถึงเรื่องที่เขียนบ้าง ขณะเดียวกันก็เริ่มมีสื่อวิทยุและโทรทัศน์มาสัมภาษณ์บ้าง

และที่ไม่คาดคิดเลยก็คือว่า เริ่มมีสื่อบางสำนักมาติดต่อให้เขียนไปลงในสิ่งพิมพ์ในเครือของตนบ้าง แม้จะไม่ใช่ในฐานะนักเขียนประจำก็ตาม

สิ่งที่ไม่เฉลียวใจดังกล่าวจึงกลายเป็นว่า การเป็นนักเขียนประจำที่ไม่ประจำที่ทำไปด้วยความจำเป็นจากความขัดสนนั้น ได้ทำให้สังคมภายนอกรู้จักในฐานะนักวิชาการด้านจีนศึกษาไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นแม้แต่น้อย

คือถ้าหากพูดอย่างตรงไปตรงมาได้ก็จะพูดว่า ที่เขียนไปนั้นก็เพราะความจนโดยแท้ หาใช่หมายมุ่งไปที่ชื่อเสียงอันใดแม้แต่น้อยเลย แต่ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็เท่ากับตกกระไดพลอยโจน ภาวะนี้ทำให้ต้องเจียมตนมากกว่าเดิม

เพราะหากผิดพลาดขึ้นมาชีวิตทางวิชาการอาจจะล่มสลายได้

ตราบจนปลายปี ค.ศ.1995 นั้นเอง การเป็นนักเขียนประจำที่ไม่ประจำดังกล่าวก็จำต้องหยุดลงชั่วคราว ด้วยได้รับทุนให้ไปทำงานวิจัยที่ญี่ปุ่นเป็นเวลาหนึ่งเดือน

การเดินทางไปในครั้งนั้นมีที่มาที่ไปที่ควรบอกเล่าคือ ก่อนหน้านั้นนานนับปี เพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งได้แนะนำให้รู้จักกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งคือ เออิจิ มูราซิม่า

ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซเก (หรือเซอิเกอิ)