หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ /’หน่อม้ง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกยูงไทย - เหตุผลหลักที่สัตว์ป่าตัวผู้ต้องทำตัวสวยงาม และอวดความสวยงามแข็งแรงให้ตัวเมียเห็น ก็เพื่อหวังว่าเธอจะเลือก

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘หน่อม้ง’

 

สถานภาพของหน่อม้ง ผู้หญิงวัย 30 ต้นๆ จากหมู่บ้านจะแก หมู่บ้านขนาดใหญ่ อันเป็นชุมชนคนเชื้อชาติกะเหรี่ยง สัญชาติไทย อยู่ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก คือคุณแม่ลูกหก

หมู่บ้านจะแก อายุนับร้อยปี มีคนอาศัยอยู่มาเนิ่นนานแล้ว

การประกาศพื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์ โดยมีชุมชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ อยู่อย่างรักษากฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน ทำให้การอยู่อาศัยเป็นไปด้วยดี ระหว่างคน สัตว์ป่า รวมทั้งคนทำงาน

เพื่อปกป้องดูแลสัตว์ป่าและแหล่งอาศัย

 

หน่อม้งมีลูกหกคน นับว่าไม่มากนักหากคิดตามมาตรฐานของชาวจะแก เพราะแต่ละบ้านมีลูก 7-8 ถึง 12 คนโดยเฉลี่ย

สามีหน่อม้งคือสมศักดิ์ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ป่าทุ่งใหญ่ ประจำอยู่หน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช หรือชื่อเดิมว่าซ่งไท้

สมศักดิ์รูปร่างผอมบาง ไม่ช่างพูด

ส่วนหน่อม้ง ขาว ท้วม และช่างพูด

หน่อม้งมีพื้นที่นาไว้ปลูกข้าวจำนวนหนึ่ง ซึ่งผลผลิตพอกินในครอบครัวทั้งปี

แข็งแรง ขยัน คือคุณสมบัติหน่อม้ง เช่นเดียวกับผู้หญิงในหมู่บ้านทุกคน

สังคมในหมูบ้านจะแก หากมองผ่านๆ จะเห็นภาพ “ชายเป็นใหญ่”

ผู้หญิงทำงานหนัก ตื่นก่อน กินทีหลัง เลี้ยงลูก ทำนา ตำข้าว และอื่นๆ อีกสารพัด

ในความเป็นจริงนั้น ตรงกันข้าม ทุกการตัดสินใจหรือความเห็นในการ “นำ” ครอบครัว ถูกกำหนดโดยผู้หญิง

ในการประชุม หรือชุมนุมอะไรก็เถอะ ผู้หญิงจะอุ้มลูกเล็กๆ นั่งอยู่ด้านหลัง ส่วนผู้ชายนั่งข้างหน้า ออกความเห็นต่างๆ เสียงดัง นานๆ ก็จะหันไปดู “ผู้ควบคุม” ด้านหลัง

ประนุช เจ้าหน้าที่ของเขตทุ่งใหญ่ มีหน้าที่ประสานงานกับคนในพื้นที่ เล่าถึงกำพล อดีตผู้ใหญ่บ้านว่า

ในการประชุมกับชาวบ้านครั้งหนึ่ง เขาถามกำพล

“อยู่บ้านใครใหญ่”

“ก็เรานี่แหละ” ผู้ใหญ่ตอบเสียงดัง

“ถ้ามีปัญหา ทำยังไง” ประนุชถามต่อ

“ถามเมียสิ” ผู้ใหญ่ตอบชัดเจน แต่เสียงเบาลง

ว่าไปแล้วผู้ชายในหมู่บ้านทุกคน เรียกได้ว่า ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ

แม้ว่าภาพข้างนอกจะเห็นว่าเป็นใหญ่

ชีวิตในธรรมชาติเป็นเช่นนี้ เพศหญิงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูแลควบคุมฝูง และจัดการให้ทุกอย่างเป็นไปตามวิถี

 

อาชีพอีกอย่างของหน่อม้งคือ ลูกจ้างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อยู่หน่วยเดียวกับสมศักดิ์ เธอทำหน้าที่คล้ายแม่บ้าน ดูแลทำความสะอาด และทำกับข้าวเวลาหัวหน้าหรือมีแขกมาที่หน่วย

ถ้าคนไม่พอ ผู้ชายออกลาดตระเวน หน่อม้งทำหน้าที่เฝ้าหน่วย และบางทีรับ-ส่งข่าวสารทางวิทยุ

หน่อม้งใช้ภาษาไทยไม่แข็งแรงนัก มีคำเพี้ยนๆ อยู่เรื่อย

แต่ความช่างเล่า ช่างพูดคุย ทำให้การฟังหน่อม้งเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ เป็นไปอย่างรื่นรมย์

 

มีวันหนึ่ง อดิเทพคู่หูผมลากลับบ้าน

หน่อม้งอาสาไปเฝ้าแคมป์ให้ พาลูกสาวอายุสองขวบไปด้วย

ค่ำหนึ่ง ผมออกจากซุ้มบังไพรเกือบสองทุ่ม เพราะกระทิงฝูงไม่ยอมไป ผมไม่อยากทำให้พวกมันตกใจ จากซุ้มผมต้องลัดเลาะไปตามลำห้วยและด่านเล็กๆ ราวหนึ่งชั่วโมงจึงจะถึงแคมป์

เดินมาสัก 20 นาที เห็นแสงไฟฉายวับแวม เป็นหน่อม้งเดินอุ้มลูกมาด้วย

“เห็นมืดแล้ว หม่องโจยังไม่กลับ เราเป็นห่วง” เธอว่า

 

หากอยู่ที่หน่วย ผมมักยกกับข้าวจากครัวอดิเทพมาร่วมกินกับสมศักดิ์และหน่อม้ง

ขณะกินก็ฟังเรื่องต่างๆ ไป

“เราเกือบตายครั้งหนึ่ง” หน่อม้งเริ่ม

“กำลังขับรถอีแต๊กไปนา ฝนตก ลมแรง ต้นไม้ใหญ่ล้มลง ฟาดหัวเราพอดี สลบไปหลายชั่วโมง เลือดออกเยอะแยะ” เธอชี้ให้ดูรอยแผลบนหัว

ผมเรียบเรียงคำพูดให้ฟังง่ายขึ้น

“เราอยากพูดไทยชัดๆ นะ” หน่อม้งสีหน้าจริงจัง

“ไม่เห็นเป็นอะไร แค่ฟังกันรู้เรื่องก็พอ ให้คนอื่นหัดพูดกะเหรี่ยงสิ” ผมพูด

หน่อม้งหัวเราะ

“ตอนลงไปช่วยทำกับข้าวที่เขตช่วงประชุม เราบอกกุ้งให้ช่วยสอนพูดไทยชัดๆ แต่ไม่สำเร็จสักที” หน่อม้งส่ายหน้า

“ทำไมล่ะ” ผมสงสัย

“หัวหน้าเอาเบียร์มาให้ กระป๋องแรกพอได้ พอกินไปสองกระป๋องไม่หัดแล้ว พูดไม่ไหว”

“ทำไมหน่อม้งเลือกสมศักดิ์ล่ะ ตอนสาวๆ น่าจะมีคนมาชอบเยอะ” ผมเปลี่ยนเรื่อง

“ใช่ มีคนมาชอบหลายคน แต่เราไม่ชอบ ทุกคนพูดมาก เราไม่เอาหรอก เราพูดมากแล้ว จะเอาคนพูดมากมาอีกทำไม”

ดูจะเป็นเหตุผลที่ดี

 

หน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช หรือหน่วยซ่งไท้เดิม ในยุคที่ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าใหม่ๆ ที่นี่ใช้เป็นสำนักงานเขต แต่ตอนหลังย้ายไปอยู่ด้านนอก เพราะการเดินทางช่วงฝน เส้นทางยากลำบาก ต้องใช้เวลามาก

ที่นี่มีคนขออนุญาตเข้ามาศึกษาธรรมชาติบ่อยๆ

หน่อม้งดูแลต้อนรับอย่างดี ก่อนแขกกลับ หน่อม้งให้แขกลงชื่อ และเขียนความเห็นลงสมุด

“ตาเจี้ยะ” หน่อม้งเรียกชื่อกะเหรี่ยงของสมศักดิ์

“ไปเอาสมุดเยี่ยวมาหน่อย” แขกได้ยินหันมองหน้ากันเลิ่กลั่ก บางคนกลั้นหัวเราะไม่อยู่

“เขาหัวเราะอะไรเหรอ หม่องโจ” หน่อม้งสงสัย

“ก็หน่อม้งเรียกสมุดเยี่ยม เป็นสมุดเยี่ยว” ผมตอบเบาๆ

“เราพูดชัดแล้วนะ คนฟังน่ะ ฟังไม่ชัดเอง” หน่อม้งว่า

ผมได้แต่พยักหน้าเห็นด้วย

ด้วยคุณสมบัติที่หน่อม้งมี

ใครจะกล้าเถียง…