กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “เจอรี่ โดนหยาม”

ลองจินตนาการตามนี้

คุณเป็นอภิมหาเศรษฐี มีธุรกิจใหญ่โตของประเทศสหรัฐอเมริกา

ธุรกิจของคุณเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาหลายปี

ผู้คนทั่วโลกรู้จักผลิตภัณฑ์ของคุณเป็นอย่างดี

บริษัทน้อยใหญ่ ต่างมองคุณเป็น “ต้นแบบ” ในการสร้างบริษัท

สื่อระดับโลกทุกฉบับ ไม่ว่าจะเป็น CNN Forbes Business Week TIME

เคยนำคุณไปขึ้นปกหนังสือ

พร้อมจั่วหัว สรรเสริญ เยินยอ ตัวคุณ และบริษัทของคุณ

“ผู้นำรุ่นใหม่ของโลกอินเตอร์เน็ต”

“บริษัทแห่งอนาคต”

“องค์กรที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลก”

ต่างๆ นานา

ในทุกๆ วัน คุณได้มีโอกาสพบผู้นำระดับโลกมากมาย

ตั้งแต่ประธานาธิบดีของประเทศ ไปจนถึงนักธุรกิจชื่อก้องโลก

ที่อยากจะมาเป็น “หุ้นส่วนธุรกิจ” กับคุณ

คุณเองเป็น “คนช่างเลือก” ไม่ร่วมธุรกิจกับใครง่ายๆ

อยู่มาวันหนึ่ง คุณได้เจอกับ “เด็กมหา”ลัย” คนหนึ่ง ที่กำลังทำอะไรบางอย่าง

คุณสนใจในธุรกิจของเขาเป็นอย่างมาก

คุณตัดสินใจเสนอเงิน “หนึ่งพันล้านเหรียญ” หรือเท่ากับ “สามหมื่นล้านบาท” เพื่อซื้อธุรกิจของ “เด็กมหา”ลัย” คนนี้

เด็กคนนั้น “ปฏิเสธ” แล้วตอบกลับมาว่า

“คุณมันช่างไม่มีวิสัยทัศน์”

 

ในทุกๆ วันนี้ โลกธุรกิจมีการซื้อขายบริษัทเกิดขึ้นตลอดเวลา

ยิ่งเป็นการซื้อขายกันที่มูลค่าสูง เป็นพัน หมื่น แสนล้าน

ยิ่งต้องมีการออกข่าวกันใหญ่โต

แต่จะมีสักกี่การซื้อขาย ที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวาง เป็นข่าวไปทั่วโลก

ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิดการ “ซื้อขาย” ขึ้น อย่างที่ตั้งใจไว้

 

ปี2006 เจอรี่ หยาง ซีอีโอบริษัทอินเตอร์เน็ตระดับโลกชื่อ “ยาฮู (Yahoo)”

เสนอเงินจำนวน “หนึ่งพันล้าน” เหรียญสหรัฐ

เพื่อซื้อกิจการบริษัทเล็กๆ บริษัทหนึ่ง เปิดมาได้เพียง 2 ปี ตั้งอยู่ที่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา

บริษัทนี้มีชื่อว่า “เฟซบุ๊ก (Facebook)”

หลังจากมีการเสนอซื้อได้ไม่กี่วัน

ปีเตอร์ ธีล (Peter Thiel) นักลงทุนรายแรกๆ ของเฟซบุ๊ก เรียกประชุมคณะกรรมการบริษัททันที ในวันจันทร์ช่วงเช้า

ประกอบด้วยบุคคลสามคน ได้แก่

หนึ่ง ปีเตอร์ ธีล

สอง จิม เบรเยอร์ (Jim Breyer)

และสาม แน่นอนที่สุด มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค (Mark Zuckerberg) ตอนนั้นมาร์คอายุได้เพียง 22 ปี

“ผมกับจิม คิดว่า เราน่าจะขายบริษัท แล้วเอาเงินมหาศาลนั้นมา” ปีเตอร์ ธีล เคยให้สัมภาษณ์ไว้

แต่ทันทีที่มาร์คเข้ามาในห้องประชุม เขาพูดสวนทันทีว่า

“การประชุมนี้ควรจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที เพราะมันชัดเจนว่าเราจะไม่ขายบริษัทให้กับยาฮู”

ทีลเล่าให้ฟังว่า ตัวเองเผลอเตือนสติมาร์คไปว่า

“หนึ่งพันล้านเหรียญ ไม่ใช่เงินปริมาณน้อยๆ นะมาร์ค คุณถือหุ้นบริษัทอยู่ตั้ง 25% คุณสามารถเอาเงินที่ได้มา ไปทำอะไรได้อีกหลายอย่างที่คุณอยากจะทำ คิดให้ถี่ถ้วนก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ”

มาร์คนิ่งไปสักครู่ แล้วตอบว่า

“ผมคิดไม่ออกจริงๆ ว่า ถ้าได้เงินมาจริง จะเอาไปทำอะไร ถ้าตอนนี้ได้เงินมาจริงๆ ผมก็คงจะทำเว็บ social network ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง แข่งกับ Facebook ตอนนี้ผมชอบสิ่งที่ผมทำอยู่มากอยู่แล้ว ทำไมผมถึงจะต้องขายมันล่ะ”

ธีลเล่าว่า มาร์คเชื่ออย่างสุดใจว่า เจอรี่ หยาง ให้มูลค่ากับ Facebook น้อยเกินไป

นั่นแสดงให้เห็นถึงการขาดวิสัยทัศน์ของผู้ซื้อ ซึ่งจะทำให้ Facebook ไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร

อย่าลืมนะครับ นี่คือเด็กมหา”ลัยอายุ 22 ปี

เขากำลังจะปฏิเสธเงินจำนวนหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ

ด้วยความเห็นส่วนตัวที่ว่า “มันราคาถูกไป”

พร้อมประกาศกร้าวว่า “เจอรี่ หยาง” เจ้าของบริษัทยาฮู ซึ่งเป็นบริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ในขณะนั้น

เป็นบุคคลที่ “ไม่มีวิสัยทัศน์”

ไม่รู้ไปพก “ความมั่นใจ” มาจากไหน

ปีเตอร์ ธีล เอง เห็นแบบนั้น ก็ได้แต่ปล่อยให้เงิน “หนึ่งพันล้านเหรียญ” ลอยผ่านไป

แต่เขาก็ได้เห็นเป็นครั้งแรกว่า “ผู้ประกอบการ” ที่จะประสบความสำเร็จนั้น

ต้องมีคุณสมบัติแบบ “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค”

คือ “มีภาพในอนาคต” ของธุรกิจตนเอง ที่จะเติบโตยิ่งใหญ่อย่างชัดเจน

ชัดเจนจนกระทั่งไม่หวั่นไหวต่อ “เงิน” พันล้านเหรียญ

ปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีมูลค่าประมาณ “สามแสนล้าน” เหรียญ

แค่ 300 เท่าของเงินที่ “ยาฮู” เสนอให้เท่านั้นเอง

 

หากแต่ว่า กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นคืนสนอง

ปี 2008 เพียงสองปีถัดมา Facebook เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด

“มาร์ค” แอบชำเลืองเห็นบริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในเมือง “ซานฟรานซิสโก”

บริษัทที่ทำอะไรคล้ายๆ กัน แต่มีคนเข้ามาใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่ากลัว

มาร์คตัดสินใจโทร.ไปหาผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทนั้น

ชวนมาทานข้าวที่ออฟฟิศของ Facebook

พูดคุยกันเล็กน้อย ทำความรู้จัก แล้วแยกย้ายกันกลับ

อีกไม่กี่วันถัดมา เสียงโทรศัทท์ที่บริษัทนั้นดังขึ้น

ปลายสายด้านหนึ่งคือ “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค”

เสนอซื้อบริษัทนั้นที่เปิดมาได้แค่สองปี เป็นจำนวนเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

สองหนุ่มผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทนั้น ปฏิเสธ ตีแสกหน้า “มาร์ค” แบบเต็มๆ

ไม่ต่างกับที่มาร์คเคยทำไว้กับ เจอรี่ หยาง แห่งยาฮู

บริษัทนั้นคือ “ทวิตเตอร์ (Twitter)”

ที่ปัจจุบัน มีมูลค่าประมาณ “หนึ่งหมื่นล้านเหรียญ”

 

ยังไม่พอ ปี 2014 เมื่อสองปีที่ผ่านมานี้เอง

มาร์คพบบริษัทเล็กๆ อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งมาได้แค่ 3 ปี

ทำแอพพลิเคชั่น แชต ง่ายๆ ดูไม่มีอะไร แต่มีผู้ใช้งานมหาศาล

มาร์คบินไปหาผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทนั้นทันที

พร้อมขู่ว่า “ฉันกำลังจะทำอะไรคล้ายๆ กับแก ระวังให้ดี”

แต่ผลลัพธ์ของสิ่งที่เฟซบุ๊กทำเลียนแบบนั้น ไม่ได้ผลดีอย่างที่คิด

ผ่านไปอีกไม่กี่เดือน มาร์คจึงต้องย้อนกลับไปคุยกับผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแห่งนั้น

พร้อมข้อเสนอซื้อบริษัทนั้น ด้วยเงิน “สามพันล้านเหรียญ” หรือ “แสนล้านบาท”

อีกครั้งในประวัติศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแห่งนั้น “ปฏิเสธ” ข้อเสนอจาก “มาร์ค”

บริษัทแห่งนั้นมีชื่อว่า “สแนปแชต (Snapchat)”

ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า “สองหมื่นล้านเหรียญ”

 

ถ้าคุณอยาก “รวย”

จงสร้างธุรกิจที่เติบโตเร็ว และโฆษณาให้ผู้อื่นอยากได้

แต่ถ้าคุณอยาก “เปลี่ยนโลก”

จงสร้างธุรกิจที่มี “วิสัยทัศน์” จนไม่มีใครหน้าไหน ให้ราคามันได้เท่าที่คุณ “จินตนาการ” ไว้

หาก “เส้นขอบฟ้า” ของคุณกว้างไกลมากพอ

เงินพันล้าน คุณก็อาจจะจำเป็นต้อง “ปฏิเสธ”

เพราะมันช่างเล็กเกินไป เมื่อเทียบกับ “วิสัยทัศน์” ของคุณ

 

ถ้าคุณเป็น เจอรี่ หยาง ที่โดนเด็กเมื่อวานซืนอย่าง “มาร์ค” ตอกกลับว่า “ไม่มีวิสัยทัศน์”

แล้วยังไม่ทำให้คุณรู้สึกอะไร

เจอรี่ หยาง เคยเสนอเงิน “หนึ่งพันล้านเหรียญ” ให้กับบริษัทเล็กๆ อีกสองแห่ง

หนึ่งคือ “กูเกิล (Google)” สองคือ “อีเบย์ (Ebay)”

แน่นอน ถูก “ปฏิเสธ” เช่นเคย ด้วยเหตุผลเดียวกัน

“วิสัยทัศน์ราคาหนึ่งพันล้านเหรียญของคุณ มันเล็กเกินไป เมื่อเทียบกับจินตนาการระดับแสนล้านของผม”

โดนไปอีกสองดอก

เจ็บมั้ยล่ะ เจอรี่