“ดำหัวกู่” ประเพณีนี้ของ “คนล้านนา” มีที่มาอย่างไร ?

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ดำหัวกู่”

การดำหัวกู่ หมายถึง พิธีกรรมแสดงความเคารพผู้มีพระคุณ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับ ณ บริเวณที่เก็บอัฐิ ซึ่งภาษาล้านนาเรียกว่า “กู่” ในเทศกาลปีใหม่เมือง หรือสงกรานต์

การดำหัว ในความหมายของชาวล้านนา หมายถึงการสระผม แต่เดิมการสระผมใช้ใบไม้ ผลไม้ที่เปรี้ยว และเกิดฟอง เช่น ส้มป่อย ใบหมี่ ลูกซัก และมะกรูดปิ้งไฟมาต้ม เป็นยาสระผม

การดำหัวเป็นประเพณีที่ชาวล้านนาถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เป็นการชำระล้างสิ่งอันเป็นการอัปมงคลในชีวิตไปจากร่างกายตน เป็นการเตรียมพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ ในปีใหม่

ต่อมามีการนำน้ำส้มป่อยไปมอบแก่คนที่ตนนับถือ เพื่อเป็นการขอขมา ขอบคุณหรือแสดงความเคารพเป็นการแสดงออกถึงการคารวะ การขออภัย ที่ลูกหลานมีต่อผู้อาวุโส พ่อ-แม่ ครูบาอาจารย์ นิยมดำหัวในช่วงปีใหม่เมือง โดยมีดอกไม้ธูป-เทียน น้ำส้มป่อย หมาก-พลู บุหรี่ ผลไม้ เสื้อผ้า

เมื่อผู้อาวุโสท่านรับ แล้วเอามือแตะน้ำส้มป่อยขึ้นลูบหัวแสดงว่าท่านให้อภัย

การดำหัวมักเริ่มต้นที่พระสงฆ์

หลังจากเสร็จสิ้นการทำบุญที่วัดในวันพญาวัน ต่อจากนั้นก็จะดำหัวพ่อ-แม่ ปู่ย่าตายาย ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ

หากญาติผู้ใหญ่ล่วงลับไปแล้ว และมีการเก็บอัฐิไว้ที่กู่ ญาติพี่น้องก็จะจัดพิธีกรรม “ดำหัวกู่” ซึ่งอาจจะประกอบพิธีที่วัด หรือบ้าน หรือบริเวณที่ที่สร้างกู่บรรจุกระดูกของบรรพบุรุษ

บางครอบครัวจะมีการนิมนต์พระสงฆ์ ทำพิธีบังสุกุล เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีการเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลาน ญาติพี่น้องในการเริ่มศักราชใหม่

มีการนำเสื้อผ้าเก่าและรูปถ่ายของผู้ที่จากไปมาทำพิธี เมื่อเสร็จพิธีหลังจากถวายเครื่องไทยทาน ก็จะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมา รดที่กู่ หรือรูปภาพ หรือเสื้อผ้าเก่าที่นำมาในพิธีดำหัว

บางครอบครัวก็ถือโอกาสกินข้าวร่วมกันในวัน “ดำหัวกู่” นี้

หากเป็นครอบครัวที่มีญาติพี่น้องมากและอยู่ต่างถิ่น ต้องมีการนัดหมายให้ไปร่วมงานโดยพร้อมเพรียงกันเรียกว่าเป็น “วันรวมญาติ” คล้ายกับพิธีเช็งเม้งของชาวจีน ซึ่งในปัจจุบัน จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดพิธีดำหัวกู่ ที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี เรียกว่าพิธีสักการะกู่เจ้าหลวง อดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระประยูรญาติ ผู้ปกครองนครเชียงใหม่ในอดีต ณ บริเวณกู่ ภายในวัดสวนดอกวรมหาวิหาร

การดำหัวกู่ เป็นโอกาสของครอบครัวที่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน มีการทำอาหารและรับประทานร่วมกันทั้งในหรือนอกบ้าน โดยผ่านกิจกรรม พิธีกรรมต่างๆ เป็นประเพณีที่ดีงาม เป็นการแสดงความกตัญญูต่อญาติผู้ใหญ่

ควรส่งเสริมให้ลูกหลานปฏิบัติและอนุรักษ์ไว้ เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในอันที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับสังคมต่อไป