สุรชาติ บำรุงสุข | สร้างขบวนประชาธิปไตย ลดทอนขบวนอำนาจนิยม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การเลือกตั้งเป็นของประชาชน [และ] การเลือกตั้งเป็นการตัดสินใจของประชาชน”

ประธานาธิบดีลินคอล์น

การต่อสู้ในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนั้น

มีหลักการที่สำคัญคือ

“สร้างขบวนประชาธิปไตยและลดทอนขบวนอำนาจนิยม” ซึ่งอาจจำแนกเป็นรายละเอียดด้วย “ข้อเสนอสี่สร้าง”

ดังนี้

1)สร้างขบวนประชาธิปไตยให้ยั่งยืน

ผู้นำกองทัพและบรรดาชนชั้นนำตลอดรวมถึงกลุ่มอนุรักษนิยมที่เป็นขบวนการสนับสนุนรัฐประหารทั้งหลายอาจจะไม่ตระหนักเลยว่า ผลจากการทำรัฐประหารถึงสองครั้งในระยะเวลาไม่ถึงสิบปีในการเมืองไทย (2549 และ 2557) นั้น กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนขึ้นสู่กระแสสูง แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าประชาธิปไตยถดถอยในการเมืองไทย เพราะเกิดรัฐประหารขึ้น

แน่นอนว่าหากเอารัฐประหารเป็นดัชนีของการถดถอยของประชาธิปไตยไทยแล้ว ตัวชี้วัดเช่นนี้อาจมีความชัดเจนอย่างยิ่ง

แต่ในสภาวะถดถอยเช่นนี้กลับเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอีกด้าน กล่าวคือ การยึดอำนาจกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางในสังคม

สภาวะเช่นนี้ต้องแปลงให้เป็นโอกาสของการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การสร้าง “ขบวนประชาธิปไตย” ในอนาคต และใช้สร้างการรับรู้ในระดับของภาคประชาชน (ตลอดรวมถึงประชาชนในฝ่ายประชาธิปไตย)

หากกลุ่มประชาธิปไตยไทยวันนี้สามารถสร้างรูปขบวนและรูปการณ์จิตสำนึกได้จริง โดยอาศัยการต่อสู้กับระบอบการปกครองของรัฐบาลทหารเป็นเป้าหมาย ก็จะเป็นความหวังในระยะยาวว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยก็อาจจะก่อตัวเป็น “ขบวน” ได้อย่างแท้จริง

มากกว่าจะเป็นเพียงกลุ่มการเมืองชั่วคราวที่มีเข็มมุ่งในการต่อสู้กับรัฐบาลทหารแบบเฉพาะหน้า

และเมื่อรัฐบาลทหารดังกล่าวล้มลงหรือยุติบทบาทไปแล้ว กลุ่มดังกล่าวก็หมดภารกิจสลายตัวลง และการไม่สามารถดำรงความเป็นขบวนแบบถาวรได้ อาจส่งผลให้กลุ่มดังกล่าวเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองได้ง่าย

ดังนั้น หากเราต้องการผลักดันให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและเดินไปสู่จุดหมายของการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยได้จริง การสร้างขบวนประชาธิปไตยจะเป็นความจำเป็นในเบื้องต้น และทั้งยังจะต้องคิดสร้างขบวนนี้ให้มีความยั่งยืน

วันนี้โจทย์ของการสร้างขบวนประชาธิปไตยยังคงเป็นประเด็นสำคัญ และฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะต้องคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง

2)สร้างอำนาจจากความตื่นตัวของประชาชน

ในอีกด้านของความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การรัฐประหารทั้งสองครั้งได้สร้างความตื่นตัวทางการเมืองในหมู่ประชาชนอย่างมาก

และความตื่นตัวเช่นนี้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง จนวันนี้อาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่า อำนาจของการรัฐประหารไม่ได้มีพลังเช่นในอดีต หากเปรียบเทียบกับอดีตแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนหลังจากความสำเร็จของการยึดอำนาจแล้ว นักการเมืองจะเงียบเสียงลง และเก็บตัวรอเวลาที่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมาถึง

ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็แทบจะไม่มีตัวตน พร้อมกับเสียงต่อต้านก็แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นในที่สาธารณะเลย

แต่จากรัฐประหารทั้งสองครั้งเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจน นักการเมืองและประชาชนส่วนหนึ่งกล้าที่จะเดินหน้าชนและท้าทายกับอำนาจของฝ่ายทหาร

นอกจากนี้ยังเห็นแรงต้านในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ผู้คนในสังคมไทยไม่ได้เกรงกลัวอำนาจของคณะรัฐประหารเช่นการเมืองไทยในวันวาน และพร้อมที่จะเปิดตัวลุกขึ้นท้าทายกับรัฐบาลทหาร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐประหาร 2557 แล้ว ยิ่งเห็นถึงแรงต้านรัฐประหารที่อยู่ในสภาวะของการเป็น “กระแสเปิด” มากขึ้น… เสียงต่อต้านรัฐประหารไม่ใช่เป็นเรื่องของการแอบคุยกันในที่ปิดลับอีกต่อไป หากแต่มีการจัดเวทีอย่างเปิดเผย และคนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะให้รัฐบาลทหารจับ!

สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า สังคมการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปจากวันเก่าๆ ที่ผู้นำทหารเคยรับรู้ และอำนาจของทหารในทางการเมืองก็ไม่ได้อยู่ในสภาพแบบเก่าที่คนต้องรู้สึก “ยอมจำนน” หลังจากการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนประสบความสำเร็จ และผู้คนเป็นจำนวนพอสมควรในสังคมมีความรู้สึกว่า รัฐบาลทหารที่เกิดขึ้นไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด การสร้างความชอบธรรมไม่ได้ จึงทำให้รัฐบาลทหารไม่เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอก

สภาวะเช่นนี้อาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า ความเชื่อแต่เดิมที่มองว่าผู้คนมีลักษณะแบบ “passive” นั้น อาจจะเป็นจริงน้อยลงแม้จะยังมีคนเป็นจำนวนมากที่มีลักษณะแบบนั้น

แต่คนอีกส่วนกลับมีลักษณะที่ “active” มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

โดยเฉพาะคนในระดับล่างที่ในอดีตถูกมองว่า เป็นพวกไร้ความตื่นตัวทางการเมืองนั้น

ปัจจุบันเรากลับเห็นความตื่นตัวของคนชั้นล่างและชนชั้นกลางล่าง (ซึ่งอาจมีนัยว่าเป็นคนชนบท)

จนปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังคัดง้างกับทฤษฎีสังคมวิทยาเดิมที่มองว่า คนในสังคมไทยเป็นพวก “เฉื่อย” ทางการเมือง (หมายถึงเป็นพวก passive)

แต่ปัจจุบันเรากลับเห็นคนที่มีความกล้าใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น เช่น กล้าแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลทหารในที่สาธารณะ เป็นต้น

ดังนั้น ขบวนประชาธิปไตยจะต้องเก็บเกี่ยวและขยายผลด้วยการสร้างอำนาจของฝ่ายประชาธิปไตยจากความตื่นตัวของประชาชน

ความตื่นตัวเช่นนี้จะต้องดำรงไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง และจะต้องตระหนักว่า ความตื่นตัวของประชาชนในระดับต่างๆ ที่มีมากขึ้นนั้น จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการดำรงความเข้มแข็งของขบวนประชาธิปไตยในระยะยาว

3)สร้างรัฐสภาให้เป็นเวทีขับเคลื่อนนโยบาย

ปีกประชาธิปไตยทั้งในส่วนของพรรคการเมืองและส่วนประชาสังคมจะต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะการเลือกตั้งให้ได้

กระบวนการเลือกตั้งจะเป็นโอกาสของการนำเสนอขายนโยบายของพรรคการเมืองในปีกที่ไม่สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมให้แก่สังคม

และหากประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะต้องอาศัยชัยชนะดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบาย ด้วยความหวังว่านโยบายของฝ่ายประชาธิปไตยจะได้รับการนำไปปฏิบัติ และทั้งยังจะเป็นโอกาสของการลดทอนอำนาจของฝ่ายอำนาจนิยมอีกด้วย

ชัยชนะในการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ยืนยันว่าประชาธิปไตยและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพยังคงได้รับการตอบรับจากผู้คนในสังคมไทยไม่เปลี่ยนแปลง

และยังจะเป็นเครื่องยืนยันว่าชัยชนะจากการรัฐประหารของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มอนุรักษนิยมไทยนั้นเป็นชัยชนะชั่วคราว

แต่เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเปิดให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกอนาคตทางการเมืองได้เองแล้ว

เมื่อนั้นฝ่ายอนุรักษนิยมจะเป็นผู้แพ้

ดังเช่นการเลือกตั้งในหลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ได้เป็นฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งเลย

คำยืนยันที่ชัดเจนในเรื่องนี้ก็คือ ความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลอนุรักษนิยมเกิดขึ้นในค่ายทหาร ไม่ได้เกิดในสนามเลือกตั้ง…

สนามเลือกตั้งกลับกลายเป็น “พื้นที่แห่งความพ่ายแพ้” ของฝ่ายอนุรักษนิยมไทย

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยจำเป็นต้องเกาะพลัง “เสนานิยม” เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และถ้าจำเป็นก็ใช้เครื่องมือนี้ในการโค่นล้มฝ่ายตรงข้าม เนื่องจากพลังขับเคลื่อนของกลุ่มอนุรักษนิยมในตัวเองไม่แรงมากพอที่จะนำไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง

ในเงื่อนไขเช่นนี้ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องใช้กลไกรัฐสภาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดทอนและ/หรือทำลายอิทธิพลของฝ่ายอำนาจนิยมที่ยังดำรงอยู่ในรูปของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และกติกาต่างๆ

และต้องคิดสร้างกติกาใหม่ที่จะนำไปสู่การควบคุมเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ถูกใช้จนกลายเป็น “อำนาจพิเศษ”

เช่น อำนาจของตำรวจและทหารในการควบคุมและจับกุมผู้เห็นต่าง หรืออำนาจองค์กรอิสระในการยุบพรรคฝ่ายตรงข้าม การใช้อำนาจเช่นนี้คือการทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันทั้งสองลงไปอย่างน่าเสียดาย

หากฝ่ายประชาธิปไตยไม่เป็นผู้ชนะในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก็ยังจะต้องอาศัยกลไกรัฐสภาเป็นเครื่องมือของการต่อสู้ไม่แตกต่างจากเดิม

รัฐสภาเป็นเวทีของการนำเสนอและผลักดันนโยบายที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องดำเนินการ และทั้งยังอาจจะต้องถือว่า “การต่อสู้ทางรัฐสภา” เป็นแบบแผนหลักของการต่อสู้ทางการเมือง และเป็นความหวังว่าสักวันหนึ่งชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และปีกอนุรักษนิยมจะยอมรับเอาแบบแผนของการต่อสู้ทางรัฐสภาเป็นวิถีหลักของการต่อสู้เช่นกัน

แม้ว่าในระยะสั้น ความหวังเช่นนี้จะยังไม่มีทางที่จะเป็นจริงได้ก็ตาม

จนกว่าจะมีปัจจัยสำคัญเข้ามาเป็นแรงกดดัน เช่น ปัจจัยความกลัวต่อการแพ้สงครามคอมมิวนิสต์เป็นแรงกดดันโดยตรงให้กลุ่มปีกขวาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทหารต้องยอมรับประชาธิปไตย เพราะหากยังปล่อยให้ประเทศปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการแล้ว อนาคตจะจบด้วยความพ่ายแพ้เช่นที่เห็นในเวียดนามใต้และกัมพูชาในปี 2518 อย่างแน่นอน

ในเงื่อนไขของการต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องคิดเสมอถึงโอกาสในการขับเคลื่อนนโยบาย และขณะเดียวกันก็จะต้องหาทางลดทอนอำนาจของฝ่ายอำนาจนิยมให้ได้ เพราะการทอนอำนาจนี้จะเป็นหลักประกันโดยตรงต่อการสร้างความเข้มแข็งของฝ่ายประชาธิปไตย

4)สร้างกติกาใหม่ในการควบคุมเครื่องมือทางการเมือง

หากพิจารณาจากรัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน ฝ่ายอนุรักษนิยมมีอำนาจที่สำคัญในการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในสองส่วนคือ อำนาจของกองทัพ และอำนาจขององค์กรอิสระ เช่น ในกรณีของศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เป็นต้น

ดังนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องตระหนักเสมอว่า หนึ่งในโจทย์สำคัญเฉพาะหน้าคือ จะต้องสร้าง “กติกาใหม่” เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของสองส่วนนี้

แน่นอนว่าไม่มี “สูตรสำเร็จ” ในการที่จะทำให้ความสำเร็จของการควบคุมเกิดขึ้นได้จริง

และแน่นอนว่าการค้นหาสูตรนี้จะต้องไม่ใช่การลองผิดลองถูก

แต่จะต้องคิดด้วยความใคร่ครวญ และการนำไปปฏิบัติจะต้องคิดด้วยความระมัดระวังถึงผลสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้น

แต่ก็มิได้หมายความว่าฝ่ายประชาธิปไตยควรจะประนีประนอมแบบ “ลัทธิยอมจำนน” ด้วยการไม่ดำเนินการใดๆ หรือยอมในแบบเป็น “เบี้ยล่าง”

และเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ควรเข้าไปปฏิรูปกลไกของฝ่ายอนุรักษนิยม

แล้วฝ่ายอนุรักษนิยมจะมีความปรานีต่อฝ่ายประชาธิปไตย

การผลักดันให้เกิดกติกาใหม่ด้วยการปฏิรูปองค์กรกองทัพและองค์กรอิสระไม่ใช่เรื่องง่าย และคาดได้ว่าจะเผชิญกับการต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษนิยม จนแม้กระทั่งอาจนำไปสู่ความพยายามในการโค่นล้มรัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตย

หรือในระดับต่ำก็อาจเกิดการเผชิญหน้าได้

แต่การคาดคะเนเช่นนี้มิได้มีนัยว่า ฝ่ายประชาธิปไตยควรจะดำเนินการแบบ “งอมืองอเท้า”

หากแต่จะต้องคิดถึง “ยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย” เพื่อทำให้การปฏิรูปการใช้อำนาจของสององค์กรนี้อยู่ในกรอบและกติกาที่เป็นประชาธิปไตย

และลดทอนการเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม (ยุทธศาสตร์กวาดล้างสององค์กรนี้ในแบบตุรกีเป็นภาพสะท้อนอีกด้านของปัญหา)

การสร้างกติกาใหม่ด้วยการปฏิรูปนี้อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และอาจจะไม่ง่ายนัก

แต่สิ่งที่จะต้องตระหนักเสมอก็คือ ความสำเร็จของการปฏิรูปองค์กรทั้งสองจะเป็นพื้นฐานของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในอนาคต

แต่หากกติกาใหม่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงแล้ว

คำตอบมีเพียงสองประการคือ

รัฐบาลของฝ่ายประชาธิปไตยยังคงต้องเผชิญกับอัตราเสี่ยงของการรัฐประหารไม่แตกต่างจากเดิม

และรัฐบาลพลเรือนอาจต้องเผชิญกับคำตัดสินที่ไม่มีรากฐานทางกฎหมายขององค์กรอิสระไม่แตกต่างจากเดิมเช่นกัน

อันส่งผลให้อำนาจเช่นนี้เป็นปัจจัยของการ “ไร้เสถียรภาพ” ในตัวเอง

เพราะบทบาทของทหารและคำตัดสินขององค์กรอิสระเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้ และกลายเป็นภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” ที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักประกันว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะในการออกกติกาใหม่ แต่ความพยายามนี้เป็นหลักประกันในเบื้องต้นว่า ฝ่ายประชาธิปไตยจะไม่อยู่ในแบบ “เฉื่อยชา” และไม่ปล่อยให้องค์กรเป็นเครื่องมือในการทำลายล้าง

และสามารถใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบ

การใช้อำนาจดังกล่าวในอนาคตจะต้องถูกตรวจสอบและมี “ภาระรับผิดชอบที่เกิดจากการกระทำ” นั้นๆ (คือต้องมี accountability) มิใช่เป็นอำนาจที่ไร้ภาวะรับผิดชอบ

การดำเนินการทั้งหมดในเรื่องนี้ตั้งอยู่บนหลักการว่า “ปฏิรูปกองทัพให้เป็นทหารอาชีพ และปฏิรูปองค์กรอิสระให้เป็นเครื่องมือตรวจสอบและถ่วงดุล”

ซึ่งความสำเร็จทั้งสองจะเป็นปัจจัยพื้นฐานของการสร้างและพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทยในอนาคตนั่นเอง!