มนัส สัตยารักษ์ เขียนถึง พี่โกวิท อาจารย์ชิดชัย2นายตำรวจ กิตติศัพท์ลือลั่น

ย่างเข้ากลางปี พ.ศ.2547 ชื่อของ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ กับ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รอง ผบ.ตร. คือ 2 ชื่อที่นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จะต้องเลือกคนใดคนหนึ่งขึ้นครองตำแหน่ง ผบ.ตร.

ผมเชื่อว่า ทั้งตำรวจ ทหาร ข้าราชการ นักการเมือง ตลอดจนพ่อค้าประชาชนส่วนใหญ่ต่างพอใจที่จะได้ใครคนใดคนหนึ่ง (หรือใครก็ได้) มาครองตำแหน่งสำคัญนี้

มีที่อาจจะไม่พอใจอยู่บ้างก็เฉพาะส่วนน้อยที่ “ได้เสีย” โดยตรงกับตำแหน่งดังกล่าวเท่านั้น กับอีกส่วนหนึ่งก็คือบางสื่อมวลชนที่แอบเชียร์คนใดคนหนึ่งอยู่อย่างสุดขั้ว

ส่วนผมซึ่งรักและนับถือทั้งสองท่านอย่างมาก เริ่มเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงวลีที่ว่า “รักพี่ เสียดายน้อง” คือทั้งรักทั้งเสียดาย ทั้งพี่และน้องพร้อมกันแหละครับ

ผมเป็น นรต.รุ่นพี่ของทั้งสองท่าน (10 และ 11 ปีตามลำดับ) ไม่เคยร่วมสังกัดหรือท้องที่เดียวกัน ได้พบหน้าพูดคุยหรือทำงานด้วยก็เพียงไม่กี่ครั้ง ครั้งละไม่นาน อีกทั้งยศ/ตำแหน่งก็ห่างกันมาก เมื่อผมเป็นนายพันนั้น ท่านเป็นนายพลกันมาแล้วหลายปี

แต่ท่านทั้งสองเป็นนายตำรวจคนดัง ถึงผมจะไม่รู้จักตัวจริงแต่ผมก็รู้จักชื่อเสียงและผลงานมาก่อน ผมเองแม้จะไม่มีชื่อเสียงในราชการตำรวจ แต่ผมก็เป็นที่รู้จักในฐานะเป็นนักเขียนที่ถูกกรมตำรวจตั้งกรรมสอบสวนทางวินัย

นอกเวลางานราชการแล้วดูเหมือนเราจะไม่ห่างกันเท่าไหร่นัก คงเพราะท่านเห็นเราเป็นพี่ที่ควรดูแล ส่วนเราก็เห็นท่านเป็นน้องที่น่านับถือ

 

ผมพบท่านโกวิทครั้งแรกเรื่องงานในหน้าที่ตำรวจ ซึ่งขณะนั้นผมเป็นแค่สารวัตร ยศ ร.ต.อ. อยู่กองปราบปราม ส่วนท่านโกวิทเป็น รอง ผกก. หรือ ผกก.ตำรวจชายแดน อยู่ในค่ายมฤคทายวัน ผมเข้าไปพบท่านถึงบ้านพักเพื่อขอความช่วยเหลือจากการติดตามยึดรถยนต์ที่ถูกคนร้ายลักมาจากกรุงเทพฯ

ที่ต้องขอความช่วยเหลือจากท่านโกวิทเนื่องจากรถยนต์คล้ายคันที่แจ้งหายจอดอยู่ที่บริเวณบ้านหลังหนึ่งหลังตลาดในอำเภอชะอำตรงตามที่สายแจ้งมา ผมกับกำลังตำรวจลงจากรถวิทยุไปยืนซุ่มสังเกตดูโดยหิ้วปืน เอชเค 33 ลงไปด้วย

ทันใดนั้น ได้มีคนในบ้าน (ซึ่งเข้าใจว่าเป็นตำรวจชายแดน) เอาปืนเอ็ม 16 พาดหน้าต่างส่องมาทางผมกับตำรวจกองปราบปราม พร้อมร้องตะโกนเสียงดังว่า

“ของกูก็มี!”

ผมถอยขึ้นรถแล้วไปขอความร่วมมือจากตำรวจท้องที่ ได้รับคำแนะนำให้ไปรายงานท่านโกวิทที่บ้านพักในค่ามฤคทายวัน ทุกอย่างจะเรียบร้อยหมดปัญหา ผมเข้าไปขอพบท่านทันทีทั้งที่ยังไม่ได้รู้จักตัวกัน

ท่านโกวิทซึ่งมีกิตติศัพท์ความจำเป็นเยี่ยม เรียกผมว่า “พี่” ทันทีที่พบหน้ากัน

 

เมื่อปฏิรูปตำรวจรถวิทยุกองปราบปรามนั้น นอกจากจะได้รถยนต์สายตรวจและอารักขา 2 กลุ่มใหญ่แล้ว เราได้กำลังพลเพิ่มจากตำรวจรุ่นใหม่มาจำนวน 200 นายด้วย พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค (พล.ต.อ./รอง อ.ตร.) รอง ผกก.2 ป. ในยุคนั้น ซึ่งเคยรับราชการใน ตชด. ได้ขอตัว ร.ต.ท.บุรี อยู่ใย (พ.ต.ท.) จากค่ายมฤคทายวัน มาเป็นรองสารวัตรรถวิทยุ เนื่องจากรู้จักตำรวจในปกครองบังคับบัญชาดี เห็นว่าเป็นนักกีฬา มีขีดความสามารถสูงในการใช้อาวุธปืนและต่อสู้ป้องกันตัว ทั้งนี้ เพื่อฝึกสอนตำรวจทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

ท่านโกวิทในฐานะผู้บังคับบัญชาได้เขียนจดหมายถึงผมว่าไม่เห็นด้วยในการขอย้ายครูบุรี เพราะเป็นคนซื่อ จะมีปัญหาเมื่อมาอยู่ท่ามกลางเสือ สิงห์ กระทิง แรด

ท่านโกวิทคงจะเกรงใจ พ.ต.ท.สล้าง หรืออาจจะเห็นว่าผมเป็นสารวัตรต้นสังกัดใกล้ชิดก็ตาม แสดงให้เห็นถึงลักษณะของการเป็น “ผู้นำหน่วย” ที่ห่วงใยลูกน้องถึงที่สุด

ผมเป็นสารวัตรรถวิทยุในยุคนั้น แม้ตัวเองจะถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่เสร็จ ได้ตอบจดหมายหาญรับรองว่าจะดูแลไม่ให้มีภัยพาลเกิดขึ้นกับครูบุรี

แต่เรื่องกลายเป็นว่า เวลาผ่านไป 2 ปี เปลี่ยน อ.ตร. และ ผบก.ป. ผมเองถูกเขี้ยวเสือสิงห์เล่นงานก่อน

ส่วนครูบุรีเอาเรื่องที่ผมโดนเขี้ยวไปเล่าต่อ จึงโดนย้ายออกนอกหน่วยตามไปด้วย ในข้อหาที่สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างเดียวกันว่า

“ให้อยู่หน่วยกำลังไม่ได้”

 

ครั้งที่ผมเข้าเรียนหลักสูตร “ปฏิบัติการจิตวิทยา” ของ บก.สูงสุด ร่วมกับทหารและข้าราชการพลเรือน มีรายการไปดูงานทั่วประเทศ

สถานที่หนึ่งที่หลักสูตรนี้กำหนดให้ไป คือ กองบังคับการตำรวจตระเวนชานแดน ภาค 3 ซึ่งมีท่านโกวิทเป็นผู้บังคับการ

วันที่เราไปดูงานไม่พบท่านโกวิท แต่นายทหารที่พาไปกล่าวยกย่อง พล.ต.ต.โกวิท วัฒนะ ในการปกครอง บังคับบัญชา เป็นผู้นำหน่วย และผลงานการปราบปรามยาเสพติดในภาคเหนือ ผมปลื้มอยู่ในใจมากมายที่ตำรวจได้รับคำยกย่องจากบุคคลภายนอก

 

พล.ต.อ.ดร.ชิดชัย วรรณสถิตย์… แค่เราได้รู้ว่าเมื่อครั้งเป็นพระภิกษุ ท่านได้อุปสมบทกับอาจารย์ฝั้น อาจาโร และปฏิบัติธรรมกับอาจารย์ชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร) วัดหนองป่าพง เราก็สามารถยกมือไหว้และเรียก “อาจารย์” ได้สนิทปาก ตามฐานะอันแท้จริงตลอดจนการครองตัวของท่าน

ผมโชคดีที่ได้ไปดูงานเกี่ยวกับการสื่อสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่สหรัฐอเมริกากับอาจารย์หนหนึ่งราว 10 กว่าวัน จึงมีโอกาสได้รับรู้อะไรมากมาย

ก็เช่นเดียวกับท่านโกวิท ผมมีโอกาสได้ใกล้ชิดพูดคุยกันเพียงไม่กี่ครั้ง แต่ความรู้สึกเหมือนเราคุ้นเคยเป็นพี่-น้อง ศิษย์-อาจารย์กันมานานแล้ว

อาจารย์ชิดชัยเป็นคนมีอารมณ์ขัน หัวเราะง่ายและเกือบตลอดเวลาที่สนทนาพูดคุยกัน อาจารย์มีความคิดถึงอนาคตของตำรวจยุคใหม่ตามประสาคนจบปริญญาเอก ทำให้ผมและใครต่อใครต่างพากันอยากได้คนอย่างนี้เป็นหมายเลขหนึ่งของตำรวจ

สื่อมวลชนมองว่า นายกฯ ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่มักจะเลือก “นักเรียนทุน” มาร่วมงาน ดังนั้น จึงอดที่จะคาดหวังไม่ได้ว่าต้องเลือกอาจารย์ชิดชัย ยิ่งได้ทราบประวัติย้อนหลังไปถึงว่าตอนที่อาจารย์ชิดชัยทำปริญญาเอกอยู่นั้น ทักษิณตามไปทำปริญญาโท คงจะได้มีการช่วยเหลือดูแล มีบุญคุณกันอยู่ตามธรรมเนียมรุ่นพี่-รุ่นน้อง

แต่นายกฯ ทักษิณคงคำนึงถึงเกียรติศักดิ์และระบบอาวุโสด้วย เพราะข้อเท็จจริงท่านโกวิทครองยศทุกระดับก่อนอาจารย์ชิดชัย นับตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร ร้อยตำรวจตรี ไปจนถึง พลตำรวจเอก ได้รับการยอมรับสูงสุดจากผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีใครลืมกิตติศัพท์และภาพของ “ผู้กำกับการ” อายุ 32 ปีคนแรกและคนเดียวในกรมตำรวจ

ส่วนอาจารย์ชิดชัยนั้นคนที่รู้จักดีก็คงนึกภาพและเสียงหัวเราะขณะที่พูด

“อยู่ตรงไหน ตำแหน่งอะไรก็ทำงานให้สำนักงานตำรวจได้ทั้งนั้นแหละ… ฮา”

อันที่จริง เรื่องนี้น่าจะจบอย่างแฮปปี้เอนดิ้งนะครับ