การศึกษา / ‘บิ๊กบิลเลี่ยนฯ’ นอนคุกอีกยาว คดีซื้อตั๋วสัญญาปลอม 2.5 พันล้าน

การศึกษา

 

‘บิ๊กบิลเลี่ยนฯ’ นอนคุกอีกยาว

คดีซื้อตั๋วสัญญาปลอม 2.5 พันล้าน

 

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีดำ อ.1134/59 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา เจ้าของฉายา “ปาเกียวเมืองไทย” อดีตประธานสโมสรฟุตบอลเพื่อนตำรวจ เป็นจำเลยในความผิดฐานปลอมและใช้ตั๋วเงินปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 266 (4), 268

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม 2556 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557

โดยจำเลย กับบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด โดยนายสิทธินันท์ หลอมทอง กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทบิลเลี่ยนฯ ร่วมกันปลอมตั๋วแลกเงิน หรือดราฟต์ ทั้งฉบับของธนาคารฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด สำหรับการสั่งจ่ายเงิน ก่อนนำตั๋วแลกเงินปลอมมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,200 ล้านบาทไปแสดงต่อ สกสค.ผู้เสียหาย จนหลงเชื่อว่าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทบิลเลี่ยนฯ 2,100 ล้านบาท ที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำมาหลอกขายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)

ทำให้ สกสค.เชื่อว่าพวกจำเลยสามารถหาหลักทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือเทียบเท่ากับธนาคารเป็นอาวัล กระทั่งคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ยึดถือไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ซึ่งคดีนี้ศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 ให้ลงโทษนายสัมฤทธิ์ จำเลย ฐานใช้ตั๋วเงินจำคุกปลอม 10 ปี และริบของกลาง

 

ต่อมานายสัมฤทธิ์ได้ยื่นอุทธรณ์สู้คดี ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาแล้ว เห็นว่า การที่จำเลยอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปลอมตั๋วเงิน และได้ลาออกก่อนที่ ช.พ.ค.จะโอนเงินเข้าบัญชีบริษัทนั้น ตามข้อเท็จจริงปรากฏหลักฐานว่า เมื่อ ช.พ.ค.ได้โอนเงินเข้ายังบัญชีบริษัทประมาณ 1,200 ล้านบาทแล้ว บริษัทได้โอนเงินไปยังบัญชีจำเลย 40 ล้านบาท และถอนเงินจากบัญชีบริษัทอีก 120 ล้านบาท ในช่วงเวลาที่จำเลยอ้างว่าได้ลาออก

แสดงให้เห็นถึงการโอนเงินเข้าบัญชีจำเลยในลักษณะเร่งรีบ และในช่วงเวลาที่มีเงินเข้าบัญชีบริษัทเป็นจำนวนมาก และยังแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังมีส่วนบริหารในบริษัทอยู่ มิฉะนั้น จะไม่มีการโอนเงินจำนวนมาก

ขณะที่ในการทำหนังสือเพื่อยืนยันกับ ช.พ.ค.ก็มีจำเลยร่วมลงชื่อเป็นพยานและเป็นผู้ค้ำประกันด้วย จึงย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหารบริษัท เพราะหากจำเลยลาออกแล้ว ไม่มีเหตุผลที่บริษัทจะโอนเงินจำนวนมากขนาดนี้ให้

เห็นได้ว่าการลาออกของจำเลยเป็นการสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่อยู่เบื้องหลัง

ที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้ทำการอาวัลตั๋ว และไม่ได้ร่วมปลอมกับใช้ตั๋วสัญญาที่ปลอมขึ้น และการกระทำต่างๆ ตามฟ้องนั้น ล้วนเป็นการกระทำขึ้นหลังจากที่จำเลยลาออก ก็ฟังไม่ขึ้น พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยร่วมรู้เห็นกับบริษัทร่วมกันปลอม และใช้ตั๋วแลกเงิน

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน…

 

คดีทุจริตซื้อ “ตั๋วสัญญา” ของบริษัทบิลเลี่ยนฯ มูลค่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งอดีตผู้บริหาร สกสค.ได้นำเงินจำนวนมากไปลงทุน ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เลยก็ว่าได้

ทั้งนี้ ที่มาที่ไปของคดีฉ้อโกงครั้งมโหฬารนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากอดีตผู้บริหาร สกสค.ได้นำเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.จำนวน 2,500 ล้านบาท ซื้อตั๋วสัญญาของบริษัทบิลเลี่ยนฯ โดยบริษัทอ้างว่าจะนำไปลงทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี

ทำให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในขณะนั้นมอบให้ สกสค.แจ้งความดำเนินคดีกับนายสมศักดิ์ ตาไชย อดีตเลขาธิการ สกสค. และนายเกษม กลั่นยิ่ง อดีตประธานคณะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษ ช.พ.ค. ข้อหา “ฉ้อโกง”

พล.อ.ดาว์พงษ์ยังมอบหมายให้แจ้งความดำเนินคดีกับกรรมการบริหารบริษัทบิลเลี่ยนฯ ทั้ง 9 ราย ข้อหาสนับสนุนให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และให้สอบวินัยเจ้าหน้าที่ สกสค.ที่เกี่ยวข้องอีก 6 ราย

นอกจากนี้ ให้เจรจากับธนาคารธนชาตเพื่อคืนเงิน 2,100 ล้านบาทให้ สกสค.กรณีอนุมัติปิดบัญชี และเบิกถอนเงินของ สกสค.ที่ฝากไว้ เพราะถือว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหาย

แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความคืบหน้า…

 

จากการตรวจสอบ พบว่าหลักทรัพย์เกือบทั้งหมดที่อยู่ในตู้เซฟของผู้บริหาร สกสค.เป็นของปลอม หรือถ้าเป็นเอกสารจริง ก็ไม่มีมูลค่าตามที่ระบุไว้

ส่งผลให้ สกสค.สั่งรื้อโครงสร้างการบริหารภายในและยกเลิกระเบียบหลายเรื่อง รวมทั้งคณะกรรมการ สกสค.มีมติยกเลิกการว่าจ้างเลขาธิการ สกสค.และรองเลขาธิการ สกสค.อีก 4 คนในขณะนั้น

ขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติเห็นชอบให้อายัดทรัพย์อดีตผู้บริหาร สกสค.กับพวก และบริษัทบิลเลี่ยนฯ 153 รายการ มูลค่า 500-800 ล้านบาท

โดยช่วงปลายปี 2560 คณะกรรมการสอบสวน ศธ.ยังได้เดินหน้าสอบสวนอดีตผู้บริหาร สกสค.และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และมีคำสั่ง สกสค.ลงโทษไล่ออกอดีตผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สกสค.รวม 7 คน ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ ตาไชย อดีตเลขาธิการ สกสค., นายสุรเดช พรหมโชติ รองเลขาธิการ สกสค., นางปิยาภรณ์ เยาวาจา ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการครู, นายพรเทพ มุสิกวัตร ผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำสำนักงาน สกสค., นางมยุรี ตัณฑวัล ผู้อำนวยการกลุ่มการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนสมาชิกคุรุสภากรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.), นายสุเทพ ริยาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักประจำสำนักงาน สกสค. และ น.ส.กัญญาณัฐ แจ่มมี ผู้อำนวยการสถานพยาบาล สกสค.

รวมถึงผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3 ราย และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อีก 1 ราย

ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พิจารณาอนุมัติลงโทษให้ไล่ออกจากราชการตามที่หน่วยงานต้นสังกัดเสนอ

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายคัดคำพิพากษามาพิจารณาประกอบข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบข้อมูลการขายตั๋วสัญญาให้กับบริษัทบิลเลี่ยนฯ รอบแรก 500 ล้านบาท

เพราะแม้บริษัทบิลเลี่ยนฯ จะคืนเงินจำนวนดังกล่าว แต่ก็นำไปสู่การขายตั๋วสัญญาอีก 2.1 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ปปง.ได้สืบทรัพย์ และเตรียมขายทอดตลาดบางส่วน คาดว่า สกสค.จะได้เงินคืนอีกประมาณ 400 ล้านบาท

  จากนี้ ปปง.จะต้องดำเนินการสืบทรัพย์ที่เหลือ เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด!!