โล่เงิน : แก้-ถอน-บัญชีย้ายอุตลุด สะท้อนวงจรแต่งตั้งสีกากี อำนาจแฝงและนิทานชาวนา

การจัดทัพสีกากีวาระบิ๊กล็อตประจำปี การแต่งตั้งโยกย้าย สว.-รอง ผบก. วาระปี 2561 เสร็จแล้ว หลังใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาวนานในทุกกระบวนการ

ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องมีนาคม เหล่าสีกากีนิยามสถานการณ์ในรั้วปทุมวันว่านี่คือภาวะฝุ่นตลบ!!

ภายใต้การใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้าย โดยยกอำนาจตามความในมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2560 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่องการปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา หรือ “บิ๊กแป๊ะ” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามออกคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจรวมมากกว่า 10,000 ตำแหน่ง เรียกว่าโยกย้ายบิ๊กล็อตประจำปี

“โล่เงิน” สัปดาห์ที่ผ่านมา เขียนถึงความล่าช้าในการออกคำสั่ง ที่ทยอยปล่อยออกมาแบบกะปริบกะปรอย

ใช้เวลาทยอยปล่อยนานมากกว่า 2 สัปดาห์ บีบหัวใจชาวสีกากีที่ลุ้นกับชะตาชีวิต ตั้งคำถามเกิดอะไรขึ้นกับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจวาระนี้

ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดความลักลั่นเรื่องเวลา ทั้งการออกคำสั่งที่ลง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่เผยแพร่ออกคำสั่งกันจริงๆ อย่างเป็นทางการในวันคล้อยหลัง คำสั่งสุดท้าย ท้ายสุดเผยแพร่ผ่านกองสารนิเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเช้าวันที่ 19 มีนาคม

 

ระหว่างที่คำสั่งทยอยเผยแพร่ ทั้งคำสั่งแก้ คำสั่งตั้งใหม่ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-19 มีนาคม ทำให้เหล่าสีกากีวุ่นวายใจระทึกรายวัน ความลักลั่นในเรื่องห้วงเวลาพันกับวาระใหญ่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ครั้งประวัติศาสตร์ ห้วงเวลาที่กว่าคำสั่งแต่ละฉบับจะแจกจ่าย กำหนดวันมีผลบังคับและรายงานตัวทับซ้อนช่วงการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งใหญ่ จึงไปกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง ส.ส.

เนื่องจากตำรวจส่วนใหญ่มีชื่อในคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งส่วนกลางและแต่ละจังหวัดประกอบกำลังในคำสั่งรักษาความสงบการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งโยกย้ายและให้ไปรายงานตัวรับตำแหน่งใหม่

จึงเกิดภาวะ “ตำรวจสับสน” ต้องยึดตามคำสั่งไหนกันแน่

บางคนอยู่ในนครบาล คำสั่งใหม่ย้ายไปภาคอีสานพื้นที่ภาค 3 แต่ชื่อยังติดในคำสั่ง กกต.ทำหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว แล้วเช่นนี้จะทำอย่างไร ย้ายไปหรือให้ทำหน้าที่ สถานการณ์นี้จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ “บิ๊กแป๊ะ” ผบ.ตร.ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 201/2562 ให้ข้าราชการตำรวจที่โยกย้ายไปแล้วตั้งแต่คำสั่งที่เผยแพร่ช่วงเดือนมีนาคมและเดินทางไปรายงานตัวรับตำแหน่งใหม่แล้วกลับไปที่เก่าไปทำหน้าที่ตามคำสั่ง กกต.ตามตำแหน่งเดิมก่อน เช่นกันสำหรับข้าราชการตำรวจที่ได้รับแต่งตั้งใหม่แต่ยังไม่ทันไปรายงานตัวให้อยู่ที่เดิมก่อน

ทำหน้าที่ตามคำสั่ง กกต. เสร็จแล้วค่อยย้าย เรียกว่าต้องออกคำสั่งแก้ปัญหาในฐานะผู้นำหน่วย

นอกจากความไม่ปกติในเรื่องเวลา การทำคำสั่ง ออกคำสั่งแต่งตั้ง สว.-รอง ผบก.ครั้งนี้ที่อาจนำไปสู่การถูกตีความทางกฎหมายในภายหลังได้ ยังมีอีกปรากฏการณ์ที่สะท้อนการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจได้อย่างชัดเจนไม่ต้องมีคำอธิบายมากมาย นั่นคือคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายชื่อการแต่งตั้ง ทั้งถอนชื่อ เปลี่ยนตำแหน่ง

การแต่งตั้งครั้งนี้ในกว่าหมื่นรายชื่อ มีคำสั่งฉบับแก้ไข ถอนรายชื่อ เปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ออกมาถึง 3 ฉบับ

ครั้งแรก หลังคำสั่งระดับผู้กำกับการถึงรองผู้บังคับการออกมา รวม 7 คำสั่ง มีคำสั่ง ตร.ที่ 125 /2562 ออกมาเปลี่ยนแปลงแก้ไข 187 ราย

ต่อมาเมื่อเผยคำสั่งทุกระดับก็มีคำสั่งฉบับแก้ไขออกมาอีก 2 ฉบับในคำสั่ง ตร.ที่ 140-141/2562 แก้ไข เปลี่ยนตำแหน่ง เปลี่ยนคำสั่ง

ซึ่ง 2 คำสั่งนี้สร้างความสะพรึงในหมู่สีกากีเมื่อมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงถึง 440 ราย

และปิดท้ายด้วยคำสั่ง ตร.ที่ 149/2562 แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายชื่อ ตำแหน่ง และตั้งใหม่อีก 159 ราย

คำสั่งแต่งตั้งที่เผยแพร่ออกไปแล้วและถอนชื่อ เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้จำนวนใกล้ๆ หลักพัน ทำให้เกิดคำถามว่าการแต่งตั้งวิ่งเต้นได้ ใช่หรือไม่?!

ในวงการสีกากีพูดถึงเรื่อง ว.5 การแต่งตั้งอย่างหนาหู

บางเก้าอี้ถูกผูกพันด้วยเงื่อนไข เงื่อนไขผิดเพี้ยนเมื่อไหร่ คนนั่งเปลี่ยน เข้าเงื่อนไขก็เลือกได้เปลี่ยนได้

ช่วงเวลาที่ทอดนานระหว่างคำสั่งย้ายตำรวจล็อตใหญ่ทยอยคลอด ข่าวลือหลายมิติสะพัดในวงการสีกากี เงื่อนไข ปัจจัยที่ไม่ลงตัวทำให้หลายคนเก้าอี้หลุด เก้าอี้ร่วง มีชื่อถูกถอนถูกเปลี่ยนกะทันหัน

ยกตัวอย่างในคำสั่งที่ 140-141/2562 พ.ต.อ.ก้องชาติ เลี้ยงสมทรัพย์ ที่ในคำสั่ง ตร.ที่ 122/2562 ย้ายจาก ผกก.สน.ฉลองกรุง เป็น ผกก.สน.บางโพ คำสั่งนี้เปลี่ยนเป็น ผกก.สน.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ มีชื่อ พ.ต.อ.อิทธิเชษฐ์ วงษ์หอมหวล ที่คำสั่ง ตร.ที่ 124/2562 ย้ายจาก ผกก.สน.พหลโยธิน เป็น ผกก.ห้วยม้า จ.แพร่ คำสั่งนี้มาเป็น ผกก.สน.บางโพ แทน

พ.ต.อ.ธีระ ทองระยับ ซึ่งคำสั่งที่ 122/2562 ย้ายจาก ผกก.ฝอ.ภ.จว.นครนายก เป็น ผกก.สภ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ คำสั่งนี้ย้ายเป็น ผกก.ฝ่ายฝึกอบรม บก.อก.บช.ปส. ขณะที่ พ.ต.อ.เชษฐา สว่างสุข ที่คำสั่งก่อนย้าย จาก ผกก.สน.สุวินทวงศ์ เป็น ผกก.สน.หนองแขม คำสั่งนี้เป็น ผกก.สน.พหลโยธิน สลับ พ.ต.อ.ณรัช มูลศาสตรสาทร ผกก.สน.บางบอน เดิม ที่คำสั่งที่แล้วเป็น ผกก.สน.พหลโยธิน คำสั่งแก้ใหม่เป็น ผกก.สน.หนองแขม

วิจารณ์หนาหู ดิ้นได้ตามเงื่อนไขที่ปรับได้ตลอดเวลา?!?!

แต่น่าแปลก แม้ “บิ๊กแป๊ะ” มีอำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่ง ทว่าข่าวลือต่างๆ กลับไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ “ผู้นำ” เท่าไหร่นัก อาจมีบ้างที่ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้นำ!!

เช็กสายไล่สัมพันธ์ ตรวจรายชื่อแต่งตั้งครั้งนี้ สายคนสนิทใกล้ชิดบิ๊กแป๊ะ ใช่ว่าจะผงาดนั่งเก้าอี้ใหญ่ ที่สีกากีคนไหนๆ ก็หมายปอง ในแวดวงตำรวจพูดถึงกันหนาหู งานนี้เด็กบิ๊กแป๊ะ ตกเก้าอี้ก็ไม่น้อย

ผิดฟอร์มผู้มีอำนาจการแต่งตั้งโยกย้าย!!

แล้วสายไหน เด็กใครที่ผงาด

หรือมีอำนาจแฝงอันทรงพลังในการแต่งตั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

และเป็นต้นเหตุของความผิดเพี้ยนในการบริหารแต่งตั้งที่เกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติใช่หรือไม่ ทั้งเรื่องเงื่อนเวลา รวมถึงการหายไปของรายชื่อแต่งตั้งในหน่วยสำคัญ การถอนรายชื่อหลายร้อยตำแหน่ง และการเตะคนออกนอกหน่วย ย้ายข้ามกองบัญชาการครั้งมโหฬารที่เกิดขึ้นในการแต่งตั้งครั้งนี้

เรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีคุมตำรวจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลองไปตรวจสอบ อำนาจแฝงมีจริงหรือไม่

อย่าปล่อยให้สร้างความปั่นป่วนการแต่งตั้งบริหารบุคคลสีกากีจนวุ่นวายเช่นนี้

ปล่อยไว้ไม่ดีแน่

มีนิทานเรื่องหนึ่งที่เริ่มถูกเล่าในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เรื่องมีอยู่ว่า ชาวนาคนหนึ่งเดินไปเจอเจ้างูเห่า ถูกขังไว้ในกรงด้วยต้องโทษใกล้ตาย

ชาวนาใจถึงหยิบเจ้างูเห่ามาดดีมาชุบเลี้ยง ใช้งาน ไปไหนก็พาไปด้วย ดูแลอย่างดี จนเจ้างูมหาเสน่ห์แข็งแรง กลายเป็นที่รักในหมู่ชาวนามากมาย

เจ้างูทรงเสน่ห์ ชาวนาคหบดีขอเอาไปเลี้ยงดู หลงรักและเชิดชู

วันหนึ่งเจ้างูผยองใหญ่ พ่นพิษร้ายทำลายชาวนาใจถึงผู้ขุดออกมาจากกรง