วิเคราะห์ – ผ่านโยบาย ‘การศึกษา’ ‘พรรคการเมือง’ แข่ง ‘ลด แลก แจก แถม’

ผ่านโยบาย ‘การศึกษา’

‘พรรคการเมือง’ แข่ง ‘ลด แลก แจก แถม’

 

เรียกว่าการ “เลือกตั้ง” ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้าย หลังจากที่สังคมไทยห่างหายจากการไปลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาหลายปี

แต่ละครั้งที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง ประชาชนต่างจับตามองนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ว่าจะมีนโยบายเด็ดๆ อะไรออกมา เพื่อมาเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนกันได้บ้าง ซึ่งนโยบายสำคัญๆ ที่ชาวบ้านสนใจ คงหนีไม่พ้นนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเมือง

ส่วนนโยบายด้าน “การศึกษา” ก็ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะอยากจะรู้ว่าแต่ละพรรคการเมืองจะมีนโยบายอะไรเด็ดๆ ที่จะพัฒนาอนาคตของชาติบ้าง ถ้าได้เป็นรัฐบาล หรือแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

เริ่มจากพรรคเก่าแก่อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)” ที่ชูนโยบาย “เกิดปั๊บรับแสน” ให้พ่อแม่ ซึ่งบางส่วนเป็นผู้ด้อยโอกาส ให้มีเงินเลี้ยงลูกได้จนครบอายุ 8 ปี โดยเดือนแรกรับทันที 5 พันบาท จากนั้นรับเดือนละ 1 พันบาท อีก 96 เดือน หรือนโยบายเรียนฟรีถึงระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จัดโครงการ “คืนครูให้โรงเรียน” โดยยกเลิกไม่ให้ครูทำงานธุรการ เพื่อให้มีเวลาปฏิบัติการสอนในห้องเรียนอย่างเต็มที่

พรรคการเมืองใหญ่อย่าง “พรรคเพื่อไทย (พท.)” ที่ชูนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่อนุบาล 3 ขวบ ถึงระดับชั้น ม.6 หรือนโยบาย “ปลดหนี้” กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ไม่ต้องมีผู้ค้ำ ลดดอกเบี้ย และลดเบี้ยปรับให้กับผู้กู้ยืม หรือส่งเสริมผู้เรียนอาชีวศึกษา ให้เรียนฟรีในสาขาขาดแคลน และการพัฒนาบทบาทด้านการวิจัย ให้กับอุดมศึกษา

หรือ “พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)” ที่ชูสโลแกน “ได้เรียนในสิ่งที่ใช่ ได้ใช้ในสิ่งที่เรียน ไม่เปลี่ยนไปตามการเมือง” เน้นเรื่องการจัดการศึกษาให้คนไทยตั้งแต่แรกเกิด (0-6 ขวบ) ไปจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และลดภาระงานครู การกระจายอำนาจโดยให้งบประมาณตรงไปยังสถานศึกษา และต้องทำให้การศึกษาปลอดการเมือง

พรรคการเมืองน้องใหม่อย่าง “พรรคอนาคตใหม่ (อนค.)” เน้น “ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย” และ “ปฏิวัติการศึกษา” พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ พัฒนาโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งระบบ พัฒนาหลักสูตรการศึกษา ลดท่องจำ รวมทั้งพัฒนาครูต้นแบบ

ส่วน “พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)” ชูนโยบายช่วยครูเดิม สร้างครูใหม่ โดยสร้างครูพันธุ์ใหม่ 100,000 คน ใน 10 ปี หรือการปลดหนี้นักศึกษา ทั้งที่เป็นลูกหนี้ หรือไม่เป็นลูกหนี้ กยศ. พร้อมกับดึงมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงเรียน เพื่อส่งเสริมระบบการเรียนการสอนแก่โรงเรียน ครู เด็กและเยาวชน

ซึ่งแต่ละพรรคต่างงัดไม้เด็ดออกมาชนกัน เพื่อขอเสียงประชาชนกันถ้วนหน้า!!

 

อย่างไรก็ตาม มีเสียงสะท้อนออกมาจากนักวิชา และผู้อยู่ในแวดวงการศึกษาว่า นโยบายเหล่านี้เป็น “นโยบายประชานิยม” มากเกินไปหรือไม่? เพราะเน้นแต่เรื่องงบประมาณ และบางนโยบายจะทำได้จริงหรือไม่?

ประเด็นนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ให้ความเห็นว่า ดูภาพรวม นโยบายด้านการศึกษาของแต่ละพรรคการเมืองได้ให้รายละเอียดอย่างกว้างๆ รูปธรรม รายละเอียดวิธีการ และแนวทางการปฏิบัติจะเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ชัดเจน

แต่จะไม่ขอออกความเห็นว่านโยบายที่แต่ละพรรคชู สามารถตอบโจทย์การศึกษาของประเทศหรือไม่…

“ผมไม่อยากให้พรรคการเมืองต้องมาทะเลาะกันเรื่องนโยบายการศึกษา ว่าของใครดีกว่าใคร ผมอยากฝากไว้ว่าอย่าเอาการศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง สิ่งไหนที่รัฐบาลทำแล้วดี รัฐบาลใหม่สามารถนำมาใช้ และทำให้การศึกษาดีขึ้นได้ หากทำแบบนี้จะไม่มีประเด็นทางการเมือง และจะไม่ดิสเครดิตกันและกัน การศึกษาจะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

หรือนักวิชาการอย่างนายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า เท่าที่ดูนโยบายการศึกษาแต่ละพรรค ค่อนข้างเป็นนามธรรม เพราะไม่มีการศึกษาปัญหาอย่างแท้จริงก่อนออกนโยบาย รวมถึงยังไม่มีนักการศึกษา ซึ่งเป็นนักปฏิบัติ มาร่วมยกร่างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ดังนั้น จึงกำหนดเป็นนโยบายกว้างๆ เป็นภาพใหญ่ เช่น เรื่องความเสมอภาคด้านการศึกษา เพราะหากกำหนดให้เป็นรูปธรรม หรือลงรายละเอียด จะปฏิบัติได้ยาก

ขณะที่นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า นโยบายการศึกษาของแต่ละพรรคการเมือง ใกล้เคียงกัน ถือว่าแต่ละพรรคทำการบ้านมาดี ติดตามสถานการณ์การศึกษาไทย จึงไม่ตกประเด็นปัญหา และรู้ว่าปัญหาการศึกษาไทยคืออะไร แต่โจทย์ที่ยากสำหรับรัฐบาลใหม่ คือมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่บริหารตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้ทิ้งหลายๆ เรื่องที่ต้องแก้ไข รัฐบาลใหม่จะจัดการอย่างไร ไปพร้อมๆ กับการดำเนินนโยบายที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน

ด้านนายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ภาพรวมนโยบายการศึกษาแต่ละพรรค ทำการบ้านมาดีพอหรือไม่ เท่าที่ดูดีเบตของพรรคการเมืองที่ออกมาพูดด้านการศึกษา มีน้อยมาก

พบว่าแต่ละพรรคเน้นนโยบายการศึกษาที่ปลีกย่อย ไม่ดูโครงสร้างหลักๆ ของการศึกษามากเท่าที่ควร และนโยบายที่แต่ละพรรคเสนอ ยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาการศึกษามากนัก เพราะท้ายสุดกลับไปถึงเรื่องของการแจกจ่ายเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ปลีกย่อย ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง

เรียกได้ว่าวิจารณ์ได้ตรงประเด็น และตรงใจใครหลายๆ คนเลยทีเดียว!!

 

ตัวแทนจากภาคเอกชนอย่างนายวัลลภ สุวรรณดี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) เห็นว่า เท่าที่ดูนโยบายของแต่ละพรรค ยังไม่สะท้อนให้เห็นภาพการแก้ปัญหาที่ชัดเจน และในอนาคตอยากให้รัฐบาลที่เข้ามา มองในเรื่องการจัดสรรงบฯ ในมิติใหม่ โดยการใช้จ่ายจะต้องลงไปที่การพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง และในส่วนของอุดมศึกษา อยากให้มองวิกฤตเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลง อยากให้เข้ามาช่วยดูแล และพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ…

“เท่าที่ดูนโยบายแต่ละพรรคขณะนี้ ยังไม่สะท้อนแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจน ดังนั้น ผมเองคงไม่สามารถพูดอะไรได้มากนัก แต่หากเป็นไปได้ อยากได้คนที่มองปัญหาการศึกษาไทยได้ทะลุ มองเห็นอุปสรรคที่ทำให้การศึกษาไม่เดินไปข้างหน้า และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหา มาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนในวงการศึกษา แต่ขอให้มีความเข้าใจ และตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาอย่างแท้จริง” นายวัลลภกล่าว

ปิดท้ายด้วย น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ตามที่ได้ติดตามนโยบายพรรคการเมือง พบว่า ไม่ตอบโจทย์การศึกษาไทยเท่าที่ควร อีกทั้งนโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองส่วนใหญ่เป็นการ ลด แลก แจก แถม ทั้งสิ้น

“ขณะนี้ทุกพรรคการเมือง พยายามจะเอาชนะกัน ด้วยการนำเงินมาทำให้ประชาชนเกิดความชื่นชอบ ไม่ได้คิดนโยบายจากบนพื้นฐานของปัญหาการศึกษาอย่างแท้จริง และผมมองว่านโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองส่วนใหญ่นั้นเป็นประชานิยม แต่ก็มีรายละเอียดอื่นที่ดี เช่น นโยบายบางพรรคจะลดภาระงานอื่นๆ เพื่อให้ครูมีเวลาสอนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น”

น.ท.สุมิตรกล่าว

 

เรียกได้ว่า นักวิชาการทั้งหลายได้ “ชำแหละ” นโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองต่างๆ ได้อย่างเผ็ดร้อน

งานนี้ มารอลุ้นกันว่า “นโยบาย” ของพรรคการเมืองใด จะเอาชนะใจประชาชน ให้จรดปลายปากกาเลือกได้ในที่สุด

  24 มีนาคมนี้ รู้ผลแน่นอน!!