คนของโลก : อับเดลาซิซ บูเตฟลิกา ผู้นำแอลจีเรียผู้รอดพ้นอาหรับสปริง

อับเดลาซิซ บูเตฟลิกา ประธานาธิบดีวัย 81 ปี ที่ชาวแอลจีเรียเรียกกันว่า “บูเตฟ” ตัดสินใจปลดล็อกความวุ่นวายของการชุมนุมประท้วงในประเทศด้วยการ ประกาศถอนตัวออกจากการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 5

เป็นเวลา 20 ปีแล้วที่ประธานาธิบดีผู้ที่สร้างสถิติเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด

แม้ร่างกายจะอ่อนแอ ผลจากการป่วยเป็น “โรคเส้นเลือดในสมองแตก” เมื่อปี 2013 ถึงขั้นต้องนั่งรถเข็น การประกาศลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง จึงสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่ออกมาเดินประท้วงบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก

ประธานาธิบดีผู้ที่ผู้คนเห็นกันชินตากับชุดสูทในทุกๆ โอกาสแม้อากาศจะร้อนเพียงใด เป็นผู้ที่ได้รับความเคารพในฐานะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในช่วงทศวรรษที่ 90 อย่างไรก็ตาม บูเตฟก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนเช่นกันว่าเป็นประธานาธิบดีเผด็จการ เนื่องจากประธานาธิบดีผู้นี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพให้ขึ้นสู่อำนาจ

บูเตฟถูกวิจารณ์อย่างหนักแม้หลังได้รับการเลือกตั้งว่าเป็น “หุ่นเชิด” ให้กับกองทัพแอลจีเรีย

อย่างไรก็ตาม บูเตฟสามารถรวบอำนาจมาไว้ในมือได้สำเร็จ ด้วยการยุบ “สำนักงานข่าวกรองดีอาร์เอส” องค์กรดำมืดที่ถูกเรียกว่าเป็นรัฐซ้อนรัฐในประเทศ ด้วยการถอดถอนนายพลโมฮัมเหม็ด เมเดียน หัวหน้าหน่วยข่าวกรองดีอาร์เอส ที่ดำรงตำแหน่งมานานถึง 25 ปีลงได้

 

อับเดลาซิซ บูเตฟลิกา เกิดในประเทศโมร็อกโก ในวันที่ 2 มีนาคม 1937 ในครอบครัวชาวแอลจีเรีย

หลังอายุครบ 19 ปี บูเตฟเข้าร่วมกับ “กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติแอลจีเรีย” (เอฟแอลเอ็น) ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส

หลังแอลจีเรียได้รับอิสรภาพในปี 1962 บูเตฟได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกีฬาและท่องเที่ยวด้วยวัยเพียง 25 ปี ภายใต้ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศอย่าง “อาห์เหม็ด เบน เบลลา”

บูเตฟได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปีต่อๆ มา และอยู่ในตำแหน่งยาวนานนับ 10 ปี อย่างไรก็ตาม หลังการเสียชีวิตของประธานาธิบดีฮูอารี บูมีเดียน ในปี 1978 บูเตฟตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งและเนรเทศตัวเองไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ

ในปี 1991 ประเทศแอลจีเรียมีการเลือกตั้ง ทว่ารัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ประกาศล้มการเลือกตั้งดังกล่าวลงหลังจากพรรคแนวคิดอิสลามมีทีท่าว่าจะชนะการเลือกตั้ง

เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองนองเลือดยาวนานเกือบสิบปี

บูเตฟเดินทางกลับจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1999 และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตประธานาธิบดี ในฐานะบุคคลผู้ที่จะสามารถทำให้เกิดความปรองดองในประเทศ

หลังได้รับตำแหน่ง บูเตฟเสนอให้มีการนิรโทษกรรมกลุ่มกบฏที่ยอมวางอาวุธ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนใน “แผนปรองดองแห่งชาติ” จากการทำประชามติสองครั้งด้วยกัน แผนซึ่งส่งผลให้ความรุนแรงลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ และผลงานดังกล่าวส่งให้บูเตฟสามารถคว้าเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 2 จากการเลือกตั้งในปี 2004

ในปี 2009 บูเตฟคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้ง ครองเก้าอี้ประธานาธิบดีได้เป็นสมัยที่ 3 หลังจากมีการแก้รัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ตนสามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกครั้ง

ผู้สนับสนุนชื่นชมผลงานนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศที่สร้างงานนับล้านตำแหน่ง และลดอัตราการว่างงานลงอย่างชัดเจน

บูเตฟสามารถรอดพ้นจากกระแสอาหรับสปริงที่เกิดขึ้นในปี 2011 กระแสซึ่งส่งผลให้ประชาชนโค่นล้มผู้นำเผด็จการในภูมิภาคลงได้เป็นจำนวนมาก ด้วยการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีมายาวนาน 19 ปีลง และนำรายได้จากน้ำมันมาเพิ่มค่าจ้างแรงงานในประเทศ

ในเดือนเมษายน 2013 บูเตฟต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลที่ประเทศฝรั่งเศส จากอาการเส้นเลือดในสมองแตก และใช้เวลารักษาตัวยาวนานหลายเดือน และนั่นส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงจนต้องใช้ชีวิตบนรถวีลแชร์ตลอดเวลา

การตัดสินใจลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 4 ในปี 2014 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากบูเตฟอยู่ในตำแหน่งมาแล้ว 15 ปี และถูกตั้งคำถามถึงสภาพร่างกายที่ไม่เหมาะที่จะบริหารประเทศ

แต่การเลือกตั้งครั้งนั้น บูเตฟยังคงสามารถคว้าชัยชนะไปได้ด้วยคะแนนสูงถึง 81 เปอร์เซ็นต์ แม้จะไม่ได้ออกหาเสียงเลยก็ตาม

 

การบริหารงานที่ถูกปกคลุมไปด้วยปัญหาการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง เรื่องทุจริตอันอื้อฉาว รวมไปถึงปัญหาการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย ส่งผลให้การประกาศลงชิงตำแหน่งผู้นำแอลจีเรียอีกครั้งเป็นสมัยที่ 5 จึงกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายของชาวแอลจีเรีย

ความไม่พอใจของประชาชนเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นการเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนไม่ได้ผ่อนคลายลง แม้บูเตฟจะประกาศว่าจะไม่อยู่จนครบวาระก็ตาม

ส่งผลให้บูเตฟประกาศถอนตัวสิ้นสุดช่วงเวลาของประธานาธิบดีบูเตฟ ที่ครองตำแหน่งยาวนาน 20 ปีลงอย่างถาวร