ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | สืบทอดอำนาจบนเส้นทางที่ถูกบีบให้น่ารังเกียจ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

วินาทีที่คุณอภิสิทธิ์แถลงว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนหัวหน้า คสช. เป็นนายก คือวินาทีที่โอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการสืบทอดอำนาจปลิดปลิวไปตลอดกาล เพราะในเมื่อเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เห็นตรงกันเรื่องนี้ ความเป็นไปได้ที่หัวหน้าคณะรัฐประหารจะเป็นนายกต่อก็แทบไม่มีแม้แต่นิดเดียว

ทันทีที่สองพรรคใหญ่ของประเทศมีท่าทีเรื่องนี้ตรงกัน หนทางเดียวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะยึดทำเนียบได้คือต้องให้พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส.เข้าสภามากพอจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่น่ารังเกียจ จากนั้นก็ให้วุฒิสมาชิก 250 คน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกมากับมือนั้นร่วมลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกอีกที

ด้วยสภาพในเขตเลือกตั้งตอนนี้ พรรคพลังประชารัฐที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีทางเป็นพรรคอันดับหนึ่งแน่ๆ ส่วนพรรคคุณสุเทพและพรรคน้อมนำคำสอนของคุณไพบูลย์ เอาแค่ให้ได้ ส.ส.สักคนก็บุญแล้ว สามพรรคนี้หนุนใครเป็นนายกก็เหมือนส่งคนนั้นสู่ตะแลงแกงแห่งการถูกดูหมิ่นเหยียดหยามทางการเมือง

แม้สามพรรคนี้อาจตั้งนายกโดยรวมเสียงพรรคอื่นๆ การยึดทำเนียบด้วยวิธีนี้ก็จะนำคุณประยุทธ์ไปสู่ความยุ่งยากไม่สิ้นสุด เพราะปกตินั้นนายกต้องมาจากพรรคที่มี ส.ส.อันดับแรก หรือไม่ก็รวมเสียง ส.ส.ได้สูงกว่าพรรคอื่น นายกจากการรวมตัวของพรรคที่ ส.ส.น้อยจึงเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งต่อไป

พูดง่ายๆ พรรคที่ได้ ส.ส.น้อยแสดงว่ามีประชาชนให้ความไว้วางใจต่ำกว่าพรรคที่มี ส.ส.เยอะ และหากพรรคเหล่านี้ย่ำแย่จนรวบรวมความสนับสนุนจากพรรคอื่นได้นิดเดียว คนที่เป็นนายกโดยวิธีนี้ย่อมเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ยอมรับจากประชาชนและทุกพรรค ต่อให้ 250 ส.ว.จะยกมือให้เป็นนายกก็ตาม

ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้ลงคะแนนเลือกเพื่อไทยและประชาธิปัตย์มีราวๆ 25 ล้านคน ส่วน ส.ส.จากสองพรรคมีประมาณ 360 จากทั้งหมด 500 การที่สองพรรคไม่หนุนคุณประยุทธ์ย่อมทำให้ผู้สนับสนุนทั้งสองพรรคพะอืดพะอมบุคคลผู้นี้ไปด้วย ความยอมรับที่สังคมมีต่อนายกจากพรรคเสียงข้างน้อยจึงต่ำติดดิน

เมื่อประชาธิปัตย์ประกาศไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายก เส้นทางในการยึดทำเนียบของฝ่าย คสช.จึงถูกบีบให้เปลือยตัวเองต่อหน้าประชาชนว่าคือฝ่ายที่มีคนยอมรับน้อยที่สุดเท่านั้น วิธีนี้ทำให้ความชอบธรรมของคุณประยุทธ์มีปัญหาขั้นติดลบตั้งแต่ต้น ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนเพื่อสืบทอดอำนาจไว้อย่างไร

แน่นอนว่ากองทัพและเครือข่ายชนชั้นนำมีบทบาทชิงอำนาจการเมืองตั้งแต่ก่อนคุณประยุทธ์รัฐประหารแล้วตั้งตัวเองเป็นนายกในปี 2557 แต่การที่คุณประยุทธ์เขียนกติกาและเลือก 250 ส.ว.ไปหนุนตัวเองเป็นนายกจากพรรคที่มีคนเลือกน้อยก็ยิ่งประจานตัวเองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความไม่ยอมรับทางการเมือง

เพื่อจะกำจัดภาพพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำที่ไม่มีใครยอมรับลงไป ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐได้แก่การระดม ส.ส.เพื่อสร้างภาพว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือแคนดิเดทนายกที่มีประชาชนยอมรับจนควรได้เป็นผู้นำประเทศหลังปี 2562 หรือเท่ากับเป็นนายกเกือบสิบปีหลังรัฐประหารที่ผ่านมา

ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างภาพว่าคุณประยุทธ์มีคนยอมรับจริงๆ ยุทธวิธีของพลังประชารัฐจึงได้แก่การดูดอดีต ส.ส.หรือนักการเมืองท้องถิ่นจากพรรคอื่นๆ ให้มากที่สุดตั้งแต่ต้น และถึงแม้วิธีนี้จะดีในแง่เป็นทางลัดให้คุณประยุทธ์ไขว่คว้าอำนาจ วิธีนี้ก็ทำให้พรรคถูกมองว่าทำทุกวิถีทางเพื่อแสวงหาอำนาจด้วยเช่นกัน

ในภาพใหญ่ที่คนเป็นล้านต่อสู้เพราะอุดมการต่างกันมาสิบกว่าปี พลังประชารัฐที่กวาดต้อนคนไปทั่วย่อมถูกมองจากทุกฝ่ายว่าเป็นที่รวมคนทรยศได้หมด ยิ่งกว่านั้นคือความเชื่อว่าพฤติกรรมนี้มีผลประโยชน์แอบแฝงแน่ๆ เพราะปลายทางของการย้ายคือพรรคที่รัฐมนตรีของรัฐบาลทหารตั้งเพื่อให้ทหารเป็นนายกต่อไป

นอกจากการดึงดูดคนด้วยวิธีที่สังคมระแวงว่าไม่ใช่การย้ายพรรคธรรมดา นักการเมืองที่ย้ายไปพลังประชารัฐยังโจมตีพรรคเก่าหรือเครือข่ายเก่าของตัวเองเสมอ อดีตต้นสังกัดอย่างเพื่อไทย, ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยจึงไม่พอใจพลังประชารัฐทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ “มวลชน” ซึ่งรู้สึกว่าถูกกลุ่มย้ายพรรคโจมตีด้วยเช่นกัน

ในโฆษณาพรรคที่เพิ่งออกมา ผู้ชมจะเห็นคุณสุริยะ, คุณณัฐพล, คุณแรมโบ้อีสาน รวมทั้งอดีตไทยรักไทย, กปปส.และ นปช.ใส่สูทดำก้มหน้าด้วยความละอายใจราวอาชญากรทำท่าสำนึกผิดแลกการอภัยโทษ จาก

นั้นกลุ่มสี่รัฐมนตรีในแจ็คเกตขาวก็จะเดินยิ้มเผล่รับคนเหล่านี้เข้าพรรคราวนักบุญอุ้มคนบาปจากอเวจี

ด้วยวิธีสื่อสารการเมืองแบบนี้ พลังประชารัฐทำให้ตัวเองมีเรื่องกับมวลชนที่เชื่อว่าตัวเองต่อสู้เพื่อความถูกต้องโดยไม่เปลี่ยนข้างเพื่อผลประโยชน์แม้แต่น้อยนิด การสร้างพรรคเพื่อสร้างภาพความยอมรับคุณประยุทธ์จึงได้มาด้วยการไฝว้กับกับคนเสื้อแดงหรือ กปปส.จนพรรคมีปัญหาเรื่องความยอมรับทันที

สำหรับสี่รัฐมนตรีในรัฐบาลทหารซึ่งพรรคมุ่งใช้สร้างความยอมรับนายกนายพล ถึงนโยบายเศรษฐกิจของพลังประชารัฐบางข้อจะน่าฟังเหมือนนโยบายบางด้านของพรรคอื่นๆ แต่เศรษฐกิจประเทศที่ถดถอยและเศรษฐกิจรากหญ้าที่เสื่อมทรามทำให้สี่คนนี้ล้มเหลวในการแบกรับภารกิจเพื่อคุณประยุทธ์โดยสิ้นเชิง

ถ้าเปรียบเทียบพลังประชารัฐเป็นสินค้าจากบริษัทซึ่งเจ้าของตัวจริงคือหัวหน้า คสช. สี่รัฐมนตรีก็เปรียบได้กับ Pain Point ที่เป็นจุดอ่อนของสินค้าซึ่งประชาชนรู้สึกว่าไม่ OK จนสร้างกำไรให้เจ้าของไม่ได้ ไม่ต้องพูดว่าตัวเจ้าของก็มีส่วนให้คนไม่เชื่อเรื่องความสามารถทางเศรษฐกิจอยู่แล้วตลอดเวลา

พูดก็พูดเถอะ ภาพคุณสนธิรัตน์กรีดร้องว่า “กูจะไม่ยิ้ม” หรือคุณสุวิทย์ชูดาบหันใส่ตัวเองสไตล์ “นักการเมืองน้ำเน่า” เป็นสัญลักษณ์ว่าสี่คนนี้ไม่สามารถใช้ภาพ “นักบริหาร” เพื่อปั่นความยอมรับให้พลเอกประยุทธ์ได้อีก ภารกิจทางประวัติศาสตร์ของพรรคจึงมีแนวโน้มจะล้มเหลวมากกว่าสำเร็จโดยปริยาย

อนึ่ง ประเด็นที่พลังประชารัฐชูว่าเลือกพรรคแล้วจะได้ความสงบเหมือนประเทศยุค คสช.ก็หว่านล้อมคนทั่วไปไม่ได้มากนัก เพราะห้าปีนี้ประเทศสงบโดยใช้อำนาจปิดปากจนสังคมเห็นว่ามากเกินไป มิหนำซ้ำโจทย์ของประเทศตอนนี้ก็มีมากกว่า “ความสงบ” ที่คุณประยุทธ์และพลังประชารัฐใช้เป็นจุดขายตัวเอง

ด้วยท่าทีทางประวัติศาสตร์ที่บรรจบกันของเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เรื่องไม่สนับสนุนคุณประยุทธ์ เป็นนายก กลีบกุหลาบบนเส้นทางสู่ทำเนียบที่โปรยไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ, พลังประชารัฐ และ 250 ส.ว.ก็กลายเป็นเสี้ยนหนามตำเท้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากเหลือเกิน

ทางที่จะเข้าทำเนียบนั้นมีแน่ แต่การดิ้นรนเข้าไปก็จะทำให้ทุกฝ่ายเจ็บตัวจนแทบไม่เหลือเหตุให้ทำแบบนั้น พลังประชารัฐจะถูกบีบให้ตั้งนายกกับพรรคเล็กๆ และ 250 ส.ว.โดยองค์ประกอบทั้งหมดมีความชอบธรรมน้อยมาก เว้นเสียแต่จะคิดว่าการเป็นนายกต่อคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิตที่ต้องบรรลุให้ได้ทุกวิถีทาง

ถ้าการเมืองไทยจากนี้ถึงวันเลือกตั้งดำเนินไปตามครรลองที่ควรเป็น พล.อ.ประยุทธ์ และพลังประชารัฐจะค่อยๆ หมดความสำคัญทางการเมืองไปในที่สุด การเมืองแบบสามก๊กระหว่างเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-คสช. จะกลายเป็นการแข่งขันระหว่างสองพรรคใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงจะไม่เท่าที่เคยเป็นก่อนรัฐประหารก็ตาม

โดยฉันทานุมัติทางประวัติศาสตร์ของเพื่อไทยกับประชาธิปไตย์เรื่องไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ โจทย์ของประเทศในวันที่ 24 มีนาฯ กำลังเปลี่ยนจาก “เอาประชาธิปไตยหรือเผด็จการ” และ “เอาประยุทธ์หรือไม่เอาประยุทธ์” ไปเป็นโจทย์ว่า “เอาเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์” อย่างที่เคยเป็นตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา

ภายใต้ภูมิทัศน์ทางการเมืองแบบใหม่ซึ่งก่อตัวท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องการเลือกตั้งที่ฟุ้งตลบอบอวลมาเกือบสี่เดือน พลังประชารัฐที่ปราศจากพล.อ.ประยุทธ์ จะถูกกดดันให้เป็นแค่พรรคธรรมดาๆ ไม่ต่างจากภูมิใจไทย, อนาคตใหม่, ชาติไทยพัฒนา , ประชาธิปัตย์ หรือแม้แต่เพื่อไทย

ในเงื่อนไขแบบนี้ สี่รัฐมนตรีจากรัฐบาลทหารมีโอกาสหมดบทบาททางการเมืองในพรรคและในประเทศไปโดยปริยาย เพราะไม่มีใครเป็นสมาชิกพรรคนานพอจะลงเลือกตั้งครั้งนี้ได้ พลังประชารัฐจะเป็นตัวแทนประชาชนที่สนับสนุนคุณสุริยะ, คุณสมศักดิ์, คุณสุพล ฯลฯ เหมือนพรรคการเมืองอื่นในปัจจุบัน

หลังวันที่ 24 มีนาคม 2562 โจทย์ใหญ่ที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตการเมืองไทยคือใครควรเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกันแน่ระหว่างพรรคที่ประชาชนให้ความไว้วางใจในการเลือกตั้งจนได้ ส.ส.เข้ามาในสภาสูงที่สุด หรือไม่อย่างนั้นก็คือพรรคที่รวมเสียงข้างมากจาก ส.ส.ในสภาจนสามารถตั้งรัฐบาลได้ด้วยตัวเอง

ประตูสู่อนาคตใหม่ทางการเมืองได้เกิดขึ้นแล้ว และหากผู้มีอำนาจตอนนี้ไม่ดันทุรังปิดประตูนี้ลง เราจะเห็นการเลือกตั้งที่กลับไปสู่การแข่งขันเชิงนโยบายระหว่างสองพรรคใหญ่อย่างเข้มข้นในสัปดาห์สุดท้าย ส่วนพรรคอื่นๆ อาจเป็นแค่ตัวแปรซึ่งกำหนดว่าพรรคไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาลอย่างที่ต้องการ