สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ทฤษฎีหมวกหกใบ สร้างทักษะการคิด

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เรื่องเล่าเร้าพลังของครูเฉลิมพรกับนักเรียนของครู ในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีแก่ครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามยังคงดำเนินต่อไป ครูพูดช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจ คิดต่อและคิดตาม

“สอนเด็กมาหลายปี ลูกศิษย์จบไปแล้วกลับมาหา บอกว่าวิชาฟิสิกส์ที่ครูสอนเขาไม่ได้เอาไปใช้เลย จริงๆ เด็กเขาใช้แต่เขาไม่รู้ ฟิสิกส์อยู่รอบตัวนักเรียน ทำไมถึงไม่ได้ใช้ ทำให้ต้องกลับมาคิด วิธีการสอนของเราที่ผ่านมาไม่ถูกหรือเปล่า เลยพยายามไปหาความรู้ จะสอนอย่างไรให้นักเรียนนำความรู้ไปใช้ได้”

“พอดีไปที่โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ พบ อ.ประดิษฐ์ เหล่าเนตร มอบเอกสารวิธีการสอนแบบโครงงานให้ผมกับภรรยานำมาใช้ฝึกกับนักเรียน เลียนแบบก่อน เอาแบบญี่ปุ่น จีน ไม่ได้ลอกแบบแต่เลียนแบบ เรียกนักเรียนมา 10 กว่าคน แบ่งกลุ่มให้ทำโครงงานเรื่องกระดาษ กลุ่มหนึ่งลองทำกระดาษจากตาลโตนด ส่งเข้าประกวด ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1 ระดับภาค แต่พอถึงระดับประเทศไม่ได้รางวัล ก็เกิดคำถามว่าทำไมไม่ได้ เพราะงานที่เราทำมีผลกระทบต่อชุมชนน้อย”

“โครงงานที่ทำๆ มาเป็นงานประเภทลองผิดลองถูก เป็นเพียงการอธิบายเฉยๆ แบบมวยวัด ไม่ได้ทำแบบมีองค์ความรู้มาสนับสนุน การทำโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นการเอาองค์ความรู้ไปหาความรู้ใหม่โดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์”

“ด้วยเหตุนี้เลยต้องค้นคว้าหาความรู้เพิ่มว่างานวิจัยเขาทำอย่างไร ต้องลึก ต้องละเอียด หาจากหนังสือ ห้องสมุด สมัยนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่มี ปี 2539 2540 2541 ตอนนั้นมีโรงเรียนแข่งขันสูงเข้ามาในเวทีประกวดโครงงาน มีทั้งเตรียมอุดมฯ มหิดลวิทยานุสรณ์ การทำโครงงานทำแบบวิจัย มีองค์ความรู้รองรับ ครูต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ โรงเรียนบ้านนอกถึงจะชนะเต็งหนึ่งประเทศไทยได้ ต้องพัฒนาตัวเองในการหาความรู้ ขณะเดียวกันต้องหาพันธมิตร อย่างเช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ใช้เครื่องมือ ได้ปรึกษาอาจารย์มหาวิทยาลัย ได้พบอาจารย์เฉพาะทางที่มีความรู้ ทำให้นักเรียนของเราทำงานลึกขึ้น ดีขึ้นกว่าเดิมได้”

“ฉะนั้น ทำอย่างไรถึงจะให้นักเรียนคิดได้เอง ตัดสินใจได้เอง ก็ต้องหานวัตกรรมมาช่วย พอดีไปเจอผังก้างปลาที่เขาใช้วิเคราะห์ในงานอุตสาหกรรม เป็นเครื่องมือหาเหตุและผล หาปัญหากับสาเหตุ เลยนำมาใช้เป็นแนวทางส่งเสริมการคิด วิเคราะห์ ทำออกมาเป็นแผนผังปลาคู่ผู้พิชิต ช่วยในการกำหนดหัวเรื่องที่จะทำ ปัญหาคืออะไร สาเหตุมาจากอะไร วิธีการแก้โดยวิธีใด”

“ให้นักเรียนใช้เวลา 1 สัปดาห์ ต่อมาปรับเป็นทฤษฎีหมวก 6 ใบ ใช้ในกระบวนการคิดทำโครงงาน”

 

1.หมวกสีขาว Objective หมายถึง ความบริสุทธ์ เหมือนกับข้อเท็จจริง เริ่มต้นต้องค้นหาความรู้ ตอนแรกนักเรียนก็ไปหาจากอินเตอร์เน็ต ไปลอกมาเลย ก๊อปมาส่งครู พอซักไซ้ลงลึกๆ เข้า นักเรียนตอบไม่ได้ เลยให้เอาหลัก 5W 1H Who What When Where Why และ How ใส่เข้าไป นักเรียนก็เข้าใจมากขึ้น อธิบายที่มาที่ไปได้

2. หมวกสีดำ Negative หมายถึง ความมืด คือข้อเสีย หรือปัญหา จุดด้อยมีอะไรบ้าง

3. หมวกสีเหลือง Positive หมายถึง ประโยชน์ ข้อดีมีอะไรบ้าง ในเรื่องที่เราจะทำ

4. หมวกสีแดง Intuitive ขั้นตอนการตัดสินใจ เรื่องนี้แหละจะทำหรือไม่ทำ เพราะอะไร ครูยืนอยู่ข้างๆ นักเรียนตัดสินใจโดยสมัครใจ เอาตามข้อมูลที่เขามีอยู่ ถ้าเป็นเรื่องที่ครูอยากให้ทำ ถ้าไม่สำเร็จนักเรียนโทษครู ก็ครูให้หนูทำนี่

5. หมวกสีเขียว Creative หมายถึง ความเจริญงอกงาม ความรู้ เขารู้อะไรมา สิ่งที่จะเรียนรู้ต่อไปคืออะไร เรื่องที่เขาจะทำจริงๆ คืออะไร

6. หมวกสีฟ้า Process ไพลินมาลา เขียนเค้าโครง บรรณานุกรม

 

“มีคนมาถามว่าทำไมคิดเรื่องใหม่ได้ทุกปี ผมตอบไปว่า ถ้าผมคิดให้นักเรียนได้หมด ผมเป็นไอน์สไตน์ไปแล้ว ครูเองทำไป 3-4 ปีก็หมดสต๊อกเหมือนกัน จึงต้องหาความรู้ ที่โรงเรียนมีคณะมาดูงานบ่อย โรงเรียนที่เด็กเก่งก็บอกว่านักเรียนเน้นกวดวิชาอย่างเดียว ไม่สนใจหรอกโครงงาน ที่มาจากโรงเรียนไม่เก่งก็บอกว่า ขนาดเรียนหนังสือวิชาการยังไม่เอาเลย ให้ทำโครงงานจะทำหรือ ที่สุราษฎร์ฯ ไม่ได้อยู่ที่เก่งหรือไม่เก่ง อยู่ที่นักเรียนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจขนาดไหน อย่าเอาความขาดแคลนมาเป็นที่ตั้ง ต้องทำให้เต็มกำลัง สอนวิทยาศาสตร์จากชีวิตจริง เริ่มจากให้นักเรียนหาปัญหาในชุมชน นำเข้าห้องเรียน”

“อย่างโครงงานล่าสุด นักเรียนคิดแก้ปัญหาป่าชายเลนซึ่งเป็นเรื่องปัจจุบันทันสมัย คิดนวัตกรรมอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำด้วยเนิร์สเซอรี่โกงกางใบใหญ่ เดิมการปลูกต้นโกงกางเพื่อรักษาพื้นที่ป่าชายเลนจะเอาต้นโกงกางผูกติดกับไม้ไผ่แล้วเอาไปปักในทะเล ปรากฏว่าตายเสียส่วนใหญ่ นักเรียนเลยคิดช่วยกันหาจุดด้อยของสิ่งที่ทำกันอยู่ตอนนี้ แต่ละปีความสูญเสียมาก เป็นต้นทุนสูงมหาศาล ไปหาความรู้ โกงกางเพาะอย่างไร งอกอย่างไร รากโกงกางทรงสามเหลี่ยมกรวยคว่ำ ก็คิดกันว่าน่าจะปลูกด้วยเนิร์สเซอรี่ในวัสดุที่ทำเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมกรวยคว่ำ

“กำหนดขนาดความสูง ความกว้างของกรวย สูง 14 ซ.ม. กว้าง 28 ซ.ม. ตามหลักฟิสิกส์จุดศูนย์ถ่วงต้องไม่เลยฐาน ต้องอธิบายได้ทำไมทำขนาดเท่านี้ ทีแรกวัสดุที่จะเอามาทำกรวยใช้ปูนซีเมนต์ ปรากฏว่าหนักมากเกินไป เลยออกแบบใหม่ เปลี่ยนเป็นใช้กระดาษและแกลบเผา ปูนเป็นตัวเชื่อม ทำให้กลางกรวยเป็นรูสำหรับใส่ต้นลงไป น้ำหนักลดลงเหลือ 0.7 ก.ก. คิดต่อไป ดินปลูกจะใส่ดินอะไร เอาไปปลูกทั้งกรวย พบว่าหลังหน้ามรสุมโกงกางรอดตาย ยังอยู่ 100% ตอนนี้เอาไปให้ชุมชนใช้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีขอให้นักเรียนไปทำจะไปปลูกที่อ่าวบ้านดอน เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำด้วย”

“การตัดสินใจเกิดจากข้อมูลเปรียบเทียบจริงๆ ส่งโครงงานไปประกวดที่อเมริกาได้ที่ 1 ด้านสิ่งแวดล้อม จากองค์การ USAID รางวัล 5,000 เหรียญ กลับมาไทยได้รางวัลโครงงานยอดเยี่ยมแห่งปี 2561 สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ Project of the year เป็นปีแรกที่มีรางวัลนี้”

“ทำโครงงาน ต้องเอาความรู้มาอธิบายได้ การออกแบบ สร้างนวัตกรรมคืออะไร STEM อยู่ในนี้แหละ” ครูย้ำด้วยความชื่นชมผลงานของลูกศิษย์ชุดล่าสุด

 

“ใช้เวลาเท่าไหร่” ครูอินโดนีเซียในเวทียกมือถาม

“ประมาณ 6 เดือนกว่าจะจบงาน ต้องทดลองให้เห็นผล” ครูตอบ

และว่า โครงงานนี้นักเรียนทำกัน 3 คน ที่โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา นักเรียนวิทยาศาสตร์ 5 ห้อง เด็กมาจาก 3 ห้อง ความสามารถไม่เหมือนกัน อ่อนสุดเกรด 2.3 เก่งสุด 3.8 ต่างระดับมาทำด้วยกัน

ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งสุด ขอให้มีความตั้งใจ มุ่งมั่น โครงงานวิทยาศาสตร์เป็นกิจกรรมใช้เวลานอกเวลาเรียน”

ก่อนจบคำบรรยาย ด้วยภาพ ความสำเร็จ = (ทำ) เรื่อยๆๆๆๆๆ

ล้มเหลว = (เวลา) + เดี๋ยว + เดี๋ยว + เดี๋ยว

เสียงปรบมือดังก้องทั่วห้องประชุมอยู่นาน