เรื่องราวประทับใจในไทยของทูตอิหร่าน ‘มุห์เซน โมฮัมมาดี’ และบทบาทสำคัญในวันนี้

คุยกับทูต มุห์เซน โมฮัมมาดี บทบาทของอิหร่านวันนี้

“ในการย้อนดูประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศอิหร่านนั้นเป็นปัจจัยทำให้อิหร่านต้องมีบทบาทที่สำคัญในแง่ความสามารถของอิหร่านทั้งก่อนและหลังการปฏิวัติ ซึ่งประเทศต่างๆในภูมิภาคเดียวกันไม่เพียงแต่คาดหวังในศักยภาพของอิหร่านดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังต้องการให้อิหร่านเข้ามามีบทบาทในการจัดระเบียบและความสมดุลในภูมิภาคด้วย”

ครั้งนี้ นายมุห์เซน โมฮัมมาดี (H.E. Mr. Mohsen Mohammadi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย มาพูดถึง บทบาทของอิหร่านในตะวันออกกลาง

“อิหร่านไม่ได้เพิ่งมีบทบาทสำคัญในยุคหลังการปฏิวัติเท่านั้น แต่อิหร่านเปรียบเสมือนผู้มีอำนาจที่ประเทศในภูมิภาคสามารถพึ่งพิงได้ตั้งแต่ก่อนเกิดการปฏิวัติรัฐอิสลาม ดังตัวอย่าง เมื่อกองทัพอิหร่านเข้าไปช่วยรัฐสุลต่านโอมาน ปี ค.ศ.1973 ตามคำร้องขอจากรัฐบาลของรัฐสุลต่านโอมานให้ไปต่อสู้กับกบฏในจังหวัดโดฟาร์ (Dhofar Rebellion) เพื่อไม่ให้ประเทศโอมานต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ โอมานซึ่งเป็นประเทศอาหรับได้ร้องขออิหร่านซึ่งไม่ใช่ประเทศอาหรับให้เข้ามาช่วยเหลือ โดยที่โอมานไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากประเทศอาหรับอื่น”

ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติซึ่งอยู่ภายใต้ประเทศต่างๆ และสำหรับเชื้อชาติที่มากที่สุดในตะวันออกกลาง ได้แก่ เชื้อชาติอาหรับ ซึ่งตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่บริเวณอ่าวเปอร์เซียไล่ไปจนถึงแอฟริกาเหนือ ตามมาด้วยลำดับที่ 2 ได้แก่ เชื้อชาติเปอร์เซียซึ่งอยู่ที่ประเทศอิหร่าน และนอกจากนี้ก็ยังมีเชื้อชาติเติร์กซึ่งอยู่ในตุรกีเป็นส่วนใหญ่

ประเทศอิหร่านนั้น ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชาวเปอร์เซีย ไม่ใช่ชาวอาหรับ และภาษาที่ใช้คือภาษาเปอร์เซีย มีที่มาจากคำว่า พาร์ ฟาร์หรือฟาร์ซี (Farsi) ซึ่งเป็นชื่อเมืองๆ หนึ่ง คือเมืองฟาร์ อยู่ในอิหร่าน

ประเทศที่จัดว่าเป็นประเทศอาหรับโดยเป็นสมาชิกของสันนิบาตอาหรับ (The Arab League) ในปัจจุบันมี 22 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ อิรัก จอร์แดน เลบานอน ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย เยเมน ลิเบีย ซูดาน โมร็อกโก ตูนิเซีย คูเวต แอลจีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กาตาร์ โอมาน มอริเตเนีย โซมาเลีย องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ จิบูตี โคโมโรส และเอริเทรีย ซึ่งอยู่ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์

ทั้งนี้ ยังคงมีความขัดแย้งในหมู่ชาวอาหรับด้วยกันในปัญหาปาเลสไตน์ และความขัดแย้งทางศาสนา เป็นต้น

“สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมระหว่างอิหร่านและประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา รวมทั้งบทบาทของกษัตริย์ที่เป็นดั่งผู้พิทักษ์ประเทศในภูมิภาคและบทบาทของอิหร่านในการช่วยขับไล่กบฏโดฟาร์ ออกจากโอมานนั้น เป็นที่ได้รับคำชื่นชมและยกย่องจากประเทศตะวันตกและสหรัฐ รวมทั้งประเทศอาหรับเองด้วย (ยกเว้นอิรัก)”

“ในปัจจุบัน อิหร่านเป็นที่ปรึกษาทางการทหาร เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและรัฐบาลของซีเรีย อิรัก และชาวเคิร์ดปกครองตนเอง (Kurdish autonomous region) ในภูมิภาค อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเอาชนะกลุ่มไอซิส (ISIS)”

“แต่การช่วยเหลือครั้งนี้กลับไม่เป็นที่พอใจหรือได้รับการยกย่องจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรชาติอาหรับ!”

“แต่หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอิหร่าน ประเทศในตะวันออกกลางทั้งหมดคงถูกกลุ่มไอซิส เข้ายึดครอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระจายตัวของกลุ่มผู้ก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรง นั่นเป็นเพราะอิหร่านสามารถเอาชนะกลุ่มไอซิสได้ และจะดำเนินภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายต่อไป ตราบเท่าที่รัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของซีเรีย อิรัก หรือประเทศอื่นๆ ยังต้องการให้อิหร่านทำเช่นนั้น”

“ประชาคมนานาชาติได้ตระหนักถึงบทบาทเชิงบวกที่สำคัญของอิหร่านในการแก้ไขปัญหาในภูมิภาค เช่นเดียวกับการยืนหยัดเพื่อต่อสู้กับการลักลอบค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังป้องกันกลุ่มผู้อพยพที่หวังจะเดินทางเข้ายุโรป”

“ดังนั้น จึงไม่ควรมีใครนำแนวคิดที่ไม่เป็นความจริง มาประเมินบทบาทของอิหร่าน” ท่านทูตย้ำ

“ตอนนี้เรากำลังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัสเซียและตุรกีในฐานะประเทศมหาอำนาจหลักและคัดค้านการแทรกแซงใดๆ จากมหาอำนาจภายนอก มีเพียงประชาชนของแต่ละประเทศเท่านั้นที่ควรตัดสินใจอนาคตของตัวเองผ่านการลงประชามติอย่างเสรีท่ามกลางความสงบสุขและความมั่นคง”

“เมื่อสงครามในซีเรียใกล้สิ้นสุดลง อิหร่านและสมาชิกประชาคมนานาชาติได้รับเชิญจากซีเรียให้เข้าช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟู ซ่อมแซม อาคาร บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากภัยสงคราม”

“จะเห็นได้ว่าประเด็นด้านมนุษยธรรม เป็นปัจจัยหลักเสมอ ในนโยบายต่างประเทศของอิหร่าน”

“เราพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูภาคพลังงานที่สำคัญของซีเรีย และเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2018 บริษัท Mapna Group Company ของอิหร่านได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสถานประกอบการแห่งชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า (PEEG) ของประเทศซีเรีย ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 540 เมกะวัตต์ (MW) ที่ลาตาเกีย (Latakia) เมืองท่าเรือของซีเรีย”

ประสบการณ์เกือบสามปีในประเทศไทยของนักการทูตระดับสูงจากประเทศอิหร่าน

“มีเรื่องที่สร้างความประทับใจให้ผมเป็นอย่างมาก นั่นคือ คนไทยเป็นคนที่มีสัมมาคารวะ มีความสุภาพ อ่อนน้อม มีมารยาท และรู้จักเคารพผู้ใหญ่ คุณรู้สึกได้ถึงความพอใจ ความสันโดษ ความอดทนและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนไทยไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ผมและภรรยาจึงชอบไปเดินเล่นและหาโอกาสสื่อสารกับผู้คนตามสถานที่ต่างๆ เสมอ”

“โดยส่วนตัว เมื่ออยู่ที่อิหร่าน ผมมีกิจกรรมคือการปีนเขาทางตอนเหนือในช่วงฤดูร้อน และเล่นสกีในช่วงฤดูหนาว ผมชื่นชอบดนตรีคลาสสิคของอิหร่าน งานฝีมือ และของเก่า ผมยังได้นำพรมจากอิหร่านที่ทำด้วยมือ (tableau carpets) ติดตัวมาด้วย บางครั้งก็ไปหาซื้อของเก่าและงานไม้แกะสลักของไทย”

เอกอัครราชทูตอิหร่าน นายมุห์เซน โมฮัมมาดี กล่าวชื่นชมในความสัมพันธ์ระหว่างกันว่า

“อิหร่านและไทยเป็นประเทศที่มีความสามารถเฉพาะตัว จึงสามารถเติมเต็มซึ่งกันและกัน ผมคิดว่า จากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาในประวัติศาสตร์ ทำให้เรามีค่านิยม มีผลประโยชน์ร่วมกัน และให้ความนับถือซึ่งกันและกัน เรามีพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น มีความสัมพันธ์ฉันมิตรอย่างสร้างสรรค์และความร่วมมือทวิภาคี เราได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ดีและเป็นไปตามกฎหมาย โดยมีการเตรียมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับอนาคตข้างหน้า”

“และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งของไทยและอิหร่านในการพัฒนาความสัมพันธ์ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักและเป็นแรงบันดาลใจ ทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตอันสดใสของเราทั้งสองประเทศนั่นเอง”