วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/ ฮาริ เซลดอน : นักเศรษฐศาสตร์ (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ฮาริ เซลดอน : นักเศรษฐศาสตร์ (1)

 

ในปี พ.ศ.2555 The Folio Society จัดพิมพ์นิยายชุด The Foundation Trilogy ของไอแซ็ก อาซิมอฟ ออกมาเป็นพิเศษ โดยมีอเล็กซ์ เวลส์ เป็นผู้วาดภาพประกอบ และที่สำคัญคือมีพอล ครุกแมน เขียนคำนำ

ครุกแมนคือใคร?

เขาคือนักเศรษฐศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลโนเบล และเคยเป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เขาเขียนและเป็นบรรณาธิการของหนังสือต่างๆ มากมาย รวมทั้งเป็นคอลัมนิสต์ของเดอะนิวยอร์กไทม์ส

คำนำของเขาได้พูดถึงข้อดีของนิยายชุดนี้หลายประการ และยืนยันว่า ฮาริ เซลดอน หรือศาสดาพยากรณ์ในนิยายคือนักเศรษฐศาสตร์

ในฐานะที่อ่านนิยายชุดนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น เขาชอบนิยายชุดนี้มาก มันเป็นหนังสือที่มีอิทธิพลมาถึงสี่สิบกว่าปี ทำให้เขาไม่อยากเป็นฮีโร่หรือทหารที่ออกรบ แต่อยากจะเป็นฮาริ เซลดอน

นักวิชาการผู้ใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์แห่งพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อกอบกู้อารยธรรม

 

The Foundation Trilogy ถูกยกย่องให้เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ระดับคลาสสิค นิยายแสดงฝีมือของไอแซ็ก อาซิมอฟ ในการปล่อยตัวละครสำคัญ ที่มีความลึกลับ (และชื่อแปลกๆ เช่น ซาลวอร์ ฮาร์ดิน, อนัม บารร์, เบล ริโอเซ่ และเบต้า) และการหักมุมแบบต่างๆ

แต่ก็ดังที่ครุกแมนกล่าว คือ แม้จะเกิดสงครามอวกาศหลายครั้ง แต่ไม่มีฉากแบบนั้นมากนัก

จุดเด่นคือเดินเรื่องด้วยโทนและนํ้าเสียงต่างๆ กัน

ทั้งในรูปคำทำนายในเอ็นไซโคลพีเดียของจักรวาลและบทสนทนาอันลุ่มลึก

หลังจากไตรภาคนี้แล้ว หนังสือชุด The Foundation ยังถูกแต่งต่ออีกนับสิบเล่ม สามเล่มแรกที่เป็นภาษาไทยมีมานานแล้ว ในชื่อ “สถาบันสถาปนา” แปลโดยบรรยงก์ และพิมพ์ออกมาใหม่ในปีนี้โดยแพรวสำนักพิมพ์

ปีที่แล้ว Skydance บริษัทภาพยนตร์ของแอปเปิลก็เพิ่งประกาศว่าจะนำนิยายชุดนี้มาดัดแปลงเป็นซีรี่ส์

ในนิยาย เรื่องเริ่มขึ้นอีกนับหมื่นปีข้างหน้า เมื่อมนุษย์มีความเจริญจนถึงขั้นตั้งกาแล็กติกเอ็มไพร์หรือจักรวรรดิใหญ่ และขยายถิ่นฐานออกไปทั้งกาแล็กซี่ทางช้างเผือก โดยมีพระมหาจักรพรรดิเป็นผู้ปกครอง

แต่ฮาริ เซลดอน นักคณิตศาสตร์คนหนึ่งค้นพบว่าเอ็มไพร์นี้ใกล้ถึงกาลเสื่อมสลาย และหลังจากนั้นจะเกิดยุคมืดที่กินเวลาหลายหมื่นปี อย่างไรก็ตาม เขาเสนอว่า ด้วยวิชาที่เรียกว่า Psychohistory (แปลเป็นไทยว่าอนาคตประวัติศาสตร์) และการสนับสนุนของรัฐบาลเอ็มไพร์ เขาจะสามารถจำกัดช่วงเวลาของยุคมืดให้เหลือเพียงพันปีได้

ไม่มีใครเชื่อ เซลดอนจึงรวบรวมนักวิชาการจำนวนหนึ่งไปตั้งฐานที่ดาวดวงใหม่ตรงสุดขอบจักรวาล โดยอ้างว่าเพื่อรักษาและแพร่ขยายความรู้ทั้งมวลของมนุษย์ในรูปแบบของเอ็นไซโคลพีเดียกาแล็กติกา แต่จริงๆ แล้วเพื่อสร้างองค์กรลับหรือ “เดอะ แพลน” ขึ้นมาเพื่อรอเวลาเพื่อรับมือกับวิกฤตอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ

ในเล่มแรก นักวิชาการกลุ่มนี้ยังสืบลูกหลานเพื่อทำงานดังกล่าว ทั้งหมดรอดพ้นวิกฤตการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่ามาและเปลี่ยนวิถีแห่งความเสื่อมนั้นได้ด้วยทฤษฎีที่เซลดอนคำนวณไว้แล้วล่วงหน้า

เล่มสอง คือ Foundation and Empire บังเกิดสิ่งที่เซลดอนไม่ได้พยากรณ์ไว้ นั่นคือ มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเดอะ มิวล์ หรือมโนมัย ทำให้สถาบันสถาปนาแห่งที่หนึ่งถูกทำลายและเดอะ แพลนก็พินาศไปบางส่วน

เล่มสามเป็นเรื่องของสถาบันสถาปนาแห่งที่สอง หรือ Second Foundation ซึ่งเซลดอนตั้งขึ้นตรงอีกด้านหนึ่งของจักรวาล เพื่อประกันความสำเร็จของสถาบันสถาปนา ในเล่มนี้ทุกฝ่ายพยายามค้นคว้าเสาะหาว่าสถาบันแห่งที่สองนี้มีจริงหรือไม่

 

สิ่งที่น่าทึ่งประการแรก คือขนาดของนิยาย ซึ่งครอบคลุมเวลากว่าล้านล้านปี เมื่อสังคมมนุษย์ที่ขยายตัวไปทั่วกาแล็กซี่หรือครอบครองดวงดาวหลายล้านดวง ด้วยความใหญ่โตนี้เองทําให้การเสื่อมสลายค่อยๆ คืบคลานไปอย่างช้าๆ

สาเหตุของความเสื่อมคือการถูกบุกโดยคนเถื่อนหรือ barbarism กลุ่มดาวต่าง ๆ จะแยกตัวเป็นอิสระ ความสับสนวุ่นวายจะบังเกิดขึ้น และวิทยาการต่างๆ จะสูญสลาย เกิดการรบราฆ่าฟันกันด้วยกิเลสและอํานาจของมนุษย์ แต่การที่ความเสื่อมนั้นเริ่มจากขอบจักรวาล จึงไม่มีใครสามารถสังเกตได้

ประการที่สอง คือ วิธีทำนายอนาคตโดยใช้คณิตศาสตร์กับจิตวิทยา ซึ่งคํานวณได้จากสถิติทางคณิตศาสตร์ที่มีความแน่นอน โดยเทียบกับกฎของก๊าซ

นั่นคือเราไม่สามารถทำนายการเคลื่อนที่แต่ละโมเลกุลได้ แต่เมื่อมีโมเลกุลมากๆ มารวมกันเราทำนายพฤติกรรมของก๊าซได้ จากนั้นเซลดอนได้สร้างสิ่งที่เรียกกันในสมัยนั้นว่าจิตวิทยามวลชน และทำสมการให้บอกความเป็นไปของอารยธรรมได้

นิยายจึงเกี่ยวกับความขัดแย้งในด้านการเมืองและสังคม ทั้งที่อาซิมอฟเรียนจบมาทางเคมี ผู้เขียนซึ่งเริ่มเขียนนิยายชุดนี้ในปี พ.ศ.2494 มีความรู้ประวัติศาสตร์มาก

สำหรับคนที่เรียน “ยำตก” หรือรู้เรื่องอารยธรรมตะวันตกมาบ้าง ส่วนที่เกี่ยวกับความเสื่อมของจักรวรรดิจะคล้ายกับ The History of the Decline and Fall of the Roman Empire ของเอ็ดเวิร์ด กิบบอนส์ ซึ่งเขียนตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนำเอาเรื่องของจักรวรรดิโรมันที่ล่มสลาย และการที่ยุโรปอยู่ในยุคมืดจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นแกนของเรื่อง

กำเนิดของเอ็มไพร์คล้ายทุนนิยมในยุคศักดินา หรือยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งมีการเติบใหญ่ของพ่อค้าและช่างของราชสำนัก รวมทั้งพัฒนาการของชนชั้นบูชัวส์และความเป็นชาติ

หนังสือชุดนี้จึงไม่ได้เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ธรรมดา แต่เป็นนิยายทางการเมืองและสังคมด้วย

 

ในคำนำ ครุกแมนบอกว่า ตอนนี้รู้แล้วว่า วิชาเศรษฐศาสตร์อาจจะทำนายอนาคตไม่ได้

และไม่คิดว่าตนเองจะเก่งเท่าเซลดอน

แต่ตอนนั้นก็พยายามจะเป็นอย่างเขา

นั่นคือเรียนเศรษฐศาสตร์