ธงทอง จันทรางศุ | พระสุพรรณบัฏ

ธงทอง จันทรางศุ

ตอนนี้ข่าวคราวที่อยู่ในความสนใจส่วนตัวของผม ที่จัดอยู่ในลำดับต้นเห็นจะไม่พ้นเรื่องการเตรียมการสำหรับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะยังไม่ทราบรายละเอียดอะไรมากมายนักก็ตาม แต่ก็เป็นโอกาสให้ผมได้ขมีขมันกลับไปย้อนดูเอกสารหรือหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องบรรดาที่มีสะสมไว้ในบ้านของตัวเองหรือมีท่านผู้อื่นเมตตามอบให้ในช่วงระยะเวลาไม่กี่วันกี่เดือนที่ผ่านมานี้

เมื่อพูดถึงงานพระราชพิธีครั้งนี้ ศัพท์แสงถ้อยคำต่างๆ ที่ต้องใช้ในงานพระราชพิธีหลายคำได้ห่างหายไปจากความรู้ความเข้าใจของคนไทยมานานแล้ว

ทำให้มีใครหลายคนพอพบหน้าผมก็มักจะสอบถามว่าคำนี้แปลว่าอะไร หมายถึงอะไร

ผมก็ติดนิสัยคนเป็นครูไม่รู้หาย เขาถามมานิดเดียว ตอบไปเสียตั้งเยอะ ตอบแล้วก็เสียดายครับเพราะลมปากก็จะลอยลมหายไปเป็นอากาศธาตุเสียหมด

ขออนุญาตนำมาจดไว้ในกระดาษอย่างนี้ดีกว่านะครับ

เรื่องของเรื่องเริ่มต้นที่คำว่า “พระสุพรรณบัฏ”

คำนี้แปลอย่างตรงไปตรงมา ก็คือแผ่นทองคำที่ตีแผ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมมีขนาดกว้างยาวตามที่ต้องการจะใช้งาน

ข้อสำคัญคือ ต้องหนาเพียงพอที่จะจารึกข้อความลงไปบนแผ่นทองคำนั้นได้

ไม่ใช่การตีแผ่เสียจนบางเฉียบอย่างทองคำเปลวซึ่งใช้งานต่างวัตถุประสงค์

ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ละครั้ง จะมีพระราชพิธีจารึกพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ลงบนแผ่นทองคำที่ว่านี้ ล่วงหน้าวันที่กำหนดเป็นวันพระบรมราชาภิเษกประมาณหนึ่งหรือสองสัปดาห์ โดยมีพระราชพิธีที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระสุพรรณบัฏ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๔๙๓ (ภาพจาก หนังสือ ยุพร แสงทักษิณ. เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องสูง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๓๙.)

เมื่อใกล้ถึงวันงานพระบรมราชาภิเษกจะมีริ้วกระบวนแห่อัญเชิญพระสุพรรณบัฏ จากวัดพระแก้วเข้าไปยังหมู่พระมหามณเฑียรเพื่อเตรียมการที่จะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในวันงานพระราชพิธีต่อไป

พระสุพรรณบัฏเป็นถ้อยคำที่มิได้เรียกเฉพาะแต่แผ่นทองคำที่จารึกพระปรมาภิไธยของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น

หากแต่เรียกตลอดไปจนถึงแผ่นทองคำที่จารึกพระนามาภิไธยและพระนามของเจ้านายที่ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยศักดิ์ให้เพิ่มพูนขึ้นในวาระต่างๆ ด้วย

เช่นในรัชกาลที่แล้ว เมื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาขึ้นทรงกรม เป็นกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก็ต้องมีการจารึกพระสุพรรณบัฏ และเชิญไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระราชทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์นั้นในวันที่ทรงสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ด้วย

แผ่นทองคำลักษณะเดียวกันยังใช้จารึกนามของสมเด็จพระราชาคณะที่พระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาด้วย แต่เนื่องจากสมเด็จพระราชาคณะแม้จะใช้สมณศักดิ์ว่า “สมเด็จ” นำหน้าราชทินนาม เช่น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระวันรัต หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ พระมหาเถระเหล่านั้นก็ยังมิได้มีฐานะเป็นเจ้านายที่ต้องใช้ราชาศัพท์

เพราะฉะนั้น แผ่นทองคำที่จารึกชื่อของท่านจึงเรียกแต่เพียงว่า สุพรรณบัฏ ไม่มีคำว่า “พระ” นำหน้า

ยังไม่หมดครับ แผ่นทองคำลักษณะนี้ยังใช้จารึกนามของราชการผู้ใหญ่ ที่ได้รับบรรดาศักดิ์สูงชั้นสมเด็จเจ้าพระยาและเจ้าพระยาด้วย ถือว่าเป็นการพระราชทานเกียรติยศยกย่องอย่างยิ่ง แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังคงมีฐานะเป็นสามัญชน ถ้อยคำที่เรียกแผ่นทองคำจารึกนามของท่านจึงเรียกสุพรรณบัฏเช่นเดียวกันกับกรณีสุพรรณบัฏของสมเด็จพระราชาคณะ

ลดหลั่นลงไปจากแผ่นทองคำจารึกพระนามหรือจารึกนาม ก็เป็นคำอีกคำหนึ่งที่เราไม่ได้ยินกันบ่อยนัก

นั่นคือ “หิรัญบัฏ”

คือแผ่นเงินที่ตีแผ่เป็นรูปสี่เหลี่ยม สำหรับจารึกนามที่ได้รับพระราชทาน สำหรับกรณีพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเจ้าคณะรอง

กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือว่า ถ้าได้เลื่อนสมณศักดิ์อีกครั้งหนึ่งก็จะได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะแล้วนั่นแหละครับ พระราชาคณะชั้นนี้มักมีราชทินนามขึ้นต้นด้วยคำว่า “พรหม” เช่น พระพรหมมุนี และพระพรหมบัณฑิต แต่อาจมีราชทินนามสำหรับบางรูปเป็นอื่นที่ไม่ได้ขึ้นต้นด้วยคำว่าพรหมก็ได้ เช่น พระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหารรูปปัจจุบันนี้ เป็นต้น

มีอยู่บ้างเหมือนกันที่ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางชั้นเจ้าพระยา ได้รับพระราชทานหิรัญบัฏเหมือนอย่างพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จเป็นขั้นต้นก่อนแล้วต่อไปจึงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาชั้นสุพรรณบัฏในภายหลัง

ข้อนี้สุดแต่จะทรงพระราชดำริและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

จะเห็นได้ว่าผู้ได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏและหิรัญบัฏล้วนแต่เป็นเจ้านาย พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ และข้าราชการผู้มากด้วยอาวุโส

การจารึกพระนามหรือนามของท่านลงบนแผ่นทองคำหรือแผ่นเงิน จึงเป็นเกียรติยศพระราชทานที่มีความเหมาะสมและเป็นความภาคภูมิใจของผู้ได้รับพระราชทานเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนสำหรับข้าราชการทั่วไปที่มีบรรดาศักดิ์ต่ำกว่าเจ้าพระยาลงมา ในสมัยโบราณจะเกณฑ์ให้จารึกบรรดาศักดิ์และราชทินนามที่ได้พระราชทานลงบนแผ่นทองคำหรือแผ่นเงินเห็นทีจะไม่ไหว

โดยหลักแล้วท่านจึงเขียนนามเหล่านั้นลงบนแผ่นกระดาษ เรียกแผ่นกระดาษนั้นว่า “สัญญาบัตร”

ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ท่านให้ความหมายไว้ว่า คือใบตั้งยศ บรรดาศักดิ์ หรือสมณศักดิ์ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้ง

ทุกวันนี้คำว่าสัญญาบัตรก็ยังมีใช้อยู่นะครับ

กรณีแรกคือ การตั้งสมณศักดิ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทาน ได้แก่ พระราชาคณะตั้งแต่ชั้นธรรมเป็นต้นลงไปจนถึงชั้นสามัญ

และพระครูที่เรียกว่าพระครูสัญญาบัตร

กรณีที่สองคือ การตั้งบรรดาศักดิ์ ซึ่งมีอยู่น้อยรายเต็มทีแล้ว เท่าที่ผมนึกออก ผู้ที่มีบรรดาศักดิ์ปัจจุบันนี้ เห็นจะมีอยู่แต่บรรดาพระมหาราชครูและพระราชครูในคณะพราหมณ์ของหลวง

เช่น พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ เป็นต้น เท่านั้น

กรณีที่สาม ยังมีมากรายอยู่ นั่นคือการพระราชทานยศสำหรับนายทหารและนายตำรวจที่เราเรียกว่านายทหารสัญญาบัตรและนายตำรวจสัญญาบัตร

คำเรียกขานดังกล่าวมีที่มามาจากแผ่นกระดาษที่ทรงตั้งยศพระราชทานนี่เอง

พอพูดถึงคำว่าสัญญาบัตรแล้วผมเชื่อว่าหลายท่านจะนึกถึงคำว่า “ประทวน” เพราะคำสองคำนี้มักจะมาคู่กันอยู่เสมอ

เช่น เวลาเราเข้าไปในค่ายทหาร เราอาจจะได้เห็นสโมสรนายทหารสัญญาบัตรตั้งอยู่แห่งหนึ่ง

และมีสโมสรของนายทหารประทวนอยู่อีกแห่งหนึ่ง

ต่างฝ่ายต่างใช้สโมสรของตัวเองไม่ข้ามแดนกัน

เช่นเดียวกันครับผู้ที่อยู่ในแวดวงของพระสงฆ์องค์เจ้า อาจจะเคยได้ยินคำว่าพระครูประทวน เป็นคำคู่เทียบกันกับคำว่าพระครูสัญญาบัตรที่เรากล่าวถึงมาข้างต้นแล้ว

คำว่าประทวนในที่นี้คือฐานันดรที่ต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร เป็นเอกสารแต่งตั้งที่ทำด้วยกระดาษเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ของพระราชทาน หากแต่เป็นเอกสารที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาจัดทำขึ้นเพื่อมอบให้เป็นหลักฐานการแต่งตั้งสำหรับผู้ที่อยู่ในอำนาจปกครอง

เช่น นายทหารผู้ใหญ่ระดับเจ้ากระทรวงหรือแม่ทัพออกใบประทวนให้กับนายทหารที่มียศต่ำกว่าร้อยตรีลงไป เช่น จ่า หรือนายสิบ

หรือทางฝ่ายคณะสงฆ์ ถ้าเป็นพระครูประทวนก็หมายถึงพระครูที่ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะปกครองของคณะสงฆ์หรือได้รับแต่งตั้งจากพระราชาคณะที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศให้ตั้งฐานานุกรมคือคณะผู้ช่วยทำงานของท่านได้ เช่น ตำแหน่งพระครูใบฎีกา ก็เป็นพระครูประทวนประเภทหนึ่ง

เห็นไหมครับ บอกแล้วอย่างไรว่า คนเป็นครูนี้ขยันอธิบายจริงๆ อธิบายจนลูกศิษย์หลับกันเป็นแถวๆ ไปเลยล่ะ

ตื่น ตื่นได้แล้วครับ