จรัญ มะลูลีม : เรซา ชาฮ์ ปาห์ลาวี “ทหารสู่กษัตริย์ราชวงศ์สุดท้ายแห่งอิหร่าน”

จรัญ มะลูลีม

เรซา ชาฮ์ ปาห์ลาวี (1921-1941)

ในวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1925 เรซา ข่าน ได้ประกอบพิธีราชาภิเษกตั้งตัวเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า เรซา (ริฎอ) ชาฮ์ ปาห์ลาวี (Reza Shah Pahlavi) กษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์ปาห์ลาวีและประวัติศาสตร์ของอิหร่านสมัยใหม่ก็ตั้งต้นขึ้นตรงจุดนี้

เรซา ข่าน เกิดเมื่อประมาณปี 1873 ในครอบครัวเล็กๆ ที่มาจากเมืองอลัชต์ (Alasht) ในเขตซาวัด กูก (Sawad Kuk) ในแคว้นมาซันดาราน (Mazandaran) บิดาและปู่เป็นนายทหาร

เมื่อถึงวัยหนุ่ม เรซา ข่าน ได้เข้าเป็นทหารเกณฑ์อยู่ในกองพลน้อยคอสแสค (กองพลน้อยคอสแสค (Cossack) เป็นกองทหารม้าที่มีชื่อเสียงของซาร์แห่งรัสเซีย) ในสมัยที่นาซีรุดดีน ชาฮ์แห่งราชวงศ์กาญาร์ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี 1848 พระองค์ได้ให้กองทหารคอสแสคมาบัญชาการทหารม้าให้อิหร่าน ซึ่งเป็นกองทหารเดียวที่อิหร่านมีจนถึงปี 1921

เรซา ข่าน หรือเรซา ชาฮ์ ในเวลาต่อมาได้เลื่อนยศขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว จนเมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้ยศเป็นพันเอก

จนกระทั่งนำทหารเข้าทำการรัฐประหาร

 

ตั้งแต่วันแรกของการครองราชย์มาจนกระทั่งวันสุดท้าย พวกขุนนางและพวกชนชั้นผู้ดีก็ได้รับเลือกให้เข้าไปนั่งในรัฐสภา

แต่ความสำคัญจริงๆ ของคนเหล่านี้มิได้มาจากการเป็นสมาชิกรัฐสภา หากแต่มาจากครอบครัว ความมั่งคั่งของพวกเขา หรือมิฉะนั้นก็จากตำแหน่งหน้าที่ที่เขามีอยู่

สำหรับพวกขุนนางชั้นผู้น้อย นักกฎหมาย นักการศาสนาและเจ้าที่ดินนั้น รัฐสภาก็ได้ให้สิทธิ์และเกียรติยศอย่างหลอกๆ แม้กระทั่งให้วิถีทางที่จะปกป้องสิทธิ์ทางสังคมและเศรษฐกิจได้ แต่ไม่ให้อำนาจทางการเมืองการปกครอง

ทุกๆ สี่ปีจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาขึ้นใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ส่วนมากแล้วความเปลี่ยนแปลงมีแต่เพียงในนามเท่านั้น มิใช่เปลี่ยนแปลงในตัวบุคคล ในปรัชญาการปกครองของเรซา ชาฮ์นั้นไม่มีอะไรอยู่เลย ไม่มีการให้อำนาจ อิทธิพลหรือความเป็นอิสระแก่รัฐสภา

ทรงตั้งพระองค์เองขึ้นเป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการปกครองและเศรษฐกิจ

เป็นเพราะเรซา ชาฮ์ ขึ้นมาครองอำนาจโดยไม่เคยมีพรรคพวกทางการเมืองหรือมีพรรคการเมืองห้อมล้อมมาก่อนเลย

พระองค์เพียงแต่ได้ชื่อว่าเป็นนักปกครองที่ทันสมัย แต่ความจริงนั้นจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทรงเป็นเพียงกษัตริย์หรือชาฮ์ที่ผ่านไปตามเหตุการณ์เท่านั้น

เรซา ชาฮ์ เป็นคนที่ไม่ยอมอดทนต่อการคัดค้านของผู้ที่พระองค์ไม่ทรงไว้วางพระทัยหรือคนที่อาจคิดแข่งขันช่วงชิงอำนาจจากพระองค์ได้

วิธีแก้ไขอันตรายที่เกิดจากคู่แข่งขันแบบดั้งเดิมก็คือการจับกุมคุมขัง เนรเทศและปลิดชีวิตเสีย

นอกจากอำนาจแล้วพระองค์ยังต้องการความมั่งคั่งอีกด้วย เรซา ชาฮ์นั้นมีชื่อว่าเป็นผู้มีที่ดินมากมายเหลือประมาณด้วยการใช้วิธีการที่ชนชั้นเจ้าที่ดินและบรรพบุรุษของพวกเขาได้สร้างขึ้นมา คือการยึดเอาที่ดินของราษฎรไปโดยพลการ

แต่เรซา ชาฮ์ ยังมีอำนาจของกษัตริย์หนุนหลังดีกว่าเจ้าที่ดินเหล่านั้นมากนัก

 

จะว่าไปความใฝ่ฝันทะเยอทะยานของเรซา ชาฮ์ ก็ไม่ใช่เพื่อตัวของพระองค์เองไปเสียทั้งหมด แต่เป็นไปเพื่อความเจริญก้าวหน้าของอิหร่านด้วย

ทรงมีคุณสมบัติที่ทำให้เด่นมิใช่แต่เพียงในหมู่ชาวอิหร่านเท่านั้น แต่ในบรรดารัฐบุรุษรุ่นเดียวกันด้วย

พระองค์ทรงศึกษาปัญหาสำคัญๆ ของประเทศอย่างรอบคอบและใช้เวลานานแล้วก็ตัดสินใจลงมือกระทำอย่างใจเย็น ไม่เคยกลัวที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องใหญ่ๆ

ทรงก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ปกครองประเทศทั้งๆ ที่รู้ว่าสถานการณ์ของประเทศเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิหร่านที่ในขณะนั้นตกอยู่ในวงล้อมของสหภาพโซเวียตรัสเซียทางทิศเหนือ ในวงล้อมของอินเดียอันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ รวมทั้งอ่าวเปอร์เซียและอิรักทางทิศตะวันออก

เครื่องมืออย่างเดียวที่เรซา ชาฮ์ มีอยู่ในอันที่จะใช้พัฒนาประเทศก็คือกลไกของรัฐบาล

ในสมัยก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์ก็ได้มีการสร้างความก้าวหน้าสำคัญๆ ในด้านการบูรณะความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประเทศ

การสร้างกลไกด้านการเงินซึ่งจะเปิดทางให้รัฐบาลสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องในทุกๆ ด้านในขณะเดียวกัน เช่น ปรับปรุงความปลอดภัยเพื่อให้การสื่อสารคมนาคมเป็นไปโดยเรียบร้อย ต้องสร้างถนนหนทางเพื่อให้มีการเดินทางภายในประเทศและออกไปนอกประเทศเป็นไปได้

และต้องสนับสนุนการก่อตั้งอุตสาหกรรมซึ่งจะได้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ทางการค้าและการผลิตต่างๆ ด้วย

 

การพัฒนาใหม่เช่นนี้มีความหมายสองด้านคือหมายถึงการขยายบทบาทของรัฐบาลให้เข้าไปในเรื่องราวด้านเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้น และยังหมายถึงการสร้างความสมดุลใหม่ขึ้นระหว่างความพยายามของชาวอิหร่านเองในกิจการต่างๆ กับการที่ต้องพึ่งชาวต่างชาติ

ในด้านการศึกษา เรซา ชาฮ์ เป็นผู้ที่จัดให้มีการประถมศึกษา มัธยมศึกษา การศึกษาผู้ใหญ่ อาชีวศึกษาและการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยที่นักเรียนมีอยู่ไม่ถึง 10,000 คนในโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ จัดให้มีการฝึกหัดครู สร้างโรงเรียน ทำหลักสูตร เขียนตำราเรียน เลือกนักเรียนไปเรียนต่อในระดับสูง ณ ต่างประเทศ มันเป็นงานที่น่าเกรงขาม ทุกๆ สิ่งทำขึ้นในเวลาเดียวกัน และต้องยอมรับว่าได้ปริมาณมากกว่าคุณภาพ

แต่ไม่ว่าจะยังขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ตามก็ยังนับได้ว่าการศึกษาของอิหร่านเป็นหนี้ต่อเรซา ชาฮ์ เป็นอย่างมาก ผลก็คือ ทำให้การศึกษาของชาวอิหร่านกว้างขวางขึ้น ไม่จำกัดอยู่แต่ด้านศาสนาเท่านั้นอีกต่อไป และทำให้มีการปลดปล่อยสตรีในทางอ้อม

ในด้านการศาล เรซา ชาฮ์ ก็ได้พยายามปรับปรุงอย่างแข็งขัน ได้มีการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นในปี 1927 มีการออกประมวลกฎหมายแพ่งใหม่และตั้งศาลขึ้นใหม่

ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนโปลีเทคนิค โรงเรียนสอนวิชารัฐศาสตร์ โรงเรียนฝึกหัดครู และโรงเรียนสำหรับนักเรียนหญิง

ในปี 1935 ก็ได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเตหะรานขึ้น โดยได้อิทธิพลของฝรั่งเศสทั้งด้านการสอนและการบริหาร

แต่คณะบริหารของมหาวิทยาลัยไม่สนับสนุนให้มีความคิดแบบอิสระขึ้นในหมู่นักศึกษา

อย่างไรก็ดี นักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ยังมีความคิดแบบซ้ายและความคิดด้านปฏิวัติจนได้

เรซา ชาฮ์ สั่งประชาชนทั้งหญิงและชายให้แต่งกายแบบยุโรปและสั่งกำลังทหารให้ปราบปรามการจลาจลต่อต้านกฎหมายใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองมัชฮัด (Mashad) และกูม (Qum) อย่างรุนแรง

 

ความเป็นเผด็จการ

รัฐบาลที่เกิดจากรัฐประหารนั้นมีงานสำคัญที่จะต้องทำ 2 อย่าง คือ

(1) ทำลายขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนายทุนน้อยผู้เป็นชนชั้นกลางเสียให้ราบคาบ

(2) การปกครองของพวกหัวหน้าเผ่า ในท้องถิ่นต่างๆ และโครงสร้างทางการเมืองของระบบขุนนางศักดินา (feudalism) ซึ่งได้รับการโจมตีอย่างหนักในการปฏิวัติเพื่อรัฐธรรมนูญ จะต้องถูกแทนที่ด้วยโครงสร้างของระบบขุนนาง-ชนชั้นกลาง

การปราบปรามพวกหัวหน้าเผ่าต่างๆ ก็ดี การจัดตั้งกองทัพสมัยใหม่ก็ดี การจัดระบบการศึกษาแบบใหม่และการบริหารแบบใหม่ก็ดี ทั้งหลายนี้ทำขึ้นเพื่อสนองความมุ่งหมายนี้ทั้งสิ้น ลักษณะดังว่านี้ของการปกครองของเรซา ชาฮ์ ซึ่งเป็นไปเพื่อทำลายพวกนายทุนน้อยและแม้กระทั่งชนชั้นกลางที่เป็นชนชั้นผู้นำบางคน ทำให้รัฐบาลโซเวียตรัสเซียยอมรับมาตรการปฏิรูปของเรซา ชาฮ์

หน้าที่ของชนชั้นปกครองในสมัยนั้นมีอยู่ 3 อย่าง คือ

(1) เป็นพรรคพวกของจักรวรรดินิยมและเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของคนเหล่านั้น

(2) เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นกลางที่เป็นนายหน้าของต่างชาติ

(3) เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของพวกขุนนางศักดินา

พวกจักรวรรดินิยมได้ปล้นสะดมเอาทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศคือน้ำมันไป โดยการซื้อในราคาที่ถูกที่สุดและนำไปขายในราคาสูงในตลาดของอิหร่านเอง

และใช้ระบบในการปกครองเป็นเครื่องมือปราบปรามขบวนการก้าวหน้าทั้งหลายภายในประเทศ รวมทั้งเป็นกำแพงกีดกั้นความคิดในด้านปฏิวัติ มิให้เข้ามาจากภายนอกได้

ในรัชสมัยของเรซา ชาฮ์ ความขัดแย้งสำคัญในสังคมของอิหร่านก็คือความขัดแย้งระหว่างประชาชน อันประกอบด้วยชนชั้นกลางระดับชาติ กรรมกร ชนชั้นกลางน้อย ชาวไร่ ชาวนาและชนเผ่าต่างๆ กับกลุ่มปฏิกิริยา คือพวกจักรวรรดินิยม ชนชั้นกลางที่เป็นตัวแทนให้คนต่างชาติ และพวกขุนนางศักดินา