เกษียร เตชะพีระ : ‘ชอมสกี้’ วิเคราะห์ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ (2)

เกษียร เตชะพีระ

ตอน 1

ถอดความเรียบเรียงจากคำให้สัมภาษณ์ของ นอม ชอมสกี้ ปัญญาชนสาธารณะผู้โดดเด่นที่สุดของอเมริกาในเว็บไซต์ truthout เมื่อ 14 พฤศจิกายน ศกนี้ ซึ่งเขาวิเคราะห์วิจารณ์ชัยชนะการเลือกตั้งของว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และแนวโน้มการเมืองอเมริกันในอนาคต ต่อจากสัปดาห์ก่อน

(http://www.truth-out.org/opinion/item/38360-trump-in-the-white-house-an-interview-with-noam-chomsky) :

“…ต่อคำถามที่ว่าระเบียบชีวิตมนุษย์ที่จัดตั้งกันขึ้นจะหลงเหลือรอดอยู่ในรูปแบบที่เราพอรู้จักหรือไม่ ปรากฏว่ามนุษย์กำลังตอบคำถามนั้นด้วยการเร่งแข่งขันกันไปสู่หายนะ

เราอาจตั้งข้อสังเกตทำนองเดียวกันได้กับประเด็นปัญหาใหญ่โตมโหฬารอีกประการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของมนุษยชาติ นั่นคือภัยคุกคามของการทำลายล้างด้วยนิวเคลียร์ซึ่งได้ส่อเค้าทะมึนอยู่เหนือหัวของเรามา 70 ปีแล้ว และบัดนี้ก็กำลังมืดมนเข้าทุกที

มันเป็นเรื่องยากไม่น้อยไปกว่ากันที่จะหาถ้อยคำใดมาพรรณนาข้อเท็จจริงอันน่าตื่นตระหนกเหลือเกินว่าในตลอดการรายงานข่าวอภิมหรสพแพงระยับของการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมาทั้งหมดนั้น ประเด็นปัญหาที่ว่านี้ไม่ได้ถูกใส่ใจมากไปกว่าเอ่ยถึงเพียงผ่านๆ เลย

อย่างน้อยตัวผมเองก็นึกหาถ้อยคำอันสาสมใดมาบรรยายมันไม่ออก”

ขอหันกลับไปหาคำถามแต่แรกของคุณที่ว่า “อะไรบ้างเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ชักนำให้ผู้ลงคะแนนเสียงชาวอเมริกันทำการพลิกล็อกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐหนนี้?” นั้น

หากตอบให้แม่นยำก็คือดูเหมือน ฮิลลารี คลินตัน จะได้รับคะแนนเสียงประชาชนโดยตรงข้างมากนิดหน่อย การที่กลับกลายเป็นว่าทรัมป์ชนะอย่างเด็ดขาดนั้น มันเกี่ยวข้องกับลักษณะบางอย่างอันแปลกพิกลของการเมืองอเมริกันเรา

เหตุปัจจัยที่ว่าก็มี อาทิ ระบบคณะผู้เลือกตั้งอันตกค้างมาจากยุคก่อตั้งประเทศขึ้นมาจากพันธมิตรในหมู่มลรัฐทั้งหลายที่แยกต่างหากจากกัน, ระบบเลือกตั้งแบบใครชนะเสียงข้างมากได้เหมาคะแนนคณะผู้เลือกตั้งไปทั้งหมดในแต่ละรัฐ, การแบ่งเขตเลือกตั้งสภาคองเกรส (บางทีก็ด้วยวิธีแบ่งแบบเอาเปรียบ) เพื่อให้คะแนนเสียงชนบทถ่วงหนักกว่าเมือง (ในบรรดาการเลือกตั้งสภาคองเกรสในอดีตและอาจรวมครั้งนี้ด้วยนั้น พรรคเดโมแครตชนะคะแนนเสียงประชาชนทางตรงข้างมากในสภาอย่างสบายๆ ทว่า กลับได้ที่นั่งเป็นเสียงข้างน้อย), อัตราการงดออกเสียงเลือกตั้งซึ่งสูงยิ่ง (ปกติแล้วก็มีผู้งดออกเสียงเลือกตั้งใกล้เคียงกึ่งหนึ่งในบรรดาการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่างๆ รวมทั้งครั้งนี้ด้วย)

ข้อเท็จจริงซึ่งสำคัญพอสมควรสำหรับอนาคตข้างหน้าก็คือในหมู่ผู้คนอายุระหว่าง 18-25 ปีนั้น คลินตันชนะเสียงข้างมากอย่างสะดวกดาย ยิ่ง เบอร์นี แซนเดอร์ส ด้วยแล้วยิ่งได้เสียงสนับสนุนในหมู่คนรุ่นนั้นสูงกว่าคลินตันเสียอีก

แต่ความข้อนี้จะสำคัญเพียงใดขึ้นอยู่กับว่ามนุษยชาติจะเผชิญหน้ากับอนาคตประเภทไหนกันแน่

ตามข่าวสารข้อมูลที่เรามีตอนนี้ ทรัมป์ได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากผู้ลงคะแนนเสียงผิวขาวสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน ครอบคลุมทั้งที่สังกัดชนชั้นคนงานและชนชั้นกลางระดับล่าง โดยเฉพาะพวกที่มีรายได้ระหว่าง 50,000 ถึง 90,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี ทั้งในชนบทและชานเมือง และในหมู่ผู้เรียนไม่ถึงระดับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก

กลุ่มคนเหล่านี้พากันโกรธแค้นสถาบันอำนาจเดินสายกลางเหมือนกับที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ ทั่วโลกตะวันตก ดังที่เผยออกมาให้เราเห็นในผลประชามติเบร็กซิทที่ผิดความคาดหมายและการล่มสลายของบรรดาพรรคเดินสายกลางในภาคพื้นทวีปยุโรป

บรรดาผู้โกรธแค้นขุ่นเคืองเอาใจออกห่างเหล่านี้จำนวนมากคือเหยื่อของนโยบายเสรีนิยมใหม่ในรุ่นก่อนดังที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ อลัน กรีนสแปน เคยบรรยายถึงนโยบายดังกล่าวไว้ในคำให้การของเขาต่อสภาคองเกรส

นี่เป็นอลันคนเดียวกันกับที่แวดวงวิชาชีพเศรษฐศาสตร์และผู้นิยมยกย่องเขาคนอื่นๆ พากันเรียกขานด้วยความเคารพนบนอบว่า “นักบุญอลัน” จวบจนกระทั่งเศรษฐกิจปาฏิหาริย์ที่เขาชี้นำอยู่พังทลายลงมาในปี ค.ศ.2007-2008 และทำท่าจะลากดึงเอาเศรษฐกิจทั้งโลกไปสู่หายนะด้วย

ก็ดังที่คุณกรีนสแปนเคยอธิบายไว้ในช่วงคืนวันอันรุ่งโรจน์ของเขาว่าความสำเร็จในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของเขานั้นโดยแก่นสารสาระแล้วตั้งอยู่บน “ความไม่มั่นคงที่เพิ่มพูนขึ้นของคนงาน”

ประชาชนคนงานที่ถูกข่มขู่จนเสียขวัญนั้นย่อมไม่บังอาจร้องขอค่าจ้าง สิทธิประโยชน์และความมั่นคงสูงขึ้น

หากยอมพึงพอใจกับค่าจ้างที่ชะงักงันและสิทธิประโยชน์ที่ลดน้อยถอยลงซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจกำลังมีสุขภาพดีตามมาตรฐานการวัดแบบเสรีนิยมใหม่

ประชาชนคนงานผู้ตกเป็นหนูตะเภาของประดาการทดลองทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ไม่ค่อยปลาบปลื้มยินดีกับผลของมันสักเท่าไหร่หรอก

ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาไม่ได้รู้สึกปีติยินดีเป็นล้นพ้นแต่อย่างใดกับข้อเท็จจริงที่ว่าในปี ค.ศ.2007 ณ จุดที่ปาฏิหาริย์เสรีนิยมใหม่พุ่งขึ้นสุดยอดนั้น ค่าจ้างแท้จริงของคนงานที่ไม่มีตำแหน่งเป็นผู้ควบคุมดูแลกลับต่ำกว่าที่เคยได้เมื่อหลายปีก่อน

หรือข้อเท็จจริงที่ว่าค่าจ้างแท้จริงของคนงานชายอยู่ในระดับพอๆ กับเมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ขณะที่คนหยิบมือเดียวแค่เศษเสี้ยวน้อยนิดของผู้ร่ำรวยที่สุด 1% นั้นกลับได้ดอกผลเข้ากระเป๋ามากมายมหาศาล

นี่หาใช่ผลของพลังตลาด ความสำเร็จหรือคุณงามความสามารถไม่

หากเป็นผลของบรรดาการตัดสินใจทางนโยบายที่แน่นอน อันเป็นเรื่องราวซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ ดีน เบเกอร์ ได้ตรวจสอบทบทวนไว้อย่างรัดกุมในงานที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมา (ดู Dean Baker, Rigged : How Globalization and the Rules of the Modern Economy Were Structured to Make the Rich Richer, 2016, http://deanbaker.net/books/rigged.htm)

ชะตากรรมของค่าจ้างขั้นต่ำช่วยแสดงให้เห็นว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างได้เป็นอย่างดี ตลอดช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตสูงและโน้มไปในทางทำให้คนเสมอภาคกันในคริสต์ทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นเกณฑ์พื้นฐานสำหรับค่าจ้างอย่างอื่นๆ นั้นเจริญรอยตามอัตราผลิตภาพ

สภาพดังกล่าวสิ้นสุดยุติลงพร้อมกับการเริ่มต้นของลัทธิเสรีนิยมใหม่ นับแต่นั้นมา (มูลค่าแท้จริงของ) ค่าจ้างขั้นต่ำก็อยู่ในภาวะชะงักงัน หากแม้นมันได้เจริญรอยตามอัตราผลิตภาพอย่างที่มันเคยเป็นมาก่อนหน้านั้นสืบต่อไปแล้ว บางทีค่าจ้างขั้นต่ำก็น่าจะขึ้นไปถึงประมาณเกือบ 20 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมง

ทว่า ทุกวันนี้เพียงแค่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ชั่วโมงก็ถือเป็นการปฏิวัติทางการเมืองแล้ว

ที่พูดกันเกร่อเรื่องสภาวะการจ้างงานเกือบเต็มที่แล้วทุกวันนี้นั้น เอาเข้าจริงการเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกำลังแรงงานยังต่ำกว่าบรรทัดฐานแต่ก่อนอยู่ และสำหรับประชาชนคนงานแล้ว มันแตกต่างกันใหญ่หลวงนักระหว่างการมีอาชีพการงานประจำมั่นคงในภาคหัตถอุตสาหกรรมที่ได้ค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ตามมาตรฐานสหภาพแรงงาน กับการได้งานทำชั่วคราวที่มั่นคงน้อยนิดในอาชีพภาคบริการบางอย่าง

นอกจากเรื่องค่าจ้าง สิทธิประโยชน์และความมั่นคงแล้ว มันยังมีเรื่องการเสียศักดิ์ศรี สิ้นหวังในอนาคต และสูญเสียความรู้สึกสำนึกว่านี่เป็นโลกที่ตนเองสังกัดอยู่และได้แสดงบทบาทอันทรงคุณค่าด้วย

ผลกระทบดังกล่าวมานี้ถูกจับประเด็นไว้ได้เป็นอย่างดีในงานเขียนอันอ่อนไหวและกระจ่างตา กระจ่างใจของ อาร์ลี ฮอชส์ไชลด์ ที่บรรยายถึงฐานที่มั่นคะแนนเสียงของทรัมป์ในมลรัฐลุยเซียนาที่ซึ่งเธออาศัยทำงานอยู่นานหลายปีเรื่อง Strangers in Their Own Land : Anger and Mourning on the American Right (ค.ศ.2016)

เธอใช้ภาพพจน์ของแถวยาวเหยียดที่ชาวลุยเซียนาพากันยืนเข้าคิวต่อกันอยู่ด้วยความคาดหวังว่าจะได้คืบหน้าตามคิวไปเรื่อยๆ อย่างมั่นคงขณะที่พวกเขาพากันทำงานหนักและยึดมั่นคุณค่าดั้งเดิมตามธรรมเนียมประเพณีทั้งปวง

ทว่า ตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในแถวคิวนั้นกลับชะงักงันเสียฉิบ เมื่อมองไปด้านหน้า พวกเขาก็เห็นผู้คนพากันโดดลิ่วไปทางหัวแถว แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขากลัดกลุ้มนักเพราะมันเป็น “วิถีอเมริกัน” ในอันที่จะตบรางวัลให้คน (ที่ว่ากันว่า) เก่งกาจสามารถ แต่ไอ้สิ่งที่ทำให้พวกเขากลุ้มอกกลุ้มใจจริงๆ ได้แก่ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทางด้านหลังพวกเขาต่างหาก พวกเขาเชื่อว่า “คนที่ไม่คู่ควร” ซึ่งไม่ได้ “เดินตามกฎกติกา” กำลังถูกเลื่อนตำแหน่งในแถวขึ้นมาแซงหน้าพวกเขาไปโดยบรรดาโครงการต่างๆ ของรัฐบาลกลางที่พวกเขามองด้วยความหลงผิดว่าถูกออกแบบมาให้เอื้อประโยชน์แก่คนแอฟริกัน-อเมริกัน คนอพยพและคนอื่นๆ ที่พวกเขามักดูหมิ่นเหยียดหยาม

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ยิ่งถูกทำให้เลวร้ายหนักเข้าไปอีกด้วยเรื่องเหยียดเชื้อชาติที่อดีตประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน กุขึ้นทั้งเพว่าด้วย “ราชินีสวัสดิการ” (หมายถึงคนผิวดำโดยนัย) ผู้คอยขโมยเอาเงินที่คนผิวขาวหามาได้ด้วยความยากลำบากไปรวมทั้งนิทานฝันเฟื่องอื่นๆ

บางครั้งบางคราการปล่อยปละละเลยไม่ได้เข้าไปชี้แจงแสดงเหตุผล ซึ่งโดยตัวมันเองก็เป็นการดูหมิ่นถิ่นแคลนรูปแบบหนึ่ง ก็มีส่วนไปเสริมสร้างความเกลียดชัดรัฐบาลด้วยเช่นกัน

ครั้งหนึ่งผมเคยเจอช่างทาสีบ้านคนหนึ่งในเมืองบอสตันผู้หันไปต่อต้านรัฐบาล “ผีร้าย” อย่างขมขื่นหลังจากข้าราชการวอชิงตันคนหนึ่งผู้ไม่รู้ประสีประสาอะไรเรื่องการทาสีเลยได้เรียกประชุมบรรดาผู้รับเหมาทาสีเพื่อแจ้งให้พวกเขาทราบว่าห้ามใช้สีผสมสารตะกั่วอีกต่อไป

ทั้งที่พวกผู้รับเหมาทาสีทุกคนรู้ดีว่า “มันเป็นสีชนิดเดียวที่ใช้การได้” ทว่า ท่านข้าราชการใส่ชุดสูทดันไม่เข้าใจ

เรื่องนั้นทำลายธุรกิจรับทาสีบ้านเล็กๆ ของเขาวอดวายลงและบีบบังคับให้เขาต้องทาสีบ้านด้วยลำพังตนเองโดยใช้สีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานซึ่งพวกชนชั้นนำของรัฐบาลยัดเยียดมาให้

บางทีก็มีเหตุผลแท้จริงที่ก่อให้เกิดท่าทีเหล่านี้ต่อระบบราชการของรัฐบาลด้วยเหมือนกัน

ฮอชส์-ไชลด์ ได้บรรยายเรื่องชายคนหนึ่งซึ่งครอบครัวและเพื่อนฝูงของเขาต้องทนทรมานรับผลกระทบถึงฆาตจากมลพิษสารเคมีอย่างขมขื่น

ทว่า เขากลับรังเกียจเดียดฉันท์รัฐบาลกับ “พวกชนชั้นนำลิเบอรัล” เพราะสำหรับเขาแล้ว องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) หมายถึงไอ้งี่เง่าที่มาเที่ยวบอกเขาว่าห้ามตกปลาแต่ดันไม่ทำห่าเหวอะไรเลยกับโรงงานสารเคมีเหล่านั้น

เหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างชีวิตจริงของบรรดาผู้สนับสนุนทรัมป์ที่ถูกชักนำให้เชื่อว่าทรัมป์จะทำอะไรบางอย่างเพื่อบำบัดเยียวยาชะตากรรมของพวกเขา ถึงแม้ว่าแค่มองดูข้อเสนอเรื่องนโยบายการคลังและอื่นๆ ของทรัมป์แล้วมันจะสำแดงให้เห็นไปในทางตรงกันข้ามก็ตาม – ทั้งหลายทั้งปวงนี้ตกเป็นภาระหน้าที่ของพวกนักเคลื่อนไหวที่มุ่งหวังจะปกป้องตนเองจากภัยอันเลวร้ายที่สุดและผลักดันความเปลี่ยนแปลงอันเป็นที่ต้องการยิ่งให้คืบหน้าไป

(ต่อสัปดาห์หน้า)