เกษียร เตชะพีระ : ชอมสกี้วิเคราะห์ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ (1)

เกษียร เตชะพีระ

ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐของ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ตัวแทนพรรครีพับลิกันเมื่อ 8 พฤศจิกายนศกนี้ ส่งผลสะท้านสะเทือนไปทั่วโลก

มันนำไปสู่คำถามด้วยความหวาดวิตกอย่างกว้างขวางว่าเอาเข้าจริงผู้นำที่แสดงทีทรรศน์ชาตินิยม-ประชานิยม-อำนาจนิยมเอียงขวา-ต่อต้านระเบียบสถาบัน (บางอย่าง) ดังที่เป็นอยู่ (rightwing authoritarian anti-establishment populist-nationalism) ซึ่งค่อนข้างแหกคอกนอกวงชนชั้นนำทางการเมืองของอเมริกาที่ผ่านมาผู้นี้จะใช้อำนาจในตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารของประเทศอภิมหาอำนาจโลกไปทำอะไรอย่างไรกันแน่?

เขาจะปรับเปลี่ยนแนวนโยบายไปในทิศทางที่ผิดเพี้ยนนอกลู่นอกทางกระแสหลักของโลกเสรีประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างที่โฆษณาหาเสียงไว้จริงๆ หรือเปล่า? ไม่ว่าในเรื่องการค้าเสรี, ผู้อพยพหลบหนีเข้าเมือง, ชาวมุสลิม, คนต่างเพศ/ผิวสี/ชาติพันธุ์/ศาสนา, สิทธิมนุษยชน, ภูมิภาคเอเชียและยุโรป, นานาประเทศเผด็จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนรวมทั้งไทย, ภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ฯลฯ

ต่อเรื่องนี้ นอม ชอมสกี้ ศาสตราจารย์แห่งคณะภาษาศาสตร์และปรัชญา สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ปัญญาชนสาธารณะและนักเคลื่อนไหวการเมืองแนวสังคมนิยมเสรี (libertarian socialism) ผู้โดดเด่นที่สุดของอเมริกาปัจจุบัน ซึ่งเคยคาดทำนายการปรากฏตัวของผู้นำการเมืองแบบทรัมป์ในสภาพความเสื่อมทรุดอับตันของเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอเมริกันไว้ก่อนนี้นานแล้ว ได้ให้สัมภาษณ์ C.J. Polychroniou อาจารย์และนักวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมืองและรัฐศาสตร์ชาวกรีก ในเว็บไซต์ truthout เมื่อ 14 พฤศจิกายนศกนี้ว่า

(http://www.truth-out.org/opinion/item/38360-trump-in-the-white-house-an-interview-with-noam-chomsky) :

AFP PHOTO / KHALIL MAZRAAWI
AFP PHOTO / KHALIL MAZRAAWI

ถาม : นอมครับ, สิ่งที่คาดคิดไม่ถึงได้เกิดขึ้นแล้ว ตรงข้ามกับคำพยากรณ์ทั้งหลายทั้งปวง โดนัลด์ ทรัมป์ กลับเอาชนะ ฮิลลารี คลินตัน ได้อย่างเด็ดขาด และคนที่ ไมเคิล มัวร์ (นักทำหนังสารคดีและนักเขียนหัวก้าวหน้าชื่อก้องชาวอเมริกัน) บรรยายว่าเป็น “ไอ้เศษมนุษย์งี่เง่าอันตรายที่เล่นจำอวดนอกเวลาและต่อต้านสังคมเต็มเวลา” จะกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป ในทรรศนะของคุณ อะไรบ้างเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ชักนำให้ผู้ลงคะแนนเสียงชาวอเมริกันทำการพลิกล็อกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐหนนี้?

นอม ชอมสกี้ : ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมคิดว่ามันสำคัญที่จะใช้เวลาครุ่นคิดสักพักว่าเกิดอะไรกันขึ้นหรือเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน อันอาจกลายเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

ที่ผมว่านี้ไม่ใช่เป็นการพูดจาเกินเลยแต่อย่างใด

ข่าวสำคัญที่สุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นั้นแทบไม่มีใครสังเกตเห็น ซึ่งในตัวมันเองความข้อนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญพอสมควร

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้นำเสนอรายงาน ณ ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 22 (COP22) ซึ่งเรียกประชุมกันขึ้นมาเพื่อผลักดันเดินหน้าข้อตกลงปารีสแห่งการประชุมสมัยที่ 21 (COP21) กันต่อไป

WMO รายงานว่าห้าปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ รายงานระบุว่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและยังจะสูงขึ้นต่อไปอีกในเวลาอันใกล้นี้เนื่องจากน้ำแข็งขั้วโลกละลายลงเร็วเกินคาดหมาย โดยเฉพาะที่น่าวิตกยิ่งคือธารน้ำแข็งมหึมาในทวีปแอนตาร์กติกาทางขั้วโลกใต้

ช่วงห้าปีที่ผ่านมาน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกทางขั้วโลกเหนือก็หดตัวลงต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยในรอบ 29 ปีก่อนหน้านั้นถึงร้อยละ 28 แล้ว ซึ่งไม่เพียงแต่ไปหนุนระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นเท่านั้น หากยังไปลดทอนผลความเย็นอันเกิดจากการที่น้ำแข็งขั้วโลกช่วยสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์กลับออกไปด้วย

ฉะนั้น จึงยิ่งไปเร่งผลลัพธ์อันเลวร้ายของภาวะโลกร้อนให้เกิดเร็วเข้าอีก WMO รายงานอีกว่าอุณหภูมิโลกกำลังเข้าใกล้ขีดกำหนดซึ่งที่ประชุม COP21 ระบุไว้อย่างน่าหวาดเสียวขึ้นทุกที รวมทั้งยังมีรายงานและคำพยากรณ์อันน่าขนพองสยองเกล้าอื่นๆ อีก

เหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งอาจกลับกลายเป็นเหตุที่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างผิดปกติวิสัยด้วยเหมือนกัน ด้วยเหตุผลที่แทบไม่มีใครสังเกตเห็นอีกนั่นแหละ

กล่าวคือ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ประเทศซึ่งทรงอานุภาพที่สุดในประวัติศาสตร์โลกซึ่งจะเป็นผู้ประทับรอยพิมพ์ตรึงตราว่าอนาคตเบื้องหน้าจะเป็นเช่นใด ได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้น ผลการเลือกตั้งได้มอบหมายอำนาจควบคุมการปกครองไม่ว่าฝ่ายบริหาร สภาคองเกรส หรือศาลสูงสุด ไว้ในกำมือของพรรครีพับลิกันซึ่งได้กลายมาเป็นองค์การอันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์โลกแล้ว

นอกจากวลีสุดท้ายแล้ว ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โต้แย้งถกเถียงกันแต่อย่างใด วลีสุดท้ายอาจฟังดูแปลกพิลึกหรือกระทั่งออกจะเกินเลยไปบ้าง แต่มันพิลึกเกินเลยจริงหรือ? ข้อเท็จจริงกลับบ่งชี้ไปอีกทาง ดังจะเห็นได้ว่าพรรคนี้อุทิศทุ่มเทให้แก่การแข่งขันไปสู่การทำลายล้างระเบียบชีวิตมนุษย์ที่จัดตั้งกันขึ้นลงไปอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เร็วได้ จุดยืนแบบที่ว่านี้ไม่มีใครเหมือนอีกแล้วในประวัติศาสตร์แต่ก่อนมา

นี่เป็นการขยายความเกินจริงไปหรือ?

ลองมาพิจารณาสิ่งที่เราเพิ่งประสบพบเห็นเป็นประจักษ์พยานกันดู

AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS
AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS

ในระหว่างการเลือกตั้งผู้สมัครประธานาธิบดีรอบแรกของพรรครีพับลิกัน ผู้สมัครทุกคนต่างปัดปฏิเสธว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นกำลังเกิดขึ้นจริงๆ – ยกเว้นพวกเดินสายกลางที่พอมีเหตุผลอย่าง เจ๊บ บุช (หมายถึง จอห์น เอลลิส บุช ซีเนียร์ อดีตผู้ว่าการมลรัฐฟลอริดา น้องชายของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช ผู้ลูก) ผู้กล่าวว่ามันยังไม่แน่ชัดนัก แต่เรายังไม่ต้องทำอะไรหรอกเพราะเรากำลังผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นโดยอาศัยวิธีการ fracking (หมายถึงเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานด้วยการใช้น้ำผสมสารเคมีและทรายจำนวนมากอัดเข้าไปใต้ดินเพื่อทำให้เกิดรอยแตกและดันน้ำมันดิบออกมาจากชั้นหินลึก แต่วิธีการนี้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม) หรือ จอห์น เคสิก (ผู้ว่าการมลรัฐโอไฮโอแห่งพรรครีพับลิกัน) ผู้เห็นด้วยว่าภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นจริง แต่เสริมว่า “เราจะเผา (ถ่านหิน) ใช้ในมลรัฐโอไฮโอและเราจะไม่ขอโทษขอโพยอะไรที่เราทำเช่นนั้นหรอก”

ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ประสบชัยชนะซึ่งบัดนี้กลายเป็นว่าที่ประธานาธิบดี เรียกร้องให้เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นอย่างรวดเร็วรวมทั้งถ่านหินด้วย ให้รื้อถอนกฎระเบียบต่างๆ ปัดปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังพยายามปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานยั่งยืน และกล่าวโดยทั่วไปแล้ว เขาก็เรียกร้องให้แข่งกันไปถึงหน้าผาให้เร็วที่สุดเท่าที่เร็วได้

ทรัมป์ได้เริ่มดำเนินการเพื่อรื้อถอนองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency, EPA) แล้วโดยวางตัว ไมรอน อีเบลล์ ผู้ปฏิเสธไม่ยอมรับว่าภูมิอากาศโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างขึ้นชื่ออื้อฉาว (และเต็มภาคภูมิ) ให้รับผิดชอบดูแลองค์การนี้

หัวหน้าที่ปรึกษาเรื่องพลังงานของทรัมป์ อันได้แก่ ฮาโรด์ แฮมม์ เศรษฐีพันล้านผู้บริหารกิจการน้ำมัน ได้ป่าวประกาศความคาดหวังของเขาออกมาซึ่งก็เป็นที่คาดเดากันได้ว่าจะเป็นเช่นนี้ กล่าวคือ ดำเนินการรื้อถอนกฎระเบียบต่างๆ ลดภาษีให้ภาคอุตสาหกรรม (และเศรษฐีรวมทั้งภาคบรรษัทธุรกิจโดยทั่วไป)

เพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล

ยกเลิกคำสั่งของประธานาธิบดีโอบามาที่ให้ระงับยับยั้งการก่อสร้างจัดวางท่อส่งน้ำมันดาโคตาไว้ชั่วคราว

และตลาดก็ตอบรับโดยพลัน หุ้นในบรรดาบรรษัทพลังงานทั้งหลายพุ่งสูงรวมทั้ง Peabody Energy ซึ่งเป็นบรรษัทเหมืองถ่านหินใหญ่ที่สุดของโลกด้วย ทั้งๆ ที่บรรษัทนี้ได้ยื่นขอให้ล้มละลายมาก่อน

แต่หลังชัยชนะของทรัมป์ กลับปรากฏว่าหุ้นของบรรษัทมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 50%

AFP PHOTO / JIM WATSON
AFP PHOTO / JIM WATSON

ลัทธิปัดปฏิเสธเรื่องภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงของพรรครีพับลิกันได้ส่งผลให้เป็นที่รู้สึกกันได้แล้ว เคยหวังกันว่าข้อตกลง COP21 แห่งกรุงปารีสจะนำไปสู่สนธิสัญญาที่ตรวจพิสูจน์ผลการปฏิบัติของมันได้

ทว่า ความคิดอะไรในทำนองนี้ล้วนถูกยกเลิกเพิกถอนไปเพราะสภาคองเกรสภายใต้พรรครีพับลิกันเสียงข้างมากไม่ยอมรับพันธกรณีผูกมัดใดๆ

ฉะนั้น สิ่งที่อุบัติขึ้นจึงเป็นเพียงข้อตกลงแบบสมัครใจซึ่งเห็นได้ชัดว่าอ่อนปวกเปียกกว่ามาก

ในไม่ช้า ผลลัพธ์ของมันอาจปรากฏให้เห็นประจักษ์อย่างมีชีวิตชีวายิ่งกว่าที่เป็นอยู่แล้วตอนนี้ด้วยซ้ำ ในบังกลาเทศประเทศเดียว คาดว่าคนหลายสิบล้านจะต้องหนีออกจากพื้นที่ราบต่ำในไม่กี่ปีข้างหน้านี้เพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและอากาศยิ่งวิปริตปรวนแปร ก่อให้เกิดวิกฤตการอพยพที่จะทำให้สิ่งที่เราพบเห็นอยู่ทุกวันนี้เทียบไม่ติดเลยทีเดียว

นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศชั้นนำของบังกลาเทศได้กล่าวไว้โดยชอบธรรมพอควรว่า “ผู้อพยพพวกนี้ควรมีสิทธิ์ขอโยกย้ายไปอยู่ในบรรดาประเทศที่เป็นต้นตอบ่อเกิดของก๊าซเรือนกระจกทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ คนเป็นล้านๆ ควรสามารถเดินทางไปอยู่ในสหรัฐได้”

และรวมทั้งเดินทางไปอยู่ในประเทศร่ำรวยอื่นๆ ที่มั่งคั่งขึ้นมาระหว่างนำยุคสมัยใหม่ทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า the Anthropocene (นวมานุษยสมัย?) เข้ามาอันมีลักษณะเด่นตรงที่มนุษย์เป็นตัวการทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างขุดรากถอนโคน ผลสืบเนื่องวิบัติฉิบหายเหล่านี้รังแต่จะเพิ่มทวีขึ้นไม่เฉพาะในบังกลาเทศเท่านั้น แต่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียใต้ด้วยในสภาพที่อุณหภูมิซึ่งร้อนเหลือทนอยู่แล้วสำหรับคนยากคนจนยังคงพุ่งสูงขึ้นไม่หยุดหย่อนและธารน้ำแข็งหิมาลัยก็หลอมละลายลงมา ก่อภัยคุกคามต่ออุปทานน้ำทั้งหมด ในอินเดียตอนนี้ มีรายงานว่าคนราว 300 ล้านคนขาดแคลนน้ำดื่มที่พอเพียงกันแล้ว และผลลัพธ์จะแผ่ไปไกลกว่านั้นมาก

ยากจะสรรหาถ้อยคำมาบรรยายข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์กำลังเผชิญหน้าคำถามที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของตน

นั่นคือคำถามที่ว่าระเบียบชีวิตมนุษย์ที่จัดตั้งกันขึ้นจะหลงเหลือรอดอยู่ในรูปแบบที่เราพอรู้จักหรือไม่

และมนุษย์ก็กำลังตอบคำถามนั้นด้วยการเร่งแข่งขันกันไปสู่หายนะ

(ต่อสัปดาห์หน้า)