นงนุช สิงหเดชะ : จาก “บราซิล” ถึงเกาหลีใต้และมาเลเซีย มาจากการเลือกตั้งก็ “ไม่รอด”

ในระยะไม่นานมานี้เหมือนว่ามีผู้นำอย่างน้อย 3 ประเทศที่เผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่จากประชาชนขับไล่ให้ออกจากตำแหน่งในข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น

และน่าสังเกตด้วยว่าทั้ง 3 คนล้วนมาจากการเลือกตั้ง

สิ่งนี้ตอกย้ำว่าในระบอบประชาธิปไตยปกตินั้น ผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนสามารถถูกประชาชนขับไล่ให้ออกจากตำแหน่งได้ก่อนครบวาระ

ซึ่งไม่เหมือนกับบางประเทศ เช่น ประเทศไทย ที่มักมีนักการเมืองเห็นแก่ตัว การสร้างวาทกรรมปลุกระดมมวลชนที่สนับสนุนผู้นำที่อยู่ในอำนาจว่า การขับไล่นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นสิ่งทำไม่ได้ เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แม้จะทำผิดเสียหายร้ายแรงหรือทุจริตก็ต้องปล่อยให้อยู่จนครบวาระ แล้วค่อยรอเลือกตั้งใหม่

ผู้นำ 3 ประเทศที่ว่านั้นได้แก่ ประธานาธิบดีบราซิล นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ และมาเลเซีย

AFP PHOTO / NELSON ALMEIDA
AFP PHOTO / NELSON ALMEIDA

ในรายของบราซิลนั้นถูกขับไล่และถูกถอดถอนจากตำแหน่งเรียบร้อยแล้วในปีนี้

เธอคือ จิลมา รุสเซฟฟ์ วัย 68 ปี ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของบราซิลที่ดูเหมือนจะจบอาชีพได้ไม่สวยนักเมื่อเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกอีกเช่นกันที่ถูกถอดถอน

เธอถูกกล่าวหาว่าบริหารประเทศผิดพลาด มีการทำผิดกฎหมายด้วยการปลอมตัวเลขงบประมาณ ทำเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี นอกจากนี้ยังมีข้อหาทุจริตในบริษัทเปโตรบาส ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของรัฐบาล

รุสเซฟฟ์ ถูกประชาชนนับล้านออกมาขับไล่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และถือเป็นการรวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของประชาชนเท่าที่เคยมีมา

REUTERS/Kim Hong-Ji
REUTERS/Kim Hong-Ji

ประธานาธิบดีหญิงคนถัดมาที่ทำว่าจะรอดยากก็คือ ปาร์ก กึน เฮ วัย 64 ปี แห่งเกาหลีใต้ ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ แต่ท่าทีอนาคตก็คงจะจบลงแบบเดียวกับผู้นำบราซิล จากข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น นำพวกพ้องมายุ่งเกี่ยวกับการบริหารประเทศ ปล่อยให้เพื่อนสนิทของเธอเข้ามาก้าวก่ายงานของรัฐบาลทั้งที่ไม่มีตำแหน่งและอำนาจ และที่ร้ายกว่านั้นเพื่อนของเธอเรียกรับเงินจากบริษัทขนาดใหญ่ในเกาหลี

การที่ ปาร์ก กึน เฮ ได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ ถือเป็นความหวังของชาวเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในประเทศที่มีค่านิยมผู้ชายเป็นใหญ่ ประชาชนชื่นชมเธอมากและคาดหวังสูงมากว่าเธอจะทำได้ดีกว่ารัฐบาลก่อนๆ เมื่อคาดหวังสูงเสียแล้ว ยามผิดหวังปฏิกิริยาก็เดือดกว่าปกติ

แม้เธอจะออกมาขอโทษ แต่ดูเหมือนสังคมไม่ให้อภัย ยื่นคำขาดให้ลาออกสถานเดียว คนเรือนล้านปักหลักประท้วงยืดเยื้อมาหลายสัปดาห์แล้ว

ล่าสุดนี้อัยการเกาหลีใต้ออกมาระบุว่า ปาร์ก กึน เฮ มีส่วนรู้เห็นหรือสมรู้ร่วมคิดกับเพื่อนของเธอในการทุจริต

AFP PHOTO / MANAN VATSYAYANA
AFP PHOTO / MANAN VATSYAYANA

คนถัดมาคือ นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทุจริตยักยอกเงินจากกองทุนเพื่อพัฒนามาเลเซีย หรือ 1MDB เกือบ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปเข้าบัญชีส่วนตัว

กรณีทุจริตของเขานับว่าอึกทึกดังไปทั่วโลก เพราะผู้ที่เปิดโปงเรื่องนี้เป็นรายแรกคือสื่ออเมริกันอย่างวอลล์สตรีตเจอร์นัลตั้งแต่ปีที่แล้ว

หลังจากนั้นประเด็นนี้ถูกหลายประเทศยื่นมือเข้ามาร่วมสืบสวนสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์

การที่น่าสงสัยว่าเงินดังกล่าวในบัญชีของนายราจิบน่าจะเป็นการยักยอกจากกองทุน 1MDB เพราะเขาไม่สามารถชี้แจงแหล่งที่มาเงินได้ ขณะที่เขาอ้างว่าเป็นแผนของฝ่ายศัตรูที่ต้องการโค่นเขาลงจากอำนาจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง อัยการสูงสุดมาเลเซียก็หาทางลงให้ด้วยการออกมาแถลงว่าจากการตรวจสอบกับหน่วยงานด้านการปราบปรามทุจริตอ้างว่าเงินดังกล่าวได้รับบริจาคมาจากราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย เท่ากับสรุปว่านายกฯ มาเลเซียไม่ได้ทุจริต

ซึ่งการแถลงของอัยการไม่สามารถเรียกความน่าเชื่อถือจากชาวมาเลเซียและนานาชาติได้เลย

ต่อมาเดือนกรกฎาคมปีนี้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐยื่นฟ้องศาลเพื่อขอยึดทรัพย์ 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีทั้งอสังหาริมทรัพย์หรูหราทั้งในสหรัฐและอังกฤษ ผลงานศิลปะราคาแพง เครื่องบินไอพ่น โดยระบุว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการยักยอกเงินของ 1MDB

โดยสหรัฐไม่ได้ระบุชื่อของผู้ถูกยึดทรัพย์โดยตรง ระบุเพียงว่า “เจ้าหน้าที่มาเลเซียหมายเลข 1”

ต่อมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ธนาคารกลางสิงคโปร์ ตำรวจและอัยการ แถลงว่า สิงคโปร์ได้ยึดทรัพย์สิน 177 ล้านดอลลาร์ ที่ต้องสงสัยว่าได้มาจากการฉ้อโกงและการฟอกเงินซึ่งโยงใยกับ 1MDB

 AFP PHOTO / MANAN VATSYAYANA
AFP PHOTO / MANAN VATSYAYANA

ชาวมาเลเซียที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มเบอร์ซี (ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีนและคนในเขตเมือง) ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองเพื่อความใสสะอาด สวมเสื้อเหลืองออกมาประท้วงรัฐบาลตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว มีคนออกมาร่วมหลายหมื่นคน

ส่วนนายนาจิบใช้สูตรเดียวกับอดีตนักการเมืองไทย กล่าวคือ บอกว่าคนพวกนี้เป็นคนส่วนน้อย ขณะที่คนส่วนที่เหลือล้วนสนับสนุนเขา พร้อมกันนั้นฝ่ายรัฐบาลก็เกณฑ์คนเสื้อแดง ซึ่งเป็นคนเชื้อสายมาเลย์และอยู่ในชนบท ออกมาปะทะกับเสื้อเหลือง

คนเสื้อแดงเหล่านี้พยายามบุกเข้าไปในย่านธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นคนจีนเพื่อทำลาย บางคนบอกว่าออกมาสนับสนุนรัฐบาลและเผชิญหน้ากับคนเสื้อเหลืองเพื่อรักษาศักดิ์ศรีคนมาเลย์ (รัฐบาลมาเลเซียมักเอาใจคนมาเลย์เป็นพิเศษแต่ไหนแต่ไรมาให้เป็นคนมีสิทธิพิเศษเหนือคนเชื้อสายจีน) ซึ่งหลายคนห่วงว่าพฤติกรรมของรัฐบาลจะนำมาเลเซียกลับไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของชาติเมื่อปี 1969 ซึ่งเกิดการจลาจลเชื้อชาติและแตกแยกอย่างหนัก

ลักษณะนี้ก็คล้ายกับเมืองไทย ก็คือยามใดที่นักการเมืองมีแผลเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ จะใช้วิธีปลุกเร้าคนชนบทที่เป็นฐานเสียงให้ต่อต้านเป็นศัตรูกับคนชั้นสูง คนในเมือง หวังใช้มวลชนมาเป็นเกราะกำบัง โดยใช้วาทกรรมบิดเบือนไปจากสาระสำคัญในการทำผิดของตัว เช่น มีความผิดเรื่องทุจริต แต่จะปลุกเร้ากับฐานเสียงและมวลชนว่าพวกคนชั้นสูง คนในเมืองดูถูกคนชนบทที่เลือกนายกฯ มา และอยากเป็นรัฐบาลโดยไม่ต้องเลือกตั้ง

หลังจากประท้วงไปเมื่อปีที่แล้ว แต่นาจิบ ยังอยู่สบายดี คราวนี้คนมาเลเซียก็ได้เวลาออกมาประท้วงอีกครั้ง คาดว่าคงได้รับแรงบันดาลใจจากทั้งบราซิลและเกาหลีใต้ รวมทั้งการสืบสวนติดตามคดีดังกล่าวของหลายประเทศที่มีความคืบหน้าเป็นระยะที่ตอกย้ำความน่าสงสัยของนาจิบ

ยังต้องลุ้นว่าผู้นำมาเลเซียในฐานะประเทศที่อยู่ใกล้ไทยที่สุดจะมีบทจบอย่างไร

ในรายของมาเลเซียนั้น ชัดเจนว่าผู้นำจากการเลือกตั้งไม่ได้รับประกันอะไรเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตย เพราะผู้นำมาเลเซียออกกฎหมายควบคุมสื่อ แถมยังน่าจะก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมด้วยเพราะหลังจากเรื่องนี้ปูดออกมา มีทั้งอัยการที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ถูกฆ่า มีหญิงสาวที่น่าจะรู้เห็นเรื่องสินบนของคนในรัฐบาลถูกฆ่า