ชะตากรรมอันเจ็บปวดของโรฮิงญา

หนึ่งปีหลังจากชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยในพม่า จำนวนมากต้องอพยพลงเรือหนีภัยความรุนแรงในประเทศ เพื่อมุ่งหน้าสู่ดินแดนที่หวังว่าจะมีความปลอดภัยกว่า

แต่หลายคนกลับต้องเอาชีวิตมาทิ้งไว้กลางทะเล

หรือตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

หรือถูกประเทศปลายทางผลักดันกลับอย่างไร้มนุษยธรรม

กลายเป็นวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกตีแผ่ออกมาให้ชาวโลกเห็น

จนทำให้นานาประเทศออกมาเรียกร้องให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้

ทว่า แม้จะมีความพยายามผลักดันการแก้ปัญหาร่วมกันของหลายฝ่าย

แต่เราก็ยังเห็นรายงานข่าวที่ชาวโรฮิงญาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมออกมาอยู่เป็นระยะ

 

ปฏิบัติการกวาดล้างจับกุมผู้ต้องสงสัยในรัฐยะไข่ ทางตอนเหนือของพม่าครั้งล่าสุด หลังจากเกิดเหตุโจมตีสังหารตำรวจพม่าเสียชีวิต 9 นายในรัฐยะไข่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงชะตากรรมอันเลวร้ายที่ชาวโรฮิงญายังคงต้องเผชิญอย่างไม่รู้จบจากการถูกอำนาจรัฐข่มเหงรังแก

เพราะรายงานจากหลายทางทั้งจากสื่อมวลชนต่างประเทศ กลุ่มองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิ และคำบอกเล่าของชาวโรฮิงญาผ่านสื่อสำนักต่างๆ ที่เข้าถึง กล่าวหาว่ากองทัพพม่าใช้กำลังปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาอย่างไม่ปรานี

ด้วยอ้างเหตุผลว่ากลุ่มติดอาวุธมุสลิมโรฮิงญาอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีสังหารตำรวจพม่า

6 สัปดาห์หลังเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธสังหารตำรวจพม่า 9 นายในรัฐยะไข่ ก็มีรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุที่กองทัพพม่าส่งกำลังปิดล้อมพื้นที่รัฐยะไข่เพื่อกวาดล้างจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นกลุ่มติดอาวุธไปแล้วมากกว่า 100 ราย

และมีผู้ต้องสงสัยถูกจับกุมไปแล้วกว่า 600 คน

โดยผู้ที่ถูกทางการกวาดล้างล้วนเป็นชาวโรฮิงญา การปิดล้อมเพื่อกวาดล้างดังกล่าวของกองทัพพม่า ยังส่งผลให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากในพื้นที่ต้องอพยพหลบหนีความรุนแรงออกไป

เดือดร้อนถึงบังกลาเทศที่มีพรมแดนติดกัน ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาหนีเข้าไปหวังพึ่ง

แต่ก็ถูกทางการบังกลาเทศจับกุมและพยายามผลักดันกลับพม่า ส่วนชาวโรฮิงญาที่ยังคงอยู่ในพื้นที่รัฐยะไข่ ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดผวา

 

วันที่ 27 ตุลาคม ฟิโอนา แม็กเกรเกอร์ ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชาวสก๊อต ที่ทำงานให้กับเมียนมา ไทม์ส รายงานว่าองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิมีเอกสารยืนยันที่บ่งชี้ว่าผู้หญิงชาวโรฮิงญาถูกล่วงละเมิดทางเพศจากกองกำลังฝ่ายความมั่นคงพม่าที่ปิดล้อมรัฐยะไข่

วันถัดมาสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานสภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ในลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยบอกว่าผู้หญิงชาวโรฮิงญาหลายสิบคนถูกทหารพม่าข่มขืน

ก่อนที่กลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยภาพถ่ายทางดาวเทียม แสดงให้เห็นว่าบ้านเรือนของชาวโรฮิงญามากกว่า 1,200 หลังในรัฐยะไข่ ถูกเผาวอดได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง

ขณะที่ จอห์น แม็กคิสซิก หัวหน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำบังกลาเทศ ถึงขั้นใช้คำว่า “การกวาดล้างทางชาติพันธุ์”

ในรายงานของยูเอ็นที่เปิดเผยออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนหน้า จากการตรวจสอบสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่รัฐยะไข่ โดยชี้ว่าทหารพม่าเข่นฆ่าสังหารผู้ชายชาวโรฮิงญา รวมถึงเด็กตาดำๆ

ส่วนผู้หญิงถูกข่มขืนกระทำชำเราอย่างเป็นระบบ

บ้านเรือนของชาวโรฮิงญาถูกปล้นและถูกเผาทิ้ง จนทำให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพหนีภัยข้ามแดนเข้าไปยังประเทศบังกลาเทศ

โดยตัวเลขในขณะนี้ที่ยูเอ็นสามารถระบุได้มีชาวโรฮิงญาที่ทางการพม่าถือเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากการอพยพหนีความรุนแรงในพม่าไปแล้วมากกว่า 30,000 คน

 

ลาลู เบกุม หนึ่งในผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่หนีข้ามแดนเข้ามาหลบอยู่ที่ค่ายผู้อพยพคูตูปาลอง ทางตอนใต้ของบังกลาเทศ เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ถึงชะตากรรมที่ตัวเธอและครอบครัวต้องประสบ โดยบอกว่า หาก (ทหารพม่า) เห็นเด็กผู้ชายอายุมากกว่า 10 ขวบขึ้นไป พวกเขาก็จะฆ่า ส่วนพวกผู้ชายก็จะถูกทหารมาเอาตัวไป หากเห็นผู้หญิงหน้าตาสะสวย พวกทหารจะทำทีร้องขอน้ำ จากนั้นก็จะตามเข้าไปในบ้านแล้วข่มขืนพวกเธอ

ดีน โมฮัมหมัด ชายชาวโรฮิงญาที่ยึดการทำนาทำไร่เลี้ยงชีพ ที่ต้องหอบครอบครัวหนีข้ามแดนมายังบังกลาเทศเช่นกัน บอกกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า ทหารพม่าเอาลูกชาย 2 คนของเขาที่อายุแค่ 9 และ 12 ขวบไป ซึ่งเขายังไม่รู้ชะตากรรมของลูกชายทั้งสองว่าเป็นอย่างไร

พวกทหารยังจับผู้หญิงขังรวมกันไว้ในห้อง ในหมู่บ้านของเขามีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมากกว่า 50 คน ที่ถูกทหารพม่าข่มขืน

ส่วนบ้านเรือนในหมู่บ้านของเขาก็ถูกเผา คำบอกเล่าของ ดีน โมฮัมหมัด สอดคล้องต้องตรงกับคำบอกเล่าในสิ่งเลวร้ายของผู้อพยพชาวโรฮิงญาหลายคนที่พานพบกับเหตุความรุนแรงในรัฐยะไข่ครั้งนี้

 

เพนนี กรีน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยควีนแมรี่ ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ให้ความเห็นถึงปัญหานี้ว่า พัฒนาการล่าสุดของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ เป็น “บทเรียนใหม่” ของการข่มเหงชาวโรฮิงญาที่เผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกข่มเหงรังแก และถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงงาน การศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งพัฒนาการของความรุนแรงนี้อาจนำไปสู่การล้างเผ่าพันธุ์ได้

ข้อกล่าวหากล่าวอ้างที่ถูกสนับสนุนด้วยพยานหลักฐานที่มีทั้งเป็นพยานบุคคล เอกสารหลักฐานและภาพถ่ายดาวเทียมของหลายฝ่ายข้างต้น ยังคงถูกปฏิเสธจากทางการพม่าที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่นำโดย นางออง ซาน ซูจี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลก

โดยยืนกรานว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นจริง

แต่ไม่ยอมให้คำอธิบายชี้แจงใดๆ

อีกทั้งยังไม่ยอมเปิดทางให้ผู้สื่อข่าวหรือองค์กรสังเกตการณ์ใดๆ ได้เข้าไปดูสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยที่นางซูจีเองเพียงได้แต่กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ” แค่นั้น

จนทำให้นักรัฐศาสตร์หลายคนพากันฟันธงว่า การปฏิเสธเสียงอ่อยๆ ของนางซูจี เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจที่ยังคงมีอยู่อย่างจำกัดของรัฐบาลซูจี

และเสียงของกองทัพยังคงเป็นเสียงที่ดังกว่าอยู่!!